31 ต.ค. 2022 เวลา 05:39 • กีฬา
ในชาติอาเซียนทั้งหมด มีแค่ 3 ประเทศ เท่านั้น ที่ยังไม่ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ประกอบด้วย เมียนมาร์, ลาว และ ไทย ทำไมเป็นแบบนั้น วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟัง
6
เมียนมาร์นั้น กำลังเจรจากันอยู่ โดยช่อง Skynet กำลังจะปิดดีลได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ส่วนลาวไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกตั้งแต่เวิลด์คัพ 2018 ที่รัสเซียแล้ว ดังนั้นก็ไม่แปลก ที่เวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ พวกเขาจะไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์อีกครั้ง
1
สำหรับประเทศไทย เมื่อคิดดูแล้วก็น่าประหลาดใจมากที่การซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก ไม่เกิดขึ้นสักที ทั้งๆ ที่ไทยเป็นประเทศที่คลั่งไคล้ฟุตบอลต่างประเทศ และมีดีมานด์คนดูมหาศาล
6
ตอนนี้ ธุรกิจต่างๆ ทั้งผับ บาร์ ลานเบียร์ สินค้า ห้างร้าน ที่ต้องการทำแคมเปญเกี่ยวกับบอลโลก ก็กำลังลุ้นว่า สุดท้ายจะเอายังไง ไทยจะมีถ่ายทอดสดแบบถูกกฎหมายใช่ไหม ทุกคนต้องการรู้ความชัดเจน จะได้วางแผนกันถูก
1
สำหรับราคาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดนั้น ฟีฟ่าคิดราคาแปรผันตามจำนวนประชากร และค่าครองชีพของแต่ละประเทศ
4
อย่างเวียดนาม ประชากร 103 ล้านคน ฟีฟ่าขายลิขสิทธิ์ให้ช่อง VTV ในราคา 14 ล้านดอลลาร์ (532 ล้านบาท)
1
หรืออย่างมาเลเซีย ประชากร 33 ล้านคน ฟีฟ่าขายลิขสิทธิ์ให้ช่อง Astro ในราคา 7.3 ล้านดอลลาร์ (277 ล้านบาท)
สำหรับประเทศไทยนั้น มีการวิเคราะห์ว่า ราคาลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 64 นัด จะอยู่ในช่วงราคาใกล้เคียงกันเวียดนาม คือ 500-600 ล้านบาท ซึ่งจะแพงกว่าในยูโร 2020 ที่แอโร่ซอฟท์ ซื้อลิขสิทธิ์เมื่อปีที่แล้วพอสมควร (310 ล้านบาท) เพราะเป็นอีเวนต์ใหญ่กว่า และมีเกมลงแข่งขันมากกว่าด้วย
3
คำถามคือ มันติดขัดปัญหาตรงไหนกับบ้านเรา ตอนนี้เหลืออีกแค่ 20 วัน บอลโลกจะเริ่มแล้วแท้ๆ แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้
3
คำตอบนั้น เกี่ยวข้องกับการที่ บ้านเรามีกฎเหล็กที่ ชื่อว่า "Must Have"
1
เมื่อพูดถึงกฎ Must Have นั้น เราต้องอธิบายแบ็กกราวน์เล็กน้อยว่า ในอดีต คนไทยดูฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายฟรีมาตลอด ถ้ารัฐบาลไม่จ่ายเงินซื้อลิขสิทธิ์ให้ ก็จะมีเอกชนซื้อให้
2
