24 ต.ค. 2022 เวลา 02:16 • ท่องเที่ยว
สะพานเทพหมี Unseen Ayuthaya
ราชสำนักอยุธยาได้เกี่ยวข้องทางการค้ากับต่างประเทศมาตั้งแต่ต้นรัชกาล มาจนถึงกาลอวสาน และการค้ากับต่างประเทศก็ได้รับการสานต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์
การติดต่อทางการค้าด้านตะวันออกของจีนกับอินเดีย เป็นสาเหตุหนี่งที่ทำให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยากลายเป็นเส้นทางการค้าขายข้ามรัฐข้ามดินแดน
แม้อยุธยาจะตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ไพร่พลเมืองขาดความชำนาญในเรื่องการเดินเรือทะเล แต่อยุธยาได้ใช้ความชำนาญพิเศษของชาวจีนที่เข้ามาค้าขายอยู่ในดินแดนตามชายฝั่งทะเลของอุษาคเนย์เป็นเวลาช้านานมาแล้ว ในเรื่องของการเดินเรือ
เส้นทางน้ำ หรือคลองต่างๆที่ติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ได้รับการสร้างขึ้นมากมาย เป็นโครงข่ายภายในเมืองอยุธยา เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคม และขนส่งสินค้า เครื่องบรรณาการ และวัตถุประสงค์อื่นๆ
คลองประตูเทพหมี [เทบ-พะ-หมี] คลองประตูเทษหมี หรือ คลองประตูหลวงเทพอรชุน เป็นคลองหนึ่งบนเกาะเมืองในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ทอดยาวแนวเหนือใต้จากแม่น้ำลพบุรีทะลุแม่น้ำเจ้าพระยา
ในอดีตเป็นคลองที่มีขนาดกว้างขวางถึงขนาดที่เรืออัญเชิญพระราชสาสน์สามารถเคลื่อนขบวนเรียงสามลำเข้าไปได้ แต่ในปัจจุบันคลองประตูเทพหมีได้ตื้นเขินหมดแล้ว แต่ยังพอมีร่องรอยของคลองให้เห็นบริเวณสะพานประตูเทพหมีหรือสะพานวานรภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
สะพานเทพหมี เป็นสะพานข้ามคลองประตูเทพหมี คลองโบราณด้านใต้ของเกาะเมืองอยุธยา เป็นสะพานก่ออิฐซึ่งสันนิษฐานว่าศิลปกรรมนั้นได้รับอิทธิพลโครงสร้างแบบเปอร์เซียในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมาซึ่งขณะนี้เหลือเพียงไม่กี่แห่ง
ชื่อคลองประตูเทพหมีนั้น ตั้งชื่อตามสะพานข้ามคลองคือสะพานประตูเทพหมี หรือ เทษหมี (เทษ คือคำเดียวกับคำว่าเทศ ที่หมายถึงชาวต่างชาติ) โดยสะพานดังกล่าวมีหลวงเทพอรชุน (หมี) เป็นผู้อำนวยการสร้าง ที่มีช่างชาวเปอร์เซียซึ่งเป็นแขกเทศจำพวกหนึ่ง ก่อสร้างจนมีลักษณะเด่นคือมีวงโค้งรูปกลีบบัวสำหรับเป็นช่องให้เรือลอดผ่าน
บ้างก็ว่าตั้งชื่อตามเพราะหลวงเทพอรชุน (หมี) ตั้งบ้านอยู่บริเวณนั้น
พิรักษ์ ชวนะเกรียงไกร เสนอว่าบริเวณดังกล่าวอาจเป็นบ้านเดิมของเจ้าพระยาพลเทพ (หมี) จึงตั้งชื่อตาม
น. ณ ปากน้ำ เสนอว่าตั้งตามชุมชนที่เป็นมุสลิมต่างด้าวหรือที่เรียกว่าแขกเทศ
ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิเคราะห์ว่ามาจากภาษาเปอร์เซีย ‘เทสมี่’ แปลว่า ‘ประตู’
แผนที่เกาะเมืองที่เขียนโดยโยฮันเนส วิงก์บุนส์ (Johannes Vinckboons) ชาวดัตช์ (พ.ศ. 2208) จากภาพจะเห็นคลองประตูเทพหมีบริเวณซ้ายล่างที่คลองจะมีลักษณะโค้งโก่งเหมือนคันธนู กลางคลองมีสะพานตัดผ่านคือสะพานประตูเทพหมี
คลองประตูเทพหมี หรือคลองประตูเทษหมี บ้างเรียกคลองประตูเทษเป็นคลองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเกาะเมือง จากเอกสารของชาวต่างประเทศและจากซากของสะพานประตูเทพหมีทำให้ทราบว่าคลองดังกล่าวน่าจะกว้างถึง 12 เมตรเศษ ที่กว้างขวางพอที่จะรองรับเรืออัญเชิญพระราชสาสน์เคลื่อนขบวนเรียงสามลำผ่านสะพานดังกล่าวได้
จากแผนที่ของชาวตะวันตกจะพบว่าปลายคลองนี้มีลักษณะโค้งโก่งดั่งคันธนู ต่างจากคลองอื่น ๆ ในเกาะเมืองซึ่งล้วนแต่มีลักษณะตรง ในอดีตคลองดังกล่าวเป็นที่ตั้งเรือนของขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากเช่น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด)
ทั้งยังมีวัดในพุทธศาสนาจำนวนมาก และมีชุมชนต่าง ๆ เช่น บ้านแห ขายแหและเปล มีชุมชนบ้านพราหมณ์ มีชุมชนและตลาดของชาวมุสลิมขนาดใหญ่อาศัยอยู่เรียกว่าบ้านแขกใหญ่เรียกว่าตลาดจีน และเป็นที่ตั้งเรือนรับรองคณะทูตฝรั่งเศสและโปรตุเกส ส่วนสะพานข้ามคลองประตูเทพหมีนี้ก็เชื่อมต่อกับชุมชนชาวจีนทางตอนใต้ของเกาะเมืองด้วย
ในอดีตคลองประตูเทพหมีทิศเหนือทะลุแม่น้ำลพบุรี ผ่านบึงพระรามก่อนทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ ตัวคลองสามารถเชื่อมต่อกับคลองฉะไกรน้อยผ่านทางคลองวัดฉัตรทัน และมีคลองที่เชื่อมคลองประตูจีนทางทิศตะวันออก ที่สามารถเชื่อมคลองในไก่
ปัจจุบันคลองประตูเทพหมีตื้นเขินหมดจนไม่เหลือสภาพของคลองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะเมืองเสียแล้ว แต่ยังพอมีร่องรอยของคลองให้เห็นบริเวณสะพานประตูเทพหมีหรือสะพานวานรภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา .. จากขนาดของสะพานก็พอจะอนุมานความกว้างของคลองได้
ในยุคหลังมานี้ได้มีแนวคิดในการฟื้นฟูคลองประตูเทพหมีเพื่อให้เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
Ref : เนื้อความส่วนหนึ่งจาก Wikipedia
โฆษณา