7 พ.ย. 2022 เวลา 10:06 • ท่องเที่ยว
เกาะแกร์ นครหลวงที่ถูกลืม .. ปราสาทเนียงเขมา (Prasat Neang Khmau)
เนียงเขมา แปลว่า “นางดำ” เป็นชื่ออที่ชาวบ้านเรียกขานปราสาทแห่งนี้ .. การที่ตัวปราสาทเป็นสีดำต่างจากปราสาทอื่น ๆนั้น ยังหาคำอธิบายที่ชัดเจนไม่ได้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
.. บ้างก็สันนิษฐานว่าในสมัยก่อนตัวปราสาทมีลายปูนปั้นและปิดทองทาสีในส่วนต่าง ๆ ต่อมาสีได้หลุดหายไป อีกทั้งยังถูกเขม่าสีดำจากไฟไหม้ด้านนอกเข้ามาติดสะสม
หน้าบัน .. เป็นรูปพระพรหม ซึ่งอาจจะพบเจอให้ปราสาทอื่น และความเชื่อนิกายอื่นๆได้ด้วย อาจจะไม่ได้หมายความว่า ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระพรหม
ที่นี่คงเป็นปราสาทของชุมชนโบราณ .. พบฐานโยนีอยู่ภายในปราสาท มีเอกมุขลึงค์ แบบสลักฐานยอดกลม ซึ่งมองเห็นว่ามีรอยหัก จึงอาจจะถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาสนสถานในชุมชน ตามคติพราหมณ์ไศวนิกายของเกาะแกร์
เกาะแกร์ นครหลวงที่ถูกลืม .. ปราสาทลึงค์ (Prasat Linga)
มหาศิวะลึงค์แห่งเกาะแกร์ … นอกกำแพงออกมาจะพบกลุ่มปราสาทขนาดใหญ่หลายหลัง ตั้งเรียงรายเห็นได้ในระยะไกล และมี 4 หลังที่เป็นปราสาทลึงค์
พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ทรงนับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ที่มีการบูชาพระศิวะ ที่เกาะแกร์จึงมีการสร้างปราสาทหลายหลังเพื่อประดิษฐานศิวะลึงค์ เช่นที่ปราสาทลึงค์ มีศิวะลึงค์ขนาดยักษ์ ตั้งอยู่บนฐานโยนี ..
.. ศิวะลึงค์ มีขนาดรอบวงกว่า 3 เมตร ถือว่าเป็นศิวะลึงค์ขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในเขมร สอดคล้องกับจารึกบางหลักที่เรียกเกาะแกร์ว่า ลึงคปุระ หรือนครแห่งศิวะลึงค์
ที่ปราสาทลึงค์ .. เมื่อพราหมณ์ทำพิธีอภิเษกองค์ศิวลึงค์ ก็จะรดน้ำไปยังศิวลึงค์ น้ำจะไหลไปตามร่องตรงฐานโยนี ร่องและท่อที่ให้น้ำที่ผ่านพิธีนี้ไปภายนอกเรียกว่า "ท่อโสมสูตร" ในสมัยโบราณ น้ำดังกล่าวจะถือว่าเป็นสิริมงคลเป็นที่ให้ผู้คนได้รองน้ำไปอาบกิน หรือชำระล้าง ตามความเชื่อทางศาสนา
ภาพประกอบจาก Internet
ลัทธิไศวะนิกาย และศิวะลึงค์
Ref: EJeab Academy
ลัทธิไศวะนิกายในคติความเชื่อแบบฮินดู ที่กำเนิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 4 (ตามวรรณกรรมพระเวท) มีรูปประติมากรรม “ศิวลึงค์” อันหมายถึงเครื่องเพศชายแห่งพระศิวะเป็นรูปเคารพที่สำคัญ ถือเป็นต้นกำเนิดและการดำรงอยู่ของสรรพชีวิตในโลก อำนวยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นแผ่นดินและพืชพันธุ์ธัญญาหาร
“นิกายปศุปตะ” (Pāśupata) ให้ความสำคัญกับการบูชารูปอวัยวะเพศชายเป็นอย่างมาก จึงได้รจนาไว้ว่า
....ศิวลึงค์นั้นคือตัวแทนของพระศิวะตามประสงค์ขององค์มหาเทพ ที่ประทานรูปศิวลึงค์อันเป็นอวัยวะเพศชายของพระองค์ให้กับเหล่าสาวกผู้ศรัทธาได้สักการบูชาแทนพระองค์ โดยมหาเทพจะถอดดวงพระทัยและดวงพระวิญญาณขององค์พระมาสถิตไว้ เพื่อคุ้มครองและอำนวยพรให้กับผู้ที่สักการบูชาพระองค์ทุกคน.....