ตัวอย่างเช่น ในปี 2002 บริษัท ทศภาค (เบียร์ช้าง) ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกครบทุกแมตช์ เอามาให้คนไทยได้ดู ช่วงนั้นเบียร์ช้างโฆษณาโดยใช้แคมเปญว่า "คนไทยให้กันได้" และการซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกก็ส่งผลให้ยอดขายเบียร์ช้างพุ่งกระฉูด จนเอาชนะเจ้าตลาดอย่างเบียร์สิงห์ได้สำเร็จในช่วงสั้นๆ อีกด้วย
วิธีการที่ไทยใช้ ก็เป็นแบบนี้มาตลอด จนมาเกิดประเด็นขึ้นในปี 2010 เมื่อบริษัท อาร์เอส นำโดยเฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2 ครั้งซ้อน (2010 และ 2014) โดยในปี 2010 ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะอาร์เอสให้คนไทยดูผ่านฟรีทีวี ทางช่อง 3 กับ ช่อง 7
2
ฝั่งอาร์เอสรับรายได้จากค่าโฆษณา คือเมื่อสุดท้ายคนไทยได้ดูฟรี ใครจะเป็นคนซื้อลิขสิทธิ์ก็ไม่ใช่ปัญหา
แต่ดราม่ามาเกิดขึ้นจริงๆ ในฟุตบอลโลกปี 2014 เพราะคราวนี้อาร์เอสไม่ยอมปล่อยให้คนไทย ได้ดูผ่านฟรีทีวีเหมือนครั้งก่อนแล้ว โดยพวกเขาผลิต "กล่องฟุตบอลโลก" ขึ้นมา และวางเงื่อนไขว่า อาร์เอส จะปล่อยให้ดูทางฟรีทีวีแค่ 22 คู่เท่านั้น แต่ถ้าคุณอยากดูบอลโลกครบ 64 แมตช์ ต้องมาซื้อกล่องดังกล่าวนี้ ในราคากล่องละ 1,590 บาท
11
จริงๆ แล้วเรื่องจ่ายเงินดู ที่ไหนในโลกก็มีกัน ที่สหรัฐอเมริกา ช่อง FOX Sports เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บอลโลก ซึ่งเป็น Pay TV คุณต้องจ่ายเงินก่อน ถึงจะได้ดูบอลโลกครบทั้งทัวร์นาเมนต์
1
อย่างไรก็ตาม ที่ไทยนั้น ด้วยความที่คุ้นเคยกับการดูฟุตบอลโลกแบบฟรีมาโดยตลอด ทำให้กลยุทธ์ของอาร์เอส โดนโจมตีอย่างหนัก
1
คอลัมนิสต์ของเว็บไซต์ mgronline ชื่อ ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย วิจารณ์ว่า "คนไทยตาดำๆ คงทำได้แค่หวังว่าทุกอย่างจะแก้ไขได้ โดยจิตสำนึกที่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ลดความโลภส่วนตัวลงกันเสียหน่อย ยักษ์ใหญ่เจ้าของทุนใหญ่ทั้งหลาย ตายไปก็เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ จะโลภกันไปถึงไหน"
10
ตามจริงแล้ว ในปี 2010 กสทช. ออกกฎ "Must Have" ขึ้นมา โดยระบุว่า 7 ทัวร์นาเมนต์กีฬา ประกอบด้วย
1- ซีเกมส์
2- อาเซียน พาราเกมส์
3- เอเชียนเกมส์
4- เอเชียน พาราเกมส์
5- โอลิมปิก
6- พาราลิมปิก
7- ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
1
ใน 7 ทัวร์นาเมนต์นี้ มี Pay Wall ได้แต่ต้องมีทางดูฟรีด้วย และห้ามมีจอดำเป็นอันขาด ประชาชนต้องได้ดูแบบไม่เสียเงินเท่านั้น แต่ปัญหาคือกฎนี้ถูกเขียนขึ้น หลังจากที่อาร์เอสซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2014 ไปแล้ว ตามทฤษฎีจะไม่สามารถบังคับใช้ย้อนหลังได้
4
แต่สุดท้ายด้วยแรงกดดันจากสังคม ทำให้ กสทช. บังคับให้อาร์เอสปล่อยสัญญาณให้คนไทยดูฟรีอยู่ดี โดยจะจ่ายค่าชดเชยให้ แต่อาร์เอสก็โวยแหลก ว่าถ้าปล่อยให้พวกเขาขายกล่องดูบอลตามปกติล่ะก็ จะทำกำไรได้มากกว่านั้นอีกเยอะ จนมีเรื่องฟ้องร้องกันใหญ่โตทีเดียว
5
กฎ Must Have นั้นส่งผลมาก ในการซื้อลิขสิทธิ์กีฬาของเอกชนในเวลาต่อมา เพราะคุณต้องยอมรับก่อนว่า ใน 7 รายการที่ว่านั้น ต่อให้ซื้อมาแพงเท่าไหร่ ก็ต้องปล่อยให้ดูฟรีอยู่ดี
6
บางครั้งเอกชนก็พร้อมวัดใจ เช่น ในปี 2018 เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ซื้อลิขสิทธิ์เอเชียนเกมส์ 2018 ในราคา 100 ล้านบาท ซึ่งก็ปล่อยสัญญาณลงในช่องเวิร์คพอยท์ 23 ทางดิจิทัล ทีวี กะไปลุ้นจากเรตติ้ง และค่าโฆษณาเอา
5
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือด้วยกฎ Must Have แบบนี้ บริษัทที่เป็น Pay TV ที่เงินหนาอย่าง True Visions หรือ AIS Play จึงไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับการซื้อลิขสิทธิ์ด้วย เพราะไม่สามารถเอาคอนเทนต์เผยแพร่แบบ Exclusive ในช่องทางตัวเองได้
1
ถ้าเราไปดูโมเดล ที่มาเลเซีย สถานีโทรทัศน์ Astro ซึ่งเป็นเคเบิ้ลทีวี จ่ายราคาเต็มให้ฟีฟ่า ในราคา 7.3 ล้านดอลลาร์ แต่รัฐบาลมาเลเซีย จ่ายเงินส่วนหนึ่ง เพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์ 41 แมตช์ เอามาลงในฟรีทีวี ช่อง RTM
1
จะเห็นได้ว่า ต่อให้เกมส่วนใหญ่ลงฟรีทีวี แต่ก็มีอีก 23 แมตช์ ที่เป็น Exclusive ที่คุณต้องดูผ่าน Astro เท่านั้น คนซื้อลิขสิทธิ์ก็หวังจะทำกำไรจากจุดนี้นั่นแหละ
1
แต่ที่ไทยสิ่งนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะกฎ Must Have บอกว่า ทั้ง 64 เกม ต้องให้ดูฟรีทั้งหมด เมื่อเป็นแบบนี้บริษัทอย่าง True หรือ AIS ก็ไม่เห็นประโยชน์อะไร ที่จะไปซื้อลิขสิทธิ์มาโดยลำพังผู้เดียว
2
เอาล่ะ ทีนี้เมื่อตัดประเด็น Must Have ออกไป ไม่มี True Visions หรือ AIS Play มาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว วิธีการที่จะซื้อลิขสิทธิ์ในฟุตบอลโลก 2022 ก็เหลือ 4 แบบ
แบบที่ 1 - สถานีโทรทัศน์บางช่องรวมตัวกัน จ่ายเงิน 500-600 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์มาเอง ไปขายสล็อตโฆษณากันเอง (เหมือนช่อง 7 ซื้อลิขสิทธิ์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ) แต่จะมีอะไรการันตีว่า คุณจะได้โฆษณามากขนาดนั้น ทะลุ 500-600 ล้านบาท กับทัวร์นาเมนต์ที่แข่งแค่ 1 เดือนเท่านั้น มันมีความเสี่ยงเหมือนกัน
2
แบบที่ 2 - มีเอกชนสักเจ้ายอมทุ่ม แบบทศภาคเคยทำในบอลโลกปี 2002 แต่ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ที่เพิ่งพ้นจากโควิดมา แต่ละบริษัทอยากเก็บเงินสดเอาไว้ คุณจะหาพ่อพระแบบนั้นได้จริงๆ หรือ?
