2 พ.ย. 2022 เวลา 02:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล แต่เริ่มมีสัญญาณเงินทุนไหลออก?
1
แบงก์ชาติเพิ่งจะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือนกันยายน ที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้านี้เราเห็นตัวเลขเงินทุนสำรองเดือนกันยายนเดือนเดียวลดฮวบไปกว่า 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
แม้ว่าเงินสำรองเรายังอยู่ในระดับที่มากเพียงพอ แต่ก็น่าสนใจมากว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเงินสำรองของไทยจึงหายไปเดือนเดียวเยอะขนาดนั้น
ทั้งๆที่แบงก์ชาติบอกมาตลอดว่า ที่ผ่านมาเราแทรกแซงค่าเงินไปแค่นิดเดียว มูลค่าเงินสำรองที่ลดไปส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าสินทรัพย์
และที่ผ่านมา แม้เราจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่เราเงินทุนไหลเข้าเมืองไทยตั้งเยอะ (ถ้าจำตัวเลขไม่ผิดคือตั้งแต่ต้นปีเงินไหลเข้ากว่าแปดพันล้านเหรียญ)
แล้ว 1.4 หมื่นล้านเหรียญลดลงไปมันมาจากการตีมูลค่าแค่ไหน และมาจากการแทรกแซงค่าเงินเท่าไร
เราเลยไปลองวิเคราะห์ดูว่า ถ้าสมมุติว่าแบงก์ชาติถือครองสินทรัพย์เป็นเงินสกุลสำคัญของโลก คือ ยูโร ปอนด์อังกฤษ เยนญี่ปุ่น ฟรังค์สวิส และเงินหยวนของจีน การเปลี่ยนแปลงมูลค่าของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หลังหัก ปริมาณที่เราเชื่อว่าแบงก์ชาติใช้ในการแทรกแซงค่าเงิน (ที่ประมาณโดยดุลการชำระเงิน) มันสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินแต่ละสกุลข้างต้นอย่างไร
และจากการประมาณการ เราพอ "เดา" ได้ว่าแบงก์ชาติน่าจะถือเงินดอลลาร์สหรัฐประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของเงินทุนสำรอง ที่เหลือเป็นเงินสกุลอื่นๆ เวลาที่ดอลลาร์แข็ง และเงินเหล่านี้อ่อนค่าลง มูลค่าที่เป็นดอลลาร์สหรัฐเลยลดลงไปด้วย
แต่จากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินในเดือนกันยายน เราประมาณการได้ว่า เงินสำรองน่าจะลดลงประมาณ 4 พันล้านบาทจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของค่าเงิน เมื่อเทียบกับทุนสำรองที่ลดไป 1.4 หมื่นล้าน ก็ดูเหมือนว่ามีส่วนที่อธิบายไม่ได้อยู่ค่อนข้างเยอะ
ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลงเยอะเมื่อดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนปรับขึ้น
พอมานั่งดูตัวเลขที่ประกาศออกมาที่น่าสนใจคือ
- เรากลับมา “เกินดุล” บัญชีเดินสะพัด (การส่งออกสินค้าและบริการ และรายได้สุทธิ) แล้ว ประมาณ 0.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่ขาดดุลไปนาน ส่วนหนึ่งเพราะนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา และต้นทุนค่าขนส่งเริ่มลดลง
- เรา “ขาดดุล” การชำระเงิน ประมาณ 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ น่าจะเท่ากับมูลค่าที่แบงก์ชาติใช้แทรกแซงในเดือนกันยายน
- แปลว่า เรา “ขาดดุล” บัญชีทุนและบัญชีการเงิน (คือ มีเงินทุนไหลออกมากกว่าไหลเข้า ทั้งการลงทุนทางตรง หุ้น พันธบัตร คนโอนไปลงทุนต่างประเทศ ฯลฯ) ประมาณ 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งถือเป็นการไหลออกของเงินทุนสุทธิในขนาดที่ใหญ่มาก และเกือบจะพอๆกับ “เงินทุนไหลเข้า” เกือบทั้งปีที่แบงก์ชาติพูดถึงมาก่อนหน้านี้
เลยทำให้เกิดประเด็นที่น่าสนใจสองเรื่อง
หนึ่ง คือ อะไรทำให้แบงก์ชาติต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินในปริมาณที่สูงกว่าที่เคยในอดีต ทั้งๆที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มเกินดุลแล้ว และทำไมมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศจึงลดลงมากกว่า ดุลการชำระเงินที่รวมประมาณการการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าไปค่อนข้างมาก
และบังเอิญว่าเดือนกันยายน คือเดือนที่ กนง. มีการประชุม และตัดสินใจ 7-0 ในการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ไม่รู้ว่าเกี่ยวกันไหม
และไม่รู้ว่าเหมือนกับที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน ที่เงินทุนสำรองก็หายไป 1.2 หมื่นล้าน และมีเงินทุนไหลออกเหมือนกันหรือไม่
สองคือ ทำไมเราจึงเห็นเงินทุนไหลออกสุทธิ ในปริมาณที่สูงมาก หรือว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มใหญ่ขึ้นกำลังเริ่มมีผลต่อเงินทุนไหลออกมากขึ้น ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสองปีของสหรัฐอยู่ที่ 4.4% ส่วนของไทยอยู่ที่ 1.8% เริ่มน่าสนใจไหมครับ
ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปครับ ว่าแนวโน้มเงินทุนไหลออกจะเร่งตัวขึ้นหรือไม่
แต่ด้วยแนวโน้มที่ธนาคารกลางใหญ่อย่างสหรัฐกำลังขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว (เขาจะประชุมกันสัปดาห์นี้ที่น่าจะขึ้นอีก 0.75% และอีกครั้งในเดือนธันวาคม ซึ่งน่าจะขึ้นอีก 0.5-0.75% ส่วน กนง. จะประชุมแค่ครั้งเดียว ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยก็คงจะปรับเพิ่มสูงขึ้น และคงกดดันค่าเงินของเราต่อไป
เมื่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เราอาจจะอยู่ในภาวะที่ต้องเลือกระหว่างการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเขาไป ปล่อยค่าเงินให้อ่อนค่า หรือไม่ก็ต้องใช้เงินสำรองเข้าแทรกแซง (ที่อาจจะไม่ได้มีผลยั่งยืนนัก)
แต่โชคดีที่เราเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา และช่วยทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้บ้าง แต่เราไม่เคยเห็นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยใหญ่ขนาดนี้ จึงไม่รู้ว่าผลต่อเงินทุนไหลออกจะใหญ่ขนาดไหน
และการเดิมพันที่สำคัญของแบงก์ชาติคือผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ถ้าระหว่างนี้เราเห็นเงินเฟ้อเรากดไม่ลงอย่างง่ายๆ อาจจะเป็นอีกแรงที่กดดันให้แบงก์ชาติต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดก็ได้
โฆษณา