13 พ.ย. 2022 เวลา 08:19 • ดนตรี เพลง
"ความสุขจากการฟังเพลง"
*นี่เป็นแค่ความคิดเห็นหนึ่ง โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
การฟังเพลงนั้นเป็นอีกหนึ่งความบันเทิงของผู้คน ซึ่งแต่ละคนมักจะมีแนวเพลงที่ประทับใจต่างกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนใหญ่มักให้ความสนใจกับแนวที่ไพเราะ เช่น ป็อบ, ฮิปฮอป และ อาร์แอนด์บีที่ประกอบไปด้วยเนื้อหาหวานฉ่ำชวนซึ้ง กับความรักเศร้า ๆ กระชากใจรอบตัวที่ทำให้เกิดความ ‘อิน’ แล้วสามารถสอดคล้องชีวิตตนเองให้เข้ากับเพลงได้อย่างง่ายดาย ยิ่งนักร้องเสียงดีก็จะเต็มไปด้วยเสน่ห์ที่น่าดึงดูดต่อการฟังขึ้นไปอีก
แต่ใช่ว่าทุกคนล้วนจะชอบแนวเพลงเหล่านี้ บ้างก็ชื่นชอบแนวเพลงเมทัลที่มีเนื้อหารุนแรงอย่างสุดโต่งไม่ก็เป็นประเภทชายขอบชื่นชอบในเสียง Noise ที่มีแต่เสียงรบกวน เต็มไปด้วยสัญญะของการต่อต้านความเป็นดนตรีรูปแบบดั้งเดิม หรือบางกลุ่มก็อาจจะหลงใหลในเพลงบลูส์ยุคเก่าที่อัดแน่นไปด้วยความเศร้ากับความร้าวราน
ระหว่างที่เราฟังเพลงเหล่านี้ เรากำลังมีความสุขจริง ๆ หรือไม่? ซึ่งสาเหตุที่เกิดคำถามนี้เพราะแนวเพลงที่ว่าแทบไม่มีความอภิรมย์แฝงอยู่ในนั้นเลยก็ว่าได้
ยกตัวอย่างเนื้อเพลงส่วนหนึ่งของวง Mayhem มีชื่อว่า Rape Humanity With Pride ที่เนื้อหาไม่ได้โหดน้อยไปกว่าชื่อ
‘ภายในจิตใจช่างยุ่งเหยิง
ได้แต่วิงวอนให้พวกมึงตายไปให้หมด
มนุษย์โลกที่สุดแสนน่ารำคาญทำกูขยะแขยง
ได้แต่ใคร่ครวญถึงการล่มสลายของพวกมึง’
(ที่เหลือลองหาอ่านกันเอง)
แน่นอนว่ามันจะไม่ใช่เพลงที่ไว้สำหรับเปิดฟังกับครอบครัว (ที่ไม่ใช่ครอบครัวเมทัลเฮด) หรือเปิดในงานแต่งที่เต็มไปด้วยญาติ ๆ อากงอาม่ามาร่วมแสดงความยินดี แต่เหตุใดผู้คนบางกลุ่มถึงยังชื่นชอบเพลงที่เนื้อหาดิบเถื่อนกับเครื่องดนตรีเสียงแตกลั่นชวนแสบหูเช่นนี้
ทั้งที่ผู้ฟังสายนี้หลายคนไม่ได้อยากจะให้มนุษย์สูญพันธุ์อย่างที่เพลงว่าเลยด้วยซ้ำ
จากที่ได้สนทนากับนักดนตรีวงไซคีเดลิคไทยอย่าง ‘ทิว’ (La Nuit) ได้ข้อสรุปว่า “เสียงแตกที่บริสุทธิ์ย่อมทำให้คนฟังเกิดความรู้สึก เสียงแตกบริสุทธิ์ที่ว่าก็ครอบคลุมไปถึงย่านของเพลง Lo-Fi หรือเพลงที่บันทึกเสียงออกมาไม่ได้มาตราฐานดั่งเพลงกระแสนิยม หากตั้งใจฟังดี ๆ ทุกเครื่องจะมีเสียงพร่าแม้จะเป็นเครื่องดนตรีอคูสติกก็ตาม จะได้ยินชัดหรือไม่ชัด…ไม่สำคัญ เพราะปลายทางคือ ‘เราฟังแล้วเรารู้สึกอะไร’” แล้วด้วยคำว่า ‘ความรู้สึก’ อันเป็นปลายเปิด ผู้อ่านต้องไปตีความกับคำนี้อีกที
แต่มันใช่ความสุขไหม สำหรับผมก็จะตอบว่า “ไม่รู้”
ระหว่างฟังเพลงบลูส์เก่า ๆ เนื้อหาพูดถึงความแร้นแค้นกับการพ่ายแพ้ต่อชีวิตที่สื่อสารผ่านเสียงของชายหนุ่มอายุ 26 ที่เสียงเหมือนอายุ 60 แล้วเป็นโรคพิษสุราเรื้อนรังจนเสียชีวิตในวัย 27 ปี หากตอบว่า "กำลังมีความสุข" ก็ไม่แน่ใจว่าเรากำลังมีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่นอยู่หรือเปล่า (นี่เป็นคำถาม)
แต่ที่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งชอบ อาจเป็นเพราะความรู้สึก ‘บางอย่าง’ ที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งกว่านั้น อาจเป็นการสัมผัสถึงวิถีชีวิตหรือหลักปรัชญาของแต่ละศิลปินอย่างไม่รู้ตัวหรือเพื่อเป็นบทเรียนสอนใจสำหรับโลกของความเป็นจริงที่มีต่างมุมมองกันออกไป (‘ต่างศิลปิน = ต่างมุมมอง’ สิ่งนี้เป็นตัวแปรที่ทำให้แต่ละวงมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน)
บางกรณี ผู้ฟังอาจต้องการใครซักคนที่จะมาพูดแทนใจในวันใดก็ตามที่เขาเกิดความรู้สึกท้อแท้ และการฟังเพลงที่ตอบโจทย์ความรู้สึกนั้นเป็นอีกวิธีที่ดีสำหรับการปลดปล่อยและคลายความเหงาใจสำหรับผู้รักในเสียงเพลง
แล้วทุกท่านคิดว่าอย่างไร สามารถแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ
บทความโดย #adminSHADOW
ภาพโดย #adminDobyKong
โฆษณา