8 พ.ย. 2022 เวลา 07:36 • การศึกษา
อยากทำงานกับ ปตท. ต้องเรียนวิศวะสาขาไหน?
แม่หนูฯ เชื่อว่าการได้ทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงน่าจะเป็นความฝันของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่แสวงหาความก้าวหน้าให้กับตนเอง และถ้าพูดถึงบริษัทด้านพลังงานที่คนรุ่นใหม่อยากเข้าทำงานด้วยมากที่สุด ชื่อของ ปตท. หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็น่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ เช่นเดียวกัน
เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีการประกาศผลการสำรวจ 50 บริษัทในฝัน 2565 ที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุด ที่ถูกสำรวจโดย WorkVenture ซึ่ง ปตท. ก็ติดอยู่ในอันดับที่ 2 ที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยเป็นรองเพียง google เท่านั้นค่ะ
ถ้าพูดถึง ปตท. หลายคนน่าจะทราบดีว่าเป็นบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานและปิโตรเคมีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และถ้าให้คิดต่อว่าตำแหน่งงานที่ ปตท. ต้องการคนเข้าไปร่วมงานด้วยก็คงหนีไม่พ้นตำแหน่ง "วิศวกร"
แม่หนูฯ เชื่อว่าหลายคนยังเข้าใจว่าคนที่จะเข้าทำงานใน ปตท. ได้ต้องเป็น "วิศวกรปิโตรเลียม" หรือ "วิศวกรเคมี" แต่ความจริงแล้วยังมีวิศวะอีกหลายสาขาที่เป็นที่ต้องการของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม เราไปดูกันดีกว่าค่ะว่ามีอะไรบ้าง
ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่า ปตท. นั้นแบ่งการประกอบธุรกิจออกเป็น 2 ประเภท คือ ธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง ได้แก่ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรม และธุรกิจที่ ปตท. ลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจสำรวจและผลิต ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปการ โดยบริษัทลูกต่าง ๆ ของ ปตท. ประกอบไปด้วย
- บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.
- บริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์
- บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ไออาร์พีซี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
- บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด
- บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
และอื่นๆ
แต่ละธุรกิจ แต่ละบริษัทนั้นต้องการวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน แต่ในขณะเดียวกันวิศวกรบางสาขาก็สามารถทำงานได้ในหลายธุรกิจของ ปตท. ค่ะ
วิศวกรรมปิโตรเลียม
ในธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ตำแหน่งวิศวกรปิโตรเลียมมีบทบาทสำคัญอย่างมาก โดยจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตน้ำมันและก๊าซ ตั้งแต่การสำรวจและการพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซแหล่งใหม่, การประเมินและทดสอบหลุม, การจัดการและการติดตามแผนงาน, โปรแกรม, อุปกรณ์และเครื่องจักรที่ใช้ในการเจาะน้ำมันและก๊าซ รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนากระบวนการแยกแบบใหม่และราคาถูกลงด้วย
วิศวกรรมเคมี
ในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น วิศวกรเคมีจะทำการวิจัย, ออกแบบ และพัฒนากระบวนการและเครื่องมือทางเคมี บางครั้งอาจจะเฉพาะเจาะจงไปในผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการอุตสาหกรรมนั้นๆ เช่น กระบวนการกลั่นน้ำมัน, ยาและเวชภัณฑ์, อุตสาหกรรมพลังงาน, พลาสติก หรือการแยกโลหะ นอกจากนี้อาจเจาะจงในบางกระบวนการ เช่น กระบวนการออกซิเดชัน, กระบวนการพอลิเมอไรเซชัน, การควบคุมมลพิษ หรือกระบวนการหมัก
วิศวกรรมเครื่องกล
ธุรกิจต่างๆ ของ ปตท. เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีกลไกที่ซับซ้อน เช่น หัวเจาะ หอกลั่น เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน หรืออื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของวิศวกรเครื่องกลที่จะต้องทำอย่างไรก็ตามให้ระบบ หรือสิ่งของต่างๆ ทำงานได้ โดยจะทำการวิจัย, ออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่เครื่องยนต์, กังหันลมและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ไปจนถึงระบบทำความเย็นและระบบปรับอากาศ ซึ่งอาจรวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย
นอกจากนี้ยังต้องคอยตรวจสอบเพื่อหาข้อบกพร่องของเครื่องจักรและดำเนินการซ่อมบำรุงด้วย ตำแหน่งวิศวกรเครื่องกลจึงนับเป็นตำแหน่งงานที่หลายบริษัทในกลุ่ม ปตท. ต้องการ
วิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
วิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นับได้ว่าเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีต่างๆ สำหรับโลกที่ทันสมัยใบนี้ และแน่นอนว่าเครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ ที่ใช้ในธุรกิจต่างๆ ของ ปตท. ส่วนใหญ่ต้องใช้ไฟฟ้า ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ประจำบริษัท
โดยวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะมีหน้าที่ในการออกแบบวงจร, ส่วนประกอบ, ระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และให้คำปรึกษาและตรวจสอบการติดตั้ง, การดัดแปลง, การทดสอบและการปฏิบัติงานของระบบและส่วนประกอบเหล่านี้ รวมถึงการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานและซ่อมบำรุงสำหรับระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ดังนั้น ตำแหน่งนี้จึงเป็นอีกตำแหน่งที่มีในทุกธุรกิจของ ปตท.
