5 พ.ย. 2022 เวลา 05:50 • ปรัชญา
ปรากฎการณ์จันทรุปราคา และคติพุทธ
จันทรุปราคา ซึ่งเกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ และเป็นจังหวะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาของโลก
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาไม่เกิดขึ้นทุกเดือน เนื่องจากระนาบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์และระนาบที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกไม่ใช่ระนาบเดียวกัน หากตัดกันเป็นมุม 5 องศา ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดจันทรุปราคาเพียงปีละ 1 – 2 ครั้ง
• เงามืด (Umbra) เป็นเงาที่มืดที่สุด เนื่องจากโลกบังดวงอาทิตย์จนหมดสิ้น หากเราเข้าไปอยู่ในเขตเงามืด จะไม่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ได้เลย
• เงามัว (Penumbra) เป็นเงาที่ไม่มืดสนิท เนื่องจากโลกบังดวงอาทิตย์เพียงด้านเดียว หากเราเข้าไปเขตเงามัว เราจะมองเห็นบางส่วนของดวงอาทิตย์โผล่พ้นส่วนโค้งของโลก เงาที่เกิดขึ้นจึงไม่มืดนัก
จันทรุปราคาเกิดขึ้นเฉพาะในคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวง โดยที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์เรียงตัวเป็นเส้นตรง ผู้สังเกตการณ์ในซีกโลกกลางคืนสามารถมองเห็นปรากฏการณ์ทั้งหมดได้นานประมาณ 3 ชั่วโมง แต่จะเห็นดวงจันทร์อยู่ในเงามืดได้นานที่สุดไม่เกิด 1 ชั่วโมง 42 วินาที เนื่องจากเงามืดของโลกมีขนาดเล็ก ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดด้วยความเร็ว 1 กิโลเมตรต่อวินาที
ประเภทของจันทรุปราคา
เนื่องจากระนาบวงโคจรของดวงจันทร์และระนาบวงโคจรของโลกไม่ซ้อนทับกันพอดี จึงทำให้เกิดจันทรุปราคาได้ 3 แบบ ดังนี้
• จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก
• จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อบางส่วนของดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในเงามืด
จันทรุปราคาเงามัว (Penumbra Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามัวเพียงอย่างเดียว  เราจึงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีสีคล้ำเนื่องจากความสว่างลดน้อยลง จันทรุปราคาเงามัวหาดูได้ยาก เพราะโดยทั่วไปดวงจันทร์มักจะผ่านเข้าไปในเงามืดด้วย
ในบางท้องถิ่น จะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า กบกินเดือน อันเป็นตำนานในทางพื้นบ้านอีสาน และตำนานทางไทยวนล้านนา โดยมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยนั้นสัตว์และมนุษย์สามารถสื่อสารกันได้ มนุษย์ได้ทำการเกษตร ต่อมาเกิดความแห้งแล้ง มนุษย์จึงหากบเขียดมาทำพิธีบูชา พญาแถนจึงส่งฝนตกลงมา น้ำท่วมโลกสัตว์อื่น ๆจึงตายกันหมด พญาแถนจึงส่งดวงตะวันและเดือนมาอย่างละ 12 ดวง พื้นดินจึงแห้งแล้ง เวลานั้น สัตว์ต่าง ๆตายหมดเหลือแต่กบ มนุษย์จึงบอกให้กบขึ้นไปกินตะวันและเดือนเพื่อให้หายร้อนและเกิดกลางวันกลางคืน
เมื่อกบขึ้นไปกินตะวัน กินเดือนเกิดความอร่อย จึงกินจนเหลือตะวันและเดือนอย่างละดวง มนุษย์จึงตีเกราะ เคาะไม้เรียกกบลงมา เมื่อกบลงมาจึงถามมนุษย์ว่าเรียกลงมาทำไม มนุษย์ตอบว่า ไม่ให้กบขึ้นไปกินตะวันและเดือน แต่กบไม่เชื่อฟังแอบขึ้นไปกินเนือง ๆ
ปรากฏการณ์นี้จึงเรียกว่า กบกินเดือน
