1 พ.ย. 2022 เวลา 04:40 • ท่องเที่ยว
เกาะแกร์ นครหลวงที่ถูกลืม .. ปราสาทกรอฮอม
เมืองโบราณ “เกาะแกร์” (Koh ker) อยู่ห่างจากเมืองเสียมเรียบไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 120 กิโลเมตร บนเส้นทางถนนสายเสียมเรียบ เบ็งเมเลีย ลึกเข้าไปในเขตป่าบนที่ราบสูงตอนกลาง ในเขตจังหวัดพระวิหาร
กลุ่มปราสาทที่อยู่บริเวณเกาะแกร์มีอยู่หลายปราสาท เรื่องราวของเกาะแกร์ยังไม่ค่อยมีผู้รู้กันมากนัก รอบอาณาบริเวณปราสาทปกคลุมด้วยป่ากว้างใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติพนมกุเลน ตอนกลางของกลุ่มปราสาทเป็นบารายใหญ่เรียกว่า ราฮาล.. ที่นี่จึงเหมาะสำหรับผู้ที่อยากจะเห็นบรรยากาศเปลี่ยวร้างของโบราณสถานกลางป่าใหญ่ เหมือนที่เคยเป็นมาร่วมพันปี
กลุ่มปราสาทที่อยู่ในบริเวณเกาะแกร์มีมากมายจนนับไม่ถ้วน .. เหตุที่สนับสนุนการนับไม่ถ้วนอีกประการหนึ่งก็คือ พื้นที่แห่งนี้ยังมีระเบิดที่ยังไม่ได้กู้อีกมาก สังเกตจากป้ายอันตรายรูปหัวกะโหลกไขว้สีแดง ดังนั้นในการเดินชมไม่ควรออกนอกเส้นทางไปจากพื้นที่ ที่เปิดให้เที่ยวชม
สำหรับปราสาทที่สำคัญ และเป็นต้นแบบศิลปะสมัยเกาะแกร์ ได้แก่ปราสาทกรอฮอม ปราสาทกรอจับ ปราสาทลึงค์ ปราสาทเนียงขมา ฯลฯ
ทางเดินเข้าไปที่ปราสาทกรอฮอม …ใหญ่โตมโหฬาร ความใหญ่โตของรูปสลักสะพานนาคและเสาท่อมโหฬาร ชวนให้นึกถึงช่วงเวลาของความเจริญรุ่งเรืองของมหานครแห่งนี้ในอดีต
เราต้องเดินผ่านป่าโปร่งๆที่มีลำต้นสีนวลๆโตๆของเสลาเดินเคียงกับเรามาตลอด หน้าฝนที่ชุมฉ่ำ แดดไม่ร้อน ทำให้การเดินรื่นรมย์มากมาย
ปราสาทกรอฮอม (ปราสาทแดง) .. ก่อสร้างด้วยอิฐแดงทั้งองค์ ด้านหน้ามีประติมากรรมรูปสิงห์หมอบอยู่ตรงบันได เหมือนจะเชื้อเชิญให้เข้าไปชมข้างใน ภายในยอดปราสาท.. ยังคงความสวยงาม และความขลังผ่านกาลเวลา
หน้าบันเป็นรูปพาลีประลองกำลังกับสุครีพ ด้านในเป็นองค์ปราสาทโล่งกว้างขนาดใหญ่ พบเพียงเศษซากเทวรูปที่มองไม่เห็นเค้าเดิม .. นักวิชาการสันนิษฐานว่า ที่นี่เป็นเทวสถานที่เคยประดิษฐานเทวรูปของพระศิวะห้าเศียร แปดกร ในท่าร่ายรำที่เรียกว่า “ศิวะนาฏราช” ที่น่าจะมีความสูงไม่ต่ำกว่า 10 เมตร ปัจจุบันเหลือพียงบางส่วนให้คาดเดา เมื่อก่อนคาดว่าคงมีคนมาขโมยตัดองค์เทวรูปไป
พลัน .. จิตแว่วในมโนนึกถึง .. ขบวนเหล่าเสนาบดี นางสนม กำนัลใน ที่ตามเสด็จมาบูชาเหล่าเทพที่เทวสถานแห่งนี้ .. กลิ่นธูป ควันเทียน ลอยอ่อยอิ่งสู่หลังคาเทวสถาน พร้อมคำสวดสรรเสริญองค์เทพกระหึ่มทั่วพงไพร
ความเป็นมาของมหาปราสาท ขอคัดลอกมาจากบทความของ EJeab Academy ดังนี้
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 “พระเจ้าชัยสิงหวรมัน” หรือ “ชัยวรมันที่ 4” (บรมศิวบท) พระสวามีของพระขนิษฐภคินีแห่งพระเจ้ายโศรวรมัน ได้เข้าควบคุมอำนาจ ราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักร ได้สถาปนานครเกาะแกร์ขึ้นเป็นศูนย์กลาง
