10 พ.ย. 2022 เวลา 11:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจ (และหุ้น) ไทยดีกว่าโลกแล้วจริงหรือ ?
KKP Research เคยประเมินภาพว่านักลงทุนต่างชาติมีการลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและการลงทุนทางตรง (Direct investment) ที่ลดต่ำลงเรื่อย ๆ โดยมีการขายหุ้นสุทธิไปเป็นจำนวนมากกว่า 9 แสนล้านบาทนับตั้งแต่ปี 2015 ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2022 เราเริ่มเห็นพัฒนาการสำคัญสองเรื่อง คือ
1) การกลับเข้ามาซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย โดยตั้งแต่ต้นปีมีการซื้อหุ้นสุทธิมูลค่าประมาณกว่า 1.5 แสนล้านบาท และ
2) การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากหลายบริษัท เช่น BYD เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และ Amazon Web Service (AWS) สำหรับการทำ Data Center
แม้แนวโน้มเหล่านี้เป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย แต่คำถามที่น่าสนใจ คือ การกลับเข้ามาลงทุนในรอบนี้เกิดจากอะไร และเป็นการกลับเข้ามาอย่างยั่งยืนหรือไม่ ? หรือท้ายที่สุดเราจะกลับไปเห็นแนวโน้มการขายหุ้นหรือการลดลงของการลงทุนจากต่างประเทศอีกครั้งแบบที่เห็นมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ไทยได้ประโยชน์เพราะโลกแย่ลง?
เมื่อมองภาพย้อนหลังกลับไปไกลกว่าในเฉพาะปีนี้ แม้จะมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มระยะยาวไทยยังคงได้รับการลงทุนที่มีสัดส่วนลดลงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน
การฟื้นตัวขึ้นของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศมีส่วนสำคัญมาจากการชะลอตัวของการลงทุนในช่วงการระบาดของโควิด -19 ทำให้ในปี 2022 มีการเติบโตของการลงทุนขึ้นมาก
ประกอบกับกระแสการย้ายฐานการผลิตจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกซึ่งส่วนหนึ่งมีการย้ายมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแนวโน้มการเปิดเมืองที่น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ
แต่ปัญหาที่น่ากังวลไม่ใช่ว่าจะไม่มีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเลย แต่เป็นการที่เราได้ประโยชน์จากแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
ในอีกทางหนึ่งการกลับเข้ามาซื้อหุ้นสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในไทยเกิดขึ้นจากผลตอบแทนของตลาดหุ้นจีนและหุ้นโลกที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างรวดเร็วและความกังวลเรื่องการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่หุ้นในประเทศหลักของเอเชียอย่างจีนกำลังอยู่ในทิศทางขาลง ส่งผลให้นักลงทุนย้ายเงินมาลงทุนใน ภูมิภาค ASEAN รวมถึงประเทศไทยที่ไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากนักก่อนหน้านี้ ซึ่งในระยะสั้นคาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามเมื่อมองภาพระยะยาวจะพบว่าตลาดหุ้นต่างประเทศให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นไทยมาโดยตลอดในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เงินไหลเข้าจากตลาดหุ้นจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะกลับทิศทางเป็นไหลออกได้ไม่ยาก หากตลาดต่างประเทศเริ่มเห็นแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังแข็งแรงกว่าไทยในระยะยาว
สัญญาณจากตลาดการเงินประกอบกับข้อมูลการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในหลายมิติ ทำให้ KKP Research ยังคงประเมินว่าการกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอาจจะยังไม่ได้สะท้อนถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างในประเทศที่พัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และมีความเสี่ยงเงินทุนมีโอกาสไหลออกจากไทยได้อีกในช่วงหลังจากนี้ไป เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและตลาดหุ้นต่างประเทศมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ไทยยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวแบบเดิม
การขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยอย่างไร ?
