31 ต.ค. 2022 เวลา 22:36 • ท่องเที่ยว
เรื่องที่ควรรู้ก่อนไปชมปราสาทเขมร .. เทพเจ้าฮินดู
Image : Internet
เทพเจ้าฮินดู
เทพเจ้า .. มีบทบาทที่สำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้าในศาสนาหรือความเชื่อใด .. เป็นที่พึ่งทางใจที่มนุษย์ให้ความเชื่อถือและไว้วางใจ
ศาสนาฮินดู เป็นศาสนาที่ซับซ้อน มีกำเนิดจากลัทธิพระเวท ซึ่งพวกอารยันได้นำเข้ามาในประเทศอินเดียก่อนที่ชาวอารยันได้บุกรุกเข้ามา … ศาสนาฮินดูนี้ได้มีวิวัฒนาการตลอดระยะเวลาของประวัติความเป็นมาโดยในระยะแรกเรียกว่าศาสนาพราหมณ์ และต่อมาจึงกลายเป็นศาสนาฮินดู
.. เกิดก่อนศาสนาพุทธประมาณหนึ่งพันปี เป็นการรวมคติความเชื่อพื้นบ้าน ผสมผสานกับการนับถือเทพเจ้าหลายองค์ แต่ก็ได้ให้ความสำคัญแก่พระเป็นเจ้าสามองค์ได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ซึ่งรวมกันเรียกว่า “ตรีมูรติ” ได้แก่
• พระศิวะ หรือพระอิศวร .. เทพเจ้าผู้ทำลาย
• พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ .. เทพเจ้าผู้รักษา
• พระพรหม .. เทพเจ้าผู้สร้าง
ผู้ที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่สูงสุด เรียกว่า “ลัทธิไศวนิกาย” ซึ่งเป็นพระนามของพระศิวะผู้สร้างโลก ลักษณะการนับถือมี 2 ลักษณะคือ
• บูชาศิวะลึงค์ เครื่องหมายบุรุษเพศ เป็นเครื่องหมายแทนพระศิวะ
• บูชาโคนนทิ พาหนะของพระอิศวร เป็นผู้ให้น้ำนมและเนื้อแก่มนุษย์ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์
ส่วนบางกลุ่มคนที่นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่ที่สุด เรียกว่า “ลัทธิไวษณณพนิกาย” .. อย่างไรก็ตาม มีการนับถือการอวตารของพระนารายณ์มาเกิดเป็นมนุษย์เป็นพิเศษ เช่น พระรามในคัมภีร์รามายณะ เป็น พระกฤษณะในคัมภีร์ภควัทคีตา และเป็น พระพุทธเจ้า เป็นต้น
ศาสนาฮินดู .. มีการแบ่งชั้น วรรณะ โดยยกย่องให้พราหมณ์เป็นชนชั้นที่สูงที่สุดของสังคมรองจาก กษัตริย์ เพราะสามารถติดต่อกับเทพเจ้าได้ ทำหน้าที่ในพิธีกรรมต่างๆ รองลงมาจึงเป็นวรรณะแพศย์ (พ่อค้า) และวรรณะศูทร หรือกุลีเป็นวรรณะต่ำสุด
Image : Internet
ตำนานสังเขปของเทพเจ้าทั้งสาม
พระพรหม .. เป็นหนึ่งในตรีมูรติ เป็นเทพผู้สร้าง โดย “คัมภีร์วราหบุราณะ” กล่าวว่า “พระพรหมธาดา” บังเกิดในดอกบัวที่ผุดขึ้นมาจากพระนาภีของพระพิษณุ (พระนารายณ์) ในขณะที่บรรทมหลับอยู่ ฯเกษียรสมุทร บนหลังพญาอนันตนาคราช และพระพรหมนี่เองที่เป็นผู้สร้างมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้ง 3 โลก
พระพรหม มีรูปกายสีแดง มีเครื่องหมายตรีปุรทร (ขีดสามขีดบนพระนลาฏ) มี 4 พักตร์ 4 กร สองหัตถ์ด้านหน้าแสดงปางประทานพร และปางประทานอภัย หัตถ์ด้านหลังถือช้อนและหม้อใส่เนยเหลว หรือลูกผประคำและคนโทน้ำ หรือหนังสือและต้นหญ้า .. มีหงส์เป็นพาหนะ พระชายาชื่อ พระนางสุรัสวดี สถิตอยู่ใน พรหมโลก
