31 ต.ค. 2022 เวลา 23:04 • ท่องเที่ยว
เรื่องที่ควรรู้ก่อนไปชมปราสาทเขมร .. กัมพูชามาจากไหน?
พุทธศตวรรษที่ 1 หรือประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว เกิดการอพยพของชนกลุ่มชาติเขมร (ออส - โตร – เอเซียติค) จากจีนตอนใต้มาอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” การอพยพครั้งนั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อพยพไปตามลุ่มน้ำสาละวิน ได้สถาปนาอาณาจักร “สุธรรมวดี” ตอนบนของพม่า ส่วนเขมรที่อพยพมาตามลำน้ำโขง ได้สถาปนาอาณาจักร “ขอม”
พุทธศตวรรษที่ 6 เกิดอาณาจักรฟูนัน ถือเป็นอาณาจักรเก่าแก่แรกสุดของกัมพูชา ฟูนัน มาจากคำว่า พนม แปลว่าภูเขา ฟูนันเป็นสำเนียงออกเสียงของชาวจีน ที่ออกเสียงพนมไม่ถูก ความหมายของ พนม คือภูเขา ความรุ่งเรือง และเป็นตำแหน่งของกษัตริย์ที่แสดงถึงความหมายว่า ราชาแห่งขุนเขา
ช่วงเวลานี้เองที่เริ่มมีอิทธิพลจากศาสนาฮินดู และศาสนาพราหมณ์ ที่กำลังรุ่งเรืองอยู่ในชวาและคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง
พุทธศตวรรษที่ 11 อาณาจักรฟูนันล่มสลาย เกิดแคว้นเจนละขึ้น โดยมีพระเจ้าวiมันที่ 1 และพระเจ้าอิสานวรมันที่ 1 ได้สร้างราชธานีขึ้นใหม่ ปัจจุบันคือกลุ่มโบราณสถานไพรกุก จังหวัดกำปงธม
พุทธศตวรรษที่ 12 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 แคว้นเจนละแตกออกเป็นเจนละบก และเจนละน้ำ โดยเจนละน้ำอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ (ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน) ส่วนเจนละบกอยู่ในพื้นที่ประเทศลาวตอนกลางในปัจจุบัน
พุทธศตวรรษที่ 14 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงรวบรวมแคว้นเจนละบกและเจนละน้ำให้เป็นปึกแผ่น และประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับชวา (อาณาจักรศรีวิชัย) อีกต่อไป พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้เสด็จจากชวามาครองกัมพูชาโดยนำ “ลัทธิไศเลนทร์” หรือ “ลัทธิเทวราชา” กลับมาด้วย และเกิดการสร้างปราสาท หรือเทวาลัย ซึ่งก็คือศาสนสถานเป็นชั้น เพื่อถวายเป็นทิพยวิมานของเทพเจ้า อีกทั้งยังใช้เป็นราชสุสานของกษัตริย์เมื่อเสด็จสวรรคต ซึ่งมีความเชื่อว่าดวงพระวิญญาณจะหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวกับเทพเจ้าที่พระองค์ทรงนับถือ
ลัทธิเทวราชคืออะไร ?
เทวะ หมายถึงราชา และราชาก็คือเทวะที่จุติลงมาเพื่อสร้างสันติสุขให้กับโลกมนุษย์ การบูชาเทวราชา ก็คือการบูชารูปศิวะลึงค์ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาเสมือนพระศิวะประทับอยู่บนยอดเขาไกรลาศ
กษัตริย์ที่นับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย จึงต้องสร้างศาสนสถานหรือเทวสถาน หรือวิหารที่ประดิษฐานศิวลึงค์ รูปแบบของปราสาทหรือเทวาลัยยุคแรกๆ จะถูกสร้างขึ้นบนภูเขาจริงๆ หรือไม่ก็บนเนินเขาตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง
ต่อมา มีการปรับแนวความคิดใหม่ โดยการสร้างบนที่ราบกลางเมือง โดยสร้างศาสนสถานนั้นเป็นชั้น หรือการสร้างภูเขาจำลองแทนที่จะสร้างบนภูเขาจริงๆ และใช้ปรางค์ปราสาทองค์ที่สูงที่สุดเป็นที่ประดิษฐานศิวะลึงค์
ดังนั้น ศิวะลึงค์มักจะถูกเก็บไว้ในปรางค์ประธาน หรือที่เรียกว่า “ห้องครรภฤห” กษัตริย์ขอมจะทำการบูชาเซ่นสรวง โดยรดน้ำลงที่ศิวะลึงค์ น้ำจะไหลลงช่องโยนีผ่านท่อโสมสูตร ศิวลึงค์ถือเป็นต้นกำเนิดของสรรพชีวิต ดังนั้น ศิวะลึงค์จึงมีบุคลิกภาพอันศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่บนภูเขาธรรมชาติ หรือภูเขาจำลอง โดยตั้งอยู่กลางนครหลวง ซึ่งเปรียบเสมือนแกนแห่งจักรวาล หรือศูนย์กลางของจักรวาล
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 กษัตริย์ขอมองค์ต่อๆมา แม้จะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาฮินดู ไวษณพนิกาย หรือศาสนาพุทธนิกายมหาบานแล้ว แต่ยังสร้างวิหารเก็บราชลึงค์ รูปเคารพในปรางค์ประธานเปลี่ยนจากศิวะลึงค์มาเป็นพระวิษณุหรือพระโพธิสัตว์
โดยสรุปแล้ว กษัตริย์ขอมมักจะสร้างศาสนสถานเป็นชั้น จุดประสงค์เพื่อเก็บ
• เป็นวิหารเก็บราชลึงค์บนภูเขา
• เป็นทิพยวิมานของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์
• เป็นพระราชสุสานเมื่อเสด็จสวรรคต โดยเชื่อว่าดวงพระวิญญาณของพระองค์จะไปหลอมรวมกับเทพเจ้าที่ทรงนับถือ
• เป็นเขาพระสุเมรุ (ที่อยู่ของทวยเทพ) หรือศูนย์กลางโลกและจักรวาล ส่วนบารายหรือคูน้ำที่ล้อมรอบปราสาท เปรียบเหมือนมหานทีสีทันดรที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ
ขอบคุณ : แหล่งข้อมูล เนื้อความบางส่วนที่เขียนไว้นานมากแล้ว จนลืมว่ามีแหล่งอ้างอิงจากที่ไหน
โฆษณา