31 ต.ค. 2022 เวลา 02:58 • ท่องเที่ยว
ปราสาทเขาพระวิหารในม่านฝน .. วิมานศรีศิขรีศวร (3)
โคปุระ ชั้นที่ 2
จากลานหินชั้นที่ 3 มีบันได 7 ขั้นขึ้นสู่ถนนตรงไปยังปราสาทหินซึ่งมีปรางค์ประธาน เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ … ถนนลาดขึ้นสู่ชั้นที่ 2 ยาวประมาณ 34 เมตร ปักเสานางเรียงข้างละ 9 ต้น ขอบถนนเป็นแท่งหินลำตัวของนาคราช 7 เศียร สุดถนนมีบันไดขึ้นสู่ปราสาท
… บนลานหินชั้น 4 นี้ เป็นชั้นสูงสุดของเขาพระวิหาร
ทางเดินปูลาดด้วยหินก้อนที่นำมาเรียง .. เส้นทางไม่ราบเรียบ แต่คนรักประวัติศาสตร์และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนอย่างฉัน ก็ยังเห็นว่าการเดินทางแบบนี้เปี่ยมเสน่ห์ .. ที่ได้จินตนาการถึงส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของราชสำนักเขมรโบราณ
.. หลายร้อยปีมาแล้ว ทางเดินแห่งนี้เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบพิธีที่สำคัญตามความเชื่อ ความศรัทธา .. เสียงลมและสายฝนที่อ้อยอิ่งอยุ๋รอบตัวขณะนี้ ราวกับจะนำเสียงสังข์ เสียงปี่ เสียงแตรที่เจ้าพนักงานกำลังประโคม บรรเลง ผสานกันออกมาในท่วงทำนองศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่กษัตริย์และผู้ตามเสด็จก้าวย่างตามทางเดินมาเป็นขบวน
.. ฉันเดินไปตามทางเดินนาคราชเรื่อยๆ ประหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีการที่ดำเนินไปในโบราณกาล
ที่จุดทางขึ้น .. มีซุ้มที่มองดูเหมือนการจัดสักการะบุคคลที่สำคัญ
มองเห็นพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ วางอยู่จุดสูงสุดของซุ้มสักการะ .. ใครบางคนบอกว่า วันนี้เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ท่าน ทางการจึงจัดให้มีพิธีทำบุญเพื่อให้ผสกนิกรได้ระลึกถึงพระองค์ท่าน ดั’นั้นจึงเป็นคำตอบว่า ทำไมจึงมีผู้คนมากมาย ทุกระดับชั้นของสังคมฝ่าสายฝนมาร่วมงาน
เรามาถึงหมู่ปราสาทชั้นที่ 1-2 .. สายหมอกและม่านฝนยังคงทำให้บรรยากาศสลัวๆ อาคารและต้นไม้ที่ปรากฏในสายตาขณะนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนกับเรากำลังเดินอยู่ในเมืองลับแล
มหาปราสาท บนลานหินชั้นที่ 1-2 ประกอบด้วยอาคารซึ่งเป็นโคปุระ ระเบียงคด บรรณาลัย และภวาลัย ซึ่งคือปรางค์ประธานที่ประดิษฐานเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์
อาคารทั้งหมดบนลานหินชั้นนี้ แบ่งได้เป็น 2 หมู่ คืออาคารหมู่เหนือ และอาคารหมู่ใต้ .. ภวาลัยนั้นอยู่ในกลุ่มของอาคารหมู่ใต้
โคปุระชั้นที่ 2 (ปราสาทหลังที่ 2) หลังนี้ผุพังมากเนื่องจากกาลเวลา และแผ่นดินที่ทรุดตัวลง .. รอบๆบริเวณนี้ พบชิ้นส่วนของปราสาท และอาคาร สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่พังทลายลงมาตามกาลเวลา …
ส่วนประกอบของอาคารปราสาท แต่ละชิ้นมีลักษณะใหญ่โต เหมือนลักษณะของศิลปกรรมแบบที่พบที่ปราสาทธมที่เกาะแกร์มาก
ประตูหลังทั้ง 2 ข้างของห้องใหญ่ตรงกลางในกลุ่มอาคารหมู่เหนือ มีจารึกอักษรขอมโบราณสลักลงในแผ่นศิลา สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ในพุทธศตวรรษที่ 16 ปรากฏอยู่
