19 พ.ย. 2022 เวลา 03:19 • ท่องเที่ยว
วัดวังก์วิเวการาม .. ศรัทธาของชาวมอญ @ สังขละบุรี
“สังขละบุรี” เป็นอำเภอเล็กๆริมชายแดนไทย-พม่าที่โอบล้อมด้วยขุนเขา มีสายน้ำสามสายไหลมาบรรจบกันก่อเกิดเป็นแม่น้ำใหญ่ที่ผู้คนได้อาศัยทำมาหาเลี้ยงชีพ และดำรงชีวิต … อำเภอที่ผู้คนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย หากแต่หลากหลายวัฒนธรรม … อำเภอที่เป็นปฐมบทของการท่องเที่ยวนอกบ้าน และบ้านนอกของใครหลายๆคน และเปี่ยมเสน่ห์ที่คอยยิ้มเยือนเชื้อเชิญให้คุณกลับมาเยือนได้อีกหลายๆครั้ง
เราพักที่เขื่อนวชิราลงกรณ และเดินทางมุงหน้าสู่สังขละบุรีในช่วงเช้า ..
ภูมิประเทศระหว่างการเดินทางค่อนข้างคดเคี้ยว เป็นภูเขาสูง ชวนให้เวียนหัว แต่ก็มีมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่เลี้ยวลด คดเคี้ยวไปตามแนวเขาให้เห็นตลอดทาง … เข้าใจว่าแหล่งน้ำเหล่านี้เกิดจากการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์
.. เราได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีชีวิตง่ายๆ ในบ้านหลังน้อยๆบนน้ำนิ่งๆ บนเรือนแพที่ใช้เป็นที่พักพิง ที่นี่ ยังเป็นแหล่งปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ และสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และล่องแพในสายน้ำ … แต่ด้วยเหตุผลของความปลอดภัย และใเส้นทางแคบและคดเคี้ยว ทำให้ไม่สามารถจอดรถเพื่อลงไปถ่ายรูปได้
หลังจากเดินทางมาได้เกือบ 2 ชั่วโมง เราก็เข้าเขตอำเภอสังขละบุรี … เมื่อผ่านสามแยกที่จะมุ่งสู่ด่านเจดีย์สามองค์ ก่อนเลี้ยวซ้ายเข้าไปที่ตลาด จะเห็น “วัดสมเด็จ” อยู่ 2 ข้างทาง คือ โบสถ์และพระนอนขนาดใหญ่อยู่ด้านซ้ายมือ ส่วนพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่ทางขวามือ วัดนี้เป็นศิลปกรรมแบบมอญ
เราเดินทางไปถึงวัดวังก์วิเวการาม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "วัดหลวงพ่ออุตตมะ" ซึ่งเป็นวัดที่ถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับคนพื้นถิ่น และเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในอำเภอสังขละบุรี ทั้งชาวไทย และกะเหรี่ยง โดยเฉพาะสำหรับชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่เปรียบหลวงพ่ออุตตมะเป็น "เทพเจ้าแห่งชาวมอญ"
เดิมวัดวังก์วิเวการาม ตั้งอยู่ในที่ลุ่ม บนพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของอำเภอ .. แต่ภายหลังการสร้างเขื่อนเพื่อประโยชน์ในการใช้น้ำ และพื้นที่ชุมขนเดิมน้ำท่วมทั้งหมด ทางการได้ย้ายวัดวังก์วิเวการาม ขึ้นมาปลูกสร้างใหม่ในพื้นที่สูงกว่าเดิม และยังเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนเช่นเดิม แม้ว่าหลวงพ่ออุตตมะจะมรณภาพไปแล้วก็ตาม
วัดวังก์วิเวการามแห่งนี้จึงเป็นเสมือนตัวแทนหลวงพ่อ และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวมอญ … ในการประกอบพิธีกรรมตามประเพณีของมอญ และจัดงานอื่นๆ เช่น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการจัดงานคล้ายวันเกิดของหลวงพ่ออุตตมะ มีงานกิจกรรมต่างๆ พิธีกรรมทางศาสนา งานแข่งขันชกมวยคาดเชือก การแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่นการรำแบบมอญ การรำตงของชาวกะเหรี่ยง และมีการแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมชาวไทยรามัญ
อาคารแรกที่เราไปเยี่ยมชม คือ “ปราสาทเก้ายอด” ..