ภาพประกอบจาก Internet
เมื่อนิกายปศุปตะจากอินเดีย/คุปตะส่งอิทธิพลเข้ามาสู่วัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 รูปประติมากรรมจึงมักจะเป็นรูปศิลปะของ “ศิวลึงค์เดี่ยว” หรือ “มุขลึงค์”
โดยยกเฉพาะส่วนโค้งกลมของปลายอวัยวะเพศชายไว้บนฐานโยนี (อวัยวะเพศหญิง) รูปแบบที่พบรองลงมาคือศิวลึงค์แบบเดี่ยวแต่มีหน้าพระพักตร์ของพระศิวะประกอบอยู่ด้วย ที่พบมากเป็นแบบ “พระพักตร์เดียว” เรียกว่า “เอกมุขลึงค์” ถ้ามี 4 พระพักตร์เรียกว่า “จตรมุขลึงค์” /รูปแบบ 4 พระพักตร์นี้ ยังไม่เคยพบในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่อย่างใด
ภาพประกอบจสด Internet
ผู้ศรัทธาพระศิวะในนิกายปศุปตะ ได้สร้างเรื่องราวเทพปกรณัมที่เล่าถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งพระศิวะ ที่มีเหนือกว่าพระพรหมและพระวิษณุมหาเทพในปกรณัมเรื่อง “ลิงโคทภวมูรติ” (Lingodbhava murti) อันเป็นวรรณกรรม/ปกรณัมต้นกำเนิดของรูปศิลปะ “เอกมุขศิวลึงค์” ที่มีพระพักตร์ของพระศิวะ ไปจนถึงรูปของพระศิวะเต็มพระองค์ภายในศิวลึงค์ใหญ่
.
“...เมื่อพระวิษณุบรรทมบนพญาอนันตนาคราชกลางเกษียรสมุทรในระหว่างกัลป์ เกิดเป็น “ปัทมะนาภา” มีดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภีของพระองค์ เมื่อดอกบัวบานออกปรากฏพระพรหมประทับอยู่
ภาพประกอบจาก Internet
พระพรหมจึงก็เริ่มสร้างสรรพสิ่งรวมทั้งโลกในกัลป์ใหม่ จนเมื่อสร้างแล้วเสร็จ พระวิษณุก็ตื่นบรรทมขึ้นมาพอดี เกิดวิวาทะกันว่า ผู้ใดเป็นใหญ่เหนือกว่ากัน พระพรหมอ้างว่าตนยิ่งใหญ่กว่า เหตุเพราะว่าเป็นผู้สร้างทุกสรรพสิ่งในท่ามกลางความว่างเปล่าของจักรวาล แต่พระวิษณุอ้างว่า ถึงพระพรหมจะเป็นผู้สร้าง แต่พระพรหมก็กำเนิดขึ้นจาก “สะดือ” ของพระองค์ จึงถือเป็นเพียงทารก ตนจึงยิ่งใหญ่เหนือกว่ามากนัก
ในขณะที่เกิดการวิวาทะจนถึงขั้นต่อสู้กันนั้น ได้ปรากฏ “เสาไฟ” ขนาดใหญ่โผล่ขึ้นมาจากพสุธา ยืดสูงเสียดฟ้าขึ้นไปไม่สิ้นสุด พระวิษณุกับพระพรหมจึงหยุดต่อสู้กัน แล้วหันสนใจกับเสาไฟที่ผุดขึ้นมา ทั้งสองมหาเทพจึงตกลงแข่งขันกันว่า ถ้าใครพบโคนหรือยอดของเสาไฟนี้ก่อน ให้ถือว่ามหาเทพองค์นั้นจะยิ่งใหญ่เหนือกว่า
พระพรหมจึงแปลงเป็น “หงส์” บินขึ้นไปหาส่วนยอด ส่วนพระวิษณุนั่นแปลงเป็น “หมูป่าเผือก” (เศวตวราหะ) ขุดทะลวงดินลงไปหาโคนเสา
ภาพประกอบจาก Internet
เป็นเวลานานนับพันปี พระวิษณุยังไม่สามารถขุดลงไปถึงโคนเสาได้ ส่วนพระพรหมก็เช่นกัน จนมาถึงจุดหนึ่งชองเสาไฟ ปรากฏ “ดอกเกตะกี (Ketaki หรือ Kewda)” ขึ้นอยู่บนเสา พระพรหมผู้เหนื่อยอ่อน จึงเก็บดอกไม้แล้วกลับลงมา เรียกพระวิษณุขึ้นมาจากดิน แล้วอ้างว่าได้ถึงยอดเสาเพลิงแล้ว ที่ยอดเสานั้น มีต้นเกตะกีขึ้นอยู่ จึงเก็บเพียงดอกลงมาเป็นหลักฐาน
