16 พ.ย. 2022 เวลา 05:41 • ความคิดเห็น
กุญแจสู่ความสำเร็จคืออะไร? สิ่งที่ต้องมี...เมื่อไม่มีแต้มต่อในชีวิต
.
เมื่อพูดถึงความสำเร็จ ภาพที่อยู่ในหัวของหลาย ๆ คนอาจจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่าง Steve Jobs, Elon Musk, Warren Buffett, Tim Cook หรือ Mark Zuckerberg ซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่เต็มไปด้วยพรสวรรค์อย่างไม่ต้องสงสัย แต่เราอาจจะสงสัยว่าแล้วพรสวรรค์อย่างเดียวเพียงพอที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตรึเปล่า แล้วถ้าเราไม่ได้มีพรสวรรค์ด้านใดที่โดดเด่น เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เราจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยเหรอ
.
แองเจลา ลี ดั๊กเวิร์ธ (Angela Lee Duckworth) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียผู้เขียนหนังสือ “Grit : The power of passion and perseverance” เชื่อว่าพรสวรรค์ของแต่ละบุคคลเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น กุญแจสำคัญยิ่งกว่าคือสิ่งที่เธอเรียกว่า ‘Grit’ หรือ ‘ความเพียรที่เป็นส่วนผสมของความรักในสิ่งที่ทำ และความมุ่งมั่นบากบั่นไปสู่เป้าหมายในระยะยาว’
.
พูดให้เข้าใจง่ายๆ Grit ก็คือความอดทน และความเพียรพยายามในการทำสิ่งหนึ่งอย่างเต็มที่ในระยะยาว ซึ่งแองเจลาบอกว่าสิ่งที่ทำให้คนความสำเร็จในการเรียนและในชีวิตไม่ใช่ IQ หรือ พรสวรรค์อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มันคือ Grit คนที่ประสบความสำเร็จไม่ได้มี IQ สูงเสมอไป รวมทั้งคนที่เรียนเก่งได้เกรด 4.00 อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าคนที่ได้เกรด 2.00 ก็เป็นได้ แต่เป็นการอดทน ตั้งใจ และพยายามทำสิ่งต่างๆอย่างสม่ำเสมอในระยะยาวต่างหาก
.
แองเจลาลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาการบริหาร เพื่อมาสอนคณิตศาสตร์ให้เด็กมัธยมต้นที่โรงเรียนเทศบาลเมืองนิวยอร์ค ซึ่งเหมือนครูคนอื่นทั่วไป เธอสร้างแบบทดสอบและข้อสอบต่าง ๆ ให้การบ้านและมอบหมายงาน เมื่อเด็กส่งงานมาก็ตรวจให้เกรดตามปกติ
.
แต่การสอนทำให้เธอค้นพบว่า ไอคิว ไม่ใช่สิ่งเดียวที่แตกต่างระหว่างเด็กเรียนดีที่สุดและเด็กที่อ่อนที่สุด เด็กที่ผลการเรียนดีบางคนไม่ได้มีคะแนนไอคิวสูงเทียมเมฆ แล้วเด็กที่ฉลาดที่สุดบางคนก็ไม่ได้มีผลการเรียนดีนัก
.
เธอเล่าว่าเนื้อหาที่เรียนย่อมมีความยากแน่นอน ทั้งเรื่องของ อัตราส่วน ทศนิยม พื้นที่ของสี่เหลี่ยมด้านขนาน แต่ก็ไม่ถึงขนาดว่ายากจนทำไม่ได้ และในตอนนั้นเธอก็มั่นใจมากทีเดียวว่านักเรียนที่เธอสอนทุกคนจะสามารถเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ ถ้าพวกเขาพยายามให้มากและใช้เวลากับมันนานพอ
.
หลายปีต่อมาเธอเริ่มได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่เราต้องการในแวดวงการศึกษาคือความเข้าใจที่
มากกว่านี้ ทั้งในตัวนักเรียนและระบบการเรียนรู้ ทั้งในแง่ของการสร้างแรงจูงใจ และในแง่ของจิตวิทยา ในด้านการศึกษาสิ่งหนึ่งเรารู้จักดีที่สุดคือการวัดค่าไอคิว แต่ถ้าการใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องการอย่างอื่นมากกว่านั้น
.
เธอตัดสินใจลาออกอีกครั้งเพื่อเรียนต่อปริญญาโทสาขาจิตวิทยา เพราะต้องการตอบโจทย์ที่สุดแสนท้าทายนั่นก็คือ
.
ใครบ้างที่จะประสบความสำเร็จและทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
.
ระหว่างการหาข้อมูล แองเจลาพยายามที่จะพยากรณ์ว่านายร้อยในค่ายทหารคนใด จะยังอยู่ฝึกต่อและใครจะลาออก เธอไปเยือนดูการแข่งขันสะกดคำแห่งชาติ พยายามคาดเดาว่าเด็กคนไหนจะไปได้ไกลที่สุดในการแข่งขัน เธอศึกษาคุณครูมือใหม่ที่ต้องทำงานในละแวกที่ยากลำบาก ด้วยคำถามว่าครูคนใดจะยังคงสอนอยู่ต่อไปเมื่อปีการศึกษาจบลง และในกลุ่ม
นั้นใครจะมีประสิทธิภาพที่สุดในการยกระดับผลการศึกษาของเด็กที่สอน อีกทั้งยังร่วมมือกับบริษัทเอกชนด้วยการถามว่า เซลส์คนใดจะยังรักษางานไว้ได้และใครจะเป็นผู้ที่ทำรายได้สูงสุด ซึ่งบริบทของแต่ละข้อมูลก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
.