ในแถบภาคใต้และภาคกลางเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ราหูอมจันทร์" โดยมีตำนานความเชื่อฝ่ายพราหมณ์
ในตำนานฝ่ายพราหมณ์ กล่าวถึงการกวนเกษียรสมุทรระหว่างอสูรและเทวดา ทำให้ได้น้ำอมฤต เทวดาไม่ยอมให้เหล่าอสูรดื่มน้ำอมฤต ราหูปลอมเป็นเทวดา เข้ามาดื่ม พระอาทิตย์และพระจันทร์ เข้ามาเห็นจึงไปฟ้องพระนารายณ์
พระนารายณ์จึงเอาจักรขว้างไปตัดราหูขาดเป็นสองท่อน แต่ราหูไม่ตายเพราะได้ดื่มน้ำอมฤตเข้าไป
ตั้งแต่นั้นมา ราหูประกาศเป็นศัตรูกับพระอาทิตย์และพระจันทร์ คอยจับกินหรือจับอมไว้เป็นการแก้แค้น ชาวบ้านทั้งหลายจึงตีเกราะ เคาะไม้ให้ราหูตกใจจะได้คายพระอาทิตย์และพระจันทร์ออกมา
ในพระไตรปิฎก กล่าวถึงการที่อสุรินทราหูอมพระจันทร์ ปรากฏในเรือง จันทิมสูตร
เรื่อง จันทิมสูตรที่ 9
พระผู้มีพระภาคประทับ ... เขตพระนครสาวัตถี ก็โดยสมัย นั้น จันทิมเทวบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้ว
ครั้งนั้นจันทิมเทวบุตรระลึกถึงพระ ผู้มีพระภาค ได้ภาษิตคาถานี้ในเวลานั้นว่า ข้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแด่ พระองค์ พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ข้าพระองค์ถึงเฉพาะแล้ว ซึ่งฐานะอันคับขัน ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่ง แห่งข้าพระองค์นั้น ฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงปรารภจันทิมเทวบุตรได้ตรัส กะอสุรินทราหูด้วยพระคาถาว่า จันทิมเทวบุตร ถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นที่พึ่ง ดูกรราหู ท่านจงปล่อยจันทิมเทวบุตร พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้อนุเคราะห์แก่โลก ฯ
ลำดับนั้นอสุรินทราหู ปล่อยจันทิมเทวบุตรแล้ว มีรูปอันกระหืดกระหอบ เข้าไปหาอสุรินทเวปจิตติถึงที่อยู่ ครั้นแล้วก็เป็นผู้เศร้าสลด เกิด ขนพอง ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
อสุรินทเวปจิตติ ได้กล่าวกะอสุรินทราหู ผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ด้วยคาถาว่า ดูกรราหู ทำไมหนอ ท่านจึงกระหืดกระหอบปล่อยพระจันทร์ เสีย ทำไมหนอ ท่านจึงมีรูปสลด มายืนกลัวอยู่ ฯ
อสุรินทราหูกล่าวว่า ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า หากข้าพเจ้าไม่พึง ปล่อยจันทิมเทวบุตร ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยง มีชีวิตอยู่ ก็ไม่พึงได้รับความสุข ฯ
จนฺทิมา คือ เทพบุตรผู้สถิตอยู่ ณ จันทรวิมาน.
อสุรินทราหูสูง 4,800 โยชน์.
ที่ระหว่างแขนของเขา 1,200โยชน์.
ฝ่ามือและฝ่าเท้าหนา 300 โยชน์.
ข้อนิ้วมือ 50 โยชน์.
ที่ระหว่างคิ้วของเขา 50โยชน์.
หน้าผาก 300 โยชน์
ศีรษะ 900 โยชน์.
แม้ราหูจะมีกายที่ใหญ่โต มีอิทธิฤทธิ์มากมายเป็นที่เกรงขามของเหล่าเทวดา แต่ยอมนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า
ดังนั้น
บุคคลที่ควรเคารพ สักการะ บูชาคือพระพุทธเจ้า ผู้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง
คำสำคัญ.พระพุทธเจ้า, อสุรินทราหู,จันทิม
อ้างอิง..
LESA  Learning center for Earth Science and Astronomy
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พระไตรปิฎก เล่มที่ 15 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 7 สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เรื่องจันทิมสูตร
Cr.arayadusit
โฆษณา