29 ต.ค. 2022 เวลา 17:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“ใจ” บันดาล JMART Group
ส่งไม้ต่อรุ่น 2 สู่ 500,000 ล้าน
ระยะเวลา 33 ปี กว่าจะมาเป็น JMART Group ในทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ระหว่างทางมีอุปสรรคเข้ามาเป็นบททดสอบมากมาย แต่ด้วย “ใจ” ที่สู้ และไม่เคยยอมแพ้ ได้นำ JMART Group มาถึงจุดนี้ได้ และพร้อมก้าวสู่ Technology Investment Holding Company โดย Money Chat จะพามาย้อนวันวาน จุดเริ่มต้นธุรกิจของ JMART Group ตั้งแต่ปี 1989
“อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เล่าถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจของ JMART Group เกิดขึ้นในปี 1989 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ “เจ” เอกชัย สุขุมวิทยา ลูกชายเกิด ด้วยเงิน 2 ล้านบาท กับภรรยา
โดยออฟฟิศแห่งแรกอยู่ที่พัฒนาการ เลือกทำธุรกิจแบบ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER คือ “ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อน” เนื่องจากในช่วง 33 ปีที่แล้ว SINGER เป็นธุรกิจที่มีผลตอบแทนดีมากในขณะนั้น จากการคิดอัตราดอกเบี้ย 5% ทำให้ SINGER เป็นบริษัทที่เติบโตมากในช่วงนั้น
เส้นทางของ JMART เดินผ่านอุปสรรคมากมาย โดยในช่วง 10 ปีแรก ยังไม่ทราบเลยว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร จากจุดเริ่มต้น “ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อน” และเข้าสู่ “ธุรกิจขายมือถือ” โดยนำเรื่องของเงินผ่อนที่รู้ดีที่สุดเข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ จน JMART ขยายสาขามากขึ้น เริ่มเงินไม่พอ จึงกู้เงินทั้งในระบบและนอกระบบ ด้วยความตั้งใจที่อยากจะสร้างธุรกิจให้เติบโต
จนกระทั่งในปี 2002 ตั้งเป้าหมายนำ JMART เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรากฏว่ายื่นไฟลิ่งไป สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปฏิเสธครั้งที่ 1 จากนั้นในปี 2005 ได้ยื่นไฟลิ่งอีกเป็นครั้งที่ 2 ทาง ก.ล.ต. ก็ปฏิเสธอีกเป็นครั้งที่ 2
อย่างไรก็ตาม ด้วยความตั้งใจ และไม่ถอดใจ ทำให้ในปี 2008 ยื่นไฟลิ่งอีกเป็นครั้งที่ 3 ปรากฏว่าครั้งนี้ ก.ล.ต.อนุมัติ และ JMART ได้เข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2009 ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เพียง 540 ล้านบาท มา ณ วันนี้ JMART มีมาร์เก็ตแคปกว่า 60,000 ล้านบาท
ส่วนจุดเริ่มต้นของ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์คเซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ต้องย้อนกลับไปในปี 1994 ในช่วงนั้นขณะที่ JMART ทำธุรกิจเงินผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็มีเงินทุนจากญี่ปุ่น มาด้วยข้อเสนออัตราดอกเบี้ยเพียง 2.5% JMART ไม่สามารถสู้ดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้ ทำให้บริษัทมองหาลู่ทางใหม่ เพราะไม่สามารถทิ้งบริษัท และพนักงานเก็บเงินที่มีอยู่ 11 คน ไปได้
โดยตอนนั้นเริ่มขายมือถือแล้ว และเริ่มรู้จักผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) จึงไปขอมูลหนี้จาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เกือบ 600,000 บาท เก็บเงินได้ประมาณ 30,000 บาท นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ JMT
“เราเอาพนักงาน 11 คน ที่มีศักยภาพในการเก็บเงิน เริ่มเก็บเรื่อยๆ เราก็ไปขอมูลหนี้มาเพิ่ม จนเราขยายธุรกิจ เริ่มได้หนี้เข้ามาเพิ่มขึ้น จนมีอยู่วันหนึ่งเราอยากได้หนี้จากแบงก์ แต่แบงก์ไม่รู้จักเรา ผมบอกว่าผมพร้อมที่จะพิสูจน์ โดยการเก็บให้แบงก์ฟรีถ้าหากสู้เจ้าอื่นไม่ได้ แบงก์ปฏิเสธไม่ได้ นำมูลหนี้มาให้เรา ปรากฏว่าจากวันนั้นเราก็เริ่มเป็นที่รู้จัก และในวันที่ JMART เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เราระดมทุนได้ 133 ล้านบาท โดยนำเงินจำนวน 76 ล้านบาท ไปให้ JMT ไปซื้อหนี้”
และจากวันนั้นจนในปี 2012 JMT ก็เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยมาร์เก็ตแคป 1,200 ล้านบาท และในปัจจุบัน JMT มีมาร์เก็ตแคป ประมาณ 100,000 ล้านบาท