1
แบบที่ 3 - รัฐบาลเป็นตัวตั้งตัวตี ในการเรี่ยไรเงิน จากเอกชน เหมือนตอนฟุตบอลโลก 2018 รัฐบาล ไปดีลกับ 9 องค์กร ประกอบด้วย บีทีเอส, ไทยเบฟ, ซีพี, กัลฟ์, ธนาคารกสิกรไทย, คิงเพาเวอร์, คาราบาวแดง, ปั๊มน้ำมันบางจาก และ ปตท. แต่ละบริษัทจัดสรรเงินให้คนละนิดคนละหน่อย พอได้เงินมาก้อนหนึ่ง ก็เอาไปซื้อลิขสิทธิ์จากฟีฟ่า
3
วิธีนี้ก็เป็นไปได้ แต่รัฐบาลก็ต้องเริ่มดำเนินการแล้ว เพราะเหลือ gap เวลาอีกแค่ 20 วันเท่านั้น ถ้าจะทำก็ต้องรีบทำเลย
3
แบบที่ 4 - ถ้าไม่มีเอกชนคนไหนเอาด้วย รัฐบาลก็สามารถควักเงินกองกลางจากงบประมาณประเทศ เอาไปซื้อลิขสิทธิ์ด้วยตัวเอง เพื่อให้คนไทยได้ดูกีฬา แต่คำถามคือ จะโดนคนกลุ่มอื่นโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ดูบอลต่อต้านหรือไม่ ว่าคุณเอางบประมาณประเทศมาใช้ในเรื่องนี้งั้นหรือ ถ้าโอลิมปิกที่มีนักกีฬาไทยไปแข่งด้วยก็ว่าไปอย่าง
7
จะเห็นว่าทั้ง 4 รูปแบบที่ว่ามา ก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่ อาจจะออกหน้าไหนก็ได้ทั้งนั้น (แต่ส่วนตัวผมว่า แบบที่ 3 และ 4 เป็นไปได้มากสุด)
2
สำหรับเดดไลน์ ในการซื้อลิขสิทธิ์นั้น ในบอลโลก 2018 เมื่อ 4 ปีก่อน ชาติสุดท้ายที่ซื้อลิขสิทธิ์จากฟีฟ่าคือเวียดนาม ซื้อก่อนบอลโลกเริ่ม 6 วัน แปลว่าตอนนี้ไทยยังพอมีเวลาอยู่ที่จะจัดการปิดจ๊อบให้ได้
1
ส่วนตัวผมไม่ได้กังวลอะไรขนาดนั้น มั่นใจว่ายังไงคนไทยก็ได้ดูฟุตบอลโลกสดๆ ผ่านโทรทัศน์แน่นอนครับ
1
ทำไมผมคิดแบบนั้น? ข้อแรกคือ รัฐบาลคงไม่ยอมเสียหน้าชาติอื่นในอาเซียนหรอก ลองคิดดูว่าในงานประชุม เอเปค ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ (ก่อนบอลโลก 2 วัน) ถ้าถึงวันนั้น ไทยเป็นชาติเดียวในกลุ่มสุดยอดผู้นำ ที่ไม่มีถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก มันก็ดูแย่เหมือนกันนะ ว่าแบบอีเวนต์ระดับโลกขนาดนี้ คุณยังจัดการให้คนในประเทศดูไม่ได้เลย และมันจะสะท้อนภาพที่ชัดเจนมาก ว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องกีฬาอะไรเลยนี่นา
5
ข้อสองคือ การเลือกตั้งทั่วไป ของไทยจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2566 ภาครัฐก็อาจใช้จังหวะนี้ ในการซื้อใจประชาชน ในลักษณะว่า "มอบของขวัญ" ให้คนไทยทั้งประเทศ เราเห็นกลยุทธ์การเมืองแบบนี้บ่อย และมันอาจเกิดขึ้นอีกครั้ง
15
อย่าลืมว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตอนนี้เป็นประธานบอร์ดกกท. ด้วย และนี่เป็นตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบดูแลเรื่องนี้โดยตรงเลยทีเดียว
2
ดังนั้น ผมเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว เราได้ดูแบบถูกลิขสิทธิ์กันอยู่แล้ว ไม่ต้องดูเถื่อนหรอกครับ แต่อาจต้องรอนิดนึงให้มีการเจรจากันให้ลุล่วงก่อน คือคนไทยดูบอลโลกมาตลอด 40 ปีเต็ม เราคงไม่มาพลาดในปีนี้อยู่แล้วล่ะ
3
บทสรุปของผมคือถ้าหาเอกชนเป็นตัวตั้งตัวตีไม่ได้ งานนี้รัฐบาลก็ควรรับเอาไปจัดการ คุณจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ต้อง Get job done ให้ได้ครับ
เพราะถ้าหากแค่การเจรจาซื้อสัญญาณถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกยังทำไม่ได้ เรื่องอื่นๆ ที่ยากกว่านี้ ต้องใช้สมองมากกว่านี้ ก็น่าสนใจนะ ว่าจะจัดการได้ลุล่วงหรือไม่
11
โฆษณา