22 พ.ย. 2022 เวลา 16:15 • การศึกษา
เทคนิคการเรียนและการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย 👩🏻‍⚖️⚖️📚
จากคุณขวัญทิชา มีศีล (คุณขวัญ) #นักเขียนLawNote
⭐️ การศึกษา ⭐️
2561 ใบอนุญาตว่าความสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
2560 เนติบัณฑิตไทย สมัย 70
2559 นิติศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยรังสิต
2556 นิติศาตรบัณฑิต Pre-Degree มหาวิทยาลัย รามคำแหง
2554 มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
⭐️ เทคนิคการเรียนกฎหมาย ⭐️
📍ชั้นปริญญาตรี📍
เนื่องจากเริ่มเรียนกฎหมายตั้งแต่ตอนมัธยมศึกษาปีที่ 4 เป็นการเรียน Pre-degree คณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงควบคู่ไปกับการเรียนหนังสือที่โรงเรียน ซึ่งในตอนนั้นด้วยความที่บ้านอยู่ไกลจากมหาวิทยาลัยมากประกอบกับต้องเรียนหนังสือที่โรงเรียน จึงทำให้ไม่สามารถไปเข้าชั้นเรียนหรือนั่งฟังอาจารย์บรรยายที่มหาวิทยาลัยได้ ต้องอ่านหนังสือคนเดียวมาโดยตลอด (เรียกว่า เรียนเอง-อ่านเอง-งงเอง)
ในตอนนั้นช่วงวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ เป็นสิ่งล้ำค่ามากในการอ่านหนังสือ โดยจะแบ่งก่อนว่าในเทอมนั้นลงเรียนกี่ตัว จะสอบวิชาไหนบ้าง เสร็จแล้วก็จะอ่านวิชาที่ไม่ชอบมากที่สุดก่อน
เวลาในการอ่านหนังสือไม่ได้กำหนดว่าจะต้องอ่านกี่ชั่วโมงต่อวัน หรือต้องอ่านให้ได้กี่หน้า เพราะจะเน้นอ่านให้เข้าใจไปเลยในรอบเดียวจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาอ่านเล่มเดิมซ้ำๆ โดยจะเน้นจดสรุปเลคเชอร์เล็กๆไว้อ่านทวน ซึ่งจะมีประโยชน์มากช่วงก่อนถึงวันสอบเพราะสามารถหยิบมาทวนได้ง่ายและพกติดตัวไปได้ทุกที่
ช่วงเวลาในการอ่านหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นตอนเช้า คือตื่นนอนมา อาบน้ำ ทานข้าวแล้วก็อ่านหนังสือเลย เพราะ energy ตอนเช้าของตัวเองจะเยอะมาก ถ้าใช้ไปกับกิจกรรมอย่างอื่นก็จะขี้เกียจไม่อยากอ่าน และตอนบ่ายอากาศเมืองไทยก็ร้อนก็จะหลับตอนบ่ายตลอดๆ TT
จากนั้นช่วงเย็นถ้ามีการบ้านของโรงเรียนก็จะนั่งทำ ถ้าไม่มีก็จะอ่านหนังสืออีกรอบไปจนมืด แล้วก็จะพักดูทีวี จากนั้นก่อนเข้านอนก็จะนั่งพูดกับตัวเองว่าวันนี้อ่านอะไรไปบ้าง เหลือต้องอ่านอีกกี่วิชา ถ้าอ่านไม่ทันจริงๆจะเน้นอ่านส่วนไหนดี เพราะข้อสอบกฎหมายป.ตรี ส่วนมากอาจารย์จะออกเนื้อหาวนๆไม่ต่างกันมากในแต่ละเทอม ซึ่งสามารถศึกษาได้จากข้อสอบเก่าก็จะเห็นแนวทางว่าอาจารย์ออกเน้นตรงส่วนไหน
โดยสามารถซื้อข้อสอบเก่าจากร้านหนังสือที่มีขายอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาอ่านได้ซึ่งจะเก็งข้อสอบได้ง่ายกว่าสมัยเรียนเนติเป็นอย่างมาก....เรียกได้ว่าข้อสอบเก่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องอ่าน ต้องใส่ใจมากๆมาตั้งแต่สมัยป.ตรี เลยค่ะ