จารึกบางหลักได้เรียกเมืองเกาะแกร์ว่า “ลึงคปุระ” (Lingapura) หรือนครแห่งศิวลึงค์ ส่วนชื่อเรียกในภายหลังจะเรียกว่า “โฉกครรกยาร์” (Chok Gargya ที่มีความหมายว่าป่าตะเคียน เมืองเหล็ก หรือป่าเหล็ก
พระองค์ได้เริ่มอพยพผู้คนย้ายเมืองราชธานีมายังที่แห่งนี้ ตั้งแต่ยุคของ “พระเจ้าหรรษวรมัน” ที่อ่อนแอ ขุดสระน้ำบารายขนาด 560 x1200 เมตร มีชื่อตามที่ปรากฏในจารึกว่า “ระฮัล” (Rahal)
ได้เริ่มการก่อสร้าง “ปราสาทธม” ปราสาทบนฐานพีระมิดขนาดใหญ่ กว้างยาว 62 * 62 เมตร ความสูงกว่า 40 เมตร ขึ้นในราวปี พ.ศ. 1464 ก่อนการประกอบพิธีกรรม “เทวราชา” ขึ้นเป็นสกลกษัตริย์แห่งอาณาจักรในปี พ.ศ.1471
พีระมิดปราสาทธม ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคนิคการเรียงหินประกอบเป็นฐานเขื่อนรอบเนินดินขนาดใหญ่ ใช้การชักลอกและต้านแรงโน้มถ่วงด้วยการสร้างสมดุลของเนินดินสองลูก ลูกหนึ่งถูกสร้างเป็นฐานพีระมิด อีกลูกหนึ่งเรียกว่า “สุสานช้างขาว” (Tomb of the White Elephant) เป็นเนินเขาในระนาบเดียวกัน ตั้งอยู่หลังปราสาทพีระมิด ถูกใช้เป็นที่ลำเลียงหินก่อสร้าง
จารึกที่กรอบประตูปราสาทธม กล่าวถึงการย้ายราชธานีจาก “ศรียโสธระปุระ” มายังเกาะแกร์ จารึกกล่าวว่า “พระเจ้าสิงหชัยวรมัน”ได้ทรงย้ายมหาศิวลึงค์จากศูนย์กลางอำนาจแห่งเทวราชาพระองค์ก่อน จากยอดเขาพนมบาแค็งมาประดิษฐานไว้ ณ ปราสาทธมแห่งนี้
ปราสาทธม ถูกสร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานแห่งไกรลาสปติบนพื้นโลก (สุสานในคติแบบฮินดูไศวะนิกาย) พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 คงได้เคยขึ้นไปประกอบพิธี สถาปนาสกลกษัตริย์ เพื่อการเป็นพระศิวะเทพในร่างของมนุษย์ เพื่อพระองค์จะได้เสด็จขึ้นไปอีกครั้งหนึ่งในภายหลังจากวันที่พระองค์สวรรคต
.. ซึ่งพระโกศบรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ คงจะถูกนำไว้ในห้องกรุ ใต้ฐานสิงห์แบกของรูปศิวลึงค์สำริดขนาดมหึมา ที่เรียกว่า “ตรีภูวเนศวร” (Tribhuvaneshvara) ความสูงกว่า 15 เมตร (ในจารึกปราสาทดำเรย บอกว่าสูงเพียง 4.5 เมตร) ภายในองค์ปราสาทด้านบน ที่จะได้เสด็จไปสู่ปรมาตมัน รวมกับพระศิวะเทพผู้เป็นเจ้า
ปราสาทธมมีการวางแผนผังเป็นเส้นตรงตามแนวแกนยาว เป็นเส้นทางเสด็จขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์
.. เริ่มต้นจากโคปุระด้านหน้าแผนผังกากบาทขนาดใหญ่ ถัดเข้าไปเป็นอาคารหน้าจั่วสร้างหินทรายและอาคารศิลาแลงใหญ่ ใช้เป็นอาคารบรรณาลัย (ประกอบพิธีกรรม) ทั้งทางซ้ายและขวาของแกนกลาง เข้าสู่ซุ้มประตูที่สร้างเป็นปราสาทอิฐคูหาเดี่ยวรูปทรงศิขระวิมาน เรียกว่า “ปราสาทกรอฮอม” (Prasat Krahom)
.. เป็นที่ประดิษฐานรูปประติมากรรมศิวนาฏราช (Shiva Natarāja Statue) 10 พระกร ขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 4 เมตร ประกอบกับรูปพระนางอุมา พระนางกาลี พระวิษณุตีกลองและรูปบุคคลอีกรูปหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดถูกทุบทำลายจนแตกละเอียด ชิ้นส่วนกระจัดกระจายอยู่ภายในห้องคูหา
