2 พ.ย. 2022 เวลา 01:05 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จีนคลอดโครงการสร้างนักวิทยาศาสตร์สำหรับโลกอนาคต ในระดับมัธยมต้น
หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการเชิญผู้เชี่ยวชาญและกูรูระดับโลกในหลายด้านมาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และมุมมองกับนักเรียนนักศึกษาจีน อาทิ สถาปัตยกรรม การจัดการ การตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ และอื่นๆ เมื่อปลายเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา จีนได้ขยับไปอีกระดับเพื่อหวังสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่คุณภาพสูง …
ความเคลื่อนไหวนี้สอดคล้องกับคำกล่าวของ สี จิ้นผิง ผู้นำจีน เมื่อเร็วๆ นี้ที่ระบุว่า “จีนควรให้ความสำคัญอันดับต้นกับนวัตกรรมในเทคโนโลยีล้ำยุค วิศวกรรมสมัยใหม่ และอื่นๆ”
เทคโนโลยีสุดล้ำที่จีนให้ความสำคัญ
หลังจากนั้น จีนก็คลอดโครงการใหญ่ เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ภายใต้ชื่อว่า "Next Generation Scientists"
โครงการนี้ถูกออกแบบเพื่อเชื่อมโยงวัยรุ่นท้องถิ่นเข้ากับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก
โดยจีนได้เชิญนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก อาทิ ผู้ไดัรับรางวัลโนเบล มาสอนเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นเพื่อหวังสร้างนักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่
ไมเคิ้ล เลวิตต์ (Michael Levitt) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลปี 2013 ในสาขาเคมี นับเป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของโลกที่ได้รับเชิญมาบรรยายพิเศษเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถ่ายทอดมุมมองแก่เด็กนักเรียนจีนผ่านงานสัมมนา WLF Sci-T Conference ใน การประชุม World Laureates Forum ครั้งที่ 5
บรรยากาศการสัมมนา WLF Sci-T Conference
ขณะที่อีฟิม เซลมานอฟ (Efim Zelmanov) นักคณิตศาสตร์ชาวรัสเซียน-อเมริกัน ที่ได้รับเหรียญ Fields Medal เมื่อปี 1994 รองศาสตราจารย์ เหยียน จุนชี (Yan Junchi) แห่งมหาวิทยาลัยเจียวทงของเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งฉู่ จุนห่าว (Chu Junhao) นักวิชาการจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Sciences) และหวัง พินเซียน (Wang Pinxian) นักธรณีวิทยาชื่อดัง เป็นอาจารย์กลุ่มแรกๆ ที่ร่วมบรรยายในโครงการ
โครงการผลิตนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์นี้ได้ถูกเปิดตัวขึ้นภายในงานสัมมนาดังกล่าว โดยมีสมาคมผู้ได้รับรางวัลโนเบลโลกแห่งศูนย์เซี่ยงไฮ้ (World Laureates Association Shanghai Center) และคณะกรรมการการศึกษาแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Education Commission) จับมือกันเป็นแกนหลักในการดำเนินโครงการ
ในโครงการดังกล่าว จีนพยายามเติมเต็มทั้งในด้านทฤษฎีในหนังสือและภาคปฏิบัติในห้องทดลอง และขยายการเข้าถึงแหล่งข้อมูลในประเด็นสำคัญด้านงานวิจัยเกี่ยวกับอวกาศ ชีวะเคมีระดับโมเลกุล และอื่นๆ
สถานีอวกาศเทียนกงของจีน
ในปีแรกนี้ นักเรียนที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน ศกนี้
โดยจีนวางแผนที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมต้นจำนวน 100 คนต่อปี เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเป็นเวลา 1 ปี
นอกจากนี้ เด็กพรสวรรค์ดีเด่นในโครงการนี้ที่ผ่านการค้ดเลือกจำนวน 10 คนจะได้มีโอกาสเข้าไปกระทบไหล่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกในงานสัมมนา WLF Sci-T Conference ในปีหน้า
โครงการนี้นับเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงการให้ความสำคัญของรัฐบาลจีนต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูงในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science, Technology & Innovation) หรือ “STI” ในชื่อย่อ เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวข้องในยุคหน้า
วิทยาศาตร์แห่งอนาคต
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีจีนยังได้ให้ความเห็นชอบในแผนการผลิตนักปัญญาประดิษฐ์แห่งโลกอนาคต และสาขาด้านอื่นๆ ระยะกลางและระยะยาว
สถาบันการศึกษาของจีนก็ต่างขยายหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อเร่งผลิตนักวิทยาศาสตร์คุณภาพสูงกันอย่างคึกคัก
แม้กระทั่งการเชิญให้นักบินอวกาศของจีนมาพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่นักเรียนนักศึกษารุ่นเยาว์เป็นระยะ
นับแต่ปี 2016 จีนยังจัดตั้ง “รางวัลวิทยาศาสตร์แห่งอนาคต” (Future Science Prize) เพื่อผลักดันการทำวิจัยพื้นฐานแก่นักวิทยาศาสตร์จีนที่มีผลงานดีเด่น
ซึ่งที่ผ่านมา มีนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานดีเด่นราว 30 คนที่ได้รับรางวัลดังกล่าว อาทิ หยวน หลงผิง (Yuan Longping) บิดาแห่งข้าวพันธุ์ผสม เสว ฉี่คุน (Xue Qikun) นักฟิสิกส์ และชือ อี้กง (Shi Yigong) นักชีววิทยาชื่อดัง
นอกจากนี้ จีนยังเปิดแนวทางความร่วมมือการสร้างและพัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กับประเทศในภูมิภาคต่างๆ อาทิ รัสเซีย และอาเซียน มาอย่างต่อเนื่อง
ในความพยายามที่จะผลิตนักวิทยาศาสตร์แห่งอนาคต จีนเดินหน้าดำเนินการหลายอย่าง
และวันนี้จีนได้เริ่มเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมต้นได้เรียนลัดกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกแล้ว
นี่เป็นความเคลื่อนไหวด้านการผลิตทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูงเชิงลึกและเชิงรุกในยุคใหม่ของจีน ที่เราไม่อาจมองข้ามได้ …
#เด็กพรสวรรค์ #นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จีน #รางวัลโนเบล #STI
โฆษณา