14 พ.ย. 2022 เวลา 09:03 • กีฬา
SUM UP: มหากาพย์จอดำในวันนั้น สู่บอลโลกที่รัฐต้องหนุนในวันนี้
พอพูดถึงฟุตบอลโลก 2022 จนถึงวันนี้หลายท่านที่เป็นแฟนบอลก็คงยังไม่รู้ชะตากรรมว่าเมื่อไหร่จะได้ดู แล้วดูผ่านช่องทางไหนบ้าง? ซึ่งแน่นอนว่าต้นตอปัญหาของเรื่องราวฟุตบอลโลกทั้งหมด เป็นเพราะกฎเหล็ก 2 ข้อที่ทำให้คนซื้อลิขสิทธิ์ไม่กล้าที่จะซื้อซ้ำอีกเลย
นั่นคือกฎ Must Have และ Must Carry ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2556 ซึ่งประกาศในตอนนั้นเกิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์อะไร แล้วทำไมถึงเกิดเป็นประกาศเรื่องนี้ขึ้น The Modernist สรุปมาให้ได้อ่านกันข้างล่างนี้แล้ว
หากจะกล่าวถึงกฎ Must Have และ Must Carry ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 เมื่ออุตสาหกรรมทีวีดาวเทียมเริ่มเสรีมากขึ้น หลังจากมีการสรรหา กสทช. ชุดแรกเสร็จสิ้น จากเดิมที่มีผู้แข่งขันเพียงไม่กี่ราย ตลาดก็เริ่มมีคู่แข่งมากขึ้น โดยเฉพาะ GMM GRAMMY ที่เริ่มต้นด้วยการซื้อลิขสิทธิ์กีฬาเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ “ฟุตบอลยูโร 2012” ซึ่งถือเป็นหมัดเด็ดในการประชาสัมพันธ์ ในขณะที่ฝั่ง RS ก็ได้รับสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลลาลีกา สเปน ตั้งแต่ปี 2012-2014
และช่วงฟุตบอลโลกในปี 2010/2014 ทั้งสองบริษัทก็ได้เปลี่ยนตัวเองจากสงครามเพลง เป็นสงครามกล่องทีวีดาวเทียมไปเสียอย่างนั้น ทางฟาก “RS” เอากล่อง “Sunbox” ออกมาขายในปี 2555 ส่วน “GMM GRAMMY” ก็ปล่อยกล่อง “GMM Z” ออกมาในปีเดียวกัน อีกทั้งยังมี “CTH” ที่ได้สิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีคในปีเดียวกันด้วย ตัดหน้าทรูวิชั่นส์ไปอย่างเฉียดฉิว
และแล้วการแข่งขัน “ฟุตบอลยูโร 2012” ก็เปิดฉากในวันที่ 8 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2555 โดย GMM GRAMMY แบ่งการถ่ายทอดในบางคู่ให้กับสถานีโทรทัศน์ 3 ช่อง คือ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3, สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และโมเดิร์นไนน์ทีวี รวมถึงถ่ายทอดผ่านทาง DTV ผ่านแพ็คเกจพิเศษด้วยเช่นกัน ส่วนบางคู่พิเศษจะถ่ายทอดผ่านช่องทางของ GMM Z โดยผ่านช่อง GMM SPORT นั่นเอง
แต่การถ่ายทอดวันแรกก็เจอเสียงก่นด่ามาเป็นชุด เมื่อผู้ที่ติดตั้งจานดาวเทียมของเจ้าอื่นๆ ไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 คู่ที่ถ่ายทอดผ่านทางฟรีทีวีได้เลย! โดยเฉพาะกับผู้ชมผ่านระบบทรูวิชั่นส์กว่า 2 ล้านราย และนั่นส่งผลให้ กสทช. เรียก GMM Z และฟรีทีวี ได้แก่ช่อง 3,5 และ 9 มาเจรจาเพื่อปลดล็อค แต่ไม่เป็นผล
พอผู้ชมที่ชมผ่านทรูวิชั่นส์ไม่สามารถรับชมได้ บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า ประชาชนที่เป็นลูกค้าของทรูอาจจะไม่ได้รับชมการถ่ายทอดฟุตบอลยูโรผ่านทางกล่องทรูวิชั่นส์ได้
เนื่องจากเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ได้ให้ทางฟรีทีวีส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมแบบเข้ารหัส (เดลินิวส์, 20 มิ.ย. 2555) และ กสทช. มีมติให้ปรับทรูวิชั่นส์ เนื่องจากไม่แก้ไขให้ผู้ชมสามารถชมได้ตามการโฆษณา และเป็นการใช้กฎหมายคนละฉบับด้วยซ้ำ จนกระทั่งสุดท้ายทาง UEFA ตัดสินใจไม่ให้ทรูวิชั่นส์ถ่ายทอดสดด้วย อ้างว่าเป็นเพราะทรูวิชั่นส์เพิกเฉยในการเจรจาจนการแข่งขันได้เริ่มไปแล้ว ทำให้ผู้ชมที่ชมผ่านทางกล่องทรูวิชั่นส์ต้องพบกับเหตุการณ์ “จอดำ” ทุกครั้งเมื่อดูบอลยูโรผ่านฟรีทีวีเสาอากาศ