ปราสาทเก้ายอด เป็นอาคาร 2 ชั้น ... ด้านหน้ามีซุ้มทางเข้า ประดับประดาด้วยหลังคาเรือนยอดเป็นชั้นๆ สีเขียวตัดขอบทอง ปลายยอดมีด้วยกัน 3 ยอด ตามลักษณะสถาปัตยกรรมของมอญ
 
ชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์ เก็บพระพุทธรูป และอัฐบริขาร เครื่องใช้ต่างๆ เช่น คัมภีร์ใบลานอักษรมอญโบราณ ตาลปัตร นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของปราสาทเก้ายอด
ปราสาทเก้ายอด คือโลงบรรจุสังขารของหลวงพ่ออุตตมะ มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ทางศิลปกรรมของชนชาติมอญ ลวดลายมีความประณีต งดงาม สมเกียรติหลวงพ่ออีกด้วย ..
ซึ่งการทำปราสาทมอญเป็นความเชื่อดั้งเดิมว่า เป็นการส่งวิญญาณให้ไปสถิตยังสรวงสวรรค์
ปราสาทเก้ายอดนี้ เป็นฝีมือสกุลช่างจากทางเชียงใหม่ใช้ลวดลายประมาณ 20 - 30 ลวดลาย .. ตัวโลงเจาะช่องใส่กระจกให้มองเห็นภายในได้ เรียกว่า "ลายขุนแผนเปิดม่าน" .. ด้านบนตกแต่งเป็นด้วยลวดลายสวยงาม ... ส่วนบนสุดทำเป็นยอดถึง 9 ยอด
ด้านหน้าปราสาทเก้ายอด มีหุ่นขี้ผึ้งปั้นเป็นรูปหลวงพ่ออุตตมะในท่านั่ง ... ถัดมามีตู้ทรงมอญ ลักษณะคล้ายบุษบก ข้างในใส่รูปหลวงพ่อ
วิหารพระหินอ่อน …
ทางเดินไปสู่วิหารหลวงพ่อขาวนั้น เราจะผ่านบริเวณโรงทานหลวงพ่ออุตมะ ซึ่งมีลักษณะเป็นทางเดินเชื่อมต่ออาคาร มีหลังคาคลุม ..
ตลอดทางเดิน .. สวยงามด้วยการปที่ระดับด้วยภาพถ่ายกิจกรรมของชาวมอญที่นี่ ทั้งภาพของวิถีชีวิต และภาพแห่งศรัทธา ความเชื่อที่แรงกล้าของผู้คน ..
สุดทางเดินจะเป็นทางเข้าสู่วิหารพระหินอ่อน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงพ่อขาว"
พระพุทธรูปหินอ่อน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก หนัก 9 ตัน เป็นพระพุทธรูปที่หลวงพ่ออุตตมะสั่งทำขึ้นที่พม่า โดยส่งรูปพระพุทธชินราชไปให้ช่างที่มัณฑเลย์ แกะจากหินอ่อนสีขาวก้อนเดียว
.. ว่าจ้างด้วยทองคำแทนเงิน หลวงพ่อสั่งทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จ่ายเป็นจำนวนสามงวด เป็นทองหนัก 10 บาท 5 บาท และ 10 บาท (ในสมัยที่ราคาทองคำบาทละ 450 บาท) ... สร้างเสร็จเมื่อกลางปี พ.ศ. 2515 แต่ยังไม่สามารถนำเข้าสู่ประเทศไทยได้ ต้องทำเรื่องขออนุญาติกรมการศาสนาของพม่าจนแล้วเสร็จในช่วงปลายปี
จากนั้นทำการขนย้าย ด้วยระยะทางที่ไกล และเป็นพระพุทธรูปที่มีน้ำหนักมาก ต้องผ่านเส้นทางที่เป็นป่าและหมู่บ้านชายแดน ทำให้มีความล่าช้า จนมาถึงด่านเจดีย์สามองค์เมื่อ แรม 9 ค่ำ เดือน 4 ปีพ.ศ. 2517
พระอุโบสถ … พระอุโบสถของวัด มีความงดงาม มีซุ้มทางเข้าอุโบสถเป็นซุ้มหลังคาทรงยอดปราสาท
ข้างบันไดทางขึ้น ... มีพระพุทธ พร้อมสาวก ในรูปแบบศิลปะพม่า ประดิษฐานอยู่
ทางเดินรอบโบสถ์มีซุ้มเสมา บ่งบอกขอบเขตพัทธสีมาอยู่ในซุ้มหลังคาทรงยอดปราสาท ..
ส่วนตัวโบสถ์ เป็นหลังคาทรงสูง หลังคาโบสถ์ทำเป็นหน้าจั่วซ้อนชั้น และมียอดปราสาทอยู่ชั้นบนสุด หน้าบันประดับด้วยลายกนกสวยงาม เสาโบสถ์เป็นเสาขัดมันวาว
แผนที่ประเทศไทย ... อยู่ภายในกรอบประติมากรรมลอยตัวทรงแบน ที่มองดูเหมือนระฆัง
ประติมากรรมนี้ ตั้งอยู่ตรงทางเข้าพระอุโบสถ สร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โฆษณา