.. ในปัจจุบัน ชิ้นส่วนแตกหักได้ถูกนำออกมา และใช้เทคนิคการสแกนประกอบเข้ากันด้วยเทคนิค CG ออกมาเป็นรูปร่างทั้งหมดแล้ว ฃิ้นส่วนพระพักตร์และพรหัตถ์ถูกนำไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพนมเปญ
เราเดินอ้อม ผ่านประตูหิน … ทับหลังสวยมาก
ถัดเข้ามาในส่วนแรกของมณฑล ล้อมรอบไปด้วยคูน้ำ ทั้ง 4 ด้าน เป็นรูปตัว C เว้นทางเดินเป็นระเบียงวิหาร ทางยาวหน้าจั่ว โครงหลังคาไม้ มีเสาและคานหินทรายรองรับ ..
.. เป็นชาลาทางเดินหรือสะพานนาคสายรุ้ง ทางขึ้นไปบนสวรรค์ โดยมีรูปสลักนาคหัวฟูผมหยิก สวมมงกุฎเตี้ย ๆ ทอดตัวยาวริมสระน้ำตามชาลาทางเดิน
จากสะพานนาคสายรุ้งก็จะมาพบกับอาคารมณฑปโคปุระ (Gopura-Pavilion) ชั้นที่ 2 แผนผังกากบาทขนาดย่อมกว่าข้างหน้า ซุ้มประตูเป็นมุขซ้อนมีหน้าบันทรงหน้าจั่ว ภายในเคยมีซากชิ้นส่วนของรูปประติมากกรรมและฐานรูปเคารพแตกกระจัดกระจายอยู่ภายในคูหาเป็นจำนวนมาก
มีรูปประติมากรรมของสัตว์คล้ายวัวและลำตัวถูกทุบวางคว่ำอยู่ข้างผนัง ซึ่งแต่ก่อนนั้นเชื่อกันว่าเป็นรูปวัวนนทิที่มีพระศิวะและพระนางปารวตีประทับอยู่บนหลัง (อุมามเหศวร)
แต่ในปัจจุบัน เมื่อมีการศึกษาอย่างละเอียด รวมทั้งการใช้เทคนิค CG (Computer Graphic) ประกอบเข้ากับหลักฐานภาพถ่ายเก่าของ EFEO ก่อนการเกิดสงครามกลางเมืองในกัมพูชา ได้แสดงให้เห็นความสำคัญของกลุ่มรูปประติมากรรมที่จัดวางอยู่ในคูหาอาคารมณฑป – ซุ้มประตูสู่สวรรค์นี้ว่า เป็นเรื่องราวในคติ “การพิพากษากษัตริย์” (พระเจ้าชัยวรมันที่ 4) ที่กำลังจะเสด็จเข้าสู่ศิวะภาค ร่วมปรมาตมันในมหาศิวลึงค์อันเป็นรูปเหมือนแห่งพระศิวะ ตามคติของนิกายปศุปตะ
.. ยังปรากฏหลักฐานของร่องรอยคติเดียวกันนี้ที่ยังมีความสมบูรณ์ เป็นภาพสลักบนแผ่นหินที่มีภาพของ พระยมทรงกระบือและยมทูตทวารบาล 2 ตน พระจิตรคุปต์กำลังถวายบัญชีความดีของมนุษย์ (หรือกษัตริย์) ที่นั่งอยู่ติดกันในภาพ โดยมีพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ (เป็นพระพยานในความดีของกษัตริย์) อยู่ตรงกลาง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นครจำปาศักดิ์
*** จากภาพถ่ายเก่าของหอจดหมายเหตุสำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ (Archives École française d'Extrême-Orient – EFEO) ประกอบกับหลักฐานชิ้นส่วนแตกหักจำนวนมากได้แสดงให้เห็นว่า ชิ้นส่วนแตกหักที่คล้ายหัววัวและลำตัวที่เหลืออยู่ ก็คือรูปของ “กระบือ” อันเป็นพระวาหนะแห่งพระยมเทพ ผู้ตัดสินความดีความชั่ว
.. ชิ้นส่วนที่กระจายอยู่ภายในห้องคูหานั้น เคยเป็นรูปประติมากรรมทั้งหมดจำนวน 8 รูป โดยทางด้านหน้า เคยพบรูป “ครุฑพ่าห์” ขนาดใหญ่ (สัญลักษณ์เด่นจากเมืองเกาะแกร์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ) เป็นรูปพระทวารบาล ด้านหลังหางสะพานนาค