ในระหว่างนั้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้จัดเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค : กรณีจอดำฟุตบอลยูโร 2012” โดยในตอนหนึ่งนั้น ประวิทย์ มาลีนนท์ ได้กล่าวว่า “หากจะให้มีการแก้ไขในอนาคต กสทช.ก็ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าในการส่งสัญญาณของระบบทีวีดาวเทียมหรือเคเบิ้ลแบบบอกรับสมาชิกจะต้องจัดให้มีช่องสัญญาณของฟรีทีวีเข้าไปอยู่ในอันดับต้นๆ เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคทุกส่วนเข้าถึงทุกรายการ
เพราะต้องยอมรับว่าช่องฟรีทีวีในบางพื้นที่ก็มีปัญหาเรื่องการส่งสัญญาณรับชมที่จะไม่ชัดทำให้ผู้บริโภคหันไปพึ่งพาทีวีระบบดาวเทียมหรือเคเบิ้ล ส่วนเรื่องลิขสิทธิ์ของรายการก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องรับในทางธุรกิจว่าจะต้องมีผู้จ่ายเงินเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งจุดนี้ต้องพูดคุยกันให้ชัดเจนว่าใครจะต้องเป็นผู้จ่าย หรือภาครัฐจะมีการช่วยสนับสนุนได้บางส่วนหรือไม่ เรื่องลิขสิทธิ์แก้ไขได้ด้วยเงิน” (ประชาไท, 15 มิ.ย. 2555)
2
สุดท้ายเรื่องจอดำก็ไปถึงศาลและมีการไต่สวนกันไปมาหลายครั้ง โดยตัวแทนอย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้ร่วมฟ้องกับประชาชนที่ใช้บริการทรูวิชั่นส์ โดยการฟ้องในครั้งนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้สามารถรับชมฟุตบอลยูโร 2012 ได้ตามปกติ แต่ศาลก็มีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของ GMM GRAMMY ที่บล็อคสัญญาณฟุตบอลโลกตามเงื่อนไขการซื้อลิขสิทธิ์จากทาง FIFA มานั้นถือว่าถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งก็สร้างความผิดหวังให้กับผู้ฟ้องร้องและผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เพราะนั่นคือคุณต้องดูจอดำๆ ทุกครั้งที่มีการถ่ายทอดบอลยูโรแล้วจริงๆ
เรื่องราวจบลงด้วยจอดำ และสายสัมพันธ์ระหว่าง “ทรูวิชั่นส์-แกรมมี่” ตัดขาดชนิดที่ว่าต่างคนต่างลบช่องของคู่แข่งออกจากกล่องตัวเองเลยด้วยซ้ำ ในขณะเดียวกัน กสทช. ก็ประชุมหารือ ทำประชาพิจารณ์ จนนำไปสู่การออกข้อบังคับ Must Carry และ Must Have โดยใจความสำคัญของ Must Carry คือ “ฟรีทีวีเสาอากาศต้องออกอากาศคอนเทนต์เดียวกันในทุกแพลตฟอร์ม” หรือง่ายๆ ก็คือ ฟรีทีวีต้องเอาช่องตัวเองไปออกในทุกๆ ช่องทางด้วย
ส่วน Must Have คือการที่ผู้ถือลิขสิทธิ์ใน 7 ชนิดกีฬานำไปออกอากาศทางฟรีทีวี เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนรวมถึงคนด้อยโอกาส ให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการโทรทัศน์บางรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้อย่างเป็นธรรม เสมอภาค และทั่วถึง โดยทั้ง 2 ฉบับนั้นประกาศเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2556 และมีผลในวันต่อมาทันที
เหมือนว่าเรื่องทุกอย่างกำลังจะไปได้สวย และจบลงด้วยดี แต่ก็มีเรื่องเกิดขึ้นอีกจนได้ เมื่อมีการประกาศใช้กฎจริง ดันไปกระทบการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่อาร์เอสถือลิขสิทธิ์อยู่ เพราะฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ถือเป็นหนึ่งในเจ็ดชนิดกีฬาที่บังคับให้ลงฟรีทีวีเสาอากาศเท่านั้น และในทุกคู่ด้วย
ซึ่งทำให้อาร์เอสต้องไปฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งเฉพาะฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย และศาลก็พิจารณาให้อาร์เอสชนะ ในช่วงเวลานั้นอาร์เอสก็จัดให้มีการถ่ายทอดผ่านฟรีทีวีตามสัญญาลิขสิทธิ์ คือ 22 คู่ ส่วนอีก 42 คู่นั้นให้ชมผ่านกล่อง Sunbox เท่านั้น
แต่ในเวลาถัดมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งให้ กสทช. จัดหางบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จำนวนกว่า 427 ล้านบาทมาจ่ายให้อาร์เอส แลกกับการนำบอลอีก 42 คู่มาถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวี นั่นเท่ากับว่าทุกคู่ต้องถ่ายทอดผ่านฟรีทีวีเท่านั้น จุดนี้เองอาร์เอสต้องจำยอมเอาฟุตบอลมาออกทีวีดิจิตอลทั้งหมด 64 คู่เลยทีเดียว และนั่นคือจุดที่ทำให้บริษัทต่างๆ เริ่มถอยการซื้อลิขสิทธิ์
