6 พ.ย. 2022 เวลา 12:19 • ธุรกิจ
Phil Knight และ Bill Bowerman จากคนรักการวิ่งสู่ผู้ก่อตั้งอาณาจักร Nike
ถ้าพูดถึงแบรนด์เกี่ยวกับกีฬา Nike น่าจะขึ้นมาเป็นแบรนด์แรกๆ ในใจที่ได้รับความนิยมเสมอมา แต่รู้หรือไม่ว่าแบรนด์ Nike ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
เริ่มต้นมาจากไอเดียในคลาส MBA ของนักศึกษาคนหนึ่ง และแพชชั่นในการสร้างรองเท้าวิ่งที่ดีที่สุดของโค้ชคนหนึ่ง ด้วยเงินทุนเริ่มต้นเพียง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
ทั้งสองไอเดีย มาบรรจบกันจนเป็นแบรนด์ Nike ได้อย่างไร Bnomics จะเล่าให้ฟัง
📌 Bill Bowerman โค้ชวิ่งผู้สนใจเรื่องรองเท้า
คุณ Bill Bowerman เกิดที่พอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ในปี 1911 ช่วงวัยมัธยมเขาศึกษาที่ Medford High School เขาชื่นชอบการเล่นฟุตบอลเป็นอย่างมาก
หลังจากที่จบการศึกษาในปี 1929 จึงได้เริ่มต้นอาชีพทางด้านฟุตบอล ที่มหาวิทยาลัยโอเรกอน ในขณะที่เขาเรียนคณะวารสารศาสตร์อยู่ที่นั่น ต่อมาเขาได้รับการชักชวนจากคุณ Bill Hayward โค้ชกรีฑาประเภทลู่และลาน เพื่อให้เข้าร่วมทีมกรีฑาประเภทลู่วิ่ง ซึ่งกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของความผูกพันธ์กับการวิ่งมานับแต่นั้น
คุณ Bill Bowerman หยุดการสอนไปในช่วงที่ต้องเข้าร่วมกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากสงครามสิ้นสุดลง เขาจึงได้กลับมาเป็นโค้ชฟุตบอลที่โรงเรียน Medford High School ก่อนที่ในปี 1948 เขาได้กลับไปมหาวิทยาลัยโอเรกอน และได้รับตำแหน่งหัวหน้าโค้ชทีมกรีฑาประเภทลู่ในเวลาต่อมา หลังการเกษียณของคุณ Bill Hayward
คุณ Bill Bowerman เป็นหัวหน้าโค้ชกรีฑาของมหาวิทยาลัยโอเรกอนที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก นักวิ่งของเขาได้รางวัล NCCA ระดับชาติถึง 4 ตำแหน่ง เป็นจำนวนทั้งหมด 24 คน
ในระหว่างที่ดูแลนักกีฬา คุณ Bill Bowerman รู้สึกว่ารองเท้าวิ่งที่วางจำหน่ายอยู่นั้นไม่เหมาะกับนักวิ่งเป็นอย่างยิ่ง เขาพยายามเขียนจดหมายไปหาหลายบริษัท และแนะนำให้ทำรองเท้าที่มีความเบาขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับนักวิ่งมากยิ่งขึ้น
แต่ก็ไร้การตอบกลับแต่อย่างใด…
คุณ Bill Bowerman ก็เลยเริ่มคิดที่จะทำรองเท้าเองเสียเลย เขาเอารองเท้าวิ่งมาศึกษาดูว่ามีชิ้นส่วนอะไรบ้าง ต่อมาก็เริ่มทดลองปรับเปลี่ยนวัสดุต่างๆ แล้วทำการตัดให้มีขนาดและลักษณะเฉพาะกับนักวิ่งที่สวมใส่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ คุณ Phil Knight
📌 Phil Knight นักบัญชีผู้รักการวิ่ง
คุณ Phil Knight เกิดที่พอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอนเช่นเดียวกันกับคุณ Bill Bowerman เพียงแต่เขาเกิดในปี 1938 เขาเป็นคนที่รักการวิ่งมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยโอเรกอน จึงได้มาเป็นนักวิ่งระยะกลาง
ปัญหาที่คุณ Phil Knight พบคือ เขาต้องการรองเท้าวิ่งที่ดีกว่าที่มีวางจำหน่ายอยู่ในตอนนั้น แต่ก็หาไม่ได้สักที และนั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเข้าไปขอคำแนะนำจากโค้ชกรีฑาของเขา นั่นก็คือคุณ Bill Bowerman
📌 เมื่อความสนใจของทั้งสองได้มาบรรจบกัน
หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน คุณ Knight ได้ไปเรียนต่อในสาขา MBA จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งความสนใจในเรื่องรองเท้าวิ่งก็ยังไม่เคยหายไปจากหัวของเขาเลย ในวิทยานิพนธ์ MBA เขาจึงได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการนำเข้ารองเท้ากีฬาจากญี่ปุ่นเข้ามาตีตลาดสหรัฐฯ ว่ามีตลาดรองรับที่ค่อนข้างใหญ่ และเป็นที่ต้องการ
ในปี 1962 เขาตัดสินใจไปญี่ปุ่น เพื่อขอพบกับคุณ Kihachiro Onitsuka เจ้าของแบรนด์รองเท้า Onitsuka ที่มีรองเท้ารุ่นที่โด่งดังคือรุ่น Tiger ในตอนนั้นเขาจึงตั้งใจไปขอเป็นผู้จัดจำหน่ายในสหรัฐฯ
เขาก็ได้แนะนำตัวว่าเป็นผู้จัดจำหน่ายชาวอเมริกัน และตั้งชื่อบริษัทขึ้นมาทันทีทันใดว่า Blue Ribbon Sports เพื่อพยายามชักจูงให้คุณ Kihachiro Onitsuka ยอมทำข้อตกลงพิเศษให้เขาขายรองเท้า Onitsuka ในสหรัฐฯ ให้ได้