ต่อมา คือ จุดเริ่มต้นของ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J เริ่มขึ้นในปี 1999 ได้มีโอกาสจากทาง Big C มอบพื้นที่เช่า 500 ตารางเมตร เพื่อให้นำไปพัฒนาเป็นพื้นที่เช่าสำหรับคนขายมือถือ ปรากฏว่า ไม่มีคนเช่า เจ๊งอยู่ 2 ปี เพราะต้องไปเปิดเองทั้งหมดในตลาดนั้น แต่ด้วยความตั้งใจ ไม่ยอมแพ้ จนกระทั่งมี ADVANC มาเปิดอยู่ข้างๆ ลูกค้าก็มากขึ้นๆ ทำให้ร้านค้าหันมาอยากได้พื้นที่ จึงตัดสินใจถอดที่บริษัทเปิดเองออก และให้ลูกค้าไปเช่าแทน จนกระทั่งในปี 2015 ได้นำ J เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
และในปีเดียวกัน คือ ปี 2015 หรือ 25 ปีต่อมาหลังจากเริ่มทำธุรกิจ JMART ได้เข้าซื้อหุ้น SINGER จากผู้ถือหุ้นเดิม เพราะเดิมทีรักและชอบ SINGER อยู่แล้วดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่าเลือกเริ่มต้นทำธุรกิจแบบ SINGER โดยตัดหุ้น JMT ส่วนหนึ่งไปขายให้กับ คุณกวิน กาญจนพาสน์ หรือ เควิน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS คุณพีรนาถ โชควัฒนา และอีกหลายๆ ท่าน
ทำให้ได้เงินมาจำนวน 500 ล้านบาท และกู้ยืมจากสถาบันการเงินอีก 450 ล้านบาท รวมเป็น 950 ล้านบาท ส่งผลให้เข้าซื้อหุ้นได้ครบจำนวน 25% ตามที่ต้องการ
“เราก็เข้าไปบริหาร โดย SINGER สมัยนั้น บุคลากรอายุใกล้เกษียณ ไม่มีเทคโนโลยี มีอย่างเดียวคือ Manual แต่ด้วยความตั้งใจที่เราอยากจะเห็น SINGER กลับมาเติบโตอีก เราต้องพยายามเข้าไปบริหาร แต่ปรากฎว่าเจอรับน้อง ไม่ยอมขายของ เซลล์ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่มีทางออกนอกจากเอามือถือไปขาย ขายไม่ได้ เราไปขายให้เพื่อกอบกู้ยอดขาย”
จากนั้น SINGER เพิ่มทุน โดยได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK จำนวน 600 ล้านบาท เพื่อนำมาเพิ่มทุนให้ SINGER แต่มีคนเพิ่มทุนแค่ 30% ขณะที่อีก 40% ไม่เพิ่มทุน และอีก 30% เป็น JMART ถือหุ้น นอกจากนี้ ยังนำเงินดังกล่าวมาเพิ่มทุนให้ J ด้วย
ขณะเดียวกัน จากการเปลี่ยน Equity ที่เพิ่มขึ้นใหญ่ขึ้นตามเกณฑ์ก็สามารถมาออกหุ้นกู้ได้ SINGER สามารถออกหุ้นกู้ได้ ก็เริ่มได้เงินเข้ามา ประกอบกับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ เป็นไร้กระดาษ และแอปพลิเคชัน พยายามตัดสิ่งที่ไม่ส่งเสริมการขายให้คล่องตัวออก
จนปัจจุบัน SINGER เป็นบริษัทตัวอย่างที่ทรานฟอร์มฯ ตัวเองจากอนาล็อกเป็นดิจิทัลได้สำเร็จ 100% ทำให้ SINGER กลับมาเป็นบริษัทที่มีกำไรมากที่สุดในปี 2021 ที่ 700 ล้านบาท และปี 2022 SINGER ตั้งเป้าหมายมีกำไรแตะ 1,000 ล้านบาท อีกทั้งยังเตรียมผลักดัน บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC ซึ่งเป็นบริษัทลูก เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือน พ.ย.นี้ ต่อยอดทำให้ SINGER แข็งแกร่งขึ้น
JMART Group เน้นเรื่องของรีเทล ไฟแนนซ์ แต่สิ่งที่ขาด คือ เทคโนโลยี ดังนั้นเห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีฟินเทคจริงๆ ประกอบกับตอนนั้น JMART มีบริษัทจดทะเบียนอยู่ 4 บริษัท ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะมาทำแพลตฟอร์มต้องอยู่ในประเทศไทย จึงก่อตั้ง บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ในปี 2017 ตั้งใจจะทำ เจ ฟินเทค แพลตฟอร์ม ทำให้ไปหารือกับ ก.ล.ต.และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน แจ้งว่าไม่มีกฎหมายห้าม แต่ไม่อยากให้ทำ
“ผมบอกว่าถ้าท่านไม่อนุญาตให้ทำ ผมก็ต้องไปทำที่สิงคโปร์ หรือ สวิตเซอร์แลนด์ แต่อย่าบังคับผมเลย ช่วยแนะนำผมหน่อยว่าผมต้องทำอย่างไร แต่ขอทำในประเทศไทย ทำให้วันนี้เราได้รับการสนับสนุนแบบอ้อมๆ ทั้ง ก.ล.ต. และ ธปท.ในการออก ICO JFIN COIN ถือเป็นรายแรกของประเทศไทยที่ออก ICO และมีแผนผลัดดัน JVC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2024”
นอกจากนี้ JMART Group ยังเข้าสู่ธุรกิจขายกาแฟ แบรนด์ Casa Lapin ภายใต้การบริหารของ บริษัท บีนส์ แอนด์ บราวน์ จำกัด ผ่านการถือหุ้นโดย J ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เชื่อว่าเป็นแบรนด์ที่มีคุณภาพกาแฟที่ดี และตั้งเป้าหมายนำ บริษัท บีนส์ แอนด์ บราวน์ จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2025