อย่างไรก็ดีในปี 2561 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ภาคเอกชนจำนวน 9 รายตัดสินใจลงขันซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2018 รวมกัน 1,400 ล้านบาท โดยออกอากาศในฟรีทีวี 3 ช่อง คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, สถานีโทรทัศน์ทรูโฟร์ยู และสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี และยังพ่วงออกอาอากาศแบบ 4K ผ่านทรูวิชั่นส์ และออกอากาศออนไลน์ทาง TrueID Application อีกด้วย ซึ่งออกอากาศเต็มครบทุกแมทซ์เลยทีเดียว
แต่ในปี 2565 ทั้งจากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม และปัญหาโควิด-19 ยังไม่นับการเลื่อนการแข่งขันจากเดิมช่วงมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี มาเป็นพฤศจิกายน-ธันวาคม และกฎของประเทศไทยที่ 64 คู่ต้องออกทางฟรีทีวีเสาอากาศเท่านั้น ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์อย่าง FIFA ไม่ยอมลดค่าลิขสิทธิ์ในการได้รับสิทธิ์ออกอากาศฟุตบอลโลก 2022 โดยเสนอราคาอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท
ทำให้การกีฬาแห่งประเทศไทยต้องประสานนำเงินจาก กสทช. ซึ่งก็เอาเงินจาก กทปส. มาอนุมัติโดยไม่เบียดเบียนเอกชน ซึ่งเป็นดำริของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้พูดให้สื่อมวลชนทราบเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565
1
แต่เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 กสทช. เสียงข้างมากมีมติให้อนุมัติการใช้เงินจาก กทปส. มูลค่า 600 ล้านบาทในการอุดหนุนการรับชมฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 คู่ เพื่อความเสมอภาพของคนด้อยโอกาส ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดทำ Must Have และยังสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. ด้วยเช่นกัน ส่วนอีก 1,000 ล้านบาทนั้น กกท. ได้จัดหาโดยได้รับการอุดหนุนจากภาคเอกชน 5 เจ้าๆ ละ 200 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการเจรจากับ FIFA เพิ่มเติมต่อไป
1
หากลองวิเคราะห์จากต้นตอทั้งหมด เราจะพบเห็นความ “ลักลั่น” ของการใช้แง่มุมกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งการใช้งบประมาณ “เพื่อคนด้อยโอกาส” และการตั้งกฎหมาย Must Have ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของการซื้อลิขสิทธิ์ และยังส่งผลต่การบริหารลิขสิทธิ์ของผู้ซื้ออีกด้วย เพราะนอกจากจะต้องแบกภาระการฉายฟรีทีวีทุกคู่แล้ว ยังไม่สามารถหากำไรในช่องทางอื่นๆ ในเชิงการออกอากาศนอกจากโฆษณา 12 นาที/ชั่วโมง บนฟรีทีวีที่นับวันราคาจะยิ่งลดลงได้เลย
และตัวกฎหมายเองยังมีปัญหาในเชิงความล้าสมัย เนื่องจากแพลตฟอร์มเมื่อ 10 ปีก่อนกับปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทำให้การบังคับใช้เกิดปัญหาจริงๆ ซึ่งควรถึงเวลาแล้วหรือยังที่ กสทช. ต้องทำหน้าที่ในการสร้างจุดสมดุลระหว่างเอกชนที่จะเข้ามาซื้อลิขสิทธิ์ และคนไทยซึ่งเป็นผู้บริโภคไม่ให้ไม่จอดำ ทั้งในเชิงของเทคนิคและในเชิงของลิขสิทธิ์ที่อาจจะไม่ได้มีโอกาสดู ถ้าหากไม่มีใครซื้อก็เป็นไปได้
1
เรียบเรียงและรวบรวมโดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง
กราฟิกโดย ศุภณัฐ เลิศรักษ์กุล
อ่านบนเว็บไซต์ได้ทาง https://themodernist.in.th/roadtoworldcup2022-livetv/
#TheModernistTH - LEARN TO LIFE, POINT TO CHANGE.
ติดตามเราได้ทาง https://www.themodernist.in.th
ติดต่อโฆษณา opinionmediathai@gmail.com
โฆษณา