และคุณ Knight ก็บรรลุข้อตกลงนั้น เขาได้สิทธิในการจัดจำหน่ายรองเท้า Onitsuka ในสหรัฐฯ เมื่อรองเท้ามาถึง เขาจึงได้ส่งไปให้คุณ Bowerman โค้ชกรีฑาสมัยมหาวิทยาลัย เพื่อหวังจะขาย แต่เขากลับต้องประหลาดใจเมื่อคุณ Bowerman สนใจรองเท้านี้เป็นอย่างมากจนอยากขอร่วมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจด้วย
และจะขอใส่ไอเดียในการปรับปรุงรองเท้าวิ่งนี้ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ก็เลยกลายเป็นข้อตกลงร่วมลงทุนกันด้วยเงินลงทุนเพียงคนละ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
ในปี 1964 บริษัท Blue Ribbon Sports ที่เกิดขึ้นจากการร่วมทุนระหว่างคุณ Bill Bowerman และคุณ Phil Knight ก็ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อนำเข้าและจัดจำหน่ายรองเท้ากีฬา Onitsuka Tiger
หลังจากทั้งคู่บรรทุกรองเท้า Onitsuka Tiger ใส่รถไปขายตามที่ต่างๆ ด้วยความที่รองเท้ามีราคาถูกและคุณภาพดี เพียงแค่เดือนเดียวรองเท้าที่สั่งมาล็อตแรกกว่าร้อยคู่ก็หมดเกลี้ยงจนต้องสั่งรองเท้าล็อตใหม่จากญี่ปุ่นมาเพิ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ และจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้น
ในปี 1960 Blue Ribbon Sports ขายรองเท้า Onitsuka Tiger ได้รวมเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่หนทางกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะการสั่งรองเท้า Onitsuka Tiger จากญี่ปุ่นมานั้นช่างยากเย็น และกว่าสินค้าจะถึงสหรัฐฯ ก็ไม่ค่อยตรงตามเวลา จึงทำให้บริษัทของเขามักจะต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงินอยู่บ่อยครั้ง
ในปี 1971 เกิดความขัดแย้งเรื่องสัญญากับ Onitsuka พอดี คุณ Knight กับคุณ Bowerman จึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัทผลิตรองเท้าของตนเอง
ในตอนแรกที่จะตั้งชื่อแบรนด์ คุณ Knight เสนอชื่อ Dimension 6 แต่ในนาทีสุดท้าย คุณ Jeff Johnson พนักงานเก่าแก่คนหนึ่งของบริษัท
ได้เสนอชื่อ Nike ซึ่งเป็นชื่อของเทพพระเจ้ากรีกองค์หนึ่งที่เป็นเทพธิดาแห่งชัยชนะ บริษัทก็เลยได้ชื่อ Nike
ทีนี้คุณ Knight ก็ได้ไปว่าจ้างคุณ Carolyn Davis นักศึกษาสาขาออกแบบ ให้ออกแบบโลโก้ Swoosh (โลโก้เดียวกับที่ใช้ในปัจจุบัน)
แบรนด์ Nike ก็เลยถือกำเนิดขึ้นมานับตั้งแต่นั้น โดยเปิดตัวรองเท้ารุ่นแรกของแบรนด์ในการแข่งขันโอลิมปิก ปี 1972 คือรุ่น Cortez ที่ออกแบบโดยคุณ Bowerman
ในปีนั้นปีเดียว Nike ทำรายได้ได้มากกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
หลังจากนั้น คุณ Bowerman ก็ยังคงมีไอเดียใหม่ๆ ที่จะพัฒนารองเท้าวิ่งอยู่เสมอมา วันหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1970 เขาเกิดไอเดียทำพื้นรองเท้าที่ลักษณะเหมือนวาฟเฟิลแบบกลับด้าน จึงลองเทยางลงไปในเครื่องทำวาฟเฟิลของภรรยา
ทำให้ได้พื้นรองเท้าที่มีลวดลายเป็นตารางแบบยกขึ้น ซึ่งมีน้ำหนักเบา ดีดตัวได้ และยึดเกาะพื้นได้ดี จนกลายเป็นรองเท้ารุ่น Moon Shoe
ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบรองเท้าวิ่งมากมายในยุคต่อมา (รองเท้า Moon Shoe รุ่นทดสอบ ถูกผลิตขึ้นมาแค่ 12 คู่ในโลก ปัจจุบันถูกประมูลไปในราคา 437,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ)
ทั้งสองยังคงบริหารแบรนด์ Nike ร่วมกันเรื่อยมา จนกระทั่งคุณ Bill Bowerman จากไปในปี 1999 ส่วนคุณ Phil Knight ก็ได้เกษียณตัวเองในปี 2016
📌 ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ในวันที่เริ่มต้น ทั้งคู่ลงทุนแค่คนละ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
แต่ในปี 2021 บริษัท Nike มีรายได้ถึง 44,538 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ความสำเร็จของ Nike ทุกวันนี้ มาจากคนสองคน ที่มีแพชชั่นร่วมกัน และไม่เคยหยุดฝัน
แต่ลงมือทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ฝันเป็นจริง เหมือนกับ tagline ของ Nike ที่เราคงได้ยินเสมอมา
“Just Do It”
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา