6 พ.ย. 2022 เวลา 11:00 • คริปโทเคอร์เรนซี
ทำความรู้จักกับ Web 3.0 กุญแจสู่ยุคสมัยใหม่ของโลกอินเตอร์เน็ต
2
ในปัจจุบันโลกอินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว ไม่ว่าเราจะทำอะไร ก็ต้องมีอินเตอร์เน็ตมาเกี่ยวข้องด้วยตลอดแทบทุกครั้ง แต่เคยได้ยินหรือเปล่าว่า มันกำลังจะมีสิ่งที่เป็นเว็บไซต์รูปแบบหนึ่งที่เรียกกันว่า WEB 3.0
ซึ่งคนที่อยู่ในวงการคริปโตเคอเรนซี่ ก็คงจะคุ้นๆ กับคำว่า Web 3.0 กันมาบ้าง แต่ว่า Web 3.0 มันมาจากไหน แล้ว Web 1.0 2.0 หล่ะ มันหายไปไหน ดังนั้นก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับ Web 3.0 เดี๋ยวเราไปทำความรู้จักกับ Web 1.0 และ Web 2.0 กันก่อน
ทำความรู้จักกับ Web 3.0 กุญแจสู่ยุคสมัยใหม่ของโลกอินเตอร์เน็ต
จุดเริ่มต้นของการส่งข้อมูลไร้พรมแดน การเกิดขึ้นของ Web 1.0
2
ย้อนกลับไปในปี 1989 ที่สภาวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (The European Organization for Nuclear Research) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าเซิร์น (CERN) มีนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยชาวอังกฤษคนหนึ่ง ชื่อว่า ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) ก็ได้นั่งขบคิดถึงโปรโตคอลที่สามารถให้นักวิจัยแบ่งปันข้อมูลต่างๆ ระหว่างกัน จากที่ใดในโลกนี้ก็ได้ ก่อนที่เขาจะได้ทำการพัฒนามาเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า เวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web : WWW)
โปรโตคอลที่พัฒนาโดย Berners นั้นถือว่าเป็นอินเตอร์เน็ตในยุคแรกเริ่ม เรียกกันในชื่อ “Web 1.0” โดยเว็บไซต์ส่วนใหญ่ในยุคนี้เป็นเว็บไซต์ที่มีเหล่าบริษัทหรือสถาบันชั้นนำเป็นเจ้าของ เว็บไซต์ประเภทนี้รู้จักกันในฐานะ “เว็บแบบอ่านอย่างเดียว” หรือที่เรียกกันว่า Read-only web”
ข้อมูลต่างๆ ในยุค Web 1.0 นั้นมาจากเจ้าของเว็บไซต์เพียงฝั่งเดียว รวมไปถึงข้อมูลต่างๆ ก็ถูกเก็บโดยเจ้าของเว็บไซต์ และวิธีการในการสื่อสารนั้นก็ถูกกำหนดโดยเจ้าของเว็บไซต์
เรียกง่ายๆ ว่าในยุคของ Web 1.0 นั้น ทั้งข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล และวิธีการสื่อสาร เป็นแบบรวมศูนย์ (Centralized) ทั้งหมด ไม่มีส่วนใดที่เป็นแบบกระจายศูนย์ (Decentralised) ทำให้หลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนารูปแบบการใช้งานรูปแบบใหม่ขึ้นมา จึงเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของ Web 2.0
Web 2.0 กับรูปแบบการใช้งานที่มากกว่าแค่การอ่าน
Web 2.0 นั้นไม่ได้หมายถึงการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตหรือเว็บไซต์ แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งาน จาก Web 1.0 ที่เราใช้งานในรูปแบบ Write-only มีการสื่อสารแบบทางเดียว (One Way Communication) ก็ถูกแทนที่ด้วยรูปแบบการใช้งานแบบ Write-Read มีการสื่อสารแบบ 2 ทาง (Two Way Communication) ซึ่งเป็นรูปแบบของ Web 2.0 ที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน
ในช่วง Web 2.0 นอกจากการใช้อินเตอร์เน็ตในการอ่านอย่างเดียวแล้ว ผู้ใช้งานอย่างเราๆ ก็สามารถที่จะสร้างเนื้อหาหรือเขียน และเผยแพร่เนื้อหาของตนเองได้อย่างอิสระบนเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งรูปแบบการใช้งานเหล่านี้ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกันทางสังคมขึ้นมาบนโลกอินเตอร์เน็ต
2
แต่ถึงแม้ว่าข้อมูลต่างๆ นั้นจะถูกสร้างขึ้นมาจากเหล่าผู้ใช้งาน แต่ในการจัดเก็บข้อมูล และการสื่อสารกันระหว่างข้อมูลนั้นก็จะต้องผ่านตัวกลางอยู่ดี ซึ่งตัวกลางก็คือบรรดาเว็บไซต์ที่เราไปใช้งาน โดยเว็บไซต์ต่างๆ นั้นทำหน้าที่เป็นคนจัดเก็บ รับ และส่งต่อข้อมูลต่างๆ จากต้นทางไปยังปลายทาง
บรรดาเว็บไซต์หรือแอพลิเคชั่นต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ค (Facebook), ทวิตเตอร์ (Twitter), ยูทูป (Youtube), ไลน์ (Line) ก็ล้วนเป็นเว็บไซต์แบบ Web 2.0 หรือเราจะเรียก Web 2.0 ว่าเป็นยุคสมัยของเว็บไซต์แบบโซเชี่ยลมีเดียก็ได้
แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นอีก เมื่อบรรดาเว็บไซต์ตัวกลางทั้งหลายที่คอยทำหน้าที่ดูแลจัดการข้อมูลให้กับเรา ได้นำข้อมูลที่เหล่าผู้ใช้งานได้สร้างขึ้นมาไปหารายได้ สร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับตัวเอง ทั้งการนำข้อมูลส่วนตัวของเราไปขายให้กับองค์กรต่างๆ หรือทำการขายพื้นที่สำหรับการโฆษณา
นอกจากนี้ Web 2.0 ยังมีข้อเสียคือเหล่าผู้ใช้งาน ทำได้เพียงแค่อ่านและสร้างเนื้อหาขึ้นมาเท่านั้น ไม่ได้มีความเป็นเจ้าของ ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินในด้านการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนแนวทางของแพลตฟอร์ม
เหล่าผู้ใช้งานถูกบังคับให้ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไข (Terms & Conditions : T&Cs) ในการใช้บริการที่ถูกสร้างขึ้นโดยเจ้าของแพลตฟอร์มก่อนที่จะเข้าใช้งาน หากไม่ยอมรับก็จะหมดสิทธิในการเข้าใช้งานแพลตฟอร์มนั้นๆ ซึ่งในบางครั้ง กฏหรือข้อตกลงเหล่านี้ก็เป็นการเอาเปรียบเหล่าผู้ใช้งานเอง ส่วนใครที่ไม่ยอมรับข้อตกลงก็อาจจะถูกห้ามใช้เว็บไซต์นั้นๆ ไปเลย
เรียกง่ายๆ ว่าข้อมูลต่างๆ บน Web 2.0 จะเป็น Decentralized แต่การจัดเก็บข้อมูล และวิธีการสื่อสาร ก็ยังคงเป็นแบบ Centralized อยู่ดี ด้วยเหตุนี้ จึงก่อให้เกิดแนวคิดเกี่ยวการพัฒนาแนวทางการใช้งานอินเตอร์เน็ตรูปแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็คือ Web 3.0
ก้าวไปสู่โลกอุดมคติกับการมาถึงของ Web 3.0
Tim Berners-Lee บิดาผู้ให้กำเนิดระบบ WWW ได้บอกว่า เขานั้นฝันถึงโลกแห่งการเชื่อมต่อที่ไร้ศูนย์กลาง โดยผู้ใช้งานนั้นจะสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้จากทั่วทุกมุมโลกโดยที่ไม่ต้องมีตัวกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง เครื่องคอมพิวเตอร์จะสามารถเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ บนเว็บไซต์ได้ง่าย ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึง ระบบราชการ ชีวิตประจำวัน การค้าขาย จะสามารถจัดการได้ด้วยเครื่องจักร และ Berners ได้นิยามสิ่งนี้ไว้ว่า “เว็บเชิงความหมาย” (Semantic Web)