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก JMART Group ได้เปลี่ยน Position ของตัวเองจากการเป็นบริษัท “ขายมือถือ” เป็น “Technology Investment Holding Company” เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าได้มีการประกาศไปแล้วหลายดีล ไม่ว่าจะเป็น การเข้าลงทุนใน บริษัท พีอาร์ทีอาร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PRTR ซึ่งทำเกี่ยวกับ HR และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือน ม.ค.2023
การเข้าลงทุนใน บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ด้วยเล็งเห็นถึง Community 20,000 ครอบครัว ที่สามารถเข้าไปทำธุรกิจด้วยได้ และยังลงทุนใน บริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NINE ที่เปิด Outlet บน BTS
นอกจากนั้น JMART Group ยังเป็นพันธมิตรกับ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ทำโซลาร์รูฟท็อป และเป็นพันธมิตรกับดีลเลอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า ทำ JD
1
ดังนั้น ในส่วนของการลงทุนยังลงทุนต่อเนื่อง และเรื่องของการลงทุนจะเป็นคีย์หลักของ JMART จากนี้ไป นอกจากจะมี Organic Growth จากธุรกิจที่เรามีอยู่ ก็ยังมี Inorganic Growth ที่ไปลงทุนหลายๆ บริษัท เน้นธุรกิจคอมเมิร์ซ ไฟแนนซ์ เทคโนโลยี และเตรียมประกาศรายละเอียดการเข้าลงทุนในธุรกิจอาหารเร็วๆ นี้ โดยเข้าไปเสริมความแข็งแกร่งด้วยเทคโนโลยี
ขณะเดียวกัน ก็มีหลายๆ บริษัทเข้ามาเป็นพันธมิตรกับ JMART Group ทั้ง KB Kookmin Card Co., Ltd บริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตการ์ด และสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหญ่ของเกาหลีใต้ จัดตั้ง บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล จำกัด หรือ KBJ เพื่อให้บริการสินเชื่อ Kashjoy ตลาดในประเทศไทย ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล รถยนต์ และโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งบัตรกดเงินสด
กลุ่ม BTS ได้ลงทุนใน JMART และ SINGER ด้วยมูลค่า 17,500 ล้านบาท รวมทั้ง KBANK เลือก JMT ร่วมลงทุนใน บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด เพิ่มศักยภาพการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยเป็นการลงทุนร่วมกันฝ่ายละ 5,000 ล้านบาทและบริษัทเทคโนโลยี TIS จากญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนใน JVC
ตรงนี้เลยเป็นจุดเปลี่ยนให้เริ่มคิดว่าแล้ว JMART Group จะไปต่ออย่างไร เพื่อไม่ให้คนที่มาลงทุนผิดหวัง และหากจะมีมาร์เก็ตแคปเติบโตให้ได้ 500,000 ล้านบาท ในปี 2024 ต้องทำธุรกิจไม่เหมือนเดิมจากอดีตที่ผ่านมา
โจทย์นี้จึงถูกโยนไปให้ทางทีม JMART Group ทั้งหมด ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นโจทย์ที่ “เจ” ลูกชาย และทีม คิดและต้องทำให้ได้
“เอกชัย สุขุมวิทยา” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART เล่าว่า แนวคิดธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย “ใจ” ของ JMART Group มีภาพความสำเร็จของทุกบริษัทในเครือที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เรากำลังก้าวต่อไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน แบบ J Curve ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพทางธุรกิจ และผนึกกำลังกับพันธมิตรอย่างเปิดกว้างเพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างโมเดลการเติบโตแบบทวีคูณ (Exponential Business Model) ร่วมกัน
โดยตั้งเป้าภาพรวมกำไรเติบโตไม่น้อยกว่า 50% ต่อปี ในอีก 3 ปีข้างหน้า และ JMART Group ได้ผนึกความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อสร้างธุรกิจต่อยอดในอนาคต
คงต้องติดตามว่า JMART Group ภายใต้ทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี จะสามารถก้าวไปสู่มาร์เก็ตแคป 500,000 ล้านบาท ภายในปี 2024 ตามที่ได้วางเป้าหมายไว้ได้หรือไม่
#moneychat #JMART
โฆษณา