เมื่อพิจารณาข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของการถือสินทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติระหว่างช่วงปี 2015 – 2019 จะเห็นภาพว่านักลงทุนต่างชาติไม่ได้ขายหุ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ แต่มีการขายต่อเนื่องในบางกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ธนาคาร สินค้าอุปโภคบริโภค ในขณะที่ในบางกลุ่มธุรกิจนักลงทุนต่างชาติยังมีการเข้าซื้อสุทธิ ได้แก่ Finance โรงพยาบาล ภาคบริการ อาหาร สอดคล้องกับข้อมูลการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศซึ่งสะท้อนว่าการลดลงส่วนใหญ่มาจากการชะลอตัวของการลงทุนในภาคการผลิตสะท้อนกำลังแรงงานในประเทศที่ลดลง
เป็นที่ทราบกันดีว่าข้อมูลในตลาดการเงินมักเป็นข้อมูลที่สะท้อนการมองไปข้างหน้า (Forword-looking) คือ การซื้อขายหุ้นในปัจจุบันมีองค์ประกอบสำคัญคือการคาดการณ์กำไรในอนาคต
KKP Research ประเมินว่าสำหรับกรณีของไทยเมื่อพิจารณาการซื้อและขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในรายกลุ่มธุรกิจสามารถสะท้อนภาพได้อย่างชัดเจนว่าการตัดสินใจขายหุ้นเกิดจากปัญหาเขิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ทั้งธุรกิจในกลุ่ม การบริโภค สันทนาการ ธนาคาร ร้านอาหารนอกบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปเป็นคนสูงอายุมากขึ้น
กลุ่มธุรกิจในภาคการผลิต เป็นกลุ่มได้รับผลกระทบจากแรงงานที่มีจำนวนลดลงและค่าแรงทีสูงขึ้นในขณะที่ผลิตภาพการผลิตเพิ่มตามไม่ทัน รวมทั้งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่ธุรกิจกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและบริการสามารถขยายตัวได้มากตามสังคมสูงอายุ และธุรกิจในกลุ่มทองเที่ยวที่ยังพอเติบโตได้ตามอุปสงค์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ไม่ใช่แค่ขายหุ้น แต่มีสัญญาณบริษัทต่างชาติเลิกกิจการ
นอกเหนือจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นธุรกิจต่างประเทศเริ่มถอนการลงทุนออกจากไทย เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจรายย่อยของภาคธนาคาร หรือแม้แต่ข่าวที่โรงงานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เริ่มย้ายออกจากประเทศไทย เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าทำไมบริษัทเหล่านี้จึงตัดสินใจย้ายกิจการออกจากประเทศไทย และเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อดูข้อมูลตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปี 2022 พบว่าเราเริ่มเห็นสัญญาณบริษัทต่างชาติขายกิจการจากไทยมากขึ้นในมูลค่ารวมประมาณ 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจที่เห็นได้ชัดว่ามีการย้ายออกจากไทย
คือ ธุรกิจในกลุ่มค้าปลีก เช่น Tesco และ Carrefour ธุรกิจในกลุ่มพลังงาน และธุรกิจในกลุ่มธนาคาร เช่น Citibank, HSBC, Standard Chartered ที่ย้ายธุรกิจรายย่อยออก แต่ยังเก็บธุรกิจลูกค้าบรรษัทและธุรกิจบริหารความมั่งคั่งไว้
แม้เป็นไปได้ว่าการย้ายออกจากไทยอาจเกิดจากหลายเหตุผลที่ต่างกัน แต่ส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากเศรษฐกิจไทยยังเติบโตแข็งแกร่งและขยายตัวได้ดี ธุรกิจต่างชาติน่าจะยังให้ความสนใจดำเนินกิจการต่อไปในไทย
การเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับภาพการลงทุนของบริษัทในประเทศที่มีทิศทางชะลอตัวลงชัดเจนตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศในระดับรายได้ใกล้เคียงกันอย่างมาก ในฝั่งของคนไทยพบข้อมูลค่อนช้างชัดว่าบริษัทไทยมีการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนใน ASEAN และ EU ในขณะที่นักลงทุนในตลาดทุนมีการซื้อกองทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นและให้ความสนใจหุ้นไทยลดลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยเมื่อพิจารณาการลงทุนในประเทศเป็นรายอุตสาหกรรมจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกับการลงทุนจากต่างชาติ
ข้อมูลด้านการลงทุนในหลายมิติกำลังสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่ทำให้ตลาดในประเทศมีการเติบโตอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสังเกตได้จากการเติบโตของการบริโภค การลงทุน และเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง
รวมถึงระดับค่าจ้าง รายได้ต่อหัว และขนาดของตลาดที่แทบไม่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ทั้งบริษัทไทยและต่างชาติไม่สามารถขยายกิจการเพิ่มเติมได้ ประเด็นสำคัญ คือ ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่สามารถแก้ได้ด้วยนโยบายระยะสั้น เช่นการแจกเงินเยียวยาให้ประชาชน และเมื่อมองไปข้างหน้า KKP Research ยังมีความกังวลว่าหลายกลุ่มธุรกิจยังมีความเสี่ยงมากขึ้นจากแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่หายไป
บทความชิ้นนี้ต้องการสะท้อนให้เห็นว่าภาพเศรษฐกิจไทยและธุรกิจไทยในช่วง 10 ปีหลังจากนี้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเศรษฐกิจอย่างชัดเจนจะกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่มีความท้าทาย และธุรกิจที่เคยเติบโตได้จะต้องเริ่มปิดตัวลง
โดยโอกาสในการเติบโตของธุรกิจจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่เติบโตสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและไทย
ธุรกิจไหนตาย ธุรกิจไหนรอด
KKP Research ตั้งข้อสังเกตทีสำคัญว่าการขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ มีต้นเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากทั้ง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยโดยสัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นมากในขณะที่ประชากรกลุ่มอื่น ๆ กำลังหดตัว และผลกระทบจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังจะกระทบภาคอุตสาหกรรมเดิมของไทย ซึ่งกำลังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในหลายมิติ
ตลาดเด็ก-ทำงาน หด คนแก่ ขยาย
มองไปข้างหน้าโครงสร้างประชากรไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลโดยประชากรในกลุ่มอายุมากกว่า 75 ปีจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึงกว่า 3.5 ล้านคนในปี 2030 ในขณะที่ประชากรกลุ่มอื่น ๆ กำลังจะหดตัวลงอย่างมาก เด็กและคนวัยทำงานจะหายไปกว่า 3.6 ล้านในปี 2030 การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลให้การบริโภคในภาพรวมหดตัวลง เพราะคนสูงอายุมีการบริโภคเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับคนวัยทำงาน และจะทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคการบริโภคชะลอตัวลง
ประเด็นที่สำคัญ คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแต่ละกลุ่มธุรกิจจะแตกต่างกัน โดยจากโครงสร้างประชากรจะเห็นภาพชัดเจนว่าธุรกิจที่อาศัยอุปสงค์จากกลุ่มคนวัยเด็ก วัยทำงาน วัยสร้างครอบครัว และวัยกลางคน จะมีอุปสงค์ที่ลดลงอย่างมาก โดยตลาดจะหดตัวลงถึงประมาณ 10% ในขณะที่กลุ่มธุรกิจที่พึ่งพาอุปสงค์จากคนสูงอายุจะเติบโตขึ้นอย่างมากโดยตลาดจะขยายตัวมากกว่า 30%
เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อมูลโครงสร้างการใช้จ่ายของประชากรสูงอายุเทียบกับประชากรวัยเด็กและทำงาน
KKP Research ประเมินว่าธุรกิจไทยกำลังจะมีโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล โดยจะพบว่าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางลบมากที่สุด คือ ยานยนต์ การศึกษา เอนเตอร์เทนเมนท์ ร้านอาหาร ตัวอย่างที่เห็นได้ค่อนข้างชัด คือ ในช่วงที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเริ่มมีการปิดตัวบางสาขาจากคนเรียนที่ลดลง ในขณะที่ธุรกิจที่จะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นมากที่สุด คือ สุขภาพ บริการ สาธารณูปโภค ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้สูงอายุมีความต้องการมากที่สุด
จากข้อมูลทั้งหมดทำให้ KKP Research ประเมินว่าจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะสร้างผลกระทบอย่างมากต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน และการเติบโตของกลุ่มธุรกิจในประเทศไทยใน 5 ประเด็น คือ
1) การเปลี่ยนแปลงจากธุรกิจสำหรับเด็ก และคนวัยทำงานไปสู่ธุรกิจสำหรับคนสูงอายุ โดยธุรกิจสำหรับเด็กเช่นโรงเรียนกำลังลดความต้องการลง และธุรกิจสำหรับคนสูงอายุที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น ฟิตเนส โรงพยาบาล กำลังจะเติบโต โดยตัวเลขการใช้จ่ายด้านสุขภาพในสหรัฐ ฯ อเมริกาพบว่าคนจะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุก 10 ปี ด้วยแนวโน้มประชากรไทยในปัจจุบัน ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นมหาศาล
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในกรณีของไทยกำลังจะเผชิญปัญหาการขาดแคลนอุปทานของแพทย์ในระยะยาวที่รุนแรงขึ้น จากทั้งอุปสงค์ที่จะเพิ่มขึ้นมหาศาลตามโครงสร้างประชากร ทำให้ธุรกิจในกลุ่มโรงพยาบาลและการให้บริการด้านสุขภาพจะมีโอกาสในการขยายตัวได้มาก