.. มีพระนามเดิมว่า “ปัญจานน” หมายถึงผู้ที่มี 5 เศียร แต่ถูกพระศิวะตัดเศียรออกไป 1 เศียร จากเหตุที่ พระพรหมเกิดหลงใหล “นางศตรูปาสตรี” ที่พระพรหมสร้างขึ้นมา แล้วเฝ้ามองตลอดเวลา เมื่อนางหนีขึ้นข้างบน จึงใช้พระพักตร์ที่ 5 ตามขึ้นไปดู พระศิวะไม่ชอบจึงตัดทิ้ง
บางตำราก็ว่า พระพรหมถูกพระศิวะตัดเศียร เพราะไปกล่าววาจาดูถูก “พระนางอุมาเทวี” ชายาพระศิวะ
1
Image : Internet
พระศิวะ หรือพระอิศวร .. เป็นเทพสูงสุดใน “ไศวนิกาย” เป็นเทพเจ้าผู้ทำลายและสร้างโลก หมายความว่าความตายนั้นก็คือการให้ชีวิตมีขึ้น ชาวฮินดูที่นับถือ ไศวนิกาย เชื่อว่าพระศิวะมีหนึ่งเศียร สี่กร สามเนตร โดยเนตรที่สามอยู่กลางหน้าผาก เวลากริ้วจะมีตัว “เกียรติมุข” หรือหน้ากาลออกมากลืนกินความชั่วร้ายจากเนตรที่สามนี้ พระศิวะทรงนุ่งหนังเสือ มีงูเป็นสร้อยสังวาล ศอสีนิล เกล้าผมเป็นมวยมีพระจันทร์เสี้ยวประดับ มีตรีศูลเป็นอาวุธ ทรง “โคนนทิ” เป็นพาหนะ มีศิวลึงค์ เป็นสัญลักษณ์ สถิตย์อยู่ ณ เขาไกรลาศ
พระศิวะ .. สามารถกำหนดโชคชะตาของมนุษย์ด้วยการร่ายรำ เช่น หากท่ารำอ่อนช้อย มนุษย์โลกจะอยู่เย็นเป็นสุข การร่ายรำนี้เรียกว่า “ศิวนาฏราช” เป็นการแสดงพลังที่พระองค์กระทำต่อจักรวาล 5 ประการคือ การสร้าง การดูแลรักษา การทำลาย การปิดบัง และการอนุเคราะห์
ชายาของพระศิวะมี 2 บุคลิกในร่างเดียว คือ “พระนางปารพตี” หรือ “พระนางอุมาเทวี” และ “เจ้าแม่กาลี” หรือ “ทุรครา”
พระอุมาเป็นผู้ที่แสดงความเมตตากรุณาและผู้ที่สพรึงกลัว เช่นเดียวกับพระศิวะซึ่งทรงเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายล้าง พระนางเป็นสัญลักษณ์แห่งกำลังของโลก ภายใต้ลักษณ์ความอ่อนหวานมีนามว่าอุมา หรือ ปรรพตี และภายใต้ลักษณะโหดร้ายมีนามว่า ทุรคา หรือกาลี ซึ่งเกิดจากการที่บรรดาเทพมาช่วยกันชุบขึ้นเพื่อปราบอสูร .. โอรสของพระนางอุมาเทวีคือ “พระขันธกุมาร” เป็นเทพแห่งสงคราม ทรงนกยูงเป็นพาหนะ และ “พระพิฒเนศวร์” โอรสของ พระนางทุรคา มีเศียรเป็นช้าง เป็นเทพแห่งศิลปะวิทยาการ
1
ในศิลปะเขมรมักนิยมสร้างรูปพระศิวะกำลังกอดพระชายาของพระองค์เหนือพระเพลา
ศิลปะเขมรมักนิยมทำรูปพระศิวะในปางแสดงความเมตตากรุณายิ่งกว่าปางเสวยกาม เศร้าหมองหรือน่าสะพลึงกลัว แต่แทนที่จะทำรูปพระองค์ในรูปของมนุษย์กลับปรากฏว่าในรูปลอยตัวมักแสดงในรูปของศิวะลึงค์ ศิวะลึงค์นี้คือเครื่องหมายขององค์กำเนิดของเพศชาย อันแสดงถึงอำนาจในการสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า
Image : Internet
พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ .. เป็นเทพเจ้าสูงสุดของไวษณพนิกาย เป็นเทพเจ้าผู้รักษา เทพผู้คุ้มครองโลก มีรูปกายสีนิลแก่ สวมอาภรณ์อย่างกษัตริย์ เสื้อทรงสีเหลือง มี 4 กร เรียกว่า “วิษณุจตุรภุช” ถือสังข์ จักร คธา และธรณี .. ใช้ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แทน หมายถึงแผ่นดิน ทรงครุฑเป็นพาหนะ มีอนันตนาคราชเป็นบัลลังก์ ที่สถิตเรียกว่า “ไวยกูณฐ์” ณ เกษียรสมุทร
