5 พ.ย. 2022 เวลา 05:42 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นักวิทย์ไขความลับของไวโอลินในตำนาน
(เรียบเรียงโดย ณัฐนันท์ รัตนชื่อสกุล)
ไวโอลินสตราดิวาเรียสเป็นไวโอลินระดับตำนานอันเก่าแก่ที่ถูกสร้างสรรค์โดยช่างทำเครื่องดนตรีชาวอิตาลีนาม อันโตนิโอ สตราดิวารี โดยไวโอลินดังกล่าวมีเสียงอันไพเราะแม้เวลาจะผ่านมานานถึง 300 ปีแล้ว
ในปัจจุบันมีไวโอลินสตราดิวาเรียสหลงเหลืออยู่ราว 650 เครื่องเท่านั้น ทำให้มันมีราคาสูงถึง 15-20 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
นักวิทยาศาสตร์ จึงมีการศึกษาเพื่อไขความลับของไวโอลินระดับตำนานนี้ โดยไวโอลินอันล้ำค่าที่ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์มี 2 คันด้วยกัน ได้แก่ ไวโอลิน San Lorenzo ปี 1718 และไวโอลิน Toscano ปี 1690
ไวโอลิน San Lorenzo ปี 1718 ที่มา : https://www.friendsofstradivari.it/the-friends-of-stradivari-collection/antonio-stradivari-san-lorenzo-1718/
ไวโอลินทั้งสองเครื่องถูกวิเคราะห์ด้วยเทคนิคหลายอย่าง แต่เทคนิคสำคัญที่ใช้ในการวิเคราะห์คือ Infrared scattering-type scanning near field microscopy (IR s-SNOM) ซึ่งเป็นการตรวจจับสัญญาณอินฟราเรดที่กระเจิงมาจากพื้นผิวของไวโอลิน ทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของพื้นผิวไวโอลินทั้งทางกายภาพและทางเคมีในบริเวณหนึ่งๆออกมาในลักษณะของแผนที่สามมิติอย่างละเอียด
IR s-SNOM ที่มา : https://www.bruker.com/en/products-and-solutions/infrared-and-raman/nanoscale-infrared-spectrometers/scattering-snom.html
การตรวจสอบพบว่า มีชั้นโปรตีนบางๆแทรกอยู่ระหว่างไม้และชั้นฟิล์มเคลือบเงาของไวโอลิน หน้าที่ของชั้นโปรตีนนี้ ช่วยให้เนื้อไม้ของไวโอลินมีความเรียบเนียนทำให้เสียงที่เกิดขึ้นมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้ ชั้นโปรตีนดังกล่าวมีองค์ประกอบเป็นสารกลุ่มเอไมด์ 2 ชนิด อยู่ในรูปโครงสร้างแบบแผ่นเบต้าชีทและถูกฝังลึกลงไปในชั้นไม้ในกระบวนการการขัดเงา ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า อาจมีการใช้โปรตีนบางอย่างร่วมกับน้ำยาเคลือบเงา
โครงสร้างโปรตีนแบบแผ่นเบต้าชีท ที่มา : Wikipedia
#สรุป ข้อมูลจากการวิเคราะห์นี้ยังทำให้เรารู้ว่าช่างทำไวโอลินระดับปรมาจารย์ท่านนี้มีการใช้งานโปรตีนบางอย่างในการสร้างไวโอลินอันเลื่องชื่อ และงานวิจัยนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคนิคการวิเคราะห์วัสดุขั้นสูงแก่วงการวิทยาศาสตร์อีกด้วย
โฆษณา