19 พ.ย. 2022 เวลา 03:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
News Update: เจาะใจ ‘ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร’ จากลูกคนจีนยากจนสู่นักลงทุนหมื่นล้าน
“จริงๆ มีเงินมีความสุขแน่นอน มีเงินเพิ่มก็มีความสุขเพิ่ม การใช้เงินต่างหากอาจจะไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง” คือหนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่ ‘ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร’ พูดถึงในรายการเจาะใจ
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ใครอยู่แวดวงการลงทุนคงได้เห็นรายการเจาะใจสัมภาษณ์ ดร.นิเวศน์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดการลงทุนแบบ VI (Value Investing) หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่าในประเทศไทย
ดร.นิเวศน์ เชื่อว่าการซื้อหุ้นเปรียบเสมือนการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการ โดยได้เขียนหนังสือชื่อว่า “ตีแตก” ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งกลายมาเป็นคัมภีร์การลงทุนแก่นักลงทุนรุ่นหลัง สร้างแรงบันดาลใจให้คนจำนวนมากเดินสู่ตลาดหุ้นเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งให้กับชีวิต
 
The Opportunity มาสรุปประเด็นสำคัญให้ทุกคนได้อ่านกัน บอกเลยว่าไม่ได้มีแค่ความรู้การลงทุน เพราะ ดร.นิเวศน์ ได้สอดแทรกประสบการณ์การใช้ชีวิตของคนที่เริ่มต้นด้วยเงิน 10 ล้าน ให้กลายเป็นพอร์ตหมื่นล้านอย่างทุกวันนี้
★ ลงทุนแบบ VI ตามนิยามของ ดร.นิเวศน์ ★
ดร.นิเวศน์ อธิบายว่า การลงทุนแบบ VI คือ การซื้อธุรกิจที่ดี มั่นใจว่าอยู่ได้นาน และปล่อยให้ผู้บริหารเขาบริหารไป โดยปกติ ดร.นิเวศน์ ถือหุ้นเป็น 10 ปี หรือมากกว่านั้น เพราะถ้าธุรกิจยังดีก็ไม่จำเป็นต้องขาย
มันคือการลงทุนแบบเจ้าของธุรกิจ ดังนั้น ดร.นิเวศน์ ไม่เคยเล่นหุ้น และไม่เรียกตัวเองว่าเป็นเซียนหุ้น
นอกจากนี้เงินลงทุนต้องเป็นเงินเย็น เงินที่เราไม่ต้องใช้จนกว่าเกษียณหรือตาย ส่วนเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันควรได้มาจากการทำงาน แล้วแบ่งที่เหลือมาลงทุน เพื่ออนาคตระยะยาวตอนที่เราทำงานไม่ได้แล้ว
สำหรับมุมมองตอนนี้ ดร.นิเวศน์ มองว่า ตลาดหุ้นไทยเริ่มอิ่มตัว เหมือนบริษัทตัวใหญ่ที่ไม่โตแล้ว ส่วนเวียดนามกำลังมาแรง เพราะมีบริษัทเล็กที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
★ แก้ว 3 ประการของการลงทุน ★
ดร.นิเวศน์ บอกว่าคนเราเกิดมามีแก้ว 3 ดวง แก้วดวงแรกคือ ‘เงินต้น’ ซึ่งบางคนแก้วดวงนี้สุกสว่างมาตั้งแต่เกิดเพราะบ้านฐานะดี แต่ใครที่ไม่ได้มีต้นทุนมาตั้งแต่เกิด ก็ต้องพยายามหาเงินให้มากขึ้นและเก็บออมเพื่อให้แก้วดวงนี้สุกสว่าง โดย ดร.นิเวศน์ แนะนำให้เอาอย่างน้อย 15% ของรายได้ ‘ทุกชนิด’ มาลงทุน
ต่อมาแก้วดวงที่ 2 คือ ‘ผลตอบแทนจากการลงทุน’ คือการเลือกลงทุนให้ถูกต้อง ซึ่งหุ้นสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีและทำให้แก้วดวงนี้สุกสว่าง ดร.นิเวศน์ เปรียบเทียบกับการเอาเงินไปฝากแบงก์ที่ทำให้แก้วดวงนี้มืดมน
