23 พ.ย. 2022 เวลา 05:16 • คริปโทเคอร์เรนซี
"ความปลอดภัยของ Web 3.0 ที่คุณสามารถควบคุมข้อมูลได้ 100%"
Web 3.0 เป็นเทคโนโลยีในอนาคตที่เราไม่สามารถมองข้ามได้เลย ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานบริษัท ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือคนเสพสื่อทั่วไป ก็จำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าสู่ยุค Web 3.0 จะเห็นได้ว่า ยุคของโลกอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไปเร็วมาก ๆ เพราะทุกวันนี้ เราต่างมีสมาร์ทโฟนกันแทบทุกคน แตกต่างจากแต่ก่อนที่เวลาเราเข้า Website ก็เพื่อจะหาข้อมูล หรือติดตามข่าวสารต่าง ๆ โดยมีเจ้าของแพลตฟอร์มเป็นผู้ป้อนข้อมูลลงไปเท่านั้น
แต่ปัจจุบันนี้ หลายแพลตฟอร์มได้ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จนทำให้เราเองก็สามารถนำเสนอ Content ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้เช่นกัน ทั้งใน Youtube, Facebook, Twitter หรือ Tiktok ที่เป็นแพลตฟอร์มน้องใหม่มาแรง จนมีกระแสดนตรีคุ้นหูอย่างเพลงวอเอ๊ะ ๆ ให้เราได้คลายเครียด เรียกเสียงหัวเราะ และสามารถเข้าไป Comment กันได้
ดังนั้น ข้อมูลของผู้ใช้งานอย่างพวกเราจึงมีความสำคัญ เพราะสื่อต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ในทางการตลาดได้ หรือบางสื่ออาจจะนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดก็ได้ ผมจึงได้หยิบยกประเด็น ความปลอดภัยของ Web 3.0 มาให้ทุกท่านได้อ่าน เพื่อเตรียมตัวรับสิ่งใหม่
ย้อนรอย 3 ยุค ก่อนการพัฒนา ความปลอดภัยของ Web 3.0
  • ยุคอินเทอร์เน็ต Web 1.0
เริ่มจากยุคบุกเบิกของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์กันก่อนเลยครับ วัยรุ่นยุค 90’s หลายคนคงจะคุ้นเคยกันดี เพราะลักษณะของ Web 1.0 จะเน้นไปที่การนำเสนอข้อมูลให้กับผู้บริโภคเพียงเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้งานจะสามารถรับข่าวสารได้เพียงอย่างเดียว ดังนั้น อำนาจในการนำเสนอข้อมูลจึงมาจากเจ้าของเว็บไซต์ ซึ่งหากจะอธิบายให้เห็นภาพก็คือ ถ้าคุณเข้า Google แล้วเสิร์ชมาเจอบทความนี้ของผม นั่นก็เป็นสิ่งที่แสดงว่า ตอนนี้คุณเองก็กำลังใช้งานในระบบ Web 1.0 อยู่ครับ
  • ยุคอินเทอร์เน็ต Web 2.0
ต่อมา ผมจะพูดถึงยุคอินเทอร์เน็ต Web 2.0 กันต่อเลย บางท่านอาจจะมองภาพออกแล้วว่า Web 2.0 เป็นอย่างไรใช่ไหมครับ คุณคิดถูกแล้วครับ! อินเทอร์เน็ตยุคนี้ ถูกพัฒนาให้มีหน้าตาออกไปทาง Community โดยพัฒนาให้มีการสื่อสารโต้ตอบกัน มีความเป็นชุมชนมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคนี้ครับ เป็นยุคของโซเชียลมีเดียที่ผู้เสพสื่อกับผู้นำเสนอสื่อสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ แต่ถึงอย่างนั้น เจ้าของแพลตฟอร์มก็ยังคงอยู่เหนือกว่าผู้ใช้งาน เพราะเจ้าของแพลตฟอร์มสามารถควบคุม Content ของผู้นำเสนอได้ทั้งหมดครับ
ถ้าคอนเทนต์ไหนที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม หรือเป็นคอนเทนต์ที่มีแนวคิดเห็นต่างออกไปจากคนส่วนมาก เจ้าของแพลตฟอร์มก็สามารถปิดกันเนื้อหานั้นได้เลย และอีกอย่างที่สำคัญ คือ ข้อมูลส่วนตัวที่เราคีย์ลงไปในแพลตฟอร์มโซเชียลต่าง ๆ ทั้งใน Youtube, Facebook, Twitter หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ อาจจะสามารถหลุดออกไปได้เช่นกันครับ ด้วยปัญหาข้างต้นที่ผมกล่าวไป จึงนำมาสู่แนวคิดในการพัฒนา Web 3.0 นั่นเองครับ
  • ยุคอินเทอร์เน็ต Web 3.0
ยุคอินเทอร์เน็ต Web 3.0 ที่อยู่ในช่วงกำลังพัฒนาต่อจากยุคอินเทอร์เน็ต Web 2.0 ทำให้ในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะได้ใช้งานกันครับ โดยตัว Web 3.0 จะเน้นไปที่การเชื่อมต่อถึงกันโดยตรง ผู้ใช้งานสามารถ จัดการข้อมูลของตัวเองได้แบบ 100% ด้วย ความปลอดภัยของ Web 3.0 ที่มีการทำงานอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain เพื่อให้เกิดการจัดเก็บข้อมูลแบบไร้ตัวกลาง (Decentralised Data Architecture) บวกกับการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยประมวลผล ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ตนเองสนใจได้
