4 พ.ย. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ภาวะผลตอบแทน “Commodity” ที่สำคัญตั้งแต่ต้นปี 2022
ในช่วงปี 2022 นี้ เป็นช่วงเวลาแห่งความผันผวนของตลาด Commodity โลกอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียเป็นส่วนสำคัญ
เพราะทั้งสองประเทศนี้เป็นผู้ส่งออกคนสำคัญของสินค้า Commodity หลากหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวสาลี ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนทั่วไป
ซึ่งในช่วงแรกของสงคราม เราจะเห็นได้ว่า ราคาของ Commodity เกือบทั้งหมดได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ก็ยังไม่ได้คาดการณ์ว่า สงครามที่เริ่มต้นตอนปลายเดือนกุมภาพันธ์ จะลากยาวมาจนถึงปัจจุบันได้
ส่งผลต่อเนื่องทำให้ปัญหาราคา Commodity ที่สูงส่งต่อมาสู่องค์ประกอบอื่นของเงินเฟ้อ จนทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศจำต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพื่อควบคุมไม่ให้เงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาเงินเรื้อรังยาวนาน
ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงยาวนานประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นในหลายประเทศพร้อมๆ กัน เป็นส่วนสำคัญซึ่งทำให้การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในช่วงถัดไปปรับแย่ลงเรื่อยๆ
ประกอบกับสถานการณ์การขนส่งสินค้าออกจากรัสเซียและยูเครนที่หาตลาดผู้ซื้อได้มากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำราคาของ Commodity ปรับตัวลงมาจากจุดสูงสุดในช่วงต้นของสงคราม แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่สูงกว่าระดับตอนต้นปีอยู่
โดยยกตัวอย่าง ผลตอบแทน Commodity ที่น่าสนใจ ตั้งแต่ต้นปี 2022 (Year-To-Date) อ้างอิงจาก Bloomberg Commodity Index ดังนี้
  • 1.
    ข้าวสาลี มีผลตอบแทน 4.1%
  • 2.
    ข้าวโพด มีผลตอบแทน 23.9%
  • 3.
    ถั่วเหลือง มีผลตอบแทน 21.3%
  • 4.
    ทองคำ มีผลตอบแทน -11.4%
  • 5.
    ทองแดง มีผลตอบแทน -23.2%
  • 6.
    อะลูมิเนียม มีผลตอบแทน -19.6%
  • 7.
    ก๊าซธรรมชาติ มีผลตอบแทน 64.6%
  • 8.
    น้ำมัน WTI มีผลตอบแทน 35.5%
  • 9.
    น้ำมัน Brent มีผลตอบแทน 50.8%
จะมีเกร็ดบางประเด็นที่น่าสนใจ อย่างในส่วนข้าวสาลีที่ทางรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออก Top 5 ของโลกทั้งคู่ เมื่อทั้งสองกลับมาตกลงให้มีการส่งออกผ่านทะเลดำได้ ก็ทำให้ราคาข้าวสาลีปรับลดลงมาอย่างมาก
หรือประเด็นราคาน้ำมัน WTI และ น้ำมัน Brent ซึ่งพูดแบบง่ายๆ ก็มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาก แต่ที่ทางน้ำมัน Brent มีราคาปรับขึ้นสูงกว่า WTI ในปีนี้
ก็เป็นเพราะว่า Brent เป็นราคาอ้างอิงของน้ำมันในภูมิภาคยุโรปซึ่งมีความขัดแย้ง โดนคว่ำบาตรด้านพลังงานกับรัสเซียโดยตรง จึงปรับขึ้นมาสูงกว่าในกรณีของ WTI ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงของน้ำมันที่ขายในอเมริกา
ประเด็นสำคัญต่อมา คือ เรื่องสินค้า Commodity ในด้านโลหะพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรม เช่น ทองแดง หรือ อะลูมิเนียม ที่ผลตอบแทนปีนี้ติดลบไปเป็นที่เรียบร้อย ทั้งๆ ที่ในช่วงแรกของสงคราม ราคาก็ยังอยู่ในระดับสูงอยู่เช่นกัน เป็นเพราะว่าราคาของโลหะพวกนี้แปรผันรวดเร็วกว่ากับการคาดการณ์เศรษฐกิจ เมื่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมคาดว่า จะมีสภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นก็ปรับตัวก่อน
และสุดท้ายในบทความ คือ ทองคำ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ราคาปรับลดลงมาในปีนี้ แม้กระทั่งในช่วง 3 เดือนหลังที่ประเด็นวิกฤติเศรษฐกิจในปีหน้าถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว คนควรหันมาซื้อทองคำที่เป็นทรัพย์สินปลอดภัย (Safe Haven) มากขึ้น แต่เหตุการณ์จริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
เหตุผลที่คาดกันว่า ทำไมเหตุการณ์นี้จึงเกิดขึ้นมาจากการที่ในตอนนี้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นทรัพย์สินปลอดภัยที่น่าดึงดูดกว่าทองคำ อย่างไรก็ดี ถ้าในอนาคตเศรษฐกิจของอเมริกาแย่ลง ก็มีโอกาสที่คนจะหันกลับมาถือทองคำมากขึ้น จนทำให้ราคาปรับขึ้นได้
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา