30 ต.ค. 2022 เวลา 06:43 • ท่องเที่ยว
ปราสาทเขาพระวิหารในม่านฝน .. วิมานศรีศิขรีศวร (2)
ทางดำเนิน ระหว่างโคปุระชั้นที่หนึ่งกับโคปุระชั้นที่สอง .. มีทางเดินยาว 270.53 เมตร กว้าง 11.10 เมตร ทอดไปทางทิศเหนือสู่โคปุระชั้นที่สอง
โดยมีขอบทางทำเป็นเขื่อนหินยกสูงขึ้นเป็นขอบทั้งสองข้าง ส่วนพื้นทางปูด้วยศิลาทรายโดยตลอด แต่กระนั้นก็ดีบางตอนของพื้นทางก็เป็นลานซึ่งเป็นหินทรายตามธรรมชาติที่ไม่เป็นระเบียบก็จำต้องตัดผิวหน้าให้เรียบเพื่อเข้ากับรูปแบบส่วนรวม
ทิวทัศน์ท่ามกล่างสายฝนที่โปรยปรายไม่ขาดสายนั้น สวยงามด้วยม่านฝน ม่านหมอกที่มีต้นไม้ยินต้นมองเห็นเป็นเงาสีเทาเขียวรางๆ ..
เณรน้อยหลายคนเร่งรีบสาวเท้าจนจีวรปลิว เดินมาบนทางเดินหิน เป็นภาพที่คลาสสิคสวยงาม ที่คงไม่มีโอกาสเห็นหากฝนไม่ตก
บนขอบทางเดินทั้งสองข้างปักเสาศิลาทรายซึ่งเรียกกันว่า เสาเทียน เสานางเรียง เสานางจรัล มีลักษณะเป็นเสาศิลาสี่เหลี่ยม มียอดคล้ายรูปดอกบัวตูมสูงราว 2.15 เมตร ปักเรียงรายเป็นระยะซึ่งเข้าใจว่ามีข้างละ 70 ต้น ปักห่างกันต้นละ 4.10 เมตร
เสานางเรียงสองเข้าทางเดินนี้มียอดซึ่งมีลักษณะเป็นรูปพุ่มขนาดใหญ่ บริเวณใต้พุ่มนี้สลักเป็นชั้นลวดบัวตกแต่งด้วยลายประจำยาม ลายกลีบบัว บัวกุมุทและลายใบไม้รูปสามเหลี่ยมสลับพวงอุบะลดหลั่นกันลงมา ในทำนองเดียวกันที่โคนของเสาก็ทำล้อในลักษณะคล้ายคลึงกับยอดของเสา ถึงแม้ว่ายังไม่อาจทราบความหมายที่แท้จริงได้แต่ก็เป็นไปได้ว่าเสานางจรัลที่กล่าวถึงนี้อาจมาจาก ไนจุมวล ในภาษาเขมรซึ่งหมายถึงเสาที่ปักรายเรียงตามทางเข้า ตรงกับความหมายของคำว่า cumval
ถนนเรียบ ปูลาดด้วยแผ่นหินอย่างเป็นระเบียบบนลานหินชั้นที่ 2 จากโคปุระชั้นที่ 2 มายังกลุ่มพระมหามณเฑียร ที่ตั้งอยู่บนลานหินชั้นที่ 3 ถนนหินทั้งสองข้างปักเสานางเรียงขนาดย่อม ตลอดสองข้างทางมีคันหินถมดินเพื่อกั้นน้ำฝนไม่ให้ไหลเข้าสู่อาคารสถาน
ตลอดทางเดิน ตลอดไปจนถึงบันไดทางขึ้นในช่วงเวลาที่เราไปถึง มองเห็นผู้คนในเครื่องแต่งกายเต็มยศ มีสุภาพสตรีในชุดเครื่องแต่งกายสวยงาม รวมถึงพระสงฆ์จำนวนมากกำลังเดินทางลงมาจากด้านบน .. เรานึกในใจว่า น่าจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ผู้คนมารวมตังกันอยู่ ณ ที่นี้ในวันนี้