ประตูทางเข้าของอาคารมณฑป เคยมีรูปเป็นพระทวารบาลเป็น “พระอัศวิน” (Aśvins) เทพเจ้าคู่แฝดที่มีเศียรเป็นม้า
มีพระสุริยเทพและ
พระจันทราเทพตั้งอยู่ที่คู่กันในคูหาห้องมุขด้านหน้า
ห้องคูหากลางด้านใน มุขทิศใต้และทิศเหนือทำเป็นประตูหลอก โดยอุปมาว่า พระยมจะทรงกระบือเข้ามาจากประตูทิศใต้ มุขคูหาทางทิศใต้จึงประดิษฐานรูปพระยมเทพทรงกระบือ
ส่วนฝั่งตรงข้าม เป็นรูปประติมากรรมที่วางเรื่องให้กษัตริย์จะเสด็จออกมาจากประตูฝั่งทิศเหนือ โดยมีพระจิตรคุปต์ (Chitragupta) และพระธรรมะ (Dharma) ผู้ช่วยพระยมขนาบอยู่ด้านข้าง วางรูปประติมากรรมพระจิตรคุปต์กำลังแสดงบัญชีความดี
ทางฝั่งขวาของรูปกษัตริย์ที่อยู่ตรงกลาง โดยมีรูปพระพยานถือดอกบัวยืนยันในความดีของกษัตริย์อยู่ใกล้เคียง ..
ประติมากรรมนั่งอีกรูปหนึ่งฝั่งเดียวกับพระยมกำลังแสดงการอัญชลี ยอมรับในความดีของกษัตริย์ต่อหน้าพระยม เป็นการแสดงผลของการพิพากษา ที่พระยมได้ตัดสินว่า “กษัตริย์นั้น (ชัยวรมันที่ 4) เป็นผู้มีความดีงามที่สมบูรณ์ ตราบที่สุริยันจันทรายังคงปรากฏอยู่ ได้สิทธิเดินทางต่อขึ้นไปสู่สวรรค์แห่งไกรลาส”
ภาพร่างสภาพภายในของอาคาร
ภาพร่างภายในหมู่ปราสาท
เมื่อการพิพากษาจบลง วิญญาณของกษัตริย์จะเสด็จเข้าสู่มณฑลแห่งพระศิวะ ในหมู่ปราสาทอิฐ 9 หลัง และวิหารบูชา 2 หลัง ที่มีความหมายถึง "มูรติทั้ง 8" หรือ “อัษฏมูรติ”(Aṣṭamūrti)
พลังทั้ง 8 แห่งองค์พระศิวะที่ประกอบด้วย … พระภว-ผู้สร้าง พระศรวะ-ผู้ทำลาย พระรุทร-ผู้กำจัดความเศร้าโศก พระปศุปติ-ผู้เป็นใหญ่เหนือสรรพสัตว์ พระอุคร-ผู้น่าหวั่นหวาด พระมเหน-ผู้อยู่เหนือสุด
… พระภีมะ-ผู้มหึมา และพระอีศานะ-ผู้ปกครองที่เที่ยงตรง (ธาตุทั้ง 8 แสงอาทิตย์ (sun) แสงจันทรา (moon) เปลวไฟที่จุดขึ้นเพื่อบูชา (fire) พิภพ (earth) น้ำ (water) อากาศ (air) ของเหลวที่ระเหยได้อย่างรวดเร็ว (ether) และการนมัสการสักการะ (sacrifice) (ผู้ประกอบด้วย (8) ศรี วุฒิ พินาศ สัญจร ความสูญหาย โรคา ยศศักดิ์ รุ่งเรืองและอายุ) ผ่านเข้าสู่ชั้นในที่เป็นแดนสวรรค์
ปรากฏรูปสลักนางอัปสราและพระทวารบาลประดับผนังอาคารอยู่โดยทั่วไป แตกต่างไปจากการประดับภายนอก
ซุ้มประตูด้านหลังอาคารโคปุระชั้นที่ 2 .. ทางเข้ามายังหมู่ปราสาทอิฐ 9 หลัง และวิหารบูชา 2 หลัง ล่อมรอบด้วยระเบียงคด อันมีความหมายถึงมูรติทั้ง 8 หรือ อัษฏมูรจิ การบูชาพลังแห่งพระศิวะ
ต่อด้วยทางเดินข้ามคูน้ำอันหมายถึงนทีสีทันดร ตรงไปยังบันไดขนาดใหญ่เกินมนุษย์ พระวิญญาณแห่งกษัตริย์ ได้ก้าวขึ้นสู่พีระมิด 7 ชั้น อันหมายถึงเขาไกรลาสปติ เพื่อขึ้นไปสู่วิมานที่ประดิษฐานมหาศิวลึงค์แห่งเกาะแกร์ รวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับพระศิวะที่บนสรวงสวรรค์ นั่นเอง
กลุ่มปราสาทที่อยู่บริเวณเกาะแกร์มีความน่าสนใจมาก เมื่อมีโอกาสเราจึงมักจะแวะเวียนมาชมได้หลายๆครั้ง
ทำไมต้องย้ายนครหลวงมาที่เกาะแกร์?
.. คำตอบที่แท้จริงอาจจะไม่สามารถกล่าวได้ชัดเจน แต่มีบางท่านให้ความเห็นเอาไว้ว่า ..
.. เขมรโบราณ ตั้งแต่การสถาปนาอาณาจักร ต้องเข้าสู่การรบพุ่งมานานกับศตรูจากหลายเมือง โดยศัตรูมักจะเดินเรือเข้ามาโจมตี
.. การย้ายเมืองหลวงเข้ามาสู่พื้นที่ที่ร่นเข้ามาในแผ่นดินค่อนข้างมาก จึงอาจจะเป็นคำตอบในการแก้ปัญหา
.. มหานครเกาะแกร์ที่ใหญ่โต จึงถูกสร้างอย่างเร่งรีบ
Ref: ไกด์โอ นำเที่ยว
รูปประติมากรรมขนาดใหญ่มากจากปราสาทกรอฮอมที่ถูกนำไปเก็บรักษา และจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงพนมเปญ .. ขนาดของประติมากรรมชวนให้นึกถึงความยิ่งใหญ่ของมหานครโบราณแห่งเกาะแกร์ .. ทุกอย่างมีขนาดใหญ่โตมโหฬารมาก
.. แต่ทำไม มหานครแห่งนี้จึงถูกทิ้งร้างไปในระยะเวลาที่แสนสั้น หลังการสถาปนาเป็นนครหลวง?
.. บางท่านกล่าวว่า หากจะดูแผนผังของเกาะแกร์ จะเห็นว่ามีการสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่เป็นเครือข่าย เพื่อนำน้ำมาจาก โตนเลสาบ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตของผู้คนในมหานคร
.. ต่อมา อาจจะมีปัญหาในเรื่องการผันน้ำ เกิดความแห้งแล้งในแผ่นดินแห่งนี้ น้ำที่เคยมีอาบกิน ใช้เลี้ยงปศุสัตว์ และการเพาะปลูก กลับไม่มี .. ทำให้กษัตริย์ในยุคต่อมา ต้องย้ายเมืองหลวงกลับไปที่เมืองพระนคร
.. หรือ อาจจะเป็นเรื่องของการเมืองที่เราไม่อาจคาดเดา?
เสา และส่วนประกอบของซุ้มประตู มีจารึกโบราณที่คงจะบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หรือศาสนา รอให้ผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจและอ่านความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ เป็นที่น่าสนใจของผู้มาเยือน ..
นอกจากปราสาทกรอฮอมสีอิฐแดงแล้ว ยังมีเรือนหินทรายหลังคาทรงจั่ว และบรรณาลัยที่เป็นอาคารศิลาแลง 2 หลัง ตั้งรับกับเรือนหินทราย
ด้านในมีทางเดินทอดยาวไปสู่ปราสาทชั้นใน สองข้างทางเป็นซากโบราณสถานที่ชำรุดทรุดโทรม ทว่ายังไม่มีการบูรณะให้เกินจริง
ทางเดินรอบปราสาทที่ยังร่มครึ้มด้วยต้นไม่ใหญ่ที่ขึ้นรอบๆเทวสถานและป่าโปร่งในแถบนี้
ขอบคุณ: ภาพประกอบ และเนื้อความจาก EJeab Academy ..
ไกด์โอ พาเที่ยว
โฆษณา