22 พ.ย. 2022 เวลา 08:32 • ท่องเที่ยว
เที่ยวเมืองบาดาล แห่งสังขละบุรี
สังขละบุรีในมิติการรับรู้ทั่วไปคือ เป็นดินแดนชายขอบแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี และมีเรื่องราวมากมายเล่าขานเป็นตำนานผ่านคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นหนึ่ง
การเดินทางมาที่สังขละบุรีของเราในครั้งนี้ คือการไปเยือนสิ่งที่ถือว่าเป็นสุดยอดของดินแดนแห่งนี้ คือ ตำนานแห่งวังวังก์วิเวการราม ที่จมอยู่ในผืนน้ำ ซึ่งมีแค่ช่วงมีนาคม-เมษายนเท่านั้น จึงจะเห็นเมืองบาดาลดังกล่าว เพราะเป็นช่วงที่น้ำในเขื่อนลดลงต่ำสุด
การเดินทางไปเยือนเมืองบาดาลเริ่มจากการเช่าเหมาเรือหางยาวที่ให้บริการที่เชิงสะพานแห่งศรัทธาด้านฝั่งไทยล่องไปตามแม่น้ำ โดยคนขับเรือจะทำหน้าที่เป็นไกด์คอยอธิบายเรื่องต่างๆ รวมถึงการตอบคำถามต่างๆให้กับนักท่องเที่ยว
วิวของสะพานไม้ด้านข้าง งดงามน่าอัศจรรย์ … เดิมว่ากันว่าทุกๆ 8 ปีชาวบ้านจะต้องลงแรงช่วยกันซ่อมแซมสะพานซึ่งอาจจะโย้เย้ด้วยแรงน้ำ แรงลม
แต่ครั้งหลังสุดที่สะพานล้มพังพาบลง ชาวบ้านได้ลงแรงซ่อมและสร้างสะพานไม้ ซึ่งแข็งแรงกว่าเดิมมาก …
เชิงสะพานจะมีเรือนแพของชาวบ้านที่มีอาชีพจับปลา และเป็นแพที่ให้บริการกับนักท่องเที่ยวด้วย
หากเราพิจารณาแผนที่ทางด้านอำเภอสังขละบุรี จะเห็นแนวเทือกเขาสลับซับซ้อน พื้นที่ทั้งหมด 3,350 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ป่าเขาประมาณ 2,500 ตารางกิโลเมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม 335 ตารางกิโลเมตร และเป็นพื้นที่ทำกิน 515 ตารางกิโลเมตร
พื้นที่ของสังขละบุรีเป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธารของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำรันตี ซึ่งมีต้นน้ำมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แม่น้ำบีคลี่ ต้นน้ำมาจากบ้านชิเด่งเฉ่ง ตำบลหนองลู และแม่น้ำซองกาเลีย ต้นน้ำมาจากดบ้านไล่โว่ ตำบลไล่โว่ …
สายน้ำทั้ง 3 สาย ไหลมาบรรจบกันที่ “สามประสบ” อยู่เหนือที่ตั้งที่ว่าการอำเภอสังขละบุรี ในเขตตำบลหนองลู แล้วรวมตัวกันเป็น “แม่น้ำแควน้อย” ไหลผ่านตำบลหนองลู และตำบลบางเผล ของอำเภอสังขละบุรี ผ่านอำเภอทองผาภูมิ
เมื่อราว 40 ปีที่ผ่านมา วัดวังก์วิเวการาม เคยตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของอำเภอแห่งนี้ ซึ่งสามารถปลูกข้าวเลี้ยงอำเภอทองผาภูมิทั้งอำเภอ ก่อนจะถูกสายน้ำท่วมขังเพราะสร้างเขื่อนตามกระแสการพัฒนาประเทศ
เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงความเป็นชุมชนที่สำคัญของสังขละบุรีเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2521 หลังจากที่การไฟฟ้าประเมินพื้นที่สร้างเขื่อนเขาแหลม และจ่ายเงินชดเชยให้กับวัดต่างๆที่ต้องจมน้ำมากกว่า 10 วัด และดำเนินการอพยพราษฎรขึ้นมายังเนินเขาอันเป็นที่ตั้งของอำเภอสังขละบุรีในปัจจุบัน มีการสร้างหน่วยงานราชการ ..
… วัดวังก์วิเวการามก็ย้ายขึ้นมาพร้อมกับชุมชนขาวมอญเช่นกัน อยู่บนเนินเขาอีกฟากหนึ่งของลำน้ำซองกาเลีย ที่ปัจจุบันเรียกว่า “ฝั่งมอญ” ที่ผู้คนยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม
1
ชุมชนบนเนินเขาสองฟากฝั่งของทะเลสาบสังขละบุรี คือ ฝั่งไทย และฝั่งมอญ มีสะพานไม้แห่งแรงศรัทธาที่หลวงพ่ออุตตมะสร้างขึ้น ได้ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเชื้อชาติให้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว
ทะเลสาบอันกว้างใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน ทำให้เกิดเมืองใหม่บนยอดเขา ส่วนเมืองสังขละบุรีเก่าจมอยู่ใต้น้ำ … ทัศนียภาพที่เกิดใหม่กลายเป็นเสน่ห์ และเป็นแม่เหล็กเรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยว …
เมืองบาดาลในอดีตซึ่งเป็นวัดเก่าของหลวงพ่ออุตตมะหรือพระครูอุดมสังวรเถระ ปัจจุบัน วัดถูกน้ำเข้าท่วมในช่วงที่สร้างเขื่อน ทำให้จมอยู่ใต้น้ำมานานกว่า 40 ปีแล้ว
.., โดยในช่วงน้ำลดจะสามารถสังเกตเห็นตัวโบสถ์ของวัดได้อย่างชัดเจน แต่ในช่วงน้ำขึ้นน้ำจะท่วมสูงเกือบทั้งหมดเหลือเพียงยอดของโบสถ์ให้เห็นเท่านั้น
ระหว่างการเดินทาง ทิวทัศน์ 2 ฝั่งแม่น้ำงดงามมากมายในสายตา … ยอดสีทองของเจดีย์อันใหม่สะท้อนกับแสงแดดระยิบระยับ สะท้อนพลังแห่งศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ
เครื่องมือจับปลาที่ดูเหมือน “ยอ” ของภาคกลางมีให้เห็นเป็นระยะๆ ย้ำเตือนให้รู้ถึงรากเหง้าของผู้คนที่นี่ ที่มีชีวิตผูกพันกับสายน้ำอย่างแนบแน่น เปรียบประหนึ่งสายใยและวิถีชีวิตที่ผ่านจากคนรุ่นหนึ่ง แล้วถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป
หากใครได้มาเยือนทะเลสาบเหนือเขื่อนในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. ก็ได้ยลโฉมซากวัดวังก์วิเวการามใต้น้ำได้ชัดเจนขึ้น เพราะน้ำจะลดระดับลง .. ผู้มาเยือนสามารถลงจากเรือไปเดินชมซากโบสถ์ วิหาร ซุ้มประตู และหอระฆังที่ยังหลงเหลืออยู่ได้อย่างใกล้ชิด
แต่หากมาในช่วงอื่นก็อาจได้เห็นเพียงยอดของสิ่งก่อสร้างที่ลอยพ้นน้ำขึ้นมาเท่านั้น
เรือพาพวกเรามาถึง ...ยอดโบสถ์เก่าที่โผล่พ้นน้ำในช่วงหน้าน้ำซึ่งเป็นภาพที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเห็นเจนตานั้น ถูกแทนที่ด้วยโบสถ์เก่าทั้งหลังที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าเราขณะนี้ …
หอระฆังเก่าที่บนยอดทาสีทอง ส่องประกายสวยงาม
ประตูทางเดินเข้ามายังบริเวณวัดทั้งสี่ด้าน ยังคงปรากฏร่องรอยความยิ่งใหญ่ ที่แม้กาลเวลาจะผ่านมาแล้ว 4 ทศวรรษ แต่ร่องรอยความพลังศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อศูนย์กลางชุมชมอย่างวัดวังก์วิเวการาม แห่งนี้ ก็ยังมีปรากฏให้เห็น