📍ชั้นเรียนเนติบัณฑิต+สอบอัยการ/ผู้พิพากษา📍
เทคนิคการเรียนในระดับนี้ คือ ต้องอึด ถึก ทน เท่านั้นเลยค่ะ และการใส่ใจกับเป้าหมายตรงหน้าเป็นสิ่งสำคัญมากต้องถามตัวเองก่อนว่าเรามาเรียนที่เนติในวันหนึ่งๆจะได้อะไรกลับไปบ้าง ถ้าไม่เข้าเรียนจะได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้นยังไงบ้าง เพราะบางวิชาที่อาจารย์บรรยายแล้วเราไม่เข้าใจก็เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ว่าอาจารย์ผู้สอนบรรยายไม่ดีแต่ขณะนั้นสมองเราไม่รับก็จะทำให้เสียเวลาในการไปนั่งฟังแล้วไม่ได้อะไรเลย
ถ้าไม่เข้าใจวิชาไหนจะไปหาซื้อหนังสืออ่านเพิ่มเติมแยกต่างหาก แต่โดยหลักแล้วจะเน้นอ่านจากคำบรรยายเพราะเป็นสิ่งที่อาจารย์จะนำมาออกข้อสอบ มีฎีกาหรือปัญหาที่อาจารย์ยกขึ้นสอนในชั้นเรียนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยเริ่มจากอ่านคำบรรยายเนติของสมัยที่ผ่านมาก่อน ในตอนนั้นมีคนรู้จักที่เค้าเรียนเนติอยู่มาก่อนก็ไปขอยืมของเขามาอ่านเพราะจะได้เข้าใจเนื้อหาล่วงหน้า ส่วนไหนไม่เข้าใจก็จดเอาไว้แล้วไปนั่งฟังอาจารย์บรรยายอีกรอบ
พอไปเข้าเรียนเสร็จแล้วกลับมาบ้านก็ท่องตัวบท ฝึกทำข้อสอบเก่า (เข้าฟังอาจารย์บรรยาย+อ่านคำบรรยาย+ท่องตัวบท+ทำข้อสอบเก่า) ทำแบบนี้เกือบทุกวันยกเว้นเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งตอนนั้นเรียนปริญญาโทช่วงเสาร์-อาทิตย์ ไปด้วยตั้งแต่เช้าถึงมืด ก็จะทำให้ไม่มีเวลาในการอ่านหนังสือไป 2 วัน แต่ว่ายังคงพกตัวบทกม.เล่มเล็กๆใส่กระเป๋าไปเสมอ
ช่วงพักเบรกของการเรียนเสาร์-อาทิตย์ ก็หยิบขึ้นมาท่องได้ และอีกสิ่งนึงถ้าหากต้องการทวนตัวบทกม. แต่ไม่รู้จะเริ่มท่องจากวิชาไหนดีก่อน เวลานั่งรถไปเรียนหรือขับรถไปเที่ยวก็จะมองป้ายทะเบียนรถยนต์คันหน้า คันหลัง คันข้างๆว่าเป็นตัวเลขอะไร แล้วก็จะนึกถึงเลขมาตรากม.ในเรื่องนั้นๆ เป็นการท่องตัวบทที่สนุกไปอีกแบบนึง....
ส่วนในการเตรียมตัวสอบอัยการ / ผู้พิพากษา ไม่ต่างจากในชั้นเรียนเนติมากนัก ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดก็ยังคงเป็นตัวบทกฎหมาย และการฝึกจับเวลา ฝึกเขียนทำข้อสอบเก่าเพราะในการสอบชั้นนี้ประเด็นข้อสอบจะเยอะมาก ถ้าหากรู้แนวการออกข้อสอบก็จะทำให้มองเห็นประเด็นและตอบคำถามได้ถูกต้องครบถ้วน ก็จะทำให้ได้คะแนนดีในข้อนั้นๆ และถ้าหากสามารถสมัครติวได้ควรสมัครควบคู่ไปด้วย เพราะจะช่วยทุ่นแรงในการอัพเดตประเด็นฎีกาใหม่ๆ รวมทั้งช่วยย่นระยะเวลาในการอ่านหนังสือ เป็นการผลักภาระให้แก่ติวเตอร์ไปสบายๆ
⭐️ เทคนิคการตอบข้อสอบกม. ⭐️
จะเริ่มพิจารณาจากข้อสอบและประเด็นในคำถามก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าข้อไหนประเด็นไม่เยอะก็จะเขียนแยกเป็นส่วนๆ โดยย่อหน้าแรกวางหลักกฎหมายโดยจะเขียนวางหลักอาศัยถ้อยคำในตัวบทในส่วนต้นก่อนแล้ว ย่อหน้าถัดไปจึงค่อยเขียนวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าการกระทำต่างๆเป็นความผิดฐานใด ไม่ผิดฐานใด แล้วจึงเขียนสรุปในส่วนย่อหน้าสุดท้ายอีกที
