14 พ.ย. 2022 เวลา 04:57 • สิ่งแวดล้อม
ถุงรีฟิล หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ลดการใช้ถุงพลาสติก
ช่วงสองปีให้หลังมานี้ เทรนด์รักสิ่งแวดล้อม รักโลกมาแรงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการออกมาจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ หรือแม้แต่ตลาดสด ต่างพกถุงผ้ามาใช้เองแทนการใช้ถุงพลาสติก หรือกรณีที่ไม่ได้นำมาจริงๆ ก็ยังแอบเห็นว่าเขาเลือกที่จะถือสินค้ากลับออกมาแทนที่จะเสียเงินซื้อถุง จึงทำให้ประหยัดทั้งเงินและช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกอีกด้วย
ในทางกลับกัน หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ในเมื่อประเทศไทยเรามีการรณรงค์ให้ลดการใช้ถุงพลาสติก แต่ทำไมในฝั่งของผู้ผลิตยังมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง เช่น “ถุงรีฟิล” ทั้งน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ ฯลฯ
ถุงรีฟิลเป็นหนึ่งในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่ถูกผลิตออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการลดการใช้พลาสติกของตนเองลง เพราะในชีวิตประจำวันของเรา ผ่านการใช้พลาสติกมามากมายทั้งขวดแชมพู ครีมนวด น้ำยาล้างจาน กล่องใส่อาหาร ฯลฯ หากมีโอกาสที่จะช่วยลดได้ก็ย่อมดีกว่า โดยทั้งขวดและถุงรีฟิลต่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ดังนี้
ข้อดี
ผู้ผลิตต้องการให้ผู้บริโภคใช้ขวดอันเดิม จึงเกิดการใช้ซ้ำมากขึ้น ลดการผลิต
การผลิตถุงรีฟิลใช้เม็ดพลาสติก และพลังในการผลิตน้อยกว่า
ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า
สามารถขนส่งได้ง่ายกว่า เนื่องจากถุงรีฟิลมีความยืดหยุ่น เล็ก เบา ไม่กินพื้นที่
ข้อเสีย
แต่ละชนิดของถุงรีฟิลมีวิธีรีไซเคิลที่ไม่เหมือนกัน
ประเทศไทยยังไม่รองรับระบบรีไซเคิล
หากต้องการรีไซเคิลจะต้องส่งไปเฉพาะโครงการที่เปิดรับเท่านั้น
แม้การผลิตขวดอาจจะใช้ปริมาณพลาสติกเยอะกว่าแบบถุงรีฟิล แต่ในด้านการกำจัดนั้น ขวดสามารถดำเนินการรีไซเคิลได้ในระบบปกติ เพียงแค่เราคัดแยกขยะให้ถูกประเภท เพราะหากหลุดจากการนำไปรีไซเคิล เป็นการฝังกลบแทน จะทำให้กระบวนการย่อยสลายก่อคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าถุงรีฟิลเสียอีก
หากใครไม่สามารถเลือกได้ว่าจะใช้แบบไหนดี วิธีการเหล่านี้อาจจะทำให้ง่ายขึ้น เช่น ลดปริมาณการซื้อบ่อยๆ ด้วยการซื้อขนาดใหญ่แทน เพราะหนึ่งครั้งใช้ได้นาน, เลือกบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ เมื่อใช้แล้วแยกลงถังขยะให้ชัดเจน, หากซื้อแบบถุงรีฟิล เวลาใช้เสร็จแล้วส่งต่อให้กับโครงการที่เปิดรับโดยเฉพาะเพื่อนำไปทำประโยชน์ต่อไป (GREEN ROAD นำพลาสติกไปทำอิฐบล็อกปูถนนหรือเก้าอี้, N15 Technology
และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ นำไปทำเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน), ผลิตสบู่ น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่มใช้เอง ลดทั้งการใช้พลาสติกและค่าใช้จ่ายไปในตัว, ส่งขยะกลับไปที่ผู้ผลิต (ส่งคืนเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ) แต่ในประเทศไทยยังไม่มีนโยบายแบบนี้ เป็นต้น หวังว่าทุกคนคงตัดสินใจกันได้ไม่ยากแล้วใช่มั้ย
โฆษณา