19 พ.ย. 2022 เวลา 05:07 • ท่องเที่ยว
สะพานแห่งศรัทธา @ สังขละบุรี
อำเภอสังขละบุรี เป็นเขตชายแดนไทยติดต่อกับพม่า ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกอำเภอนี้ว่า “นิเถะ” ซึ่งมีความหมายว่า ต้นผึ้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2438 ก็ได้ยกฐานะเป็นอำเภอ มีชื่อว่า “อำเภอวังกะ” เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า “วังปลา” เนื่องจากมีแม่น้ำซองกาเลีย รันตี และบีคลี่ รวมทั้งมีลำห้วยอื่นๆอื่นๆ ซึ่งมีปลาชุกชุมมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้ยกฐานะจากกิ่งอำเภอ มาเป็นอำเภอสังขละบุรี จนถึงปัจจุบัน
สังขละบุรี เป็นอำเภอที่มีชาวมอญมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากอีกด้วย ที่นี่จึงเป็นแหล่งที่สามารถพบเห็นวิถีชีวิตของชาวมอญได้ โดยหากอยากจะชมวิถีชีวิตของชาวมอญแบบได้บรรยากาศ ก็ต้องไปที่ "สะพานไม้มอญ" หรือชื่อเรียกแบบเป็นทางการว่า "สะพานอุตตมานุสรณ์" ซึ่งสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศ ที่ทอดข้าม “ลำน้ำซองกาเลีย” ให้ผู้คนทั้งชาวไทย มอญ และกะเหรี่ยงได้สัญจรข้ามน้ำไปมาหาสู่กันได้
สะพานมอญแห่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะมี "หลวงพ่ออุตตมะ" ที่ชาวมอญยกย่องให้เป็น "เทพเจ้าของชาวมอญ" เพราะท่านให้ความช่วยเหลือแก่ชาวมอญไร้สัญชาติในสังขละบุรีมาโดยตลอด จึงเป็นที่เคารพสักการะของชาวมอญและชาวไทยเป็นอย่างมาก
… สะพานแห่งนี้หลวงพ่อเป็นผู้ดำเนินการสร้าง และด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวมอญในหมู่บ้าน สะพานไม้แห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้น โดยมีความยาวตลอดสะพาน 850 เมตร
วิวทิวทัศน์เมื่อมองจากสะพานไม้งดงาม เป็นจุดชมวิวทะเลสาบเขื่อนวชิราลงกรณที่สวยงาม เมื่อเดินไปจนถึงกึ่งกลางสะพานจะรู้สึกเหมือนยืนอยู่ในที่โล่งกว้าง มองด้านบนเป็นผืนฟ้า ด้านล่างเป็นผืนน้ำจากทะเลสาบของเขื่อนวชิราลงกรณ หรือเขื่อนเขาแหลม
.. ทิวทัศน์รอบข้างเป็นเรือนแพสงบนิ่งอยู่ริมตลิ่ง มองไปไกลๆ เห็นภูเขาสูงต่ำไกลออกไปตามสายตา และยังสามารถมองเห็นแม่น้ำซองกาเลีย รันตี และบีคลี่ ที่ไหลมารวมกันเป็นสามประสบ ซึ่งเป็นที่มาของคำขวัญที่ว่า “แดนพุทธธรรม รวมแม่น้ำสามประสบ แร่มากพบเพชรรันตี หมอกมากมีเจดีย์สามองค์”
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการมาชมสะพานและวิถีชาวมอญที่นี่ คือในช่วงเวลาเช้าๆ ด้วยเป็นช่วงเวลาที่จะมีหมอกโรยตัวปกคลุมทั่วไป
และพระสงฆ์ออกมารับบิณฑบาตจากชาวพุทธที่มากศรัทธา นอกจากจะได้ร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์แล้ว
หากมาได้จังหวะเหมาะก็อาจจะได้พบกับสาวมอญหน้าตาคมขำเดินข้ามสะพานไปโดยมีข้าวของเทินอยู่บนศีรษะ ดูได้บรรยากาศเหมาะกับสะพานไม้เป็นอย่างยิ่ง และกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างแดนให้มาเยือนซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า …
ตลาดมอญยามเช้าจะมีบรรยากาศเหมือนเมืองแม่ฮ่องสอน พ่อค้าแม่ค้าจะนำสินค้าหลากชนิดออกมาซื้อขายกัน โดยเฉพาะปลาสดๆที่หาได้จากทะเลสาบ ผักชนิดต่างๆ อาหารปรุงสำเร็จ …