วิศวกรรมอุตสาหการ
วิศวกรอุตสาหการเป็นอีกตำแหน่งหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานในธุรกิจของ ปตท. โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยวิศวกรอุตสาหการจะมีหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างความมีประสิทธิภาพและการเพิ่มผลผลิต โดยการหาสมดุลระหว่างปัจจัยต่างๆ ได้แก่ เวลา, จำนวนผู้ปฏิบัติงาน, เทคโนโลยีที่ใช้, การได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์สุดท้ายโดยให้มีความผิดพลาดน้อยที่สุด, ความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน, ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และค่าใช้จ่าย และต้องคอยปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมถึงลดความสิ้นเปลืองในกระบวนการผลิตด้วย
นอกจากสาขาต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีวิศวกรรมสาขาอื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการอีก เช่น
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
เนื่องจากธุรกิจของ ปตท. เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ มีบริษัทลูกหลายบริษัท มีการเชื่อมโยงกันในระหว่างธุรกิจ รวมทั้งแต่ละธุรกิจหรือแต่ละบริษัทมีการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาล ดังนั้น วิศวกรคอมพิวเตอร์จึงเป็นอีกสาขาหนึ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจของ ปตท.
หน้าที่ของวิศวกรคอมพิวเตอร์คือทำวิจัย, ออกแบบ, พัฒนา, ประเมิน และบูรณาการคอมพิวเตอร์และฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์สื่อสาร, ข้อมูลและระบบเครือข่ายการสื่อสาร รวมไปถึงเครือข่ายสื่อสารไร้สาย, เครือข่ายไฟเบอร์ออฟติค, อินทราเน็ต, ระบบอินเตอร์เน็ตและอื่นๆ เพื่อการดำเนินงานที่ไม่ติดขัดขององค์กร
วิศวกรรมโลหะและวัสดุ
วิศวกรโลหะและวัสดุจะศึกษาเกี่ยวกับวัสดุที่นำมาผลิตสิ่งต่างๆ โดยศึกษาว่ามันผลิตมาได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้ผลิตได้ดีกว่าเดิม วิศวกรโลหะและวัสดุจะทำงานที่เกี่ยวกับโลหะ, เซรามิกส์, พลาสติก, คอมพอสิต และอื่นๆ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจปิโตรเคมีเป็นหลัก
วิศวกรรมธรณี
หน้าที่ของวิศวกรธรณีในกระบวนการขุดเจาะปิโตรเลียมมักจะเป็นการให้ความสนับสนุนและกำกับการทำงานของวิศวกรรมสาขาอื่นๆ รวมทั้งสาขาที่เกี่ยวกับธรณีวิทยา ยกตัวอย่างเช่น วิศวกรธรณีจะทำการศึกษาธรณีวิทยาและธรณีเทคนิคเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับการเจาะน้ำมันและก๊าซ โดยคำแนะนำของวิศวกรธรณีมักจะมีผลกระทบต่อการก่อสร้างและการปฏิบัติงานของโครงการ
และในปัจจุบันที่ ปตท. ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวกับ Life Science มากขึ้น วิศวะอีกสาขาหนึ่งที่จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นคือ วิศวกรชีวการแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่ออกแบบและพัฒนาเครื่องมือวินิจฉัยโรคและอุปกรณ์ทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ, ให้คำปรึกษาในการวางแผน, พัฒนาทักษะ และการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ และการดัดแปลงหรือดูแลการติดตั้งอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ด้วย
อันที่จริง ในการดำเนินธุรกิจของ ปตท. นั้น ไม่ได้จำกัดเอาไว้กับวิศวะสาขาต่างๆ ด้านบนที่แม่หนูฯ หยิบยกมาเท่านั้นนะคะ เพราะในหนึ่งธุรกิจมีส่วนย่อยต่างๆ มากมายมารวมกัน และต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถที่แตกต่างกันมาทำงานร่วมกัน ใครที่ไม่ได้เรียนในสาขาต่างๆ เหล่านี้ ก็ยังมีโอกาสเข้าทำงานกับ ปตท. ได้ค่ะ เพราะสาขาที่จบเป็นเพียงสิ่งที่บอกว่าเรามีความรู้เรื่องอะไร แต่ในการทำงานต้องอาศัยการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลา การทำงานไม่ตรงสายที่จบมาเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมการทำงานในปัจจุบันค่ะ
*ยังมีวิศวะอีกหลายสาขาที่สามารถถูกจ้างงานโดย ปตท. แม่หนูฯ ขออภัยที่ยกมาได้ไม่หมดค่ะ ถ้าเพื่อนๆ หรือน้องๆ คนไหนอยากมาแชร์ประสบการณ์ทำงานวิศวกร แม่หนูฯ ยินดีค่ะ ไม่ต้องเป็นงานในกลุ่ม ปตท. ก็ได้ค่ะ
โฆษณา