อย่างไรก็ตามจำนวนหมอเฉพาะทางที่มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการอยู่แล้วเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว และการเพิ่มปริมาณหมอที่อาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางทำได้ยาก จึงมีโอกาสทำให้ราคาบริการด้านสุขภาพมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้มาก และจะทำให้การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของคนไทยแย่ลง
2) การเปลี่ยนผ่านจากภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคบริการ ค่อนข้างชัดเจนว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสหกรรมในประเทศจากภาคอุตสาหกรรมที่ (Capital-intensive) ไปเป็นภาคบริการ (Labor-intensive) จากทั้งอุปสงค์ต่อสินค้าที่ลดลงและความต้องการบริการที่เพิ่มขึ้น และกำลังแรงงานที่กำลังจะลดลงอย่างมากตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยโดยในปี 2030 ไทยจะมีกำลังแรงงานลดลง 3 ล้านคน
อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นตามมา คือ หากประเทศยังไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยี แรงงานที่น้อยลงจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตช้าลงไปด้วย ซึ่งค่อนข้างน่ากังวลสำหรับประเทศไทยเพราะจะส่งผลให้ความสามารถในการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกของไทยลดน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งหากย้อนดูข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาจะพบวาเราเริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้นบ้างแล้ว
โดยจะพบว่าภาคอุตาหกรรมมีกำลังในการต่อรองราคาต่ำ และไม่ค่อยเติบโต ในขณะที่ภาคบริการรวมถึงการท่องเที่ยวสามารถเติบโตได้ดีในระยะยาว ซึ่งคาดว่าจะเห็นแนวโน้มเรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้น
3) จากนอกเมืองสู่เมืองใหญ่ ประชากรที่ลดลงมีความเสี่ยงที่จะทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยไม่สามารถรักษาความเป็นเมืองไว้ได้ในระยะยาว และมีโอกาสเกิด oversupply ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ประเทศญี่ปุ่น ที่จำนวนประชากรในเมืองใหญ่มีการเติบโตขึ้นอย่างมาก
ในขณะที่เมืองชนบทมีคนจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองเล็กตกต่ำลงอย่างหนักเนื่องจากความต้องการอยู่อาศัยลดลง ภาพในประเทศไทยในอนาคตจะเจอเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันจากโครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนไปในลักษณะคล้ายกับญี่ปุ่น
4) จากความต้องการเงินกู้เงินเพื่อครอบครัวและธุรกิจ สู่ความต้องการจัดการความมั่งคั่งเพื่อเตรียมเกษียณอายุ นัยยะสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและเศรษฐกิจคือผลต่อตลาดการเงิน งานศึกษาของ IMF พบว่าบทบาทของธนาคารในประเทศญี่ปุ่นลดน้อยลงอย่างมากจากความต้องการกู้เงินที่ลดลง สอดคล้องกับงานศึกษาของสถาบันวิจัยป๋วย ที่พบว่าคนไทยจะมีการกู้ยืมเงินสูงที่สุดถึงอายุประมาณ 60 ปีและหลังจากนั้นจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลง
และความต้องการเงินทุนจำนวนมากจะลดลงตามโครงสร้างธุรกิจที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งพึ่งพาเงินทุนเยอะกว่าภาคบริการ (Capital Intensive) ที่เริ่มมีความสำคัญน้อยลง ในขณะที่บริการทางการเงินในกลุ่มการจัดการความมั่งคั่ง การลงทุน และการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย จะขยายตัวขึ้นสำหรับการจัดการทางการเงินในวัยเกษียณโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบสวัสดิการของไทยที่มีไม่เพียงพอและมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาความอยู่รอดในอนาคต จากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร
5) จากเงินบาทแข็งค่าสู่ความเสี่ยงเงินบาทอ่อนค่า ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ปี 2015 ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางแข็งค่ามาโดยตลอดซึ่งมีเหตุผลเกิดจากทั้งดุลการค้า (Trade balance) และดุลบริการ (Service balance) ที่เกินดุลมาโดยตลอดจากเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ
และอีกทางหนึ่งสะท้อนปัญหาเงินออมเยอะแต่การลงทุนต่ำเกินไป (Saving-Investment gap) มองไปข้างหน้าภาคอุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จะมีขนาดเล็กลงตามกำลังแรงงานที่น้อยลง และความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่มีไม่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าที่มีคู่แข่งที่น่ากลัว คือ อินโดนีเซีย และอิเล็กทรอนิกส์ที่เวียดนามพัฒนาฐานการผลิตไปไกลกว่าไทยที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ นับเป็นกว่า 25-30% ของการส่งออกไทย
ในปี 2022 เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างหนัก จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ฯ ในขณะที่หลายฝ่ายยังเชื่อว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าในระยะยาวจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเกินดุล
อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่ามีโอกาสเป็นไปได้ที่ในระยะยาวประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ต้องพึงพาการนำเข้ารถยนต์ และสินค้าอิเลกทรอนิกส์แทนในอนาคต ซึ่งจะทำให้ดุลการค้าขาดดุล เสถียรภาพด้านต่างประเทศแย่ลงและสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะยาวได้
หรือไทยกำลังจะเป็นญี่ปุ่นประเทศถัดไป ?
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจากโครงสร้างประชากรจะมีทั้งธุรกิจที่ได้และเสียประโยชน์แต่ในภาพรวมจะทำให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดน้อยลงในระยะยาว
ในฝั่งของการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ประเทศญี่ปุ่นที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มตัวก่อนไทยไปแล้ว โดยจะพบว่าทั้งเศรษฐกิจ การบริโภค และเงินเฟ้อ อยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอดซึ่งแน่นอนว่าการเติบโตที่ต่ำลงเป็นสิ่งที่ไทยจะเจอมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
โดย IMF เคยประเมินว่าในช่วงปี 2020 -2030 ไทยจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรถึงประมาณ 0.7% ของ GDP และในฝั่งของภาคอุตสาหกรรมที่แข่งขันได้ยากขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ๆและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงเช่นกัน
บริบทการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทยอาจแตกต่างไปจากญี่ปุ่นและมีความท้าทายมากกว่ามาก เพราะประเทศไทยยังเป็นประเทศรายได้ปานกลางและมีผลิตภาพการผลิตที่ต่ำกว่าญี่ปุ่นมาก KKP Research ประเมินว่ามี 3 ประเด็นทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตามองที่จะทำให้การรับมือกับปัญหาของไทยมีความท้าทายมากกว่าญี่ปุ่น คือ
2) ภาระทางการคลังในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก สำหรับกองทุนประกันสังคม งานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย** ชี้ให้เห็นว่ารายรับจากเงินสมทบจะลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.13 ต่อปีตามโครงสร้างประชากรในวัยทำงาน ขณะที่รายจ่ายจากสิทธิประโยชน์ต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.16 ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้เงินกองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพหมดลงในอีก 33 ปี
อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่ามีโอกาสสูงที่สถานการณ์จะเลวร้ายกว่าที่ประเมินไว้จากบริการด้านสุขภาพที่จะไม่เพียงพอและกดดันให้ราคาบริการสุขภาพสูงขึ้นเร็วตามประชากรวัยสูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นหลายล้านคน จะส่งผลให้การเพิ่มขึ้นของราคาเร็วขึ้นมาก ในขณะที่รายได้ของคนที่เพิ่มขึ้นช้าทำให้คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ และมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นภาษีในอนาคต เพื่อรับมือกับภาระที่เพิ่มขึ้น
3) เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินอาจเปลี่ยนไปคนละทางกับญี่ปุ่น แม้ว่าการเข้าสู่สังคมสูงอายุควรจะทำให้เงินเฟ้อลดลง แต่ในกรณีของไทยปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่รุนแรงและบริบทของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเข้าสู่ยุคเงินเฟ้อสูง อาจส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าและเงินเฟ้อไทยปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะจำกัดความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเหมือนอย่างญี่ปุ่น เพราะนโยบายการเงินต้องทำหน้าที่ในการดูแลเงินเฟ้อ และสะท้อนว่าทางออกของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวจะต้องเกิดจากการปฏิรูปเชิงโครงสร้างให้สำเร็จ
ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจไทย 1 ทศวรรษของไทยกับอินโดนีเซีย
นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง นโยบายเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาระยะยาวในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ภาพการลงทุนในไทยยังไม่สามารถกลับมาเติบโตได้ดีเท่าที่ควร
ในแง่ของการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคนอกเหนือจากเวียดนาม เมื่อเปรียบเทียบภาพการพัฒนาของอินโดนีเซียกับไทยจะยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าหลายประเทศเริ่มมีทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าไทยเรื่อย ๆ
แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจของอินโดนีเซียยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงที่ผ่านมา แต่หนึ่งในภาพที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือความพยายามพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวโดยการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง คือการพัฒนาการของปัญหาคอร์รัปชั่นที่ไทยปรับตัวแย่ลงเล็กน้อยในขณะที่อินโดนีเซียเริ่มเห็นทิศทางการพัฒนาที่ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน
สอดคล้องกับข้อมูลความมีประสิทธิภาพของภาครัฐในอินโดนีเซียที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เป็นสัญญาณถึงทิศทางนโยบายภาครัฐที่ปรับตัวดีขึ้นในหลายด้าน
นอกจากนี้การเตรียมความพร้อมเรื่องกำลังแรงงานและทักษะของแรงงานสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตเริ่มมีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าไทย ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการปรับปรุงทิศทางนโยบายเศรษฐกิจในประเทศเพื่อแก้โจทย์เศรษฐกิจระยะยาวเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเปรียบเทียบกับอินโดนีเซียสะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าการพัฒนาการของไทยมีความล่าช้าอย่างไร และทำไมไทยจึงต้องเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังติดค้างอยู่โดยเร็ว
บริบทโลกที่ท้าทายมากขึ้น ไทยไม่ใช่อันดับ 1 ของภูมิภาคอีกต่อไป
แม้ว่าในอดีตการลงทุนทางตรงจากประเทศจะเข้ามาไทยมากที่สุดของประเทศใน ASEAN แต่ปัจจุบันจากทั้งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครสร้างของไทย เทคโนโลยีใหม่ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโลกทำให้ไทยมีความน่าสนใจลดน้อยลง โดยการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เพิ่มความไม่แน่นอนให้กับภาวะเศรษฐกิจโลก กำลังสร้างแรงกดดันให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งในภูมิภาคมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเพื่อส่งออกในอนาคตจะเน้นเรื่อง Supply-chain resiliency หรือการตั้งฐานการผลิตในประเทศที่มีความปลอดภัยในการหาวัตถุดิบมากขึ้น ทิศทางการทำนโยบายของภาครัฐในหลายประเทศเริ่มเปลี่ยนไปและเป็นสัญญาณของการพัฒนาเข้าสู่ภาวะ Deglobalization ชัดเจนขึ้นตั้งแต่การแข่งขันทางการค้า (Trade War) สู่การแข่งขันทางเทคโนโลยี (Tech War) และในปัจจุบันมีการควบคุมการขายสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities War) ตัวอย่างเช่น การห้ามส่งออกสินค้า (Export Ban) ในหลายประเทศ
นัยยะสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ประเทศที่มีแร่ธาตุหรือวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับการผลิตสินค้าเป็นประเทศที่ได้เปรียบและเป็นตัวกำหนดความสามารถในการแข่งขันที่มีความสำคัญมากขึ้น
เนื่องจากบริษัทต่างชาติมีแนวโน้มไปตั้งฐานการผลิตจากความเสี่ยงด้านการขาดแคลนอุปทานทีน้อยกว่า โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกเพิ่มสูงขึ้นจึงเห็นแนวโน้มการทำ Reshoring หรือการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศเพื่อลดความเสี่ยงด้านอุปทาน และจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนต่างชาติแบบที่เคยได้รับมาในอดีตลดน้อยลง