ในที่สุดก็มีคุณสมบัติหนึ่งโดดเด่นขึ้นมา มันไม่ใช่ความฉลาดในการเข้าสังคม ไม่ใช่รูปลักษณ์ที่ดูดี ไม่ความแข็งแรงของสุขภาพ และมันไม่ใช่ไอคิว แต่มันคือ “ความเพียรพยายาม” (Grit) ต่างหากหล่ะ
.
Grit หรือ ความเพียรพยายาม ฝักใฝ่ หลงรัก ทุ่มเท และบากบั่นฟันฝ่า เพื่อเป้าหมายระยะยาว ความเพียร คือความทรหดอดทน คือการมุ่งมั่นไปข้างหน้า วันแล้ว วันเล่า ไม่ใช่แค่สัปดาห์ ไม่ใช่แค่เดือน แต่เป็นปี ๆ ทำมันอย่างหนัก เพื่อให้อนาคตที่ฝันกลายเป็นจริงขึ้นมาให้ได้
.
ความเพียรพยายาม คือการใช้ชีวิตแบบวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งระยะสั้น
.
เด็กที่มีความเพียรพยายามมากกว่า มีความเป็นไปได้อย่างชัดเจนที่จะเรียนจบ แม้ตอนที่เธอเปรียบเทียบกับลักษณะอื่นที่สามารถวัดได้ เช่นรายได้ครอบครัว คะแนนทดสอบความสำเร็จที่เป็นมาตรฐาน แม้กระทั่งความรู้สึกของเด็กว่าปลอดภัยแค่ไหนเวลาไปโรงเรียน
.
ฉะนั้นจึงไม่ใช่แค่ที่ค่ายทหารหรือการแข่งสะกดคำแห่งชาติที่ความเพียรพยายามเป็นปัจจัยสำคัญ ในโรงเรียนก็ด้วย โดยเฉพาะกับเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะลาออก สิ่งที่น่าตกใจที่สุดสำหรับเกี่ยวกับความเพียรคือเรารู้จักมันน้อยมาก วิทยาศาสตร์รู้จักวิธีสร้างเสริมมันน้อยมาก และที่รู้แน่ ๆ คือ ‘พรสวรรค์’ ไม่ได้ช่วยให้มีความเพียรพยายามเพื่อขึ้น
.
ข้อมูลของเธอแสดงไว้อย่างชัดเจน ว่ามีผู้มีพรสวรรค์มากมายที่ไม่ทำหน้าที่ของตนให้บรรลุผล มันชี้ว่าความเพียรนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องแบบทางตรงหรือสวนทางกับพรสวรรค์ด้วยซ้ำไป
.
ต่อมาเธอได้พูดถึงเรื่อง “ความเชื่อในการเติบโต” (Growth Mindset) เป็นไอเดียที่พัฒนาขึ้นที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดย แครอล ดเว็ก (Carol Dweck) มีความเชื่อว่า ความสามารถในการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว และเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความพยายามของคุณเอง
.
ดร.ดเว็กได้เสนอว่าเมื่อเด็กอ่านและเรียนรู้ เกี่ยวกับสมองและการเติบโตของสมอง ในการตอบสนองกับสิ่งท้าทาย พวกเขาจะบากบั่นต่อไปเมื่อพวกเขาล้มเหลว เพราะพวกเขา ไม่เชื่อว่า ความล้มเหลว เป็นสิ่งที่คงอยู่ถาวรตลอดไป
.
ดังนั้น ความเชื่อในการเติบโต เป็นไอเดียที่ยอดเยี่ยม ในการบ่มเพาะความเพียรพยายาม เราต้องเปิดใจที่จะล้มเหลว ผิดพลาด เพื่อจะได้เริ่มใหม่ ด้วยบทเรียนที่เรียนรู้มา
.
ในอีกนัยหนึ่ง เราเองต้องฝ่าฟันด้วยความเพียรพยายาม ในการสร้างให้เด็ก ๆ ของเราให้มีความพากเพียรมากยิ่งขึ้นไปด้วย เพราะฉะนั้นสูตรหน้าตาจะประมาณนี้
.
ความสำเร็จ = พรสวรรค์ X ความเพียรพยายามอย่างสาหัสในระยะยาว
.
ซึ่งพรสวรรค์แน่นอนจะช่วยผลักให้ไปไกลขึ้น แต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือความเพียรพยายามอย่างสาหัสในระยะยาวด้วย เธอกล่าวไว้ในหนังสือว่า
.
“พรสวรรค์มีค่าแค่ไหน
ความพยายามมีค่าเป็นสองเท่า”
.
เมื่อไม่มีแต้มต่อในชีวิต...เราสู้ได้ด้วยความพยายามครับ
.
(เธอเขียนหนังสือ Grit ที่แปลเป็นชื่อไทยว่า ‘สิ่งที่ต้องมี...เมื่อไม่มีแต้มต่อในชีวิต’)
.
โฆษณา