17 พ.ย. 2022 เวลา 01:32 • อาหาร
เอเปคผลักดันอาหารแห่งอนาคตเพื่อความยั่งยืน
คนไทยทุกคน คือ เจ้าภาพการประชุมเอเปค ๒๐๒๒ ซึ่งทุกท่านจะเห็นได้จากการที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อตอกย้ำศักยภาพในด้านต่าง ๆ ที่ประเทศไทยต้องการผลักดันในระหว่างการประชุม โดยเฉพาะแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG
ดังนั้น ภาครัฐจึงได้ดำเนินโครงการประกวดการสร้างสรรค์เมนูอาหารแห่งอนาคต “Future Food for Sustainability” เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำที่จะมาร่วมการประชุมด้วยการ “สร้างสรรค์เมนูอาหารอนาคต “Plate to Planet” ภายใต้แนวคิด BCG
คุณณัฐนันท์ รจนกร ผู้อำนวยการสำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ ได้มาเปิดเผยข้อมูลเบื้องหลังโครงการนี้ผ่านรายการ MFA Update ว่า ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) หรือ APEC 2022 ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ กรมประชาสัมพันธ์จึงได้สนับสนุนโครงการประกวดการสร้างสรรค์เมนูอาหารแห่งอนาคต “Future Food for Sustainability” นำเสนอ ๒๑ เมนูต้อนรับ ๒๑ ผู้นำเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประชุม APEC 2022
โดย ๔ ทีมที่ได้รับคะแนนสูงสุด จะได้รับทุนการศึกษาและทุนสำหรับต่อยอดธุรกิจจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชนเพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทยสู่ตลาดโลกด้วย
สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องอาหารแห่งอนาคตเป็นพิเศษ สามารถติดตามฟังบทสัมภาษณ์เรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่
คุณณัฐนันท์ ย้ำว่า กิจกรรมนี้จะช่วยต่อยอดจุดแข็งและศักยภาพทางด้านอาหารของประเทศไทย ที่ปัจจุบัน การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารของไทยจัดอยู่ในกลุ่ม ๑๕ อันดับต้นของโลก และเพิ่งได้รับการยกย่องจากสหประชาชาติให้เป็นแบบอย่างด้านสาธารณสุข และการเกษตร ที่ให้ความสําคัญกับความยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียนตามแนวทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ
ภาพจากเว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์ https://www.prd.go.th
โดยกิจกรรมประกวดเมนูอาหารแห่งอนาคต ได้เปิดประตูแห่งโอกาสให้คนรุ่นใหม่จากทุกภาคส่วน ทั้งเยาวชน ผู้ประกอบการด้านอาหาร กลุ่มสตาร์ทอัพ เกษตรกรรุ่นใหม่ อายุไม่เกิน ๔๕ ปี มาร่วมแสดงความคิดสร้างสรรค์ ปรุงแต่งเมนูอาหารอนาคตด้วยโจทย์ท้าทาย “… อาหารที่ดีต่อใจ ดีต่อสุขภาพ และดีต่อโลก เน้นวัตถุดิบสมุนไพรของไทย และกระบวนการนวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม … ”
การแข่งขันได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า ๒,๐๐๐ ทีม ทีมที่ผ่านเข้ารอบ ๖๐ ทีม จะได้รับสิทธิ์เข้าเรียนกับกูรูชั้นนำด้านอาหารแห่งอนาคต ด้านการวางแผนธุรกิจและการฝึกฝีมือทำอาหารกับเชฟ ชุมพล แจ้งไพร ทูตอาหารเพื่อความยั่งยืนขององค์การอาหารระดับโลก FeedUp@UN และได้รับสิทธิในการนำเสนอไอเดียให้กับนักลงทุนอีกด้วย และในรอบสุดท้ายจะคัดเหลือเพียง ๒๑ ทีมเพื่อนำเสนอ ๒๑ เมนูต้อนรับ ๒๑ ผู้นำเขตเศรษฐกิจ
การเปิดตัว ๒๑ ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๕ นั้น ได้รับเกียรติจาก นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดกิจกรรมการแข่งขัน Plate to Planet Competition พร้อมด้วยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ประธานผู้จัดงาน
ภาพจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ
ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เน้นย้ำถึงบทบาทที่โดดเด่นของไทยในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร สนับสนุนการนำเสนอเมนูอาหารแห่งอนาคตของผู้เข้ารอบ รวมทั้ง เยี่ยมชมบูธอาหารและร่วมชิม ๒๑ เมนูอาหารแห่งอนาคต ที่รังสรรค์และปรุงโดยผู้เข้ารอบการประกวดทั้ง ๒๑ ทีมด้วย
ตัวอย่างเมนูที่นำเสนอได้โดดเด่นน่าสนใจ อาทิ อาหารคาวอย่าง ข้าวถั่วลูกไก่ยำปักษ์ใต้ผัก ๕ สี และเขียวหวานแห้งโปรไบโอติกส์ ส่วนอาหารหวาน เช่น ไอศกรีมสไตล์แมกนั่มที่มีส่วนผสมหลักจากโปรตีนจิ้งโกร่ง นมข้าวถั่ว และกะทิ ขนมชั้นสูตรลดน้ำตาลเสริมใยอาหารและโพรไบโอติกส์ และขนมไข่ผำชูกำลัง
ส่วนเมนูที่เหลือนั้น คุณณัฐนันท์เล่าว่า ล้วนแล้วแต่น่าตื่นตาตื่นใจ น่าสนใจไม่แพ้กัน สร้างความประทับใจให้ทุกคนที่ได้ร่วมชิมสุดยอดเมนูดังกล่าวเป็นอย่างมาก
ข้าวถั่วลูกไก่ยำปักษ์ใต้ผัก ๕ สี ภาพจากเว็บไซต์ https://futurefoodapec.com/
ProTim Magket ไอศกรีมสไตล์แมกนั่ม ภาพจากเว็บไซต์ https://futurefoodapec.com/
กิจกรรมโครงการอาหารแห่งอนาคต “Thai Future Food” จะช่วยผลักดันอาหารไทย ตอกย้ำสโลแกน “ครัวโลก” ยกระดับวัตถุดิบอาหารสู่อาหารแห่งอนาคต เพิ่มมูลค่าการตลาด เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพนำนวัตกรรม ภูมิปัญญา เทคโนโลยี มาพัฒนา“อาหารแห่งอนาคต” สร้างการแข่งขันในเวทีโลก ส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ให้เข้าถึงโอกาสธุรกิจ... อาหารแห่งอนาคต ซึ่งมีมูลค่าการตลาดประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท และจะขยายตัวเพิ่มอีก ๒ เท่าภายในปี ๒๕๖๘
ยิ่งไปกว่านั้น อาหารแห่งอนาคตจะช่วยลดภาวะโลกร้อนจากกระบวนการผลิตอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต และช่วยแก้ไขวิกฤตขาดแคลนอาหารทั่วโลกได้อีกด้วย
อาหารแห่งอนาคตจะเป็นอย่างไร น่ารับประทานขนาดไหนกัน !! ขอเชิญทุกท่านร่วมติดตามและให้กำลังใจทั้ง ๒๑ เมนูอาหาร ต้อนรับ ๒๑ ผู้นำเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประชุม APEC 2022 ได้ที่ https://futurefoodapec.com/
นายพิรฉัตร กิมสวัสดิ์
นักพัฒนาระบบราชการปฏิบัติการ
ข้าราชการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่รุ่นที่ ๑๕
โฆษณา