11 พ.ย. 2022 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
บริษัทตรวจสอบบัญชี Big 5 เหลือแค่ Big 4 เพราะ Arthur Andersen
หากเราพูดถึงบริษัทตรวจสอบบัญชี หลายคนก็น่าจะรู้จัก Big 4 อย่าง PwC, EY, KPMG และ Deloitte
แต่รู้หรือไม่ว่า เมื่อ 20 ปีก่อน ยังมีบริษัทตรวจสอบบัญชีอีกแห่งหนึ่ง ที่ถูกเรียกว่า Big 5 อย่าง Arthur Andersen ซึ่งมีสำนักงานกว่า 84 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 85,000 คน
แต่เนื่องจาก Arthur Andersen ได้ทำผิดกฎร้ายแรง คือ ทำลายหลักฐานการปลอมแปลงบัญชี ทำให้ถูกถอนใบอนุญาตไปในท้ายที่สุด
เรื่องราวการหลุดจาก Big 5 ของ Arthur Andersen เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ต้นเรื่องที่ทำให้ Arthur Andersen เสียตำแหน่ง Big 5 ไปนั้น ก็คือบริษัทพลังงานอย่าง Enron ที่ Arthur Andersen เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้
โดยบริษัท Enron มีธุรกิจหลัก คือ การเป็นนายหน้าทำสัญญาซื้อขายพลังงานแบบ B2B และมีรายได้จาก ค่าธรรมเนียมในการทำสัญญา
แต่แล้วในปี 1996 Enron กลับเปลี่ยนวิธีการบันทึกสินทรัพย์ทางบัญชี จากการบันทึกสินทรัพย์ด้วยราคาต้นทุน ไปเป็นการบันทึกแบบ Mark to market หรือก็คือ ราคาสินทรัพย์ที่ประเมินได้ ณ เวลานั้น
1
ซึ่งส่วนต่างของราคาสินทรัพย์ที่เกิดขึ้น ถูกนำมาบันทึกเป็นกำไร จากการประเมินมูลค่าสินทรัพย์
และ Enron ได้ปรับการบันทึกสินทรัพย์เหล่านี้ กับสัญญาซื้อขายที่บริษัทถืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาซื้อขายพลังงาน หรือธุรกรรมอื่น ๆ
1
ประเด็นคือ เมื่อสัญญาซื้อขายพลังงานมีราคาเพิ่มขึ้น Enron ก็จะบันทึกส่วนต่างของราคา ไปเป็นกำไรของบริษัท แทนที่จะบันทึกเพียงค่าธรรมเนียม ซึ่งเป็นรายได้จริง ๆ ของบริษัท
1
รวมถึงยังบันทึกรายได้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านการประเมินมูลค่าด้วยตัวเองเข้ามาเป็นรายได้
1
และทำการตกแต่งงบการเงิน ด้วยการซ่อนหนี้ของตัวเอง ผ่านการจัดตั้งทรัสต์ และกู้เงินมาซื้อสินทรัพย์ของบริษัทตัวเอง ในราคาที่แพงกว่าความเป็นจริง
1
ด้วยกลโกงทั้งหมดนี้ ส่งผลให้รายได้ของ Enron ในช่วงปี 1996 ถึงปี 2000 เพิ่มขึ้นกว่า 750% และกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสินทรัพย์มากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ในขณะที่บริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 2% เท่านั้น
1
แต่แล้วความจริงก็ปรากฏ เมื่อ CEO ของ Enron ที่มีชื่อว่า Jeffrey Skilling ประกาศลาออก และงบการเงินของบริษัทในไตรมาส 3 ของปี 2001 พลิกกลับมาขาดทุนถึง 23,221 ล้านบาท
1
ทำให้ SEC หรือ ก.ล.ต. ของสหรัฐอเมริกา ต้องเข้ามาตรวจสอบ Enron และ Arthur Andersen ซึ่งทำหน้าที่รับรองงบการเงิน
แต่แทนที่ Arthur Andersen จะให้ความร่วมมือกับ SEC บริษัทกลับเลือกทำในสิ่งที่เลวร้ายที่สุด ในฐานะบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี ด้วยการทำลายหลักฐาน อย่างเอกสารและ E-mail ของ Enron ทั้งหมด
ทำให้ Arthur Andersen ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และถูกยึดใบอนุญาตผู้ตรวจสอบบัญชี รวมถึงต้องขายแผนกผู้ตรวจสอบบัญชีให้กับ Big 4
และถึงแม้ว่าคำตัดสินของศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาในปี 2005 จะออกมาว่า Arthur Andersen ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ต่อการตกแต่งงบการเงิน แต่เกิดจากความละเลยในการตรวจสอบ
ทว่าคำตัดสินเหล่านั้นก็ไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว เพราะชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของ Arthur Andersen ได้หมดลง จากทั้งกรณีของบริษัท Enron และอีก 2 กรณีอย่าง บริษัท Sunbeam ที่ Arthur Andersen รับรองงบการเงิน ที่มีกำไรเกินความเป็นจริง และบริษัท Waste Management ที่รับรองงบการเงินที่ผิดพลาด
3
ส่งผลให้บรรดานักลงทุนในตลาดต่างหลีกเลี่ยง การลงทุนในบริษัทที่ Arthur Andersen เป็นผู้รับรองงบการเงิน
1
และลูกค้าเดิมของ Arthur Andersen ก็เลือกที่จะเปลี่ยนไปใช้บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีรายอื่น สุดท้ายจึงเหลือเพียงแผนกที่ปรึกษาทางธุรกิจ ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Accenture
3
และจากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เอง ทำให้ปัจจุบันจึงเหลือบริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่เพียงแค่ 4 บริษัท หรือที่เรารู้จักกันว่า Big 4 นั่นเอง..
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู สั่งซื้อเลยที่
-www.rangsun.econ.tu.ac.th/data/06/03-45/01-01-Arthur%20Andersen%20กำลังเดินลงหลุมฝังศพ.pdf
โฆษณา