1
ดร.เกวิน วู้ด (Gavin Wood) ผู้ร่วมก่อตั้งอีเธอเรียม (Ethereum) ได้เปรียบ Web3 ว่าเป็นเสมือนมหากฏบัตรแมกนา คาร์ต้า (Magna Carta) ของโลกอินเตอร์เน็ต (Magna Carta นั้นคือมหากฎบัตรแห่งเสรีภาพที่เป็นรากฐานของกฏหมายรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ ในช่วงยุคสมัยของพระเจ้าจอห์น)
โดย Gavin Wood นั้นก็ต้องการที่จะพัฒนาแนวคิดของ Web3 ให้เป็นจริงขึ้นมา เขาจึงได้ก่อตั้ง Web3 Foundation ขึ้นมา เพื่อพัฒนาและส่งต่อความรู้เกี่ยวกับ Web3 ให้แก่คนทั่วไป เนื่องจากเขามองว่ารูปแบบของ Web 2.0 ที่เราใช้กันในปัจจุบันนั้นมันมีความเป็น Centralized และเป็นเหมือนมะเร็งร้าย เขาต้องการสร้างรูปแบบการใช้อินเตอร์เน็ตที่อาศัยความเชื่อใจน้อยลง และมีความจริงมากขึ้น (Less trust, More truth)
Web 3.0 มันดียังไง.. ทำไมเราถึงต้องการมัน
ในบรรดาผู้ที่สนับสนุน Web3 มองว่ารูปแบบของ Web 2.0 นั้นมีความเป็น Centralized มากเกินไป เจ้าของเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่เป็นบริษัทหรือองค์กรทั้งหลายต่างเป็นผู้กำหนด และควบคุมทิศทางการดำเนินงานและพัฒนาของเว็บไซต์ โดยไม่ฟังความคิดเห็นของเหล่าผู้ใช้งานเลย
บริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Meta, Google หรือ Amazon ได้คอยเก็บข้อมูลที่เหล่าผู้ใช้งานอย่างเราๆ ได้สร้างขึ้น พวกเขารู้แทบจะทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเรา รู้ว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เราอ่านอะไร เราซื้ออะไร เราคุยกับเพื่อนคนไหนบ่อยๆ และเอาข้อมูลเหล่านั้นไปคอยกำหนดทิศทางของแพลตฟอร์ม รวมไปถึงการเอาข้อมูลไปใช้สร้างรายได้ และเพิ่มความมั่งคั่งให้กับพวกเขาเอง โดยที่พวกเราไม่ได้รับอะไรตอบแทนเลย ไม่แม้กระทั่งความเป็นเจ้าของหรือสิทธิในการกำหนดแนวทางของเว็บไซต์ที่เราใช้งาน
ซึ่ง Web3 นั้นจะเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ โดยเป้าหมายของ Web3 คือ
- ความไร้ศูนย์กลาง | Decentralized : แทนที่เราจะใช้งานเว็บไซต์ที่มีเจ้าของหรือผู้ควบคุมเป็นบริษัทขนาดใหญ่ Web3 ต้องการที่จะให้ผู้ใช้งานทุกคนนั้นเป็นเจ้าของเว็บไซต์นั้นๆ อย่างเท่าเทียมกัน
- เข้าถึงได้อย่างอิสระ | Permissionless : ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับเว็บไซต์ได้อย่างไร้ข้อจำกัด
- ระบบการเงินบนเครือข่าย | Native Payment : Web3 ต้องการนำเสนอการใช้จ่ายผ่านสกุลเงินดิจิทัลของเว็บไซต์ และไม่ต้องไปพึ่งพาระบบการเงินของธนาคาร
- ใช้ความเชื่อใจน้อยลง | Trustless : แทนที่ผู้ใช้งานอย่างเราจะไปคาดหวังความจริงจากผู้ให้บริการเว็บไซต์ต่างๆ Web3 นำเสนอสิ่งที่ดีกว่านั้น เพราะเราไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อใจใครเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งานคนอื่น หรือว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าของเว็บไซต์ก็ตาม เราเพียงแค่เชื่อในระบบตัวกลางที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว
การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเว็บตั้งแต่ Web 1 มาจนถึง Web 3
Web3 ส่งผลอย่างไรต่อโลกอินเตอร์เน็ต
เราจะเห็นได้ว่าเป้าหมายหลักของ Web3 คือความเป็น Decentralized ของเว็บไซต์ที่เราใช้งาน ซึ่งเป็นปัญหาของ Web 2.0 ในปัจจุบัน ที่บรรดาเว็บไซต์ต่างๆ ที่เราใช้งานกัน ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Youtube หรือ Google ต่างมีเจ้าของเป็นบริษัทขนาดใหญ่
โดยข้อมูล (Data) ทั้งที่เป็นข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลที่ผู้ใช้ได้เป็นคนคิดค้นและเผยแพร่ขึ้นมา ได้ถูกจัดเก็บและนำไปใช้หาผลประโยชน์ และสร้างความมั่งคั่งให้กับบริษัทเจ้าของเว็บไซต์เหล่านั้น ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาเรื่อง Trust ตามขึ้นมา โดยผู้ใช้ก็ทำได้แค่เชื่อใจว่าเจ้าของเว็บไซต์เหล่านั้น จะไม่เอาข้อมูลของเรา ไปใช้ในทางที่ไม่ดี
เมื่อ Web3 เกิดขึ้นจริง จะเป็นการคืนอำนาจความเป็นเจ้าของ และความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้งาน ซึ่ง Web3 จะมาพร้อมกับ Native Token (สกุลเงินดั้งเดิมของแต่ละบล็อคเชนหรือแพลตฟอร์ม ผู้ใช้สามารถใช้ Token เหล่านี้ในการทำธุรกรรมภายในบล็อคเชนหรือแพลตฟอร์มนั้น ๆ ได้) ของแต่ละแพลตฟอร์ม
โดย Token เหล่านี้จะทำให้ผู้ใช้งานมีอำนาจที่จะตัดสินใจได้ว่าข้อมูลของผู้ใช้งาน จะถูกนำไปใช้ที่ใด แบบใด และผลประโยชน์ทั้งหลายอันเกิดจากข้อมูลเหล่านั้นก็จะไม่ตกไปอยู่ในมือของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ แต่เพียงผู้เดียว แต่จะตกไปอยู่กับผู้ใช้งานทั้งหลายอันเป็นเจ้าของข้อมูลที่แท้จริง
นอกจากนี้ Web3 ยังนำเสนอความ Trustless โดยผู้ใช้สามารถใช้งานได้อย่างสบายใจ โดยที่ไม่ต้องเชื่อใจใครเลย สิ่งนี้สามารถเป็นจริงได้ด้วยเทคโนโลยี Blockchain และ Smart Contract โดยเมื่อเอาสิ่งนี้มาใช้ เราก็สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ เพราะ Smart Contract นั้นเปิดเผยเป็นสาธารณะ ใครก็สามารถเข้ามาดูได้ และมันแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ยากมาก ยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
หาก Web3 นั้นสำเร็จขึ้นมา พวกเราเหล่าผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั้งหลาย ก็จะสามารถท่องโลกออนไลน์แบบมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นเจ้าของข้อมูลที่ตัวเองสร้างขึ้นมาได้อย่างแท้จริง สามารถนำข้อมูลที่สร้างขึ้นมาเองไปใช้ประโยชน์หรือหารายได้ได้ตามที่ตัวเองต้องการ รวมถึงสามารถร่วมกันกำหนดทิศทางของแพลตฟอร์มที่ตัวเองใช้งานได้อีกด้วย ในอนาคตถ้าหากว่า Web3 สามารถเป็นจริงขึ้นมาได้ บรรดาผู้ใช้งานอย่างเราๆ จะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล
1
การมาของ Web 3.0 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบนโลกออนไลน์อย่างไร?