.. มีชายา 2 องค์ คือ พระนางภูมิเทวี และ “พระลักษมีเทวี” เทพธิดาแห่งความงาม ซึ่งพระนางเกิดจากการกวนเกษียรสมุทร
การบรรทมหลับของพระวิษณุเป็นการช่วยสร้างโลกไว้ภายหลังที่โลกถูกทำลาย กล่าวคือ เมื่อสิ้นกัลป์แล้ว พระวิษณุจะบรรทมเหนือพญาอนันตนาคราช ในเกษียรสมุทร ในขณะที่บรรทมหลับนั้นจะมีดอกบัวทองผุขึ้นมาจากพระนาภีของพระองค์ และมีพระพรหมประทับอยู่บนนั้นและพระพรหมก็จะสร้างโลกขึ้นมาใหม่
Image : Internet
ในระหว่างกัลป์เมื่อเกิดยุคเข็ญขึ้นในโลกพระวิษณุจะอวตารลงมาเพื่อรักษาโลก อวตารเหล่านี้บางครั้งก็เป็นเต่า หมู่ป่า ปลา หรือวีรบุรุษ กูรมาวตารหรือปางอวตารเป็นเต่าซึ่งเกี่ยวข้องกับการกวนเกษียรสมุทรนั้นเป็นที่นิยมมากในศิลปะเขมร การอวตารเป็นมนุษย์ของพระวิษณุคือเป็นพระรามและพระกฤษณะดังที่มีปรากฏอยู่ในเรื่องรามายณะ มหาภารตะ หริวงศ์ ภาควัตปรุณะ และวิษณุปราณะ ก็เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในศิลปะเขมรเช่นเดียวกัน ดังเห็นได้จากภาพสลักอันงดงามเป็นจำนวนมาก
ในบรรดาเทพเจ้าในศาสนาฮินดูนอกเหนือจากตรีมูรติที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีเทพเจ้าอีกองค์หนึ่งซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในศิลปะเขมร เทพเจ้าองค์นี้ได้แก่พระอินทร์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งสายฟ้า – ฝน เทพเจ้าผู้รักษาทิศตะวันออก ทรงช้างเอราวัณสามเศียรเป็นพาหนะ มักได้รับการแสดงภาพให้ปรากฏอยู่เสมอ
ความสำคัญของศิวลึงค์
กษัตริย์ที่นับถือศาสนาฮินดู ไศวนิกาย นิยมสร้างศิวะลึงค์ไว้ในปราสาทต่างๆ เพื่อใช้เป็นรูปเคารพ ศิวลึงค์เป็นเป็นเครื่องหมายองค์กำเนิดของเพศชาย เป็นพลังสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า โดยศิวะลึงค์นี้จะตั้งอยู่บนฐานโยนี (แทนอวัยวะเพศหญิง) ของพระนางปรารพตี ชายาของพระศิวะ ตราบใดที่อวัยวะเพศทั้งสองนี้อยู่ด้วยกัน ก็จะเกิดความรุ่งเรือง บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข
การเซ่นสรวงบูชาพระศิวะ พราหมณ์จะตักน้ำรดศิวะลึงค์ แล้วให้น้ำไหลผ่านร่องโยนี แล้วจึงไหลไปตามท่อโสมสูตร ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้รองรับไปดื่มกินเพื่อเป็นสิริมงคลและรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
เหตุที่ไศวนิกายบูชาศิวะลึงค์ มีเรื่องจากตำนานว่า .. ครั้งหนึ่ง พระพรหม พระวิษณุ และเทพบริวารไปเยี่ยมพระศิวะบนสวรรค์ชั้นไกรลาศ ขณะนั้นพระศิวะกำลังเมสุรา และกำลังเสพกามกับเจ้าแม่กาลีพระชายา ไม่รู้ตัวว่ามีใครมา บรรดาทวยเทพต่างพากันหัวเราะขบขันและตำหนิสาปแช่งพระศิวะ ..
