4 พ.ย. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
COCO (2017) “Halloween Effect” ผลกระทบของเทศกาลฮาโลวีนต่อเศรษฐกิจ
Coco เป็นหนังอนิเมชั่นจากค่าย Disney Pixar ที่น่าจะอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน
เรื่องราวการเฉลิมฉลองวันแห่งความตาย (El Día De Los Muertos) ในประเทศเม็กซิโก ที่เต็มไปด้วยสีสัน เสียงเพลง และบรรยากาศแห่งความสนุกสนาน ซึ่งก็มีความเชื่อและที่มา
คล้ายคลึงกันกับเทศกาลฮาโลวีนที่เราเพิ่งจะฉลองกันไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้
เทศกาลฮาโลวีนในปีนี้ น่าจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีการเฉลิมฉลองอย่างเต็มที่ ผู้คนทั่วโลกโดยเฉพาะในแถบสหรัฐฯ จึงเฉลิมฉลองเทศกาลนี้กันอย่างครึกครื้น
ในบทความนี้ Bnomics จึงอยากพาไปดูที่มาของเทศกาลฮาโลวีน และผลกระทบของเทศกาลฮาโลวีนต่อเศรษฐกิจ
📌 ความเป็นมาของเทศกาลฮาโลวีน
คำว่า Halloween มาจากคำว่า All Hallows' Eve ซึ่งหมายถึง วันก่อนวันระลึกถึงนักบุญทั้งหลายและผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว
โดยวันฮาโลวีน จะตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี เชื่อว่ามีที่มาจากวันฉลองปีใหม่ของชาว Celt ชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในประเทศไอร์แลนด์ วันนี้ถือเป็นวันสิ้นสุดฤดูร้อน ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูหนาวในวันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งจะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาว Celt
มีความเชื่อที่ว่า วันที่ 31 ตุลาคม เป็นวันที่ประตูมิติระหว่างโลกมนุษย์และโลกวิญญาณเปิดขึ้น วิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว สามารถกลับมาหาลูกหลานที่บ้านได้ หรืออาจจะมาเพื่อบอกลา ซึ่งก็เหมือนในเรื่อง Coco ที่เราจะเห็นฉากบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว เดินทางกลับมาเยี่ยมครอบครัวกันในวันนั้น
แต่ทีนี้ก็อาจจะมีวิญญาณของคนที่ตายไประหว่างปี พยายามหาร่างคนเป็น เพื่อที่จะได้เข้าสิงและกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ชาว Celt ก็เลยจุดไฟบนยอดเขา และเตาผิงในบ้าน เพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้าย แล้วก็แต่งกายให้แปลกประหลาด ใส่หน้ากาก ปลอมตัวเป็นแม่มด ก็อบลิน นางฟ้า หรือปีศาจ อะไรก็ตามแต่เพื่อให้ผีตัวจริงตกใจกลัวและหนีไป
ความเชื่อนี้ถูกผสมผสาน และส่งต่อไปเรื่อยๆ ต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 สมเด็จพระสันตะปาปา Boniface ที่ 4 ก่อตั้งวัน All Saints’ Day (All Hallows' Day) ขึ้นมา โดยกำหนดให้ตรงกับวันที่ 13 พฤษภาคม ก่อนที่ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 จะถูกเลื่อนไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน ดังนั้นในช่วงเย็นวันก่อนหน้าจึงกลายเป็นวัน All Hallows' Eve หรือย่อให้สั้นๆ เหลือเพียง Halloween
วันเวลาผ่านไป เทศกาลฮาโลวีนจึงกลายเป็นกิจกรรมสนุกสนาน
มีการเล่น Trick or Treat มีการแกะสลักโคมไฟฟักทองประดับประดาตามบ้าน ผู้คนพากันแต่งตัวแปลกประหลาดแล้วแต่ความสร้างสรรค์
📌 Halloween effect…ผลจากการจับจ่ายใช้สอยในเทศกาลฮาโลวีนต่อเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน เทศกาลฮาโลวีน ถือเป็นเทศกาลหนึ่งที่มีการเฉลิมฉลองกันเป็นวงกว้างในสหรัฐฯ
แนวคิดเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ เชื่อว่าการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสำคัญๆ ก่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ ได้ จากการที่กระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยมากกว่าปกติ
เครดิตภาพ : National Retail Federation (NRF)
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลฮาโลวีนนี้ จะก่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวม ช่วยกระตุ้น GDP ของประเทศ และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นจนนำไปสู่การจ้างงานงานที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ในช่วงฮาโลวีนยังเป็นโอกาสให้ร้านค้าต่างๆ สามารถทดลองออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เฉพาะเทศกาลนั้นๆ ได้ด้วย โดยคาดว่ายอดขายในช่วงเทศกาล ถือเป็นยอดขายกว่า 20% ของทั้งปีเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ผลเชิงบวกที่เกิดขึ้นนั้น ก็อาจจะไปชดเชยกับผลเชิงลบในแง่อื่นๆ เช่น ผู้บริโภคหลายคนที่มองว่าตัวเองจะใช้จ่ายเยอะในช่วงปลายเดือนตุลาคม ก็จะออมเงินเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนก่อนหน้า
ทำให้ตัวเลขการใช้จ่ายในเดือนสิงหาคมและกันยายนลดลง หรือบางคนก็อาจจะลดการใช้จ่ายในเดือนพฤศจิกายนลงได้เพื่อชดเชยกับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลฮาโลวีน และเผื่อไว้สำหรับการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลคริสต์มาส
📌 คนอเมริกันซื้ออะไรในช่วงเทศกาลฮาโลวีน
National Retail Federation คาดว่าในปี 2022 คาดว่าชาวอเมริกัน จะใช้จ่ายราวๆ 10.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วที่มีการใช้จ่ายไปราวๆ 10.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสูงที่สุดในหลายปีที่ผ่านมา
โดยคาดว่า
  • 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะใช้ไปกับการแต่งตัวแฟนซี
  • 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะใช้ไปกับลูกอม/ขนม
  • 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใช้ไปกับการตกแต่ง
  • 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใช้ไปกับการ์ดอวยพร
เครดิตภาพ: National Retail Federation (NRF)
เมื่อแยกดูเป็นรายบุคคล พบว่าผู้บริโภคสหรัฐฯ 69% เลือกที่จะฉลองเทศกาลฮาโลวีน และใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณ 100.45 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน
ตัวเลขเหล่านี้ สามารถใช้บอกสภาพของเศรษฐกิจ และสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจได้ เพราะถ้าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับสูง ก็มีแนวโน้มที่จะกล้าใช้จ่ายไปกับอะไรที่ไม่จำเป็นอย่างชุดแต่งกายแฟนซี ลูกอม และของตกแต่งประดับประดาได้มากขึ้น
ซึ่งถึงแม้ในปีนี้ เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่สูงมากทั่วโลก และยังมีความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่การจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลฮาโลวีน ก็อาจจะพอทำให้เราเห็นสัญญาณที่ดีอยู่บ้าง…
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
เครดิตภาพ : Disney และ Pixar

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา