8 พ.ย. 2022 เวลา 00:57
ข้อดีของการละสังโยชน์
ละสังโยชน์ได้ จะได้อมตะ
-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๔๕๑/๗๓๒.
ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงซึ่ง อมตะ (ความไม่ตาย) แก่พวกเธอทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลาย จงฟังความข้อนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย อมตะ เป็นอย่างไรเล่า.
ภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไป แห่งโทสะ ความสิ้นไป แห่งโมหะ อันใด.
ภิกษุทั้งหลาย อันนี้แล เราเรียกว่า อมตะ.
…………………………………
ละสังโยชน์ได้ จะพ้นจากอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
-บาลี นวก. อํ. ๒๓/๓๙๑/๒๑๖.
สารีบุตร อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำพอประมาณในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป บุคคลนั้นเป็นสัตตักขัตตุปรมะ จะท่องเที่ยวอยู่ในเทวดา และมนุษย์ ๗ ครั้งเป็นอย่างยิ่ง แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ สารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๙ ที่มีเชื้อเหลือ เมื่อทำกาละ ย่อมพ้นจากนรก พ้นจากกำเนิดเดรัจฉาน พ้นจากเปรตวิสัย พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต.
……………………………………
ก้าวข้ามปุถุชนภูมิเมื่อละสังโยชน์ข้อแรกได้
-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๗๘/๔๖๙.
ภิกษุทั้งหลาย ตา เป็นสิ่งไม่เที่ยง มีความแปรปรวน เป็นปกติ มีความเปลี่ยน เป็นอย่างอื่นเป็นปกติ หู... จมูก.. ลิ้น.. กาย.. ใจ เป็นสิ่งไม่เที่ยง มีความแปรปรวน เป็นปกติ มีความเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเป็นปกติ.
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใด มีความเชื่อ น้อมจิตไปใน ธรรม ๖ อย่างนี้ ด้วยอาการ อย่างนี้ บุคคลนี้เราเรียกว่าเป็น สัทธานุสารี ก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม (หนทางแห่งความถูกต้อง) ก้าวลงสู่สัปปุริสภมิ (ภูมิแห่งสัปบุรษ ) ล่วงพ้นปุถชนภูมิ ไม่ใช่ฐานะ ที่จะกระทำกรรม อันบุคคลทำแล้ว จะเกิดในนรก กำเนิด เดรัจฉาน หรือเปรตวิสัย (อภพฺโพ ตํ กมฺมํ กาตุํ ยํ กมฺมํ กตฺวา นิรยํ วา ติรจฺฉานโยนึ วา ปิตฺติวิสยํ วา อุปปชฺเชยฺย) และไม่ใช่ฐานะที่จะ ทำกาละ ตราบเท่า ที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ซึ่งโสดาปัตติผล.
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ ทนต่อการ เพ่งโดยประมาณอันยิ่ง แห่งปัญญา ของบุคคลใด ด้วยอาการ อย่างนี้ บุคคลนี้เราเรียกว่า ธัมมานุสารี ก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม ก้าวลงสู่สัปปุริสภูมิ ล่วงพ้นปุถุชนภูมิ ไม่ใช่ฐานะ ที่จะกระทำกรรม อันบุคคลทำแล้วจะเกิดในนรก กำเนิดเดรัจฉาน หรือเปรตวิสัย
และไม่ใช่ฐานะที่จะทำกาละ ตราบเท่าที่ยังไม่ทำให้แจ้งซึ่ง โสดาปัตติผล.
(พระสูตรที่ยกมานี้ ได้ตรัสถึงความไม่เที่ยงของธรรม ๖ อย่างคือ อายตนะ ภายในหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ส่วนในสูตรถัดไป ทรงแสดงอารมณ์นั้น ด้วยอายตนะ ภายนอกหก คือ รูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ธรรม ก็มี, แสดงด้วย วิญญาณหก ก็มี, ด้วยสัมผัสหก ก็มี,ด้วยเวทนาหก ก็มี, ด้วยสัญญาหก ก็มี, ด้วยสัญเจตนาหก ก็มี,ด้วยตัณหาหก ก็มี, ด้วยธาตุหก ก็มี, และด้วยขันธ์ห้า ก็มี ซึ่งได้แสดงไว้ด้วย หลักการปฏิบัติอย่างเดียวกัน. -คณะผู้รวบรวม)
…………………………………
วิธีในการละสังโยชน์
เหตุเกิดแห่งสักกายทิฏฐิ
-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๒๕-๒๒๖/๓๕๖-๓๕๗.
ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมีอยู่ เพราะอาศัยอะไร
เพราะยึดมั่นอะไร จึงเกิดมีสักกายทิฏฐิ.
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูปมีอยู่ เพราะอาศัยรูป เพราะ ยึดมั่นรูป จึงเกิดมีสักกายทิฏฐิ เมื่อเวทนามีอยู่ … เมื่อสัญญามีอยู่ … เมื่อสังขาร มีอยู่ ... เมื่อวิญญาณมีอยู่ เพราะอาศัยวิญญาณ เพราะยึดมั่น วิญญาณ จึงเกิดมีสักกายทิฏฐิ.
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้น เป็นอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง.
ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.
เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น สักกายทิฏฐิจะพึงเกิดมีขึ้นบ้างหรือ.
ไม่ใช่เช่นนั้น พระเจ้าข้า.
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้น เป็นอย่างไร เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยง หรือไม่เที่ยง.
ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.
เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น สักกายทิฏฐิจะพึงเกิดมีขึ้นบ้างหรือ.
ไม่ใช่เช่นนั้น พระเจ้าข้า.
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลาย กำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว เธอย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
(ในสูตรอื่น ได้ตรัสถึงเหตุเกิดของอัตตานุทิฏฐิ ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน -บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๒๖/๓๕๘.).
……………………………………
ปฏิปทาอันให้ถึงความดับ ไม่เหลือแห่งสักกายะ
-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๕๑๖/๘๒๑.
ภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาอันให้ถึงความเกิดขึ้นพร้อม แห่งสักกายะ มีอยู่อย่างนี้ คือ บุคคล ย่อมสำคัญเห็นซึ่งตามว่า
นั่นของเรา (เอตํ มม)
นั่นเป็นเรา (เอโสหมสฺมิ)
นั่นเป็นตัวตนของเรา (เอโส เม อตฺตา).
ย่อมสำคัญเห็นซึ่งรูปทั้งหลาย … .
ย่อมสำคัญเห็นซึ่งจักษุวิญญาณ … .
ย่อมสำคัญเห็นซึ่งจักษุสัมผัส … .
ย่อมสำคัญเห็นซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขม-
สุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย …
ย่อมสำคัญเห็นซึ่งตัณหา (ตณฺหํ) ว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรานั่นเป็นตัวตนของเรา.
(ในกรณีแห่งหมวดโสตะก็ดี – ฆานะก็ดี – ชิวหาก็ดี – กายะก็ดี– มนะก็ดี ได้ตรัสไว้ มีนัยเดียวกัน กับในกรณีแห่งหมวดจักษุนั้น ทุกประการต่างกัน แต่เพียงชื่อ ซึ่งต้องเปลี่ยน ไป ตามหมวดนั้นๆ เท่านั้น)
ภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาอันให้ถึงความดับไม่เหลือ แห่งสักกายะ มีอยู่อย่างนี้ คือ บุคคล ย่อมตามเห็นด้วยดีซึ่งตาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา (เนตํ มม) นั่นไม่ใช่เป็นเรา (เนโสหมสฺมิ) นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (น เมโส อตฺตา)
ย่อมตามเห็นด้วยดีซึ่งรูปทั้งหลาย … .
ย่อมตามเห็นด้วยดีซึ่งจักษุวิญญาณ … .
ย่อมตามเห็นด้วยดีซึ่งจักษุสัมผัส … .
ย่อมตามเห็นด้วยดีซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ
อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย …
ย่อมตามเห็นด้วยดีซึ่งตัณหาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.
(ในกรณีแห่งหมวดโสตะ – ฆานะ ไปจนกระทั่งหมวดมนะ ก็ได้ตรัสไว้มีนัยอย่างเดียวกัน กับที่ตรัสไว้ในกรณีแห่งหมวดจักษุนั้น ทุกประการต่างกันแต่เพียงชื่อซึ่งต้องเปลี่ยนไป ตามหมวดนั้นๆ เท่านั้น)
…………………………………………
อานาปานสติสมาธิเป็นเหตุให้ละสัญโญชน์ได้
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๒๖/๑๔๐๖.
ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นไป เพื่อการละสัญโญชน์ทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันเจริญแล้ว ทำให้ มากแล้ว อย่างไรเล่า จึงเป็นไปเพื่อการละสัญโญชน์ทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปแล้วสู่ป่า หรือ โคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอนั้น มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว เมื่อ หายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น เมื่อ หายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น …
(แต่นี้ได้ตรัสไว้อย่างเดียวกัน ซึ่งเหมือนในหน้า ๑๗๑–๑๗๓จนถึงบรรทัดที่ว่า เราเป็นผู้เห็นซึ่ง ความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ ของหนังสือเล่มนี้ทุกประการ).
ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อการละสัญโญชน์ ทั้งหลาย.
……………………………………………
เจริญอานาปานสติ ชั่วกาลลัดนิ้วมือชื่อว่า ไม่เหินห่างจากฌาน
-บาลี เอก. อํ. ๒๐/๕๔/๒๒๔.
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเจริญอานาปานสติ แม้ชั่ว กาลเพียงลัดนิ้วมือ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า ก็จะป่วยกล่าวไปไย ถึงผู้กระทำให้มากซึ่งอานาปานสตินั้นเล่า.
………………………………………
อานิสงส์ของการเจริญกายคตาสติ
-บาลี เอก. อํ. ๒๐/๕๗/๒๓๓.
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งอันเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำ โสดาปัตติผลให้แจ้ง
ย่อมเป็นไปเพื่อทำ สกทาคามิผลให้แจ้ง
ย่อมเป็นไปเพื่อทำ อนาคามิผลให้แจ้ง
ย่อมเป็นไปเพื่อทำ อรหัตตผลให้แจ้ง
ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ.
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำ โสดาปัตติผลให้แจ้ง
ย่อมเป็นไปเพื่อทำ สกทาคามิผลให้แจ้ง
ย่อมเป็นไปเพื่อทำ อนาคามิผลให้แจ้ง
ย่อมเป็นไปเพื่อทำ อรหัตตผลให้แจ้ง.
อาณาปานสติเป็นเหตุให้ละสังโยชน์ได้
โฆษณา