10 พ.ย. 2022 เวลา 09:55 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ราคาดีด 40% ก็ไม่หวั่น คนไทยกินแซลมอนนอร์เวย์มากสุดในอาเซียน
4
‘น้องปลาส้ม’ หรือ ‘แซลมอน’ ถือเป็นหนึ่งในอาหารที่ได้รับความนิยมที่สุดในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมนูแซลมอนซาชิมิ แซลมอนยำ หรือแซลมอนดองที่มีจำหน่ายทั่วทุกหัวระแหง ไม่ว่าจะเป็นในร้านอาหารขนาดใหญ่ไปจนถึงร้านรวงในตลาดใกล้บ้าน
3
จึงไม่แปลกที่ตอนนี้ ‘ไทย’ จะกลายเป็นตลาดส่งออกแซลมอนอันดับ 1 ของอาเซียนสำหรับนอร์เวย์
2
สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) รายงานตัวเลขมูลค่าการส่งออก ตลอด 10 เดือนแรกของปี 2022 ประเทศไทยนำเข้าอาหารทะเลจากนอร์เวย์เพิ่มขึ้นกว่า 15% รวมมูลค่ากว่า 8.8 พันล้าน เติบโตกว่า 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
4
โดยแบ่งเป็น 3 สินค้าหลัก
- แซลมอน 1.61 หมื่นตัน เติบโต 6% มูลค่า 5.6 พันล้านบาท เติบโต 55%
- ฟยอร์ดเทราต์ 6.6 พันตัน เติบโต 51% มูลค่า 2.2 พันล้านบาท เติบโต 114%
- นอร์วีเจียนซาบะ 9.4 พันตัน เติบโต 23% มูลค่า 570 ล้านบาท เติบโต 54%
ทำให้ตลาดฟยอร์ดเทราต์ (ปลาที่มีสีส้มคล้ายแซลมอน) เติบโตสูงที่สุดในช่วงที่ผ่านมา
1
แต่ถ้าลองมาสังเกตดูดีๆ จะมีสิ่งหนึ่งในตัวเลขด้านบนที่น่าสนใจ คือ การเติบโตของ ‘มูลค่า’ การนำเข้า สูงกว่าการเติบโตของ ‘ปริมาณ’ การนำเข้าอย่างเห็นได้ชัด อย่างแม้ไทยจะนำเข้าอาหารทะเลจากนอร์เวย์เพิ่มขึ้นแค่ 15% แต่มูลค่ากลับเติบโตกว่า 64%
1
เหตุผล คือ ‘ราคา’ ของแซลมอนและอาหารทะเลประเภทอื่นๆ ที่ดีดสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
โดยประมาณการณ์ว่า ราคาแซลมอนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 30-40% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
1
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ราคาแซลมอนดีดตัวขึ้นมาก มาจาก
1. ความต้องการบริโภคแซลมอนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลังโควิด-19
2. ปริมาณการผลิตแซลมอนที่เพิ่มสูงไม่ทันความต้องการ
3. อัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลกับการซื้อขายแซลมอนบ้างช่วงเวลา
4. การเข้ามาของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทำให้ปริมาณการสั่งแซลมอนเพิ่มขึ้น
5. การขยายตัวของร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยจากเดิมที่มีจำนวนมากอยู่แล้ว
3
โดยแม้ว่าราคาจะปรับขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา แต่แซลมอนและอาหารทะเลอื่นๆ ก็กระทบต่อความต้องการเพียงเล็กเท่านั้น เพราะคนส่วนใหญ่ยังคงใช้จ่ายกับ ‘อาหาร’ ไม่ต่างจากปกติ
‘อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท’ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) อธิบายว่า ความแข็งแกร่งของแซลมอนจากนอร์เวย์ คือ คุณภาพและความสม่ำเสมอ แซลมอนจากนอร์เวย์เป็นผู้นำตลาดมานานและมีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการควบคุมคุณภาพการผลิต ทำให้รสชาติคงที่ตลอดทั้งปี รวมถึงยังได้เดินหน้าสู่กระบวนการผลิตที่มีความยั่งยืนแล้วด้วย
1
ในปีหน้าคาดว่าปริมาณการนำเข้ารวมจะเติบโตอีก 20% อย่างแน่นอน
ถ้าหากพูดถึงตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว ตลาดในพื้นที่เอเชียตะวันออกอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งเนื่องจากความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ชะบอตัวลงเล็กน้อย
ส่วน ‘ตลาดอาเซียน’ ถือว่ามีการเติบโตดีอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะ ‘ตลาดเวียดนาม’ ที่เป็นตลาดดาวรุ่งที่น่าจับตาอันดับ 1 ในภูมิภาคตอนนี้ เพราะจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคนและการเติบโตของร้านอาหารญี่ปุ่นที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมือนกันกับตลาดไทยในอดีต
นอกจากนั้น ตลาดไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ก็ยังมีการเติบโตดี แม้ตลาดสิงคโปร์จะค่อนข้างทรงตัว
โดยในปีหน้า สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) จะเริ่มลุยทำการตลาดในเวียดนามตามรอยประเทศไทย ที่ในปีที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณกว่า 72 ล้าน เพื่อผลักดันยอดขายและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในหมู่ลูกค้าคนไทย
โดยการดึง ‘ญาญ่า-อุรัสยา’ เป็นพรีเซนเตอร์คนแรกของ Seafood from Norway ในประเทศไทย ภายใต้แคมเปญ ‘The Story from the North’
เมื่อถามถึงคู่แข่ง ‘อัสบีเยิร์น’ อธิบายว่า ในแต่ละเซ็กเมนต์ของตลาดแซลมอนในประเทศไทยมีคู่แข่งที่แตกต่างกัน ตลาดแซลมอนสดจะมีออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอื่นๆ ในขณะที่ตลาดแซลมอนแช่แข็งจะมีชิลีและอื่นๆ โดยเชื่อว่าความหลากหลายของคู่แข่งจะช่วยผลักดันตลาดให้ไปได้ไกลขึ้น
โดยในปีหน้านอกจาก แซลมอน ฟยอร์ดเทราต์ และนอร์วีเจียนซาบะ นอร์เวย์ยังเตรียมจะผลักดันสินค้าในกลุ่มมีเปลือกอย่างนอวีเจียน ลอบสเตอร์ ปูจักรพรรดิ และกุ้งกรีนแลนด์ เพราะอาหารทะเลกลุ่มมีเปลือกที่เติบโตในทะเลนอร์เวย์ได้เปรียบในเรื่องของรสชาติหวานจากการเติบโตในทะเลที่มีอุณหภูมิต่ำ
1
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
โฆษณา