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ประเทศใน ASEAN ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดมีแนวโน้มเป็นอินโดนีเซีย ซึ่งเกิดจากทั้งตลาดในประเทศที่มีขนาดใหญ่และยังขยายตัวได้พื้นที่ตั้งที่มีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่ำกว่าเวียดนาม (ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ ฯ) และการครอบครองวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่อย่างนิกเกิล
ทำให้มีการเข้าไปลงทุนจำนวนมากทั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เช่น CATL และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยระหว่างปี 2013 -2022 อินโดนีเซียมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติมากที่สุด และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ธุรกิจไทยทุกกลุ่มต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด
ธุรกิจไทยในอนาคตจำเป็นต้องดำเนินธุรกิจโดยระมัดระวังและเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ให้สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป โดย KKP Research ประเมินว่าธุรกิจจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงหรือป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก ในขณะเดียวกันต้องปรับแผนธุกิจให้สอดคล้องกับโครงสร้างการบริโภคที่เปลี่ยนไปและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากคู่แข่ง โดย KKP Research ประเมินว่ากลุ่มธุรกิจที่เป็นโอกาสในการเติบโต คือ
1) ธุรกิจที่ไทยมีความได้เปรียบจากทรัพยากรในประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากขึ้นในการกำหนดความสามารถในการแข่งขัน สำหรับประเทศไทยการยกระดับคุณภาพและผลิตภาพสินค้าเกษตร ต่อยอดไปถึงอุตสาหกรรมอาหารจะเป็นหนึ่งโอกาสสำคัญในการเติบโต
2) ธุรกิจที่สอดคล้องกับโครงสร้างอุปสงค์ ธุรกิจในภาคบริการหลายกลุ่มมีโอกาสเติบโตมากขึ้นตามความต้องการของผู้สูงอายุ สินค้าและการให้บริการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ บ้านพักเกษียณอายุ บ้านพักคนชรา บริการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาล อาหารเสริม จะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตสูง
3) ธุรกิจที่อาจได้ประโยชน์จากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของภาครัฐในอนาคต KKP Research ประเมินว่าด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อนข้างแย่ในปัจจุบันจะบีบบังคับให้ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังมากขึ้นในทศวรรษข้างหน้า
ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมผูกขาดจะเป็นโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้มากขึ้น การเปิดเสรีด้านแรงงานและบริการ และการการเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถถือกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในไทยจะสร้างโอกาสเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างมากในบางพื้นที่
ไทยยังพัฒนายาก ถ้านโยบายรัฐไม่เปลี่ยนแปลง
ลำพังเพียงภาคธุรกิจจะไม่เพียงพอที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นได้ในระยะยาว แต่บทบาทของภาครัฐยังเป็นสิ่งจำเป็นเพราะปัญหาสำคัญคือธุรกิจไทยมีการลงทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมในระยะยาวน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตในอนาคตมากขึ้นเรื่อย ๆ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
โดยจากจำนวนแรงงานที่ลดลงทำให้ทางออกของประเทศไทยในภาพใหญ่ยังจำเป็นต้องพัฒนาผ่านการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้ความสามารถในการสร้างรายได้ยังเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นแม้ประชากรจะลดลง กลไกที่สำคัญ คือ การสร้าง National Innovation System หรือนโยบายสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ
ในภาพใหญ่จำเป็นต้องปรับปรุงใน 4 เรื่องหลัก คือ
1) ส่งเสริมให้มีทุนที่เพียงพอสำหรับการวิจัย ซึ่งหมายถึง และการพัฒนาทุนมนุษย์ การศึกษา การอบรม และการสร้างแหล่งรวบรวมงานวิจัย
2) การสร้างความเข้าใจและพัฒนาความสามารถของบริษัท ภาครัฐจำเป็นต้องหากลไกในการทำความเข้าใจและคาดการณ์ความต้องการของบริษัท
3) การสร้างกลไกที่เป็นระบบในการสื่อสารด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การสร้างหน่วยงานกลางเพื่อกำกับดูแลความร่วมมือทางการวิจัยและอำนวยความสะดวกเป็นอีกกลไกสำคัญ
4) สร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการลงทุนเพื่อการพัฒนานวัตกรรม ภาครัฐจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมจากกฎระเบียบ สถาบันเศรษฐกิจและการเมืองให้เหมาะกับการลงทุน
อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่าโจทย์ใหญ่สำคัญที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการจะเป็นการออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจนอกจากการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมแล้ว ประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องก้าวผ่าน คือ การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากสังคมสูงอายุ และการหาทางเลือกเชิงกลยุทธ์ใหม่กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว คือ
1) ภาครัฐต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายการย้ายถิ่นฐาน (Immigration Policy) อย่างจริงจัง เพื่อชดเชยปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการบางกลุ่ม ในระยะยาวจำนวนแรงงานที่จะลดลงไปมากจะส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในประเทศ
บริการบางอย่างที่จำเป็น เช่น บริการด้านสุขภาพ จะเริ่มไม่เพียงพอ การพิจารณาเปิดโอกาสให้มีการเข้ามาทำงานของคนต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะสูง จะมีส่วนช่วยพยุงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเพราะลำพังเฉพาะอุปสงค์และแรงงานในประเทศจะเริ่มไม่เพียงพอ
2) การเปิดเสรีในภาคบริการเพื่อชดเชยการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม ในอนาคตค่อนข้างชัดเจนว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจะมีทิศทางที่ชะลอตัวลงจากทั้งการเปลี่ยนแปลงในประเทศและการเปลี่ยนแปลงของบริบทของโลกาภิวัฒน์ในระดับโลก
ประเทศไทยอาจต้องพิจารณาผลักดันเครื่องยนต์อื่น ๆ รวมถึงภาคบริการมูลค่าเพิ่มสูง (High value-added service) ขึ้นเป็นเครื่องยนต์ใหม่ของเศรษฐกิจ โดยต้องมีการเปิดเสรีให้เกิดการแข่งขันในภาคบริการอย่างเต็มที่เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในระยะยาว
3) การปฏิรูปทางการเมืองเพื่อลดปัญหาคอร์รัปชั่นและเพิ่มการแข่งขัน ท้ายที่สุดการปฏิรูปเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดการปฏิรูปทางการเมือง ในสังคมที่บริษัทสามารถใช้การคอร์รัปชั่นเพื่อเพิ่มกำไรได้จะทำให้ไม่เกิดความคุ้มค่าในการพัฒนานวัตกรรมจากการลงทุน
ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในไทยจากลำดับการคอร์รัปชั่นที่แย่ลงเรื่อย ๆ ในอนาคตการปฏิรูปสถาบันการเมืองที่นำสู่ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และการลดการคอรัปชั่น จะเป็นทางออกสำคัญของเศรษฐกิจไทย
แน่นอนว่าไม่มีหลักสูตรตายตัวในการพัฒนาให้เศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งหลุดพ้นออกจากกับดักรายได้ปานกลาง และก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เป็นรากของปัญหาที่สำคัญที่สุดสภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบ เศรษฐกิจ และการเมืองจะต้องเอื้อให้เกิดการลงทุน (favorable environment)
ซึ่งจะสร้างให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยภาครัฐไม่จำเป็นต้องออกมาตรการจจูงใจทางภาษีเป็นครั้ง ๆ ไปเพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนในประเทศ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอเพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่างชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจไทยจึงโจทย์ที่ท้าทายอย่างมากแต่จำเป็นต้องทำเพื่อให้ไทยก้าวเข้าสู่ประเทศรายได้สูง ซึ่งจะช่วยบรรเทาทั้งปัญหาครัวเรือนไทยที่เจอกับหนี้สูงแต่รายได้ไม่พอ ความเหลื่อมล้ำสูง และปัญหาทางสังคมอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไข
บทความฉบับนี้จะเป็นหนึ่งในข้อมูลที่ KKP Research ต้องการชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในหลายประเด็นกำลังจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งถูกสะท้อนผ่านข้อมูลจากตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดหุ้นซึ่งเป็นการคาดการณ์ของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินธุรกิจ ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ควรมองข้ามและเป็นเหมือนสัญญาณเตือนล่วงหน้าให้ประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ติมตามบทวิเคราะห์อื่นๆ จาก KKP Research ได้ที่นี่
#การลงทุนจากต่างประเทศ
#FDI
#KKPResearch
#KKP
#KIATNAKINPHATRA
โฆษณา