31 ต.ค. 2022 เวลา 23:52 • ท่องเที่ยว
เรื่องที่ควรรู้ก่อนไปชมปราสาทเขมร .. พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ประวัติศาสตร์เขมร .. มักจะมีชื่อกษัตริย์ที่ลงท้ายด้วยคำว่า “วรมัน” กันบ่อยๆ คำนี้มาจากภาษาสันสกฤตที่แปลว่า “เสื้อเกราะ” หรืออาจจะหมายความถึง “การปกป้องรักษา” ก็ได้ เช่น ชัยวรมัน หมายว่า มีชัยชนะคอยปกปักรักษา ส่วน สุริยวรมัน หมายถึง มีพระอาทิตย์เป็นผู้ปกป้อง สองชื่อนี้เป็นพระนามของ 2 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เขมร
พระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2
พระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 เอกสารไทยมักเรียก สุริยวรมันที่ 2 (เขมร: សូរ្យវរ្ម័នទី២ สูรฺยวรฺมันที ๒; อักษรโรมัน: Suryavarman II) สวรรคตแล้วได้พระนามว่า บรมวิษณุโลก (បរមវិឝ្ណុលោក บรมวิศฺณุโลก) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งจักรวรรดิเขมร เสวยราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1113 ถึงราว ค.ศ. 1145-50
… และผู้สร้างนครวัดซึ่งเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งพระองค์สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับพระวิษณุ สถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ในรัชสมัยของพระองค์ การสู้รบทางทหารหลายครั้งและการฟื้นฟูรัฐบาลให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ทำให้นักประวัติศาสตร์จัดให้พระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 เป็น 1 ในกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจักรวรรดิ
พระนาม "สูรยวรรมัน" แปลว่า ผู้มีพระอาทิตย์เป็นเกราะ หรือผู้มีสุริยเทพคุ้มครอง มาจากคำสันสกฤต สูรฺย แปลว่า พระอาทิตย์ + วรฺมัน แปลว่า ผู้มีเกราะ คำนี้เพี้ยนมาจาก สูรยวรรม และภายหลังเพี้ยนต่อเป็น สุริโยพรรณ เช่น ในพระนามของพระบรมราชาที่ 7 (พระศรีสุริโยพรรณ) และของนักองค์เอง (พระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ)
พระนามหลังสวรรคต คือ "พระบาทกมรเตงอัญบรมวิษณุโลก" (វ្រះបាទកម្រតេងអញបរមវិឝ្ណុលោក วฺระบาทกมฺรเตงอญบรมวิศฺณุโลก) พระนาม "บรมวิษณุโลก" นี้สื่อว่า ทรงเข้าถึงแล้วซึ่งพิภพอันยิ่งใหญ่ของพระวิษณุ คือ สรวงสวรรค์
พระเจ้าสูรยวรรมันน่าจะเติบใหญ่ในชนบทช่วงที่จักรวรรดิเขมรกำลังเสื่อมการปกครองจากศูนย์กลาง จารึกอันหนึ่งระบุว่า พระบิดามีนามว่า กษิเตนทราทิตย์ (ក្សិតេន្ទ្រាទិត្យ กฺสิเตนฺทฺราทิตฺย) ส่วนพระมารดา คือ นเรนทรลักษมี (នរេន្ទ្រលក្ឝ្មី นเรนฺทฺรลกฺศฺมี)
ในฐานะเชื้อพระวงศ์วัยหนุ่ม สูรยวรรมัน ฝึกรบด้วยปรารถนาราชบัลลังก์ในวันหน้า ทรงปราบปรามผู้อื่นที่อ้างสิทธิในราชสมบัติเหมือนพระองค์ ในการนี้ น่าจะได้รบรากับเชื้อสายของหรรษวรรมันที่ 2 (ហស៌វរ្ម័នទី២ หรฺสวรฺมันที ๒) ที่ครองอำนาจอยู่ทางใต้ เช่น นฤบดีนทรวรรมัมที่ 2 (ន្ឫបតីន្ទ្រវម៌្មទី២ นฺฤบตีนฺทฺรวรฺมฺมที๒) แล้วน่าจะได้กระทำสงครามกับธรณินทรวรมันที่ 1 (ធរណីន្ទ្រវរ្ម័នទី១ ธรณีนฺทฺรวรฺมันที ๑) ผู้เป็นพระมหากษัตริย์เขมร