เส้นสายลายสลักที่สวยงามตามแนวทางรูปแบบคลาสสิค .. เกี่ยวเกาะเรียงร้อยด้วยวัชพืชชั้นต่ำบนผิวหิน สร้างมิติที่งดงามในสายตาเรา
ด้านทิศใต้ของเมื่อมองกลับไปจาก โคปุระ 2
โคปุระชั้นที่ 1 กลุ่มอาคารหมู่ใต้ .. มีแบบแผนการสร้างเชื่อมติดต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม เรียกว่าระเบียงคด
“ภวาลัย” คือมณฑปและปรางค์ประธานศีขรหลังคาโค้ง อยู่ตรงกลาง มีระเบียงคดล้อมรอบ …เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ แทนองค์พระศิวะ
องค์ปรางค์อยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง .. ปรางค์มีมุขหน้ายาวอยู่บนฐานย่อมุม 3 ชั้น ตรงช่องประตูทุกช่องมีทางขึ้นลงเป็นบันได 5 ขั้น
ด้านหน้าของภวาลัย หรือปรางค์ประธาน หันหน้าลงสู่ที่ราบสูงโคราชในดินแดนประเทศไทย สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมกับผู้คนในบริเวณภาคอิสานอย่างชัดเจน
มุขหรือมณฑป หน้ากว้าง 15 เมตร ยาว 17 เมตร ทางขึ้นลงเป็นบันได 3 ขั้น หลังคามุงด้วยแผ่นหินเป็นรูปประทุนเรือ หน้าบันประตูซุ้มด้านทิศเหนือ จำหลักรูปปฏิมา 10 กร ยืนเหยียบตะพองช้าง มือทั้ง 10 ถือสิ่งต่างๆคือ มือคู่ล่างสุด ถือพิณหรือไม้เท้ายอดหัวกะโหลก มือทั้งสี่เบื้องขวา ถือตรีศูล มือคู่บน ประณมเหนือศรีษะ
นักโบราณคดีว่าเป็น พระอิศวรปางนาฏราช แต่การที่ประทับยืนบนหลังช้าง บางท่านจึงว่าเป็นพระอิศวรปางประหารคชาสูร คือยักษ์รูปร้างคล้ายช้างเพื่อบูชา
ภายในภวาลัย .. เป็นห้องขนาดเล็ก อาจจะเนื่องจาก ณ ที่นี้ในสมัยโบราณเป็นสถานที่ที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์สูงสุด คงมีแต่กษัตริย์และพราหมณ์เท่านั้นที่เข้ามาประกอบพิธี และสวดมนต์
.. ปัจจุบัน มองเห็นมีการจัดวางรูปพระคเนศณ์ มีฉัตรกั้น และเครื่องบูชาไปไว้ในภวาลัยด้วย และอนุญาตให้ผู้คนจุดธูป บางครั้งที่ฉันไปเยือนจะมีพระพุทธรูปและมีพระสงฆ์อยู่ภายใน
ด้านหลังของรูปปั้นพระคเนศณ์ .. มองเห็นฐานตั้งศิวะลึงค์อยู่ด้านในสุด และยังมีชิ้นส่วนของสิ่งอื่นๆ ที่อาจจะเป็นเทวรูปยืน และปรางค์จำลอง
เราเดินชมประตูปรางด้านต่างๆ ท่ามกลางสายหมอกที่คลอเคลียอยู่ในบรรยากาศ .. ลวดลายสลักบนแท่งศิลาที่ซ้อนลดหลั่นกันเป็นมุมและซอกหลืบ ประกอบเป็นผนังภวาลัยนั้นงดงาม ประกอบด้วยรายละเอียดตามแบบแผนของศิลปกรรมเขมรโบราณ
.. แม้จะมีคราบสีน้ำตาลแซมด้วยเขียวๆของพืชชั้นต่ำเกาะอยู่บนพื้นผิว .. แต่สิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับอายุของโบราณสถาน ที่เพิ่มความคาสสิคสวยงามให้กับโบราณสถานแห่งนี้ให้สวยแปลกตา
ประตูปรางค์ด้านเหนือต่อจากมุขหน้ามีจารึกภาษาสันสกฤตขวางอยู่เหนือธรณีประตู
หน้าบันและทับหลังภวาลัยด้านทิศตะวันออก
หน้าบันและทับหลังภวาลัยด้านทิศตะวันตก
ระเบียงคด .. สิ่งก่อสร้างของขอมโบราณ เป็นสถาปัตยกรรมที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอาคารต่างๆในกลุ่มมหาปราสาท ..
