“The New Marshall Plan” แผนฟื้นฟูยูเครนภายหลังสงครามครั้งใหญ่
เมื่อช่วงวันอังคารที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี พร้อมประธานสหภาพยุโรป ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่าด้วย เรื่องแผนฟื้นฟูประเทศยูเครนหลังสงคราม ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี นาย Olaf Scholz อธิบายว่า แผนการนี้เปรียบเหมือนเป็น “New Marshall Plan”
1
📌 Marshall Plan คืออะไร?
ย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศในทวีปยุโรปได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างหนัก เกิดภาวะความอดอยาก และวิกฤติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากทวีปยุโรปเป็นสมรภูมิหลักในการรบของสงครามครั้งนี้
ต่างจากทางสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ได้เป็นสมรภูมิรบโดยตรง ทำให้ได้รับผลกระทบจากสงครามน้อยกว่ามาก
ทำให้ในช่วงหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้มีแนวคิด จากทางสหรัฐอเมริกาเองที่วางแผนจะช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศในกลุ่มยุโรปขึ้นมา โดยบุคคลสำคัญที่ผลักดันแผนนี้ก็คือ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอเมริกาในขณะนั้น ผู้ซึ่งมีชื่อว่า Georg Marshall
โดยหลังจากผ่านการถกเถียงในรายละเอียด และนำเสนอข้อดีกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในสหรัฐฯ สุดท้าย Marshall Plan ก็ถูกประกาศใช้ออกมาใน ค.ศ. 1948 นับเป็นเวลา 3 ปีหลังจากสงครามสิ้นสุด โดยมีมูลค่าเงินช่วยเหลือราว 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเด็นสำคัญในตอนนั้น คือ แผนการช่วยเหลือนี้ได้เสนอให้กับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียดในตอนนั้นด้วย แต่สุดท้ายประเทศเหล่านี้ก็ปฏิเสธความช่วยเหลือจากอเมริกาไป เนื่องจากความเห็นต่างในเรื่องแนวคิดการปกครองประเทศ ทำให้สุดท้ายประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือตามแผนการจะเป็นกลุ่มประเทศบริเวณยุโรปตะวันตกและยุโรปใต้
ซึ่ง Marshall Plan ก็ได้รับการยอมรับจากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ว่า มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในทวีปยุโรป โดยในช่วงระยะเวลา 4 ปีของแผนการช่วยเหลือ GDP ของประเทศในกลุ่มที่รับเงินเติบโตขึ้นถึง 15-25% และก็วางรากฐานเข้าสู่ช่วงการเติบโตอย่างรุ่งโรจน์ในช่วงต่อมา จนหลายประเทศกลับมาเป็นมหาอำนาจได้ในเวลาอันรวดเร็วและเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจโลกต่อมา
📌 New Marshall Plan
มาถึงช่วงปัจจุบัน สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียก็สร้างความบอบช้ำให้กับยูเครนอย่างมาก ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม แทบจะไม่ต่างจากผลของสงครามโลก ซึ่งหากไม่มีการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือจากประเทศอื่น ก็ยากที่พวกเขาจะกลับมาฟื้นตัวได้ในเร็ววันนี้
เพราะบ้านเรือนและสาธารณูปโภคของยูเครนถูกทำลายไปมหาศาลแล้ว โดยมีการประมาณจาก World Bank ว่า อาจจะต้องมีการใช้เงินช่วยเหลือยูเครนกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นเงินช่วยเหลือระยะสั้นราว 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินช่วยเหลือระยะยาวอีก 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งเงินจำนวนนี้มีขนาดใหญ่กว่า GDP ของทั้งประเทศยูเครนเสียอีก
นอกจากนี้ ผลของสงครามยังทำให้ประชากรชาวยูเครนอพยพออกจากประเทศจำนวนมหาศาล โดยประมาณกันว่า ตั้งแต่เริ่มสงครามมีประชากรยูเครนราว 4 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 15% ของประชากรทั้งประเทศ อพยพหนีสงคราม
ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ในการฟื้นฟูตนเอง และก็ยังเป็นปัญหาหนักใจกับประเทศอื่นๆ ซี่งรับผู้อพยพชาวยูเครนด้วยว่า จะให้สิทธิและหน้าที่กับผู้อพยพได้ขนาดไหน โดยต้องคำนึงถึงทั้งหลักสิทธิมนุษยชน และต้องไม่เบียดเบียนสิทธิของประชาชนของรัฐตนเองมากจนเกินไป จนเกิดเป็นความไม่พึงพอใจ
ซึ่งหากประเทศยูเครนไม่ได้รับการฟื้นฟู ก็มีแนวโน้มว่า จะมีจำนวนผู้อพยพจำนวนมากขึ้นอีก แต่ถ้าทางสหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลือก็มีโอกาสที่ประชากรชาวยูเครนผู้อพยพมา อยากจะเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมของตนมากขึ้น แต่ถ้าเหลือเพียงซากปรักหักพัง เหตุการณ์เช่นว่านี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น
นัยยะอีกอย่างที่สำคัญในการช่วยเหลือครั้งนี้ อาจจะเป็นการดึงยูเครนให้มาเป็นพันธมิตรกับทางสหภาพยุโรปมากขึ้นกว่าเดิม
คล้ายกับเป็นการฉายภาพซ้ำจากตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีกลุ่มประเทศรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ก็แนบแน่นทำการค้ากันมากขึ้น ส่วนฝั่งที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของโซเวียตก็มิอาจจะรับเงินช่วยเหลือได้
ครั้งนี้ หากยูเครนรับการช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป ก็เป็นสัญญาณให้เห็นว่า พวกเขาเลือกจับมือแนบแน่นกับสหภาพยุโรปมากขึ้น
ซึ่งในอนาคตจะถึงขั้นกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกเต็มตัวอย่างที่เคยหวังไว้เลยไหม ก็ต้องติดตามกันต่อไป…
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
9 ถูกใจ
2 แชร์
1.3K รับชม
แสดงความคิดเห็นของคุณ...
  • 9
    โฆษณา