สุดท้ายแก้วดวงที่ 3 คือ ‘ระยะเวลาการลงทุน’ ข้อนี้ยิ่งเริ่มลงทุนเร็วยิ่งดี ที่สำคัญคือ อย่าลงทุนแล้วเอาเงินออกมาใช้ พร้อมทิ้งท้ายว่าถ้าทำครบ 3 ดวง ทุกคนรวยได้เสมอแม้จะเกิดมาไม่มีอะไรเลยก็ตาม
★ วิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 คือโอกาส ★
หลังจบดอกเตอร์จากอเมริกาด้วยตั๋วแบบ One Way Ticket ดร.นิเวศน์ในวัย 32 ปี ตัดสินใจกลับมาทำงานที่บ้านเกิด แต่แล้วประเทศไทยก็เกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ในปี 2540 คือ ‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’
ดร.นิเวศน์ที่ตอนนั้นทำงานอยู่บริษัทการเงินอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถูกเชิญให้ออกโดยไม่ได้เงินชดเชย ในมือมีแค่เงินเก็บก้อนสุดท้ายของชีวิต 10 ล้านบาท และยังต้องส่งลูกสาวเรียนโรงเรียนอินเตอร์ ซึ่งทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘อย่าเอาไปลงทุนเลย’ เก็บไว้กินดีกว่า
แต่ ดร.นิเวศน์ คิดออกว่ามีที่เดียวที่จะต่อยอดเงินก้อนนั้นให้งอกเงย ที่นั่นคือ ‘ตลาดหุ้น’ โดยตอนแรกหวังแค่ว่าถ้าได้ปันผลปีละ 10% หรือปีละ 1 ล้าน ก็น่าจะพอกิน พร้อมย้ำว่าต้องกระจายความเสี่ยง ไม่ใช่ลงตัวเดียว
หลังจากนั้นก็ได้กลับมาเป็นผู้บริหารของแบงก์ และทำงานต่อไปอีก 7-8 ปี พออายุครบ 51 ปี ก็ลาออกเพราะมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว ได้ออกมาทำสิ่งที่รักอย่าง การลงทุน เขียนหนังสือ และเผยแพร่ความรู้
★ รวยแต่ไม่ฟุ่มเฟือย สมถะจนลูกอายเพื่อน ★
ดร.นิเวศน์ เล่าว่า ตอนพอร์ตถึงพันล้าน ก็ยังใช้รถเก่าอายุ 10 ปี อยู่บ้านชั้นเดียวที่พ่อตาสร้างให้ สมถะถึงขนาดที่ว่าสมัยลูกสาวเรียนมหาวิทยาลัยไม่กล้าพาเพื่อนมาบ้านเพราะรู้สึก ‘อาย’
เมื่อถูกถามว่าทำไมประสบความสำเร็จแล้วไม่เปลี่ยนชีวิตให้มันหรูหรา? ดร.นิเวศน์ตอบว่า นักลงทุนไม่ใช่นักธุรกิจที่ต้องมีฟอร์ม สามารถนั่งรถเมล์ ใส่รองเท้าแตะก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องสำคัญ
“ผมไม่เคยมีของฟุ่มเฟือยในชีวิตเลย ไม่มีความรู้สึกว่ามันจะมีความสุขอะไรในการที่จะใช้เงินอะไรต่างๆ เพราะเราเป็นคนที่มีความสุขจากการเก็บเงิน ถ้าใช้เงินคือไม่มีความสุข” ดร.นิเวศน์กล่าว
★ สัจธรรมชีวิต เพราะรวยไม่เท่ากับมีความสุข ★
“เงินซื้อความสุขจริงๆ ไม่ค่อยได้หรอก แต่มันซื้อความทุกข์ทิ้งได้บางอย่าง เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วยก็เข้าโรงพยาบาลดีๆ หรือจ้างคนให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ” ดร.นิเวศน์เล่าในรายการเจาะใจ
ดร.นิเวศน์ มองว่า ความสุขมันอยู่ที่ใจ เปรียบความสุขสมัยเด็กที่จน กับตอนนี้ที่รวยแต่อายุมากขึ้น ความสุขก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะความสุขมันอยู่ที่ความสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อนฝูง และการมีสุขภาพที่ดี
ดร.นิเวศน์ ทิ้งท้ายว่า “จริงๆ มีเงินมีความสุขแน่นอน มีเงินเพิ่มก็มีความสุขเพิ่ม การใช้เงินต่างหากอาจจะไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง แต่การมีเงินเป็นความสุข เพราะมันสร้างความมั่นคง”
1
ที่มา: รายการเจาะใจ EP.45 เจาะชีวิต ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จากลูกคนจีนยากจนสู่เซียนหุ้นระดับหมื่นล้าน https://youtu.be/KMLm3pYX_Fs
โฆษณา