แค่ลองคิดภาพตามก็น่าสนใจแล้วใช่ไหมครับ เพราะแนวคิด Web 3.0 นี้ จะทำให้ข้อมูลของเรามีความเป็นส่วนตัว และมีความปลอดภัยมากขึ้นครับ แต่หากคุณคิดว่า ข้อมูลที่คุณใส่ลงไปในแพลตฟอร์มไม่ได้สลักสำคัญอะไรเลย เพราะมีแค่ชื่อ Account หรือมีแค่รูปที่คุณโพสต์ลงไป จึงมองว่า การป้องกันข้อมูลตัวเองไม่ได้สำคัญจนต้องปกปิดขนาดนั้น ผมขอบอกก่อนว่า “คุณกำลังคิดผิดครับ”
เพราะแพลตฟอร์มที่คุณใช้งานอยู่ เขาเก็บข้อมูลที่ลึกลงไปกว่านั้นมาก ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้งานของคุณบนแพลตฟอร์ม เช่น การโพสต์รูป การเข้าชม การกดไลค์ กดแชร์ รวมถึงระยะเวลาที่คุณใช้งานบนแพลตฟอร์มนั้น ๆ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลที่เจ้าของแพลตฟอร์มสามารถนำไปทำประโยชน์ต่อได้ครับ หรือหากคิดในมุมที่แย่หน่อย เขาก็อาจจะนำข้อมูลของเราไปใช้เพื่อผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การขายข้อมูลให้บริษัทต่าง ๆ เพื่อใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์
สิ่งที่จะตามมาเมื่อความปลอดภัยของ Web 3.0 ถูกควบคุมจากผู้ใช้ 100%
เนื่องจาก Web 2.0 ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า มีความปลอดภัยไม่สูงนัก ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะเคยประสบปัญหาเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลอยู่บ้างใช่ไหมครับ สำหรับบางท่านอาจจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรนัก แต่หากเป็นบริษัทใหญ่ที่ต้องระวังเรื่องของข้อมูลล่ะ? ถ้าข้อมูลหลุดออกไปได้ก็นับเป็นเรื่องที่ร้ายแรง และส่งผลกระทบต่อบริษัทเป็นอย่างมาก
นั่นเป็นเพราะแพลตฟอร์มที่เราใช้อยู่ อย่าง Facebook, IG และ Twitter ล้วนแล้วแต่มีภัยอันตรายซ่อนอยู่ เนื่องจากผู้พัฒนาสามารถนำข้อมูลของคุณไปใช้งานได้ในหลาย ๆ ด้าน หรือบ่อยครั้งก็มีข่าวการถูกแฮกระบบ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด
อีกทั้ง ปัญหาเหล่านี้ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราจึงต้องมีการพัฒนาให้โลกอินเทอร์เน็ตมีความปลอดภัยมากขึ้น เจ้าของข้อมูลมีสิทธิควบคุมได้อย่างเต็มที่ เพราะเทคโนโลยี Web 3.0 นั้น จะสามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูล และจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์บนระบบ Blockchain
หรือถ้าใครนึกภาพไม่ออก ให้เราเข้าใจว่า มันเป็นการเก็บข้อมูลให้กระจายอยู่ในหลาย ๆ เครื่อง (node) ก็ได้ครับ ซึ่งขั้นตอนการเก็บข้อมูลในลักษณะนี้จะช่วยให้ ความปลอดภัยของ Web 3.0 ถูกแฮกได้ยากมากขึ้น ต่างกับรูปแบบ Web 2.0 ที่มีการเก็บข้อมูลไว้ในแหล่งเดียว นั่นคือ ทำให้ข้อมูลทั้งหมดของผู้ใช้งานจะถูกเก็บไว้ใน Server ของเจ้าของแพลตฟอร์มนั่นเอง
และที่สำคัญ คือ ข้อมูลที่ถูกอัพขึ้นไปบน Web 3.0 จะเป็นกรรมสิทธ์ของเจ้าของข้อมูลเอง โดยคุณจะสามารถกำหนด หรือควบคุมได้ว่า จะเผยแพร่ข้อมูลส่วนไหน และจะปกป้องข้อมูลส่วนไหน โดยไม่ต้องขออนุญาตจากใครเลยครับ ซึ่งจากความเป็นไปได้ข้างต้นที่ผมกล่าวไปนั้น อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ แต่มันจะส่งผลต่อโลกของอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก
เนื่องจากข้อมูล Content ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้งานได้เผยแพร่ไปนั้น ไม่ได้ถูกเก็บอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง ทำให้นโยบายการกำหนดทิศทางต่าง ๆ บน Web 3.0 มีความเป็นกลางมากขึ้น เพราะการกำหนดทิศทางจะมาจากผู้ใช้งานอย่างพวกเราเป็นหลักครับ ยิ่งไปกว่านั้น ในเรื่องของระบบเศรษฐกิจ เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่หมุนเวียนภายในโลกอินเทอร์เน็ต Web 3.0 จะถูกกำหนดโดยผู้ใช้งานทั้งหมด ส่งผลให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกมากมาย
อ่านเพิ่มเติมที่ : https://traderbobo.com/data-web-3-security-technology/
โฆษณา