แต่หากข้อสอบมีประเด็นหลักและประเด็นย่อยเยอะมาก ก็จะใช้การเขียนวินิจฉัยข้อเท็จจริงรวบเข้ากับปรับบทกฎหมายไปเลยทีเดียว ซึ่งการเขียนตอบในแบบนี้การจำเลขมาตราให้แม่นยำเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ไม่ว่าจะเขียนตอบแบบใด ต้องเขียนให้เป็นขั้นตอน ไล่เรียงทีละประเด็น จุดเริ่มต้นมาจากอะไร เริ่มมาจากตรงไหน ใครทำอะไรบ้าง พอทำแบบนี้จึงผิดแบบนี้ แต่ไม่เป็นความผิดอย่างนั้น เป็นต้น
⭐️ วิธีการสร้างกำลังใจให้ตัวเองเมื่อรู้สึกเหนื่อยหรือท้อ ⭐️
การมี mindset ที่ดีต่อตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งแน่นอนว่าในการเรียนกฎหมาย เกือบทุกคนต้องผ่านจุดๆหนึ่งที่รู้สึกว่าทำไมมันยาก ทำไมไม่เข้าใจ หรือต่อให้เข้าใจแล้วทำไมเวลาสอบถึงไม่ผ่าน ได้คะแนนไม่ดี บางครั้งอีกไม่กี่คะแนนจะผ่านแล้วแต่ทำไมถึงไม่ผ่าน จนเกิดความรู้สึกโทษตัวเอง ฉันไม่เก่ง ฉันทำไม่ได้ ฉันดวงไม่ดี ฉันอยากจะหยุดแล้วเสียเวลาชีวิต และความรู้สึกอื่นอีกมากมายผสมปนกันอยู่ในตัวเอง ซึ่งตัวเองเป็นคนหนึ่งที่เคยรู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน
แต่ทุกครั้งที่มีความคิดแบบนั้นเกิดขึ้นก็จะบอกตัวเองว่า มันเป็นบททดสอบอย่างหนึ่งให้ก้าวข้ามผ่านไป คิดว่าเราแข่งขันกับตัวเอง ยิ่งเจ็บยิ่งแข็งแรง เหมือนตอนเพิ่งเริ่มออกกำลังกายใหม่ๆ ในตอนนั้นออกได้ 10-15 นาที คือเหนื่อยมากไม่ไหวแล้วจะเป็นลม แต่ถ้าเราไม่หยุดฝึกฝนทำต่อไปเรื่อยๆ ร่างกายก็จะเริ่มชินเริ่มมีภูมิต้านทาน รู้ได้ว่าการออกกำลังกายแบบไหนเหมาะสมกับตัวเอง ถ้าวันนี้วิ่งมาเยอะมากแล้วพรุ่งนี้ต้องพักนะ
การสอบตั้งแต่ในสมัยเรียนปริญญาตรี จนถึงสอบอัยการ/ผู้พิพากษา ทุกครั้งที่สอบไม่ผ่านก็จะคิดว่าภายใต้เรื่องแย่ๆก็มีสิ่งดีๆซ่อนอยู่ ทำให้รู้ว่าเรามีข้อผิดพลาดตรงจุดไหนที่ต้องปรับปรุง จุดเด่นที่เราถนัดคืออะไร จุดด้อยที่ต้องแก้ไขอยู่ตรงส่วนไหน ยิ่งผิดก็ยิ่งจำ แล้วบอกตัวเองว่าอย่ากลับไปผิดซ้ำๆอีก....
และที่สำคัญจะบอกตัวเองอยู่เสมอว่า ฉันทำได้ ฉันทำได้ คนเรามีช่วงจังหวะเวลาชีวิตในการประสบความสำเร็จที่ต่างกัน ไม่ว่าใครจะมาบอกว่าเราทำไม่ได้ หรือพูดบั่นทอนใดๆก็ตามอย่าไปเก็บมาใส่ใจ เพราะสิ่งที่แย่ว่าถ้อยคำสบประมาทจากบุคคลอื่น คือการดูถูกตัวเอง ถ้าล้มไม่ต้องรีบลุกเราสามารถคลานกระดึ๊บๆไปพลางๆในระหว่างนั้นได้ แค่ไม่หยุดจากจุดๆเดิมที่ล้มลงไปก็พอ ก็จะสบายใจและมีแรงสู้ต่อไปทุกครั้งค่ะ
อาชีพปัจจุบัน : สรุปชีท กม. Lawnote และอ่านหนังสือเตรียมสอบอัยการผู้ช่วย/ผู้ช่วยผู้พิพากษา
ติดตามคุณขวัญได้ที่ FB : Kwanticha Mesil ค่าา 🥰❤️
#นิติศาสตร์ #เนติบัณฑิต #กฎหมาย #Thaibar
โฆษณา