ครั้นพอสร่างเมา พระศิวะรู้สึกละลายพระทัยมาก และเสียพระทัย จนสิ้นพระชนม์พร้อมพระชายา ก่อนสิ้นพระชนม์ทรงตั้งความปรารถนาไว้ว่า .. ความละอายของตนจะต้องได้รับการบูชาจากมนุษย์ตลอดไป จะเกิดใหม่เป็นอวัยวะเพศชาย (ศิวะลึงค์ ลิงคัม) ใครบูชาจะได้ขึ้นสวรรค์ชั้นไกรลาศ
Image : Internet
ยุคทั้งสี่ในคัมภีร์พระเวทย์
กฤดายุค .. เป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองที่สุด มนุษย์มีความสุขที่สุด พระนารายณ์อวตารมาเกิดในโลกมนุษย์ถึง 4 ปาง คือ เป็นปลา เต่า หมูป่า และนรสิงห์
ไตรดายุค .. เป็นยุคที่ความดีลดลงเหลือเพียงสามส่วน พระนารายณ์อวตารลงมาเกิดเพียง 2 ปาง คือ พราหมณ์แคระ และ พระกฤษณะ
ทวาปรยุค .. เป็นยุคที่ความดีลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว พระนารายณ์อวตารลงมาเกิดเพียง 2 ปาง คือ พระรามและพระกฤษณะ
กลียุค .. เป็นยุคที่ความดีเสื่อมถอย ลดลงเหลือ 1 ใน 4 ได้แก่ยุคปัจจุบัน โลกเต็มไปด้วยความชั่วร้าย ทุกข์เข็ญ พระนารายณ์อวตารลงมาเกิดเพียงปางเดียว คือ เป็นพระพุทธเจ้า ในนาคตจะมาเกิดอีกปางหนึ่ง คือ พระกัลป์กิ เพื่อปราบยุคเข็ญ
พุทธมหายาน คู่แข่งศาสนาฮินดู?
ศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองในดินแดนขอมโบราณ นอกจาก “ศาสนาฮินดู” แล้ว ยังมี “ศาสนาพุทธ นิกายมหายาน” ซึ่งเจริญรุ่งเรืองผลัดเปลี่ยนกันกับศาสนาฮินดู ทั้งไศวนิกาย และไวษณพนิกาย
เดิมทีนั้นพุทธศาสนามีเพียงนิกายเดียว คือ “หินยาน” หรือ “เถรวาท” .. จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 6 ได้เกิด “นิกายมหายาน” ขึ้น ซึ่งมีการนำคติความเชื่อการนับถือเทพเจ้าฮินดูมาผสมผสาน โดยเชื่อว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้สร้างโลก และยังบันดาลให้เกิด “ธนานิพุทธเจ้า” 5 พระองค์ และธนานิพุทธเจ้า ยังบันดาลให้ มนุษย์พุทธเจ้าลงมาตรัสรู้ในโลกมนุษย์อีกหลายองค์ เช่น เจ้าชายสิทธัตถะ
พระธนานิพุทธเจ้า .. ยังบันดาลให้เกิดพระโพธิสัตว์อีกหลายองค์ลงมาปกป้องคุ้มครองชาวพุทธมหายาน เช่น “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” พระโพธิสัตว์กวนอิม ฯ
พระโพธิสัตว์ .. มีความหมายว่า พระผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต โดยจะลงมาช่วยเหลือมนุษย์ในโลกให้พ้นทุกข์
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือโลเกศวร .. หมายถึงพระโพธิสัตว์ผู้เป็นใหญ่ในโลก ทรงเปี่ยมด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นผู้มองลงมายังเบื้องต่ำด้วยความกรุณา ทรงอยู่เพื่อช่วยเหลือมนุษย์โลกให้พ้นทุกข์และเข้าถึงนิพพาน
ศาสนาพุทธ และ ศาสนาฮินดู ผลัดกันเจริญรุ่งเรืองตามแต่กษัตริย์ที่นับถือแต่ละศาสนา สิ่งก่อสร้างในปราสาท จึงบ่งชี้ได้ว่าเป็นเทวสถานของฮินดู หรือ ศาสนสถานของพุทธ
***ภาพจาก อินเตอร์เน็ต
โฆษณา