ชาวมอญมักจะทูนของไว้บนศีรษะเป็นภาพที่สวยงามดูมีชีวิตชีวา ตลาดมอญจึงเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเยือน แต่ต้องตื่นเช้าหน่อยนะคะ เพราะประมาณแค่ 8 โมงเช้าตลาดก็วายแล้ว ผู้คนแยกย้ายกันกลับบ้าน หายไปพร้อมกับสายหมอกยามสายนั่นเอง
วิถีชีวิตของชาวมอญส่วนใหญ่ มักจะตื่นนอนในตอนเช้า ออกไปตลาด ซื้อกับข้าวมาทำกินกันเองที่บ้าน โดยอาหารหลักของชาวมอญจะเป็นขนมจีนน้ำยาหยวกกล้วย ซึ่งมีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กินกันได้อย่างเอร็ดอร่อยทั้งผู้ใหญ่และลูกเล็กเด็กแดง ส่วนขนมอาจจะเป็นฟักทอด ขนมฝักบัว และกล้วยทอด
ชายชาวมอญส่วนใหญ่จะเข้าไปทำงานในเมือง หรือรับจ้างทั่วไป บ้างก็หาเลี้ยงชีพด้วยการจับปลาในแม่น้ำ ส่วนใหญ่ปลูกผักกินเอง ส่วนหญิงชาวมอญมักจะมีอาชีพค้าขาย … ชาวมอญส่วนใหญ่นิสัยดี ขยัน ซื่อสัตย์ จึงเป็นที่รักของคนทั่วไป
ชาวมอญนับเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในพุทธศาสนา มีขนบธรรมเนียมที่เป็นแบบแผน เป็นชนชาติที่รักสงบ ขยันขันแข็งในการทำมาหากิน บรรพบุรุษมอญได้สร้างความเจริญทางศาสนา วัฒนธรรม และอารยะธรรมไว้มากมาย ทั้งในพม่าและแผ่นดินไทย …
.. ชาวมอญมีประเพณีที่ดีงามที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น งานสงกรานต์ วันเข้าพรรษา เดือนอารยะธรรมของชาวมอญ งานประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ซึ่งจัดขึ้นในเดือนกันยายน ที่เราจะได้เห็นชาวมอญร่วมกันจับเชือกที่ผูกไว้กับเรือเป็นแถวยาวเป็นกิโล จากแม่น้ำซองกาเลีย ไปจนถึงหน้าวัดวังก์วิเวการาม เพื่อร่วมทำพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ซึ่งเป็นภาพที่สวยงาม หาดูได้ยากยิ่ง
เชิงสะพานด้านฝั่งวัดวังก์วิเวการาม มีร้านค้าของชาวมอญอยู่ลายร้าน ส่วนใหญ่จะเป็นของที่ระลึก และมีร้านขายเครื่องดื่มและกาแฟให้บริการด้วย บ้านเรือนของชาวมอญส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ บริเวณบ้านดูสะอาด สะอ้าน …
ฉันใช้เวลาอย่างสุขใจ พูดคุยกับเด็กชายชาวมอญที่มานั่งเล่าประวัติของสะพานอย่างตั้งอกตั้งใจให้ฟัง … เฝ้าดูชาวมอญซักผ้า อาบน้ำ เลี้ยงปลา หาปลาในแม่น้ำ เป็นความประทับใจที่เกิดง่ายๆ …
สังขละบุรีในวันนี้ยังคงงดงามทั้งในเรื่องของธรรมชาติและจิตใจของผู้คน การได้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตแห่งมอญ … แม้เพียงเศษเสี้ยวในชั่วระยะเวลาที่จำกัด … แต่รับรู้ได้ถึงความสงบ เรียบง่าย และสังคมที่เงินตรามีความหมายที่แตกต่างไปจากสังคมที่ต้องดิ้นรนมากมายของเมืองใหญ่
หากจะถามฉันว่า สังขละบุรีในวันนี้ ต่างจากเมื่อหลายปีที่มาเยือนมากไม๊ ? … คำตอบ คือ ก็แค่ สะพานไม้ที่สร้างใหม่ สะพานจึงตรงขึ้นเท่านั้นเอง … หากแต่การได้กลับมาเดินข้ามสะพานไม้อีกครั้ง เป็นรางวัลที่ฉันได้รับอย่างสุขใจจากการเดินทางมาที่นี่
… สะพานแห่งศรัทธา สะพานวัฒนธรรมที่เชื่อมคนหลายชนชาติเข้าด้วยกัน ทั้งไทยพุทธ มุสลิม กะเหรี่ยง ให้เป็นหนึ่งเดียวบนผืนแผ่นดินไทย สมกับความหมายลึกๆที่แท้จริงของชื่อ “สังขละบุรี” ที่มีความหมายของสังคมเชื้อชาตื …. “สัง” เป็นภาษาบาลี ว่า “ร่วม” ส่วน “ขละ” แปลว่า “คละกัน” และ “บุรี” ก็คือ “เมือง” … ดังนั้น “สังขละบุรี” จึงหมายถึงเมืองแห่งหลายสังคมที่อยู่ร่วมกัน ทว่าในความแตกต่างนั้นกลับรวมเป็นหนึ่งเดียว
โฆษณา