20 พ.ย. 2022 เวลา 11:09 • หนังสือ
บันทึกท่านหญิง ม.จ.หญิงฤดีวรวรรณ
เรื่องราวชีวิตจริงของม.จ.หญิงฤดีวรวรรณ วรวรรณ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งนั่นหมายถึงว่าม.จ.หญิงฤดีวรวรรณ เป็นพระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกทั้งยังมีพระนางเธอลักษมีลาวัณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นพระขนิษฐภคินีอีกด้วย
ม.จ.หญิงฤดีวรวรรณ ได้ประพันธ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น หลังจากถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ และใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะนักข่าวและผู้อ่านข่าวสถานีวิทยุ ’เสียงอเมริกา’ (Voice of America) ภาคภาษาไทย โดยประพันธ์ขึ้นเป็นภาษาอังกฤษและใช้ชื่อว่า ‘The Tresured One : The Story of Rudivoravan Princess of Siam’ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยในเวลาต่อมาโดย ‘แก้วสุวรรณ’
ปัจจุบัน…หนังสือภาษาอังกฤษเล่มนี้ กลายเป็นหนังสือหายาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเรา
‘บันทึกท่านหญิง ม.จ.หญิงฤดีวรวรรณ’ เล่าเรื่องราวของหญิงสาวผู้สูงศักดิ์ในราชสกุลวรวรรณตั้งแต่แรกประสูติไปจนถึงในวันที่ถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ ยอมตกทุกข์ได้ยากถึงขนาดต้องเช่าบ้านหลังเล็กๆ ต่อสู้ฝ่าฟันกับความยากลำบากในชีวิต กว่าที่จะกลับมายืนหยัดได้อีกครั้งในฐานะสามัญชน
‘The Tresured One : The Story of Rudivoravan Princess of Siam’ ตีพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1957 หรือ พ.ศ. 2500 ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง The King and I ที่นำแสดงโดย ยูล บรินเนอร์ ออกฉาย ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและประชาชนในสหรัฐอเมริกา เพราะผู้ประพันธ์คือพระนัดดาหรือหลานปู่ของพระมหากษัตริย์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ม.จ.หญิงฤดีวรวรรณได้มีโอกาสพบปะบุคคลชั้นนำอย่างนักแสดง ผู้กำกับ นักเขียนในวงการบันเทิงฮอลลีวูดมากมาย
หนังสือเล่มนี้ใช้เวลานานหลายสิบปี กว่าที่จะกลายมาเป็นภาคภาษาไทย ผู้แปลคือ ‘แก้วสุวรรณ’ เล่าว่าได้ไปพบหนังสือเล่มนี้ในห้องสมุดในเมืองมิดเดิลทาว์น และด้วยความประทับใจได้ทยอยแปลหนังสือเล่มนี้ทีละเล็กละน้อยอย่างมีความสุข และเมื่อกลับมาเมืองไทย ได้นำเรื่องแปลนี้ทยอยตีพิมพ์ในคอลัมน์ ‘จุดประกาย’ ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจในปี พ.ศ. 2541 และได้ทำการรวมเล่มเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 โดยสำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์
‘บันทึกท่านหญิง ม.จ.หญิงฤดีวรวรรณ’ อาจจะไม่ได้สนุกมากมายเมื่อเทียบกับหนังสือชีวประวัติเล่มอื่นๆ หรือเรื่องราวในรั้วในวังเล่มอื่นๆ อย่าง ‘ชีวิตในวัง’ ในด้านภาษา…สำนวนการแปลยังไม่กลมกล่อมลงตัวเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นการแปลประโยคฝรั่งแบบตรงๆ หรือการใช้คำในภาษาไทย ที่อ่านแล้วให้ความรู้สึกขัดๆ เช่นการใช้คำว่า ‘กรุงสยาม’ เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น…เรายังได้แรงบันดาลใจดีๆ เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง ได้รับรู้ว่าทุกข์ สุข การมีขึ้นมีลงของชีวิตนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ที่ไม่ว่าใคร…มีชาติกำเนิดสูงส่งขนาดไหนก็ไม่สามารถหนีพ้นสัจธรรมนี้ไปได้ และถ้าหากเราเข้มแข็ง ยืนหยัด ไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตา วันนั้น…ที่เป็นวันของเราก็จะมาถึงเข้าสักวัน
วันนี้…20 พฤศจิกายน คล้ายวันสิ้นชีพิตักษัยของ ม.จ. หญิงฤดีวรวรรณ เมื่อปี พ.ศ. 2550 เลยขอนำหนังสือเล่มนี้มาแนะนำกันอีกครั้งกันในวันนี้
โฆษณา