บนลานชั้นเดียวกับโคปุระชั้นที่ 2 นี้ ยังมีสิ่งก่อสร้างอื่น คือ บารายรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า หรือสระสรง อยู่ระหว่างเส้นทางที่ลาดขึ้นไปสู่พระมหามณเฑียรบนชั้นต่อไป ทางด้านทิศตะวันออกของทางดำเนินก่อนถึงทางขึ้นโคปุระที่ 2 ห่างขอบทางออกไปราว 12.40 เมตร มี กว้าง 16.80 เมตร ยาว 37.30 เมตร สระน้ำแห่งนี้กรุด้วยท่อนหินเป็นขั้นๆ ลักษณะเป็นขั้นบันได สอบลงก้นสระบริเวณชานบันไดลง กล่าวกันว่าใช้สำหรับเป็นที่ชำระร่างกายของกษัตริย์ก่อนที่จะกระทำพิธีทางศาสนา .. มีการตั้งรูปสิงห์ประดับไว้
มีผู้รู้ว่าให้ฟังว่า บารายแห่งนี้ค่อนข้างแปลก ตามสถาปัตยกรรมขอมบารายต้องสร้างไว้ภายในองค์ปราสาท แต่บารายบนเขาพระวิหารสร้างอยู่นอกปราสาท ซึ่งมีการสันนิษฐานกันว่า ผู้คนมีอาชีพเกษตรกรรม และในบริเวณนี้ไม่ค่อยมีน้ำใช้เนื่องจากอยู่บนที่สูง กษัตริย์จึงโปรดให้สร้างบารายไว้ภายนอก เพื่อใช้ขังน้ำฝนซึ่งไหลมาตามลาดเขา ให้ประชาชนมีน้ำใช้ ศาสนสถานแห่งนี้จึงมีความผูกพัน เกี่ยวโยงกับชุมชนโบราณที่อยู่รอบๆ … เราจึงได้เห็นภูมิปัญญาในการสร้างแหล่งน้ำที่เข้าใจธรรมชาติเป็นอย่างดี เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก
สุดทางเดิน เป็นบันไดทางขึ้นสู่โคปุระชั้นที่ 3 .. เรายืนรอให้พระสงฆ์เดินลงมา ในขณะที่เพื่อนๆหลายคนถือโอกาสได้ทำบุญไปด้วย
สองข้างทางขึ้นลงของบันได จะพบรอยสกัดลงในพื้นศิลา มีลักษณะเป็นหลุมกลม ๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณฟุตเศษ ๆ เป็นหลุมสำหรับใส่เสา เพื่อทำเป็นปะรำพิธี โดยมีประธานในพิธีนั่งอยู่ในปะรำพิธีเพื่อดูการร่ายรำบนเส้นทางดำเนิน
ถัดจากบันไดทางขึ้น .. โคปุระ ชั้นที่ 3 (ปราสาทหลังที่ 1 หรือพระมหามณเฑียร) สถาปัตยกรรมที่โคปุระที่ 2 นี้นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายสบายตาที่สุดของปราสาทพระวิหาร ความได้สัดส่วนที่เคยสวยงามนั้น เห็นได้จากการมองจากซุ้มประตูด้านนอก แลทะลุไปยังประตูชั้นในอันซับซ้อน
โคปุระชั้นที่ 3 เป็นโคปุระ หลังที่ใหญ่โตมโหฬาร ที่ยังสมบูรณ์ที่สุด ลักษณะการสร้างคล้ายกับโคปุระชั้นที่ 1 และ 2 แต่ต่างกันตรงที่มีฝาผนังกั้นล้อมรอบความใหญ่โตมากกว่าเยอะ(ถ้ามีฝาผนังกั้นหรือกำแพงแก้วล้อมรอบ) นักโบราณคดีเรียกว่า พระมหาปราสาท ประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง ขนาดใหญ่ คือพระมหามณเฑียรกลาง อาคารเฉลียงขวา-ซ้าย และมณเฑียรขวาง เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์
ปราสาทเขาพระวิหารมีลักษณะที่แผนผังที่ใช้แกนเป็นหลัก ซึ่งความนิยมแผนผังเช่นนี้ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 กลุ่มของอาคารหลักซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาประกอบด้วยปราสาทประธานเป็นจุดศูนย์กลางหันหน้าไปทางทิศเหนือล้อมรอบด้วยระเบียงคดทั้งสี่ด้าน ปราศจากบรรณาลัยขนาบเบื้องหน้า
