25 ต.ค. 2022 เวลา 04:04 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา มอเตอร์เวย์ ทำรายได้ปีละ 7,000 ล้าน
มาวันนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ “มอเตอร์เวย์” กันมาบ้างแล้ว
โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว ๆ ที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเป็น
- มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานคร กับภาคตะวันออก
- มอเตอร์เวย์หมายเลข 9 ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนล้อมรอบตัวเมืองกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ รวมถึงผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แล้วมอเตอร์เวย์สำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศไทย มากแค่ไหน ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
1
มอเตอร์เวย์ที่เราใช้กันอยู่ เป็นของกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกรมทางหลวง ในสังกัดของกระทรวงคมนาคม
แล้ววันนี้มอเตอร์เวย์ มีรายได้มากแค่ไหน ?
ปี 2562 รายได้ 8,218 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 7,664 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 7,007 ล้านบาท
ซึ่งมอเตอร์เวย์นับว่าเป็นทางด่วนประเภทหนึ่งที่เก็บค่าผ่านทาง โดยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างเมืองเป็นหลัก
ถ้าหากนับจำนวน ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในประเทศไทยที่เปิดใช้บริการแล้ว กำลังก่อสร้าง และอยู่ในสถานะการทำเป็นโครงการ
จะมีทั้งหมด 21 เส้นทาง ระยะทางรวมกันทั้งหมด 6,625 กิโลเมตร
ปัจจุบัน ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย ที่เปิดใช้บริการแล้ว มี 2 เส้นทาง คือ
- มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานคร กับภาคตะวันออก
- มอเตอร์เวย์หมายเลข 9 ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนล้อมรอบตัวเมืองกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ รวมถึงผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สำหรับมอเตอร์เวย์เส้นแรกที่เกิดขึ้นของประเทศไทย คือ “มอเตอร์เวย์หมายเลข 7”
ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานคร กับภาคตะวันออก
และไปสิ้นสุดที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง คิดเป็นระยะทางทั้งหมด 149.3 กิโลเมตร
โดย มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ก่อสร้างขึ้นในปี 2537 และเปิดดำเนินการใช้ในปี 2541
ซึ่งนับจนถึงปัจจุบัน ก็เป็นระยะเวลากว่า 24 ปีแล้ว ที่ถนนเส้นนี้เปิดให้บริการ
ที่น่าสนใจคือ มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ไม่เพียงแต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่คับคั่งในถนนสุขุมวิท และถนนเทพรัตน ที่เป็นถนนเส้นเดิมที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออก
แต่มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ยังเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญ ในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งกับพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกอีกด้วย
แน่นอนว่า ภาคตะวันออกนั้น ถือเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย
โดยมีสัดส่วน GDP สูงถึง 18% ของ GDP รวมของประเทศไทย
โดยเฉพาะ 3 จังหวัดเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคนี้คือ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง
นอกจากนี้ ภาคตะวันออกยังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย
โดยนิคมอุตสาหกรรมหลักที่เราคุ้นเคย
ตัวอย่างเช่น
- นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เป็นนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งของหลากหลายอุตสาหกรรม
เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติก ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร เป็นต้น
1
- นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก
ที่สำคัญภาคตะวันออกยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของประเทศไทย
และในปี 2562 ท่าเรือแหลมฉบัง ยังได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 20 ในฐานะที่เป็นท่าเรือชั้นนำของโลก
สรุปคือ มอเตอร์เวย์ นอกจากจะช่วยให้การเดินทางบนเส้นทางเหล่านั้น สะดวกมากขึ้นแล้ว
ยังเปรียบเป็นเส้นเลือดสำคัญ ของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย..
โฆษณา