20 พ.ย. 2022 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กรณีศึกษา การแบ่ง Class ของหุ้น เพื่อกุมอำนาจบริษัท
3
การถือหุ้น เปรียบเสมือนการเป็นเจ้าของกิจการ และผู้ถือหุ้นมีสิทธิ์ที่จะเลือกผู้บริหาร และกำหนดทิศทางของบริษัท
แต่รู้หรือไม่ว่า ประโยคนี้อาจจะไม่ได้จริงเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าผู้ถือหุ้นใหญ่ทุกคนของ META รวมตัวกันโหวตไล่ Mark Zuckerberg ออกจากตำแหน่ง CEO ของบริษัท แต่ก็ไม่สามารถไล่ชายคนนี้ ลงจากตำแหน่งได้
5
แล้วทำไมผู้ถือหุ้นซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าของบริษัท ถึงไม่สามารถไล่ CEO ออกจากบริษัทได้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
3
คำตอบของเรื่องนี้ ก็คือโครงสร้างของผู้ถือหุ้นในบางบริษัท รวมถึง META นั้น แตกต่างจากบริษัทอื่น ๆ
โดยมีการแบ่งประเภทของหุ้นในบริษัท ออกเป็นหลายประเภท ซึ่งของ META นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
แบบแรกคือ หุ้น Class A ที่นักลงทุนซื้อขายในตลาด NASDAQ โดยทั่วไป ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 2,248 ล้านหุ้น และผู้ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียงในที่ประชุมที่ 1 เสียง ต่อ 1 หุ้น
3
แต่ในขณะเดียวกัน META ก็ยังมีหุ้นอีกชนิดที่เรียกว่า หุ้น Class B ซึ่งไม่ได้ซื้อขายอยู่ในตลาด NASDAQ
2
แต่ถูกถือโดยผู้ก่อตั้งและพนักงานระดับสูงเพียงไม่กี่คน โดยมีปริมาณรวมกันถึง 402 ล้านหุ้น และ Mark Zuckerberg คนเดียว ก็ถือหุ้น Class B มากถึง 90%
3
ประเด็นหลักคือ หุ้น Class B จะมีความพิเศษกว่าหุ้น Class A ด้วยการมีสิทธิ์ออกเสียงในที่ประชุม มากถึง 10 เสียง ต่อ 1 หุ้น
6
นั่นหมายความว่า Mark Zuckerberg จะมีสิทธิ์ในการโหวต มากถึง 58% จากสิทธิ์ในการโหวตทั้งหมดของบริษัท
1
เท่ากับว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ถือหุ้นทั้งหมด จะรวมตัวกันโหวตไล่ Mark Zuckerberg ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท และดำรงตำแหน่ง CEO ออกจากบริษัท
ไม่เพียงแค่หุ้น META เท่านั้น ที่มีระบบการจัด Class เพราะแม้แต่ Alphabet บริษัทแม่ของ Google เอง ก็มีการแบ่งผู้ถือหุ้นมากถึง 3 Class
2
โดยที่ถ้าเราซื้อหุ้น Alphabet ด้วยตัวย่อ GOOGL จะเปรียบเสมือนการซื้อหุ้น Class A ซึ่งมีสิทธิ์ออกเสียง และได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนหุ้นปกติโดยทั่วไป
แต่ถ้าเราซื้อหุ้นตัวย่อ GOOG จะหมายถึง การซื้อหุ้นใน Class C ที่แม้จะได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกัน แต่ผู้ถือหุ้นจะไม่มีสิทธิ์ในการโหวต เพื่อกำหนดทิศทางของบริษัทได้
3
อีกทั้งยังมีหุ้นใน Class B เหมือนกับ META ที่เหล่าผู้ก่อตั้งและผู้บริหารมีสิทธิ์ในที่ประชุมมากถึง 10 เสียง ต่อ 1 หุ้น
2
โดยสาเหตุหลักที่บริษัทเหล่านี้ ต้องมีหุ้นหลายชนิด ก็เพื่อให้ผู้บริหาร รวมถึงผู้ก่อตั้งยังสามารถรักษาอำนาจ ในการตัดสินใจทิศทางที่สำคัญของบริษัทได้ และยังลดโอกาสในการถูกควบคุมกิจการ จากบริษัทอื่น ๆ หรือบุคคลภายนอก
1
และแม้ว่าการแบ่งหุ้นออกเป็น Class อาจจะทำให้นักลงทุนรายย่อยเสียเปรียบ แต่ในบางกรณีการแบ่งหุ้นออกเป็น Class ก็อาจกลายเป็นข้อดีได้เหมือนกัน
อย่างในกรณีหุ้น Berkshire Hathaway ของ Warren Buffett ที่บริษัทนำรายได้กลับไปลงทุน และแทบจะไม่เคยปันผลออกมาเลย
1
อีกทั้งยังทยอยซื้อหุ้นคืนอยู่ตลอด จนส่งผลให้ราคาของหุ้นอยู่ในระดับสูง ทำให้สภาพคล่องของหุ้นต่ำ
จนบริษัทต้องออกหุ้น Class B ซึ่งมีมูลค่าน้อยกว่าหุ้น Class A ถึง 1,500 เท่า และยังไม่มีสิทธิ์ในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเหมือนหุ้น Class A
3
แต่ผู้ถือหุ้น Class A สามารถแลกหุ้นจาก Class A ไป Class B เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้หุ้นในมือ และสามารถแบ่งขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไรเพียงแค่บางส่วน
1
หรือในกรณีที่นักลงทุนอยากร่วมเป็นเจ้าของ Berkshire Hathaway ก็สามารถเริ่มต้นลงทุนได้ด้วยการซื้อหุ้น Class B ที่ราคา 1.1 หมื่นบาทต่อหุ้น แทนที่จะต้องใช้เงินมากถึง 16.7 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้น Class A
2
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ยังไม่มีการแบ่ง Class ของหุ้นเหมือนบริษัทในต่างประเทศ
3
แต่สำหรับต่างประเทศ มี Class หุ้นหลายประเภท ที่ทำให้เรามีสิทธิ์ที่อาจจะไม่เท่ากับผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ แต่ขึ้นอยู่กับว่าหุ้นที่เราถือให้สิทธิ์อะไรกับเรา
1
ซึ่งหุ้นที่เราถืออาจจะทำให้เราได้ทั้งเงินปันผล และอำนาจโหวตในบริษัท หรืออาจจะแค่มีสิทธิ์รับเงินปันผล แต่ไม่มีอำนาจใด ๆ ในบริษัทเลยก็ได้..
1
ใครอยากมีความรู้เรื่องตลาดหุ้น ลงทุนแมนแนะนำ หนังสือ BLACK SWAN เล่มนี้ ราคา 380 บาท ที่เล่าถึงความล้มเหลวก่อนที่จะสำเร็จของนักลงทุนในตำนาน 12 คน สามารถสั่งจอง ได้ที่
1
โฆษณา