เมื่อพระวิษณุเห็น จึงยอมรับความพ่ายแพ้ และเตรียมที่จะก้มลงกราบบูชาพระพรหมในฐานะผู้ยิ่งใหญ่เหนือตน แต่ทันใดนั้น “พระสทาศิวะมหาเทพ” ได้แหวกผนังออกมาจากเสาไฟ ทรงโกรธกริ้วอย่างมากในความไม่ซื่อสัตย์ของพระพรหม เกิดเป็น “พระมหากาลไภรวะ” ขึ้นที่พระนลาฏ พุ่งเข้าไปตัดพระเศียรที่ 5 ของพระพรหมจนขาดกระเด็น
พระสทาศิวะได้สาปพระพรหม “เพราะความไม่ซื่อสัตย์อันชั่วร้าย เจ้าจงไร้ซึ่งเทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์เป็นของตนเอง ไม่มีเทวาลัยและนิกายให้ผู้คนสักการะ ไม่มีพิธีกรรมบวงสรวงบูชาเจ้า”
ภาพประกอบจาก Internet
แต่พระวิษณุ ที่ยอมรับในอำนาจแห่งพระศิวะ ทรงก้มลงกราบสาธุการแด่มหาเทพ พระสทาศิวะจึงพอพระทัยและยกให้พระวิษณุนั้นเสมอซึ่งพระองค์ ซึ่งพระวิษณุได้กล่าวขอไว้ว่า
“...ถึงแม้พระพรหมจะผิดพลาด แต่ก็ได้สำนึกในความผิดนั้นแล้วด้วยพระเศียรที่ 5 ขอพระผู้เป็นใหญ่ได้โปรดให้พระพรหมได้มีอาคารศาลาอยู่ด้านหน้าเทวสถาน ขอให้การประกอบพิธีกรรมใด ๆ ที่จะบูชาเกล่าเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ จงได้บอกกล่าวการกระทำพิธีแก่องค์พระพรหมก่อน เพื่อเป็นการย้ำเตือนสติมิให้คิดหรือประพฤติความชั่วร้ายอันไม่บริสุทธิ์ ก่อนเข้ามาสักการบูชาถึงเราทั้งสองในเทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเถิด...”
พระสทาศิวะ ประทานพรตามที่พระวิษณุร้องขอ และได้เนรเทศดอกเกตะกีลงจากสวรรค์ เพราะเป็นดอกไม้แห่งการหลอกลวง และห้ามมิให้นำดอกไม้นี้มาใช้ในการบูชาพระองค์หรือเทพองค์ใดอีกต่อไป
เสาไฟที่อันมหึมาในวรรณกรรมก็คือ “ศิวลึงค์” อันใหญ่โตมโหฬารของพระศิวะ ที่ผู้แต่งปุราณะมีเจตนาจะแสดงให้เห็นว่า ลัทธิไศวะนิกาย/ปศุปตะของตนนั้นยิ่งใหญ่กว่าลัทธิของฝ่ายพระพรหมและพระวิษณุ
ซึ่งวันที่พระศิวะได้แสดงความยิ่งใหญ่เหนือเทพตรีมูรติองค์อื่น ๆ นั้น ถือเป็นวัน “ศิวะราตรี” อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูอีกด้วย
------------
“ศิวลึงค์” เป็นวัตถุเคารพที่ยิ่งใหญ่สุดของมนุษย์ได้อย่างไร เผยรากตำนานตั้งแต่โบราณ
อ่านรายละเอียดต่อได้ตาม Link ด้านล่าง
“ศิวลึงค์…สัญลักษณ์แห่งองค์พระศิวะ นัยแห่งการกำเนิด”
ท่อโสมสูตร
ท่อโสมสูตร (Somasutra) เป็นท่อที่ใช้รองรับน้ำอภิเษกจากการบูชาเทวรูปและพระพุทธรูป ในวัฒนธรรมอินเดียที่ส่งผ่านมายังวัฒนธรรมเขมรโบราณ โดยทั่วไปท่อโสมสูตรจะยื่นออกมาจากตัวอาคารเพื่อให้น้ำไหลมาภายนอกอาคาร สำหรับให้ผู้คนนำไปบูชา
ท่อโสมสูตรบางแห่งมีการสลักตรงปลายท่อเป็นรูปสัตว์มงคลตามคติของศาสนาฮินดูเช่น มกร (/มะ-กอน/ หรือ /มะ-กะ-ระ/)
--ท่อโสมสูตรมักถูกวางทางทิศเหนือ ตามความเชื่อที่ว่าทิศเหนือเป็น “คงคาทิศ” ตามตำแหน่งที่ตั้งของแม่น้ำคงคาที่เมืองพาราณสี ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของอินเดีย
โฆษณา