… จารึกพรรณนาว่า ทรงประหารศัตรูดังพญาครุฑประหารนาคราช แต่นักประวัติศาสตร์ยังไม่ยุติว่า ศัตรูที่ถูกประหารนี้เป็นผู้ใด
สูรยวรรมันขึ้นครองราชบัลลังก์จักรวรรดิเขมรสืบต่อจากธรณีนทรวรรมันที่ 1 ใน ค.ศ. 1113 พราหมณ์ผู้เฒ่านามว่า ทิวการบัณฑิต (Divakarapandita) เป็นประธานในการราชาภิเษก นับเป็นครั้งที่สามในประวัติศาสตร์เขมรที่นักบวชเป็นประธานพิธีนี้
จารึกหลายหลักว่า ในการราชาภิเษก สูรยวรรมันจัดมหรสพ และพระราชทานทรัพย์นานัปการแก่ทิวการบัณฑิต เช่น เสลี่ยง พัชนี ศิราภรณ์ ธำมรงค์ และคนโท เสร็จพิธีแล้ว พราหมณ์เฒ่าผู้นี้เดินทางต่อไปยังศาสนสถานต่าง ๆ ในแว่นแคว้นของพระองค์ รวมถึงปราสาทพระวิหาร (ប្រាសាទព្រះវិហារ บฺราสาทพฺระวิหาร) บนเทือกเขาพนมดงรัก (ជួរភ្នំដងរែក ชัวรภฺนํฎงแรก) ที่ซึ่งเขาได้รับปฏิมากรรมทองคำรูปศิวนาฏราช
ใน ค.ศ. 1119 สูรยวรรมันจัดราชาภิเษกอีกครั้ง เชิญทิวการบัณฑิตเป็นประธานในพิธีเช่นเดิม
ตลอดรัชกาล สูรยวรรมันทรงรวบรวมจักรวรรดิที่แตกแยกเข้าเป็นหนึ่งอีกครั้ง เมืองขึ้นทั้งปวงส่งบรรณาการถวาย พระองค์ยังเปิดศึกกับชนชาติจามทางด้านตะวันออก แต่โดยมากแล้วทรงพ่ายแพ้
จารึกของชาวจามและบันทึกของเวียดนามว่า สูรยวรรมันทำสงครามใหญ่กับรัฐของชาวเวียดนามที่เรียก ด่ายเวียต (Đại Việt) ถึงสามครั้ง แต่ไม่ชนะสักครั้ง
บางครั้ง ทรงได้รับความสงเคราะห์จากชาวจาม สงครามครั้งแรกเกิดใน ค.ศ. 1128 สูรยวรรมันนำทหาร 20,000 นายบุกไปด่ายเวียต แต่แพ้ยับเยินจนต้องถอยกลับ
ปีต่อมา ทรงส่งกองเรือกว่า 700 ลำไปตีชายฝั่งด่ายเวียต ครั้น ค.ศ. 1132 กองผสมเขมรจามบุกด่ายเวียตอีกครั้ง สงครามครั้งสุดท้ายมีใน ค.ศ. 1138 เขมรพ่ายแพ้ดังเคย
ภายหลัง อินทรวรรมันที่ 3 (ឥន្ទ្រវរ្ម័នទី៣ อินฺทฺรวรฺมันที ๓) พระมหากษัตริย์จาม ทรงเป็นไมตรีกับด่ายเวียต จามจึงเลิกสนับสนุนเขมร ฉะนั้น … ใน ค.ศ. 1145 สูรยวรรมันจึงหันไปตีจามแทน จามแพ้ เขมรปล้นเอาราชธานี คือ เมืองวิชัย ได้ สูรยวรรมันตั้งน้องเขย คือ หริเทวะ (Harideva) ให้เป็นพระมหากษัตริย์จามพระองค์ใหม่ แต่ต่อมา ชาวจามยึดเมืองวิชัยคืนได้ แล้วประหารหริเทวะเสีย การสงครามระหว่างชนชาติเหล่านี้มีขึ้นครั้งสุดท้ายใน ค.ศ. 1150 ผลลัพธ์ คือ เขมรพ่ายหนีกลับบ้านเมือง
เมื่อเข้าสู่พระราชสมบัติแล้ว สูรยวรรมันส่งเพชรนิลจินดาไปถวายกุโลตตุงคะที่ 1 (Kulothunga I) พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์โจฬะทางอินเดียใต้ ใน ค.ศ. 1114
สูรยวรรมันยังสานไมตรีกับประเทศจีน โดยสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการขึ้นใน ค.ศ. 1116 จดหมายเหตุจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ว่า ปีนั้น เขมรส่งทูต 14 คนไปจีน ทูตเหล่านี้พอไปถึงราชสำนักแล้วได้รับชุดขุนนางพิเศษ คณะทูตกลับคืนเขมรในปีถัดมา ครั้น ค.ศ. 1120 เขมรส่งทูตไปจีนอีกครั้ง และใน ค.ศ. 1128 ราชสำนักจีนมอบบรรดาศักดิ์สูงส่งแก่สูรยวรรมัน โดยถือว่า เป็นเจ้าเมืองขึ้นอันยิ่งใหญ่ของจีน ครั้งนี้ยังได้เจรจาปัญหาทางการค้ากันจนลุล่วง
รัชกาลสูรยวรรมันบังเกิดความก้าวหน้าทางศิลปะและสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง สูรยวรรมันทรงถือไวษณพนิกาย (ถือพระวิษณุเป็นใหญ่) ต่างจากพระมหากษัตริย์เขมรพระองค์อื่น ๆ ที่ถือไศวนิกาย (ถือพระศิวะเป็นใหญ่) พระองค์จึงสร้างนครวัดถวายพระวิษณุ แต่นครวัดมาสำเร็จเอาเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว
สูรยวรรมันเป็นพระมหากษัตริย์เขมรพระองค์แรกที่ปรากฏโฉมในงานศิลปะ เช่น ที่นครวัดมีรูปสลักนูนต่ำของพระองค์ประทับนั่งบนราชอาสน์ สวมเครื่องทรงต่าง ๆ เช่น ศิราภรณ์ ต่างหู กำไลแขน กำไลเท้า สังวาลย์ ฯลฯ หัตถ์ขวาถือซากงู รายล้อมด้วยบริพารถือพัชนี แส้ และฉัตร ทั้งมีพราหมณ์ที่ดูเหมือนกำลังเตรียมพิธีอยู่ใกล้ ๆ และเหมือนกำลังประทับอยู่กลางป่า
พระองค์ยังสร้างเทวสถานอื่น ๆ เช่น ปราสาทบันทายสำเหร่ (ប្រាសាទបន្ទាយសំរែ บฺราสาทบนฺทายสํแร), ปราสาทธรรมนันท์ (ប្រាសាទធម្មនន្ទ บฺราสาทธมฺมนนฺท), ปราสาทเจ้าสายเทวดา (ប្រាសាទចៅសាយទេវតា บฺราสาทเจาสายเทวตา), และปราสาทบึงมาลา (ប្រាសាទបឹងមាលា บฺราสาทบึงมาลา)
สูรยวรรมันเสกสมรสกับสตรีซึ่งไม่มีบันทึกนามเอาไว้ จารึกระบุว่า พระองค์สวรรคตในระหว่าง ค.ศ. 1145–50 ซึ่งน่าจะในระหว่างทำสงครามกับชาวจาม จากนั้น สูรยวรรมันทรงได้รับเฉลิมพระนามว่า "บรมวิษณุโลก"
เมื่อสิ้นพระองค์แล้ว เชื้อพระวงศ์ของพระองค์ คือ ธรณีนทรวรรมันที่ 2 (ធរណីន្ទ្រវរ្ម័នទី២ ธรณีนฺทฺรวรฺมันที ๒) สืบราชสมบัติต่อ บ้านเมืองเขมรกลับสู่ความอ่อนแออีกครั้ง
Ref : Wikipedia
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (เขมร: ជ័យវរ្ម័នទី៧) เป็นกษัตริย์แห่งจักรวรรดิเขมร พระองค์เป็นพระราชโอรสของ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 และพระนาง ศรี ชัยราชจุฑามณี พระองค์เป็นกษัตริย์องค์แรกที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงโปรดให้สร้าง บายน ถวายเป็นพุทธบูชา พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยทั่วไปถือว่าพระองค์เป็นกษัตริย์เขมรที่มีพระราชอำนาจมากที่สุดโดยนักประวัติศาสตร์
พระองค์มีโครงการมากมาย ทั้งโรงพยาบาล ทางหลวง ที่พักและวัด โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นแรงผลักดัน พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้รับการยกย่องในการสร้างรัฐสวัสดิการที่ตอบสนองความต้องการของชาวเขมร
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 ประสูติเมื่อประมาณ พ.ศ. 1663 หรือ พ.ศ. 1668 พระนามเดิมคือเจ้าชายวรมัน ทรงเสกสมรสตั้งแต่ทรงพระเยาว์กับเจ้าหญิงชัยราชเทวี สตรีที่มีบทบาทและอิทธิพลสำคัญที่สุดเหนือพระองค์ รวมทั้งโน้มนำให้พระองค์หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน
ราว พ.ศ. 1720 – 1721 พระเจ้าชัยอินทรวรมันแห่งอาณาจักรจามปา ทรงนำทัพจามบุกเข้าโจมตียโศธรปุระ กองทัพเรือจามบุกเข้าถึงโตนเลสาบ เผาเมือง และปล้นสะดมสมบัติกลับไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจับพระเจ้าตรีภูวนาทิตวรมันประหารชีวิต เชื่อกันว่า การรุกรานเมืองยโศธรปุระครั้งนั้น เจ้าชายวรมันได้วางเฉยยอมให้เมืองแตก จากนั้นพระองค์จึงกู้แผ่นดินขึ้นมาใหม่ โดยนำทัพสู้กับพวกจามนานถึง 4 ปี จนสามารถพิชิตกองเรือจามผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือได้อย่างราบคาบ ในยุทธการทางเรือที่โตนเลสาบ
พ.ศ. 1724 ยโศธปุระกลับสู่ความสงบ พระองค์ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พร้อมกับบูรณปฏิสังขรณ์ราชธานีขึ้นมาใหม่ รู้จักกันในชื่อ “เมืองพระนคร” หรือ “นครธม” หรือ “นครใหญ่” และย้ายศูนย์กลางของราชธานีจากปราสาทปาปวนในลัทธิไศวนิกาย มายังปราสาทบายนที่สร้างขึ้นใหม่ ให้เป็นศาสนสถานในลัทธิมหายานแทน จากนั้นมา ศูนย์กลางแห่งอาณาจักรเขมรโบราณก็คือ ปราสาทบายน หรือนครธม
พระองค์ทรงสถาปนาคติ “พระพุทธเจ้าที่ยังมีชีวิต” หรือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรขึ้นมา ซึ่งหมายถึงตัวพระองค์เอง คือพระโพธิสัตว์ที่เกิดมาเพื่อปัดเป่าทุกข์ภัยให้แก่ราษฎร ภาพสลักรูปใบหน้าที่ปรากฏตามปรางค์ในหลายปราสาทที่ทรงสร้างขึ้น เชื่อว่าคือใบหน้าของพระองค์ในภาคพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนั่นเอง
หลังจากสถาปนาศูนย์กลางอาณาจักรแล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงทรงแก้แค้นศัตรูเก่าคืออาณาจักรจามปา ใน พ.ศ. 1733 กองทัพของพระองค์ก็สามารถยึดเมืองวิชัยยะ เมืองหลวงของจามปาได้
นอกเหนือจากการสงครามแล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้สร้างพุทธสถานไว้มากมาย เช่น ปราสาทบันทายคดี ปราสาทตาพรม ที่สร้างถวายพระมารดา ปราสาทพระขรรค์ สร้างถวายพระบิดา ปราสาทตาโสม ปราสาทนาคพัน ปราสาทบันทายฉมาร์ ในเขตประเทศไทยปัจจุบัน พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นผู้บูรณะปราสาทหินพิมายซึ่งสันนิษฐานเป็นเมืองเกิดของพระมารดา และปราสาทเขาพนมรุ้ง ให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน และยังมีอาณาจักรละโว้ เมืองศรีเทพ อีกด้วย
นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดให้สร้าง “บ้านมีไฟ” หรือที่พักคนเดินทาง ซึ่งก่อด้วยศิลา และจุดไฟไว้ตลอด ศาสตราจารย์ หลุยส์ ฟิโนต์ ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ เรียกอาคารแบบนี้ว่า “ธรรมศาลา”
จารึกที่ปราสาทพระขรรค์ กล่าวถึงที่พักคนเดินทางว่ามีจำนวน 121 แห่ง อยู่ตามทางเดินทั่วราชอาณาจักร และตามทางเดินไปเมืองต่าง ๆ ในจำนวนนั้น มี 17 แห่งอยู่ระหว่างการเดินจากเมืองพระนครไปยังเมืองพิมาย ซึ่งศาสตรจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล พบว่าที่พักคนเดินทางเท่าที่ค้นพบแล้วมี 7 แห่ง แต่ละแห่งห่างกันประมาณ 12 – 15 กิโลเมตร จารึกปราสาทพระขรรค์ระบุอีกว่า มีการสร้างโรงพยาบาล หรือที่จารึกเรียกว่า “อโรคยาศาลา” จำนวน 102 แห่ง กระจายอยู่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีส่วนหนึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เสด็จสวรรคตประมาณปี พ.ศ. 1758 หรือ พ.ศ. 1762 เชื่อกันว่ามีพระชนมพรรษายืนยาวถึง 94 ปี ด้วยฉลองพระนามหลังสวรรคตว่า “มหาบรมสุคตะ” หมายความว่า พระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่
Ref : Wikipedia
โฆษณา