ด้วยเหตุนั้นปราสาทประธานนี้จึงโดดเด่นบริเวณกึ่งกลางของลานชั้นในโดยไม่มีอะไรบดบัง ลักษณะของแผนที่เช่นนี้แสดงให้เห็นถึง การวางผังที่กำหนดตำแหน่งอาคารมีความสมบูรณ์ลงตัวตั้งแต่แรกเริ่มของการก่อสร้าง โดยไม่มีการแก้ไขต่อเติมบริเวณลานชั้นในภายหลัง
พระมหามณเฑียร หรือปราสาทประธาน ตั้งอยู่กลางลานชั้นในสุด ประกอบด้วยครรภคฤหะ มีแผนผังเป็นรูปกากบาทสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 34 X 34 เมตร ออกมุมตั้งบนฐานปราสาทประธาน หลังคาปั้นลม ซึ่งเรียกว่ามหาปราสาท
มีผนังและมุขหรือทางเข้าทั้งสี่ทิศได้แก่ ทิศเหนืออันเป็นทางเข้าสำคัญ มีอันตราละ เชื่อมต่อกับมณฑป ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือ ในขณะที่มุขทางเข้าวิมานอีก 3 ทางอันได้แก่ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้มีลักษณะเหมือนกันโดยทำเหมือนกับเป็นทางเข้าสู่คฤหะโดยตรง
ตามปกตินั้นสถาปัตยกรรมเขมรคงมีลักษณะเช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมอินเดีย ซึ่งมีมณฑปตั้งอยู่เกือบเสมอทิศตะวันออก ด้วยเหตุนั้นศาสนสถานเขมรโดยทั่วไปจึงหันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น อาจจะมีเหตุผลเกี่ยวกับลัทธิความเชื่อโบราณว่า แสงสว่างของดวงอาทิตย์ได้ก่อให้เกิดพลังแก่รูปเคารพ
มุขหน้า (มุขเหนือ) .. รงบันไดทางขึ้น แบ่งเป็น 2 คูหา ประตูซุ้มตรงทางขึ้นมีรูปสิงห์นั่งอยู่ริมประตู ความโดดเด่นของอาคารกลุ่มนี้ คือ ซุ้มเรือนแก้วที่งดงามบนหน้าจั่วและหน้าบันของซุ้มประตู
หน้าบัน .. จำหลักรูปเทพนั่งชันเข่า
ทับหลัง .. ประตูจำหลักหน้าเกียรติมุข
เสาประตูจำหลักลายกระจัง ที่โคนเสามีรูปโยคีนั่งประนมมือ
ภาพสลักที่งดงามของซุ้มประตูด้านใน ทับหลังด้านใน แสดงภาพพระกฤษณะกำบังประหารนาคกาลียะ
มุขด้านตะวันออก .. แบ่งเป็น 3 คูหา ริมประตูซุ้มด้านนอกตั้งรูปสิงห์
หน้าบันและทับหลังประตู .. จำหลักรูปเทพนั่งชันเข่าเหนือเศียรเกียรติมุข
ทับหลังประตูซุ้มด้านใน .. จำหลักลายรูปเทพนั่งอยู่ระหว่างเศียรนาตราช 6 เศียร
มุขตะวันตก .. มี 3 คูหา หน้าบันและทับหลังประตูซุ้มจำหลักลวดลายทำนองเดียวกัน
มุขใต้ .. มี 2 คูหาเหมือนมุขเหนือ ประตูซุ้มข้างในจำหลักภาพและลวดลายเหมือนกัน
หน้าบันประตูด้านนอก .. จำหลักลายสวยงาม มีความเด่นชัดและมีความหมายมากที่สุด เป็นเรื่องนารายณ์สิบปาง ตอนกูรมาวตารกำลัง กวนเกษียรสมุทร อันเป็นสัญลักษณ์ของพระราชพิธีอินทราภิเษกสำหรับพระจักรดิราช ..
พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นเต่ารองรับเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนเสาในการกวนเกษียรสมุทร นาตดึกดำบรรพ์พันรอบแกน ด้านหนึ่งเทวดายุด ส่วนอีกด้านหนึ่งมีอสูรยุด
ทับหลังประตูข้างนอกจำหลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมศิลป์ เหนือหลังอนันตนาคราช มีดอกบัวผุดขึ้นจาดพระนาภี กลางดอกบัวคือ พระพรหม .. อันเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างโลก
กลุ่มพระมหามณเฑียรกลาง มีบริเวณกว้างขวาง ประกอบด้วยอาคารก่อด้วยหินแต่หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง 5 หลังขนาดใหญ่ คือ พระมหามณฑลกลาง อาคารเฉลัยงซ้าย-ขวา และมณเฑียรขวาง มีหน้าต่าง 17 หน้าต่าง ประตู 10 ประตู มีลูกกรงลูกมะหวดเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับหน้าต่างและช่องลม ทำด้วยศิลาล้วน
กลุ่มพระมหามณเฑียรกลาง สันนิษฐานว่าเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในยามเสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ณ ปราสาทพระวิหาร .. ประกอบด้วย
มุขเหนือ .. ยังเห็นซากของประตูซุ้มข้างนอกและประตูซุ้มข้างใน
ประตูซุ้มข้างนอก มีหน้าบันจำหลักรูปพระกฤษณะยืนใต้ร่มไม้ในท่าจับฟาด พระองค์จับเท้าสิงห์ด้วยมือขวาและเท้าช้างด้วยมือซ้าย ฟาดด้วยพระหัตถ์ .. ทับหลังจำหลักรูปเทพนั่งชันเข่า .. เสาประตูจำหลักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ รูปโยคีนั่งประนมมือ
ประตูซุ้มข้างใน ภาพสลักหน้าบันและทับหลังของซุ้มประตูชั้นในของมุขเหนือ กลุ่มพระมหามณเฑียร โดนเฉพาะหน้าบันนั้น จำหลักเป็นรูปพระกฤษณะโคธวรรธนะ มือซ้ายท้าวสะเอว มือขวาแบกภูเขา เพื่อกั้นบังโคบาลจากห่าฝนและฟ้า เบื้องเท้ามีโคบาลและฝูงโค .. ทับหลังจำหลักรูปนารายณ์ 4 กร ทรงครุฑ มีปีกเหมือนนกธรรมดา ไม่มีมือ อยู่เหนือเศียรเกียรติมุข .. ภาพสลักนี้นับเป็นภาพที่สวยงามแห่งหนึ่งของปราสาทแห่งนี้
มุขตะวันออก .. มีประตูซุ้มด้านเหนือ ด้านใต้ และด้านตะวันตก
หบ้าบันประตูซุ้มด้านเหนือ .. จำหลักรูปเทวดา หรือมนุษย์จับม้าเหนือเศียรเกียรติมุข
ทับหลัง .. จำหลักรูป อุมามเหศวร ยืนท้าวสะเอวสอดเกี่ยวกัน มือเกาะกุมและตระหวัดรอบคอ อยู่เหนือเศียรเกียรติมุข
มุขตะวันตก .. ลักษณะเหมือนมุขตะวันออก
มุขใต้ .. ลักษณะเหมือนมุขเหนือ
หน้าบันซุ้มด้านนอก .. จำหลักรูปพระอิศวรนั่งชันเข่าบนหลังโคอุศุภราช
ทับหลัง .. รูปพระพรหมและชายา บนแท่นมีหงส์แบก
หน้าบันซุ้มด้านใน .. จำหลักรูปพระอิศวรและพระอุมาทรงโคอุศุภราชอยู่ใต้ต้นไม้ .. ทับหลังเป็นรูปเทพนั่งชันเข่า
หน้าจั่วของหลังคามีเชิงชายขมวดงอนดั่งเศียรนาคราช ซุ้มประตูหน้าบันและทับหลังที่แกะสลักอย่างสวยงาม ณ อาคารมุขใต้นี้ นัยเป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของปราสาทเขาพระวิหาร โดยเฉพาะช่องว่างที่อยู่ระหว่างภาพสลักในกรอบสามเหลี่ยมที่มีลวดลายสลักพันกับกรอบซุ้มเรือนแก้ว แสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่อย่างชาญฉลาด
ห้องใหญ่ ..
ห้องใหญ่ ด้านเหนือมีหน้าต่าง 6 ช่อง ด้านใต้ 2 ช่อง ติดลูกกรงหินเกลี้ยง ภายในห้องไม่มีลวดลาย
อาคารเฉลียงซ้าย-ขวา เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาคารด้านชวาซ้าย ต่างแบ่งเป็น 3 ห้อง ซึ่งเข้าใจว่าอาคารเฉลียงขวา-ซ้ายนี้สร้างเพิ่มภายหลัง
มณเฑียรขวาง เป็นอาคารอยู่ด้านซ้ายและขวา
หมู่อาคารด้านทิศเหนือ มีกลุ่มของวิหารน้อยใหญ่ที่ล้อมรอบด้วยกำแพงหินธรรมดา ที่สะดุดตา คือ พระวิหารเล็ก ก่อทึบไม่มีหน้าต่าง เครื่องบนเป็นหินที่มีลวดสายสลักงดงามมาก
แง่มุมและด้านต่างๆของกลุ่มอาคารโคปุระชั้นที่ 3 นี้ ล้วนแล้วแต่เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกฐานสูง และมุงหลังคาด้วยเครื่องไม้และกระเบื้อง
วันที่เราไปเยือนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ
.. ช่วงเช่ามีพิธีทางศาสนาอุทิศส่วนกุศลถาวายพระองค์ ส่วนในช่วงกลางวันมีการแสดงการชกมวยโบราณ
Ref : หนังสือเขาพระวิหาร โดย ดร. ธิดา สารายา
โฆษณา