เศียรพระพุทธรูปองค์นี้ที่ตั้งเด่นอยู่หน้าประตูทางเข้าโบสถ์สะกดฉันให้ยืนนิ่งอยู่เนิ่นนาน … ความรู้สึกหดหู่ เศร้าใจมากมายแล่นเข้ามาจับใจยามพบเห็น จนยากที่จะอธิบายความรู้สึกออกมาได้ตรงกับความรู้สึกด้วยตัวอักษรเพียงไม่กี่ตัว … เป็นความรู้สึกที่ต้องมาเห็น มาสัมผัสด้วยตัวเองจึงจะเข้าใจได้ลึกซึ้ง …
ฉันอดไม่ได้ที่จะสร้างจินตนาการถึง “เมืองบาดาล” อีกมากมายที่ต้องจมภายใต้เขื่อน รวมถึงเจดีย์ต่างๆ สมัยอยุธยาอีกเป็นจำนวนมาก ที่อยู่ตามเส้นทาง
… ด้วยในอดีต บริเวณนี้เคยเป็นเส้นทางเดินทัพตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือที่เรียกว่า สามสบท่าดินแดง … ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และอารยะธรรมต่างๆ ต้องจมไปกับกระแสการพัฒนาประเทศ
ภายในพระอุโบสถของวัดหลังเก่ายังปรากฏร่องรอยที่ครั้งหนึ่งเคยงดงาม …
ทั้งซุ้มเรือนแก้วที่เรียงรายอยู่บนผนังทั้งสองด้านของโบสถ์ ที่ฉันเดาว่าคงเคยเป็นที่บรรจุพระพุทธรูปขนาดเล็กอยู่ภายใน …
ในช่วงที่วัดแห่งนี้เจริญรุ่งเรือง โบสถ์ที่ปรากฏอยู่ในสายตาของฉันในเวลานี้ คงงดงามด้วยงานพุทธศิลป์ที่ถูกรังสรรค์ สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธา … เช่นเดียวกับวัดอื่นๆที่ร่วมสมัยเดียวกัน …
… กลิ่นธูป ควันเทียนที่ผู้คนที่ศรัทธาจุดถวายเป็นพุทธบูชาคงตลบอบอวล คละเคล้าไปกับเสียงสวดมนต์ของชาวมอญที่ดังกระหึ่ม เร่งเร้าตามความเชื่อที่ว่า สวดมนต์เร็วจะได้ขึ้นสวรรค์เร็วๆ
บานหน้าต่าง ยังสวยงามตามสภาพ … บนแท่นที่ครั้งหนึ่งคงเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ในวันนี้คงมีเพียงเศียรพระพุทธรูปขนาดเล็กที่ผุพังวางอยู่ … เหมือนเชลยศึกที่พ่ายแพ้สงคราม
หากผนังโบสถ์ ซุ้มเรือนแก้ว และพระพุทธรูปสามารถพูดได้ … ฉันเชื่อว่าเราคงได้ยินเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากมาย …
อาจจะเป็นความรู้สึกเจ็บปวด ร้าวราน ทุรนทุราย ของผู้แพ้ … อาจจะเป็นเสียงร่ำไห้ของผู้คนยามที่ต้องจูบลาผืนดินที่บรรพบุรุษของตนได้สร้างสมกันมาหลายรุ่น … และอาจจะเป็นเสียงก่นด่าของผู้ที่ถูกยัดเยียดให้เป็น “วีระบุรุษ ผู้เสียสละ”
ฉันกราบลาพระพุทธรูปที่เหลืออยู่ด้วยหัวใจที่เศร้าสร้อย … ถึงแม้จะเป็นเพียงเศษซากของวัดและโบสถ์ร้าง แต่ฉันเชื่อว่าจิตวิญญาณและพลังศรัทธาของผู้คนที่สร้างวัดนี้ยังคงอยู่
และวนเวียนเล่าขานตำนานแห่งความศรัทธาให้ผู้ที่ไปเยือนได้รับรู้ตราบนานเท่านาน …
รวมถึงเป็นหลักฐานของการเข้ามาถึงของสิ่งที่เรียกกันว่า “ความเจริญ” ที่ต้องแลกมาด้วยการสูญเสีย “จิตวิญญาณ และวิถีชีวิตของชุมชน”
โฆษณา