17 พ.ย. 2022 เวลา 08:07 • ข่าว
เปิดฉากงาน APEC CEO Summit 2022 การประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชน 'BCG คือวาระสำคัญ'
เริ่มต้นขึ้นแล้ว กับงาน APEC CEO Summit 2022 การประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้นำจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Embrace Engage Enable’ โดยมีเป้าหมายส่งเสริมความมั่งคั่งและการเติบโตของประชาชน และสังคมในเอเชียแปซิฟิกสู่การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนการแบ่งปันแง่มุมทางนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างการเติบโตร่วมกัน ทั้งนี้ Techsauce ได้เข้าร่วมเป็น Media Partner ในงานครั้งนี้ด้วย
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธาน APEC CEO Summit 2022 และรองประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้เปิดเผยว่า เป็นเรื่องน่าภูมิใจที่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันครั้งแรกหลังการระบาดของโควิด-19 ที่แม้ว่าจะบรรเทาลงแล้ว แต่ทุกประเทศยังมีความท้าทายอีกมายที่ต้องเผชิญ
เช่น สงคราม ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภาวะเงินเฟ้อ การก่อการร้าย การขาดแคลนอาหาร พลังงาน ความยั่งยืน เทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน ตลอดจนภัยคุกคามอื่นๆ ดังนั้นการประชุมครั้งนี้จะเป็นพื้นฐานสำหรับการพูดคุยเพื่อนำไปสู่การหาทางออกและกลยุทธ์ต่อไป
"เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือและความมุ่งมั่นของเรา จะนำพาเราให้ผ่านพ้นความผันผวนต่าง ๆ ที่โลกกำลังเผชิญ โดยตระหนักว่าโลกของเรา ต้องการวิธีการแก้ปัญหาที่อยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน ความครอบคลุม และนวัตกรรมใหม่ ๆ" ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กล่าว
คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG) มาเป็นกลยุทธ์ในการฟื้นฟูประเทศหลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค
ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตของประเทศ รวมถึงการก่อสร้างทางหลวงและมอเตอร์เวย์เพิ่มขึ้นถึง 271% ในปี 2564 การสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อเมืองและศูนย์ด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิได้เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารอีก 17% เป็น 139 ล้านคน
"เสถียรภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ ประกอบกับการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและสุขภาพ ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ" คุณสนั่น อังอุบลกุล กล่าว
ซึ่งหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่น ขณะที่การเข้าถึงระบบสวัสดิการได้รับการพัฒนาจนได้รับความชื่นชมจากนานาชาติว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่รับมือกับการระบาดใหญ่ได้ดีที่สุดประเทศหนึ่ง
ทั้งนี้ในงานยังได้รับเกียรติจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมปาฐกถาเปิดงานครั้งนี้ด้วย
โดยพลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวถึง บทบาทของภาคเอกชนในการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่ไทยนำมาเป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาและการเติบโต ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างคุณค่า เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งยังประกาศว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอนาคตอันใกล้ และความยั่งยืนเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดสำหรับปีนี้
โดยนายกฯ ได้กล่าวต่อว่าปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลมีมูลค่า 14% ของ GDP ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าจะขยายให้เป็น 30% ภายในปี 2030
"ความร่วมมือที่เข้มแข็งและความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและครอบคลุม" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าว
ไทยจะเสนอให้ผู้นำเอเปครับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ในปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งจะกำหนดทิศทางของเอเปคไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน สนับสนุนความพยายามในการจัดการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน ผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปรับปรุงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดขยะให้เป็นศูนย์
ซึ่งความสำเร็จนี้ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาคเอกชน และการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ภูมิภาคก้าวไปข้างหน้า และเติบโตไปด้วยกันสู่อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ติดตามข่าวสารโลกธุรกิจและเทคโนโลยีแบบอัปเดตก่อนใคร ในทุกช่องทางของเรา
โฆษณา