16 พ.ย. 2022 เวลา 04:58 • สิ่งแวดล้อม
ไทยกระตุ้นนานาชาติ ร่วมมือสู้โลกร้อน บนเวที COP27 อียิปต์
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถ้อยแถลง ในการประชุมระดับสูงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP27 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ โดยได้กล่าวถึงการที่ประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบเชิงลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยได้เร่งดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน ทั้งนี้ "การร่วมมือร่วมใจ จะทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้"
แถลงการณ์บนเวที COP27
โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ขอกล่าวสวัสดีท่านประธาน องค์คณะ และผู้ร่วมประชุมทุกท่าน ณ ที่นี้ "สวัสดีครับ"
ก่อนอื่น ข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้กล่าวแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลอียิปต์ เจ้าภาพงานประชุม COP27 ครั้ง และขอชื่นชมในการเป็นเจ้าภาพอันยอดเยี่ยม ณ เมืองชาร์ม เอล ชีค แห่งนี้
ประเทศไทยเชื่อมั่นอย่างที่สุดว่าการประชุม ณ ประเทศอียิปต์ ในครั้งนี้ จะเป็นการประชุม COP ที่ประสบความสำเร็จและนำมาซึ่งความก้าวหน้าในเชิงปฏิบัติได้ต่อไป ข้าพเจ้าขอเรียนท่านประธานครับว่า นับตั้งแต่การประชุม COP26 ที่ผ่านมา
ประเทศไทย ได้เดินหน้าและลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม กระทั่งมาถึงการประชุม COP27 ครั้งนี้ เรามาพร้อมกับเป้าหมายที่ยกระดับขึ้นไปอีกขั้น เราจะเดินหน้าแผนความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDC - Nationally Determined Contribution) ให้อยู่ในระดับ 40% ภายในปี 2030 ด้วยการสนับสนุนจากนานาชาติ
ประเทศไทย มุ่งมั่นจะเอาชนะปัญหาโลกร้อนเฉกเช่นเดียวกับนานาประเทศ แบบอย่างและรากฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงวางไว้ เป็นแนวทางอย่างดีในการนำมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาแห่งความอ่อนไหวเปราะบางต่อภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงเช่นปัจจุบัน
ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศไทยวางแผนสำหรับการผลักดันเศรษฐกิจทิศทางใหม่ BCG อันได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และกระบวนพัฒนานี้ กำลังเดินหน้าไปในทุกภาคของอุตสาหกรรมด้วยอัตราเร่ง เพื่อเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากยานยนต์ลงให้ได้ 30% ภายในปี 2030 ขณะที่เพิ่มปริมาณการใช้พลังงานทดแทนขึ้นมาให้ถึงระดับ 50% ในปี 2050 และสนับสนุนเชิงธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2040
เราสนับสนุนส่งเสริมการใช้ซีเมนต์ทางเลือกใหม่ๆ ระบบหล่อเย็นของอุตสาหกรรม ทดลองระบบเกษตรทางเลือกที่ใช้เทคโนโลยี ตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้นเป็น 55% เพื่อลดระดับคาร์บอนลงให้ได้ภายในปี 2057
ไม่เพียงความร่วมมือกับนานาประเทศที่เราแสวงหาอยู่เสมอ ประเทศไทยยังได้เดินหน้าแผนแม่บทในการจัดการเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นไปตามแนวทางตามบทบัญญัติ 6.2 ของอนุสัญญาความตกลงปารีส (Paris agreement) นับเป็นประเทศในกลุ่มผู้นำที่ปฏิบัติตามแนวทางนี้เลยทีเดียว
ท่านประธานที่เคารพ ประเทศไทยเชื่อมั่นอย่างที่สุดว่า การมาประชุมพบปะกันในครั้งนี้ จะไม่เพียงแค่การพูดคุย แต่จะเกิดผลในทางปฏิบัติในมิติและโดยทันที ข้าพเจ้าศรัทธาในพลังของมนุษยชาติที่จะกำหนดอนาคตของเราเองอย่างมีสติบนสำนึกการมีส่วนร่วม ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าการร่วมมือกันจะช่วยให้เราพิชิตศัตรูที่เกิดจากน้ำมือเราได้
ท่านสุภาพสตรีและท่านสุภาพบุรุษ ความร่วมมือเท่านั้นที่จะทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้ ขอบคุณครับ
Speech ภาษาอังกฤษ https://healthserv.net/221421
โฆษณา