ภายในระเบียงคดที่ล้อมรอบภวาลัย แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างและการก่อสร้างที่แข็งแรง
บรรณาลัย ตั้งอยู่ขนาบกับระเบียงคด ทางทิศตะวันตกของมหาปราสาท จัดเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่มีประตูและผนังล้อมอย่างงดงาม
พระวิหารเล็ก ..
ก่อทึบไม่มีหน้าต่าง เครื่องบนเป็นหิน ที่มีลวดลายสลักที่งดงาม
“เป้ยตาดี” .. เป็นชื่อของลานศิลาซึ่งอยู่ด้านหลังมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้นอกระเบียงคดที่ล้อมรอบปราสาทประธานของเขาพระวิหาร .. จากคำบอกเล่ากล่าวกันว่า นานมาแล้วมีพระภิกษุชรารูปหนึ่งชื่อ ดี จาริกมาปลูกพำนักอยู่ ณ ลานศิลาแห่งนี้จนถึงแก่มรณภาพ ชาวบ้านจึงเรียกลานแห่งนี้ว่าเป้ยตาดี ซึ่งหมายถึงเพิงหลวงตาดีนั่นเอง
ลานศิลาแห่งนี้มีพื้นที่กว้าง 44 เมตร ยาว 50 เมตร ยังคงปรากฏร่องรอยของการตัดศิลาทรายเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างอาคารและส่วนต่างๆของปราสาทเขาพระวิหารในปัจจุบัน .. ในวันที่เมฆสวย ฟ้าใส จากลานแห่งนี้สามารถมองเห็นภูมิประเทศกัมพูชา หรือเขมรต่ำได้ในมุมกว้างสุดสายตา
ด้วยเหตุที่ปราสาทเขาพระวิหาร อยู่บนยอดเขาแห่งหนึ่งในเทือกเขาพนมดงรัก ทิวทัศน์ในวันโปร่งฟ้าใสช่วงที่ฉันไปเยือนก่อนครั้งนี้ โดยรอบเขาพระวิหารสวยงามมากมาย .. เมฆขาวใสเหมือนขนนกกระทบแสงแดดอ่อนๆ ความใสของแสงแดดทำให้เราสามารถมองได้ไกลสุดเส้นขอบฟ้า เลียบละลิ่วผ่านทิวเขาผ่านทิวเขาไปจนสุดสายตา เส้นทางคดเคี้ยวของเขาลูกแล้วลูกเล่าตัดกับฟ้าในสายตา
จากที่นี่เราจะมองเห็นปราสาทเหมือน “วิหารสวรรค์” ลอยอยู่ในฟากฟ้า …
วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้นยาวนัก .. “วิมานศรีศิขรีศวร” แห่งนี้จึงเป็นประจักษ์พยานของความพยายามที่จะสร้างสมานฉันท์ทางวัฒนธรรมและการเมืองแต่ครั้งอดีตของผู้คนในที่ราบสูงโคราช และบริเวณที่ราบต่ำของขอม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันมาอย่างแนบแน่นแต่โบราณ
.. เป็นศูนย์รวมของความศรัทธาของมหาชน แหล่งที่คนทุกชาติทุกเผ่าไปจาริกแสวงบุญ ที่อยู่นอกเหนือสิ่งสมมุติทางด้านการเมือง .. เหนือขอบเขตของเส้นที่จะขีดแบ่ง .. มรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของมนุษยชาติ .. ที่ต้องช่วยรักษาร่วมกัน
ขอบคุณ .. เนื้อความบางส่วนจากหนังสือ “เขาพระวิหาร” โดย ดร.ธิดา สาระยา
โฆษณา