1
ลองนึกถึงการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบของธนาคารในปัจจุบัน ก่อนที่เราจะทำธุรกรรมกับธนาคารได้ เราจำเป็นที่จะต้องทำการยืนยันตัวตน แต่ไม่ใช่กับการทำธุรกรรมบนโลก Web3 ซึ่งโลกการเงินบน Web3 นั้นเราเรียกว่า Decentralized Finance (Defi) เวลาเราจะทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ ขอเพียงแค่เรามีอินเตอร์เน็ต เราก็สามารถทำได้ผ่าน dApps (Decentralized Application) ได้เลย ไม่จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตนหรือการยื่นหลักฐานทางการเงินใดๆ
นี้แหละคือการเงินไร้พรมแดนอย่างแท้จริง โดยมีบรรดา dApps ที่เกี่ยวกับการเงิน หรือที่เรียกว่า Decentralized Exchanges (DEX) เช่น Uniswap, Sushiswap หรือ Pancakeswap เป็นต้น
ในเดือน กรกฎาคม 2022 ตามรายงายของ Dune Analytics พบว่ามีจำนวนผู้ใช้งาน DeFi ทั้งหมดกว่า 4.8 ล้านราย ซึ่งถ้านับจากต้นปี 2022 จำนวนผู้ใช้ DeFi นั้นเพิ่มขึ้นกว่ากว่า 500,000 ราย และในปัจจุบัน (กรกฎาคม 2022) มีมูลค่าสินทรัพย์ที่อยู่บน DEX (Total Value Locked : TVL) รวมกันกว่า 1.5 แสนล้านบาท (4,215 ล้านเหรียญ) ซึ่ง TVL รวมทั้งหมด เคยแตะจุดสูงสุดที่ 3.9 ล้านล้านบาท (107,000 ล้านเหรียญ) เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 ที่ผ่านมา
กราฟแสดงจำนวนและอัตราการเติบโตของผู้ใช้งาน DeFi นับตั้งแต่ธันวาคม 2017 ถึง กรกฎาคม 2022 แหล่งข้อมูล | Statista
ในอุตสาหกรรมสื่อ บรรดาเว็บไซต์สตรีมมิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น Youtube, Spotify หรือ Apple Music ต่างก็คิดส่วนแบ่งจากบรรดาศิลปินทั้งหลาย โดยในบางครั้งส่วนแบ่งเหล่านี้ก็ไม่เป็นธรรมกับบรรดาผู้สร้างเนื้อหา นอกจากนี้บรรดาเว็บไซต์ก็ยังสอดแทรกโฆษณาเข้ามาเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมอีก
ในขณะที่บน Web3 นั้นผู้สร้างเนื้อหาสามารถที่จะได้รับรายได้เกือบ 100% ที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งให้กับผู้ให้บริการตัวกลางแต่อย่างไร จะมีก็เพียงแต่ค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นเล็กน้อย ที่ถูกหักไปเพื่อให้ระบบนิเวศยังคงทำงานและพัฒนาต่อไปได้
ยกตัวอย่างเช่น dApps สำหรับสตรีมมิ่งอย่าง Audius โดยรายได้กว่า 90% ของ dApps นั้นจะถูกจ่ายให้กับเหล่าศิลปินที่เป็นผู้สร้างเนื้อหา ซึ่งศิลปินจะได้รับรายได้เป็นเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีของทางแพลตฟอร์มที่มืชื่อว่า $AUDIO
ถึงแม้ว่า Web3 จะยังคงเป็นเรื่องใหม่อยู่ในขณะนี้ และเราอาจจะต้องใช้เวลารอกันไปอีกหลายปี จนกว่าที่ Web3 จะบรรลุเป้าหมายของมัน แต่เมื่อเราลองมองดูดีๆ สถานการณ์ในตอนนี้ของ Web3 นั้นก็คล้ายกับช่วงที่เว็บไซต์โซเชี่ยลมีเดียได้เกิดขึ้นมา และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัย Web 2.0
กราฟแสดงอัตราผู้ใช้งาน Web3 เปรียบเทียบกับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต แหล่งข้อมูล | Cointelegraph
จนกว่าวันนั้นจะมาถึง คุณพร้อมแล้วหรือยัง สำหรับยุคสมัยใหม่ของการใช้อินเตอร์เน็ตและท่องเว็บไซต์…
___
ติดตามข่าวอื่นๆ และบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่
Facebook Craft - facebook.com/entertostart
Twitter Craft - twitter.com/EntertoStart
Telegram Craft - t.me/entertostart
Telegram News - t.me/entertostart_news
___
ติดตามอ่านบนเว็บไซต์ได้ที่ https://entertostart.co/what-is-web3-decentralized-internet-of-the-future/
โฆษณา