31 ต.ค. 2022 เวลา 00:24 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มาดูกันว่า ทั่วโลกมีนโยบายเกี่ยวกับโซลาร์รูฟอย่างไรบ้าง
รวมถึงประเทศไทยด้วยนะ
บอกเลยว่ามีข่าวดีให้ติดตามตอนท้ายด้วย
แม้ว่าเป้าหมายของหลายประเทศทั่วโลกคือการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อสร้างสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศของโลก แต่ในความเป็นจริง หลายประเทศทั่วโลกก็ยังต้องพึ่งพาพลังงานจากโรงงานไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน และน้ำมัน
หลายประเทศทั่วโลกเริ่มออกนโยบายต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้ประชาชนติดโซลาร์รูฟเพื่อลดค่าไฟฟ้าไปจนถึงการขายไฟฟ้าคืนให้กับภาครัฐได้ เช่น เมื่อปี 2017 อังกฤษได้มีโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟให้ผู้มีรายได้น้อย 8 แสนครัวเรือนใน 5 ปี โดยรัฐบาลอังกฤษเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดพร้อมรับซื้อไฟคืนเพื่อสร้างรายได้ให้คนจน ซึ่งโครงการนี้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 160 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6.7 พันล้านบาท)
ฟากสหรัฐอเมริกาผลักดันให้ประชาชนติดโซลาร์รูฟในหลาย ๆ รัฐ และติดตั้งมิเตอร์ที่สามารถระบุหน่วยสุทธิจากการผลิตไฟฟ้า ไปจนถึงการขายหน่วยคืนไปที่รัฐบาล ขณะที่รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกที่ออกนโยบายบังคับให้บ้านที่สร้างใหม่ทั้งหมดต้องติดตั้งแผงโซลาร์รูฟในปี 2020 ถึงแม้แผนดังกล่าวส่งผลให้ราคาการสร้างบ้านสูงขึ้นอีกราว 10,000 ดอลลาร์สหรัฐก็ตาม
ส่วนเยอรมนีเป็นอีกหนึ่งตลาดโซลาร์รูฟที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป มีบ้านที่อยู่อาศัยติดโซลาร์รูฟมากกว่า 1 ล้านหลังคาเรือน ขณะที่ภาครัฐออกมาสนับสนุนนโยบายการผลิตพลังงานเพื่อใช้เอง และนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
ขณะที่จีน ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย เป็นประเทศที่มีการเติบโตในตลาดโซลาร์มากที่สุด เกิดจากการที่รัฐบาลจีนสนับสนุน พร้อมให้เงินอุดหนุนกับผู้ที่ทำโครงการโซลาร์ต่าง ๆ รวมไปถึงการจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี นอกจากนี้ จีนยังมีโครงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (Peer-to-Peer) อีกด้วย
ส่วนไทย งานวิจัยพบว่า คนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยผลสำรวจล่าสุดจากวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า คนไทยกังวลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมากถึง 37% เมื่อเทียบกับอันดับหนึ่งอย่างปัญหาค่าครองชีพ ที่ 44%
นอกจากนี้ คนไทยกว่า 62% ยอมรับว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมกระทบกับคุณภาพชีวิต แต่สาเหตุหลักที่ทำให้ยังไม่ติดตั้งโซลาร์รูฟนั้นมาจากค่าใช้จ่าย ตั้งแต่การปรับโครงสร้างบ้านให้หลังคาสามารถรองรับน้ำหนักของแผงโซลาร์ได้ จนไปถึงค่าติดตั้งโซลาร์รูฟที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท
จากปัญหานี้เอง ทำให้หลายองค์กรพยายามผลักดันให้เกิด Green Ecosystem ล่าสุดคือการเปิดตัวโครงการ SolarPlus ซึ่งมีธนาคารกสิกรไทยจับมือ 4 พันธมิตร ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ชวนคนไทย GO GREEN Together ด้วยการจับมือพันธมิตรติดตั้งโซลาร์รูฟให้ประชาชนฟรี เพื่อผลิตและขายไฟฟ้า
ซึ่งนอกจากจะช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าไฟ 20% ในส่วนของการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์ โดยเจ้าของบ้านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและค่าบำรุงรักษาเอง เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้นด้วย
ติดตาม GRID by PEA สาระนวัตกรรม เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา