1 พ.ย. 2022 เวลา 23:50 • ท่องเที่ยว
เกาะแกร์ นครหลวงที่ถูกลืม .. ปราสาทธม มหาปิรามิดแห่งเกาะแกร์
เกาะแกร์ .. นครโบราณในอดีตเคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก และเคยเป็นเมืองหลวงของเขมรโบราณ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ถูกค้นพบ ทำให้รู้ว่านครที่ถูกลืมแห่งนี้มีความสำคัญมากเช่นไรเมื่อครั้งสมัยอดีต
Ref : http://huexonline.com/knowledge/31/351/
ปราสาทธม แปลว่า ปราสาทใหญ่ .. เป็นกลุ่มปราสาทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ขนาดกว้าง 30 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีสภาพเป็นป่าโปร่งที่มีโบราณสถานและกลุ่มปราสาทกระจายอยู่ทั่วไป
ปราสาทธม .. เป็นปราสาทรูปปีรามิดขนาดใหญ่ ในอดีตมีนามว่า “โชคครรยาร์” หมายถึง เกาะแห่งความรุ่งโรจน์ และเป็นสัญลักษณ์แห่งเกาะแกร์ เมืองหลวงโบราณของเขมร ตั้งอยู่ในกำแพงศิลาแลงสีเหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้าง ยาว 1.2 กิโลเมตร ในพื้นที่โล่งกว้างด้านหลังกำแพงปราสาทกรอฮอม ที่รายล้อมด้วยซากปรักหักพังของปราสาทและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่พังถล่มอยู่โดยรอบมากมาย
ทางเดินเข้าไปที่ปราสาทธม (จากปราสาทกรอฮอม) …ใหญ่โตมโหฬาร
ความใหญ่โตของรูปสลักสะพานนาคและเสาท่อนมโหฬาร ชวนให้นึกถึงช่วงเวลาของความเจริญรุ่งเรืองของมหานครแห่งนี้ในอดีต
จากปราสาทกรอฮอม .. เราเดินตามสะพานไม้ไปจนสุดกำแพง
แล้วก็จะเห็นสิ่งนี้เป็นอันดับแรกอยู่บนทางเดินดิน ต้นไม้ประหลาดที่หน้าปราสาทธม .. หลายคนปีนขึ้นไปถ่ายรูป
มหาปิรามิด ปราสาทธม .. สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นเสมือนเขาไกรลาส สวรรค์เพื่อการกลับคืนสู่ศิวะภาคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ในช่วงปลายศตวรรษที่ 15
มหาปีรามิดแห่งเกาะแกร์แห่งนี้มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่สร้างเป็นชั้นที่ลดหลั่นกันขึ้นไปถึง 7 ชั้น .. สร้างขึ้นด้วยวิธีการเรียงหินทรายขึ้นประกอบเป็นรูป กว้าง ยาว ด้านละประมาณ 63 เมตร สูง 35 เมตร
หากมองในระดับสายตา อาจเห็นว่ายอดปราสาทอยู่ไม่สูงนัก .. แต่ดูตามเปรียบเทียบกับคนในภาพ จะเห็นว่าคงสูงมากทีเดียว ซึ่งสามารถสร้างความตะลึงพรึงเพริดให้กับผู้พบเห็นอย่างง่ายดาย
ทางขึ้นไปยังปิรามิดมีเพียงด้านเดียว ทางทิศตะวันออก .. เป็นบันไดหินแคบๆ ขนาดเล็กและแนวตั้งขึ้นไปข้างบนจำนวน 91 ขั้น .. ก่อนที่จะมีสะพานไม้อันใหม่ที่ใช้เป็นทางขึ้นในปัจจุบัน เคยมีสะพานไม้เดิมที่ทำคร่อมบันไดหินดั้งเดิมตรงทางขึ้นปราสาท แต่ในครั้งแรกที่เราไปเยือน อยู่ในสภาพชำรุดค่อนข้างมาก จึงมีการสั่งห้ามนักท่องเที่ยวไม่ให้ขึ้นไปยังส่วนบนของปิรามิด เนื่องจากทางขึ้นสูงชัน อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ง่ายๆ ..
ในการไปเยือนครั้งแรก .. หลายคนในหมู่พวกเราจึงบ่นเสียดายมากๆที่พลาดโอกาสที่จะได้วัดใจ
.. ปัจจุบันทางขึ้นไปด้านบนของปีรามิด มีบันไดไม้ทำเป็นทางขึ้นลง แทนบันไดทางด้านหน้าตรงฐานฝั่งทิศเหนือ
.. เห็นแล้วทำให้นึกถึงตอนที่ไปปีนปิรามิดที่ประเทศ เม็กซิโก เมื่อหลายปีก่อน .. ปิรามิด ที่นั่นจะมีทางขึ้นเป็นบันไดหิน 4 ด้าน มีบันไดด้านละ 91 ขั้นเช่นกัน รวม 4 ด้าน 364 ขั้น และเมื่อรวมกับบันไดขั้นสุดท้ายที่ใช้รวมกันทั้งสี่ด้าน ก็เป็น 365 ขั้นพอดี ซึ่งจะเท่ากับจำนวนวันใน 1 ปีปฏิทิน .. พวกแอสเท็คโบราณรู้เรื่องปฏิทินและจำนวนวันด้วย น่าทึ่งจริงๆ .. ปืรามิดของปราสาทธมมีทางขึ้นเพียงด้านเดียว จะเกี่ยวโยงกันอย่างไร ก็เหนือความคาดเดาของฉันค่ะ
รูปด้านหน้าของมหาปราสาทธม .. มองเห็นร่องรอยของการพังทลายของหินที่ใช้สร้างปิรามิดอย่างชัดเจน แต่ไม่ปรากฏเหลือซากหิน แต่ทางทิศใต้ ยังมีหินเสาประดับประตูขนาดมหึมาคู่หนึ่งจมดินอยู่
รูปนี้เป็นแนวกำแพงของฐานแต่ละชั้น สูงประมาณ 5-6 เมตรต่อชั้น และส่วนที่เหลืออยู่ของปิรามิดของเกาะแกร์ ซึ่งมีทั้งสิ้น 7 ชั้นค่ะ .. ชวนให้นึกว่า หากยังเป็นปิรามิดที่สมบูรณ์จะสูงสักแค่ไหนหนอ ..
บันไดไม้ที่เป็นทางเดินขึ้นสู่ชั้นต่างๆของปีรามิด ..
ในระหว่างทางสามารถหยุดชมกำแพงหินของปีรามิดได้อย่างใกล้ชิด
ภาพของสะพานไม้ที่มุ่งสู่ส่วนบนของปีรามิด
หากนักท่องเที่ยวคนใดผ่านบททดสอบการปีนไปได้จนมาถึงยอดปีรามิด .. รางวัลที่ได้รับ คือ การได้สัมผัสกับความงามสุดอลังการของเทวาลัยที่แตกต่างจากแหล่งท่องเที่ยวที่ใด ๆ ในเสียมเรียบอย่างเห็นได้ชัด
ด้านบนของปีรามิด .. เชื่อว่าเคยเป็นที่ประดิษฐานมหาศิวะลึงค์สำริด “ตรีภูวเนศวร” ขนาดใหญ่สูงถึง 4.5 เมตรที่ส่วนยอดของปราสาท จนเป็นที่มาของชื่อเรียกเกาะแกร์อีกชื่อหนึ่งว่า ‘ลิงคปุระ’ ซึ่งเป็นความเชื่อในลัทธิไศวนิกายจากอินเดีย และกลายเป็นโบราณสถานที่มนุษย์สร้างขึ้น ที่โดดเด่น และแตกต่าง ก่อนที่จะย้ายราชธานี และทำให้สถานที่แห่งนี้ถูกทอดทิ้งร้างไว้ในป่าเป็นพันๆ ปี และเกือบจะถูกลืมเลือน
เนื่องจากศิวะลึงค์ทำด้วยสำริด จึงคาดว่าคงจะโดนฟ้าผ่า และคงเหลือแต่เพียงฐานสิงห์แบกขนาดใหญ่ รองรับศิวลึงค์ ตรีภูวเนศวรสำริด ให้เห็นเท่านั้น
ช่องปริศนาขนาดใหญ่ตรงใจกลางของยอดปราสาทธม .. มีร่องรอยการพังทลาย
.. บางคนบอกว่า อาจจะเป็นหลุมที่เป็นฐานเพื่อรองรับมหาศิวลึงค์ แต่บางคนคาดการณ์ว่า อาจจะเป็นกรุที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4
เมื่อมองจากยอดปีรามิด ในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส .. สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้กว้างไกล และใครบางคนกล่าวไว้ว่า อาจจะมองเห็นได้ทั้งภูเขาปราสาทเขาพระวิหาร ในระยะไกลๆได้
เราเดินไปรอบๆพื้นที่ที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่อีกครั้งหลังจากลงมาจากมหาปีรามิด ..
.. ด้านหลังเป็นพื้นที่ ที่เรียกว่า ภูเขาช้าง ซึ่งเชื่อว่าเป็นวิธีในการนำหินขึ้นไปเรียงก่อเป็นปีรามิดที่เราเห็น
.. ปีรามิดล้อมรอบด้วยกำแพงหินขนาดใหญ่
ด้านบนของกำแพงประดับด้วยหินที่ได้รับการสลักเสลาให้เป็นเหมือนรูปดอกบัว ตั้งอยู่เป็นระยะๆ
บางส่วนแตกหักและตกลงมาอยู่บนพื้นดิน สิโรราบให้กับกาลเวลา .. และเมื่อมีต้นไม้และป่าไม้แซมเข้ามาในสายตา เป็นฉากที่ให้ภาพที่คลาสสิคมากจนต้องกดชัตเตอร์กล้องรัวๆ
ภาพความยิ่งใหญ่ของปิรามิดที่ได้เห็น ผนวกกับบรรยากาศเงียบสงัดและบริเวณโดยรอบที่ถูกโอบล้อมด้วยป่าและไม้เถาวัลย์เลื้อยเกาะหินขนาดสิบตัน .. นับเป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจละเลยจากความทรงจำไปได้ และอาจเป็นไฮไลท์ของการท่องเที่ยวที่เหนือกว่าทุกทริปเดินทางที่ผ่านมาในชีวิตของใครหลายคนเลยก็เป็นได้
บทบาทของกลุ่มปราสาทเกาะแกร์ ในแง่ของประวัติศาสตร์
บทบาทของกลุ่มปราสาทเกาะแกร์นั้น เรามีข้อมูลไม่มากนัก ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงกับกษัตริย์กัมพูชาโบราณสองพระองค์ระหว่างรัชสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 กับพระเจ้าชัยวรมันที่ 4
พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 นั้น เดิมเป็นพระญาติที่สมรสเข้ามาในราชวงศ์ .. นักประวัติศาสตร์จึงสันนิษฐานว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 อาจทรงครองราชย์ด้วยการปราบดาภิเษกหรือครองราชย์โดยการสนับสนุนของขุนนางอำมาตย์ แก้และผ่านกฎมณเฑียรขึ้นมา
ในปี ค.ศ.921 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 นั้น พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ซึ่งขณะนั้นอยู่ในฐานะผู้นำท้องถิ่นบริเวณเกาะแกร์ (โฉกครรคยาร์/ลึงคปุระ) พระองค์ให้สร้างวัดพราหมณ์-ฮินดูขนาดใหญ่ขึ้น (ปราสาทธม) ขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพระองค์เป็นใหญ่ในแผ่นดินอาณาจักรกัมพูชาโบราณ และเป็นการเปิดโฉมหน้าสร้างเมืองเกาะแกร์ที่เทียบเทียมรัศมีกับเมืองยโศธรปุระ
เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ได้การสนับสนุนทางการเมือง-การทหาร และได้ขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์มิได้ทรงประทับที่ยโศธรปุระ แต่ทรงประทับที่เกาะแกร์ตลอดรัชกาล ทำให้ประวัติศาสตร์กัมพูชาโบราณถือเอาว่า พระองค์ทรงย้ายเมืองหลวงจากยโศธรปุระมายังเกาะแกร์
นักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่า .. การย้ายเมืองหลวงมายังภูมิลำเนาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 นั้น ก็เพื่อความมั่นคง และหลีกเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มอำนาจอีกฝ่ายที่ยโศธรปุระ
เหตุผลที่พื้นที่เกาะแกร์ซึ่งไม่ค่อยมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์มากเท่าใด และเป็นพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ที่ถึงพอจะทำนาข้าวได้ แต่ก็ได้ผลผลิตไม่มากเทียบเท่ากับบริเวณเมืองพระนคร (ยโศธรปุระ) .. ผลผลิตทางการเกษตรของเกาะแกร์ไม่น่าจะมีปริมาณเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงประชากรที่มีจำนวนมากได้
.. แต่เกาะแกร์ก็สามารถพัฒนาศักยภาพเป็นเมืองหลวงได้
เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกาะแกร์ธำรงความเป็นเมืองหลวงเอาไว้ได้คือ:
1. เกาะแกร์มีวิทยาการและแร่เหล็กสำหรับทำยุทธภัณฑ์ ยุทธปัจจัย สามารถนำไปแลกเปลี่ยน ค้าขายหรือเก็บภาษีได้ (แต่คำอธิบายนี้ก็มีช่องโหว่ คือ โรงตีหรือถลุงเหล็กในสมัยนั้นอยู่ห่างจากเกาะแกร์ไปนับร้อยกิโลเมตร)
2. เกาะแกร์เป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าที่สำคัญแห่งหนึ่ง โดยเป็นชุมทางของ "ถนนสายราชมรรคา" (Royal road) โดยตั้งอยู่บนถนนสายราชมรรคาเส้นตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เชื่อมระหว่างเมืองยโศธรปุระ (เมืองพระนคร) - ปราสาทเบ็งเมเลีย - เกาะแกร์ - เมืองเศรษฐปุระ (ปราสาทวัดพู แขวงจำปาสัก ลาวใต้) และทางคมนาคมอีกเส้นหนึ่งหนึ่ง จากเกาะแกร์ไปยังศรีสิขเรศวร (ประสาทเขาพระวิหาร).
นอกจากนี้ยังพบสิ่งก่อสร้างสำคัญสนับสนุนการเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าที่สำคัญของเกาะแกร์คือ "ธรรมศาลา" (เรือนพักหรือป้อมตรวจการที่ตั้งอยู่บนเแนวถนนสายราชมรรคา) และ "อโรคยศาลา" (โรงพยาบาลเล็ก ๆ สร้างตามแหล่งชุมชนโบราณ) อีกด้วย
โฆษณา