23 พ.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เปิด 2 ความท้าทายทางเศรษฐกิจ ที่กลุ่มประเทศ APEC ต้องเผชิญ
ผลการประชุม APEC ครั้งที่ 33 ได้จบลงไปด้วยดี
โดยการประชุมในครั้งนี้ ได้ร่วมกันหารือถึงความท้าท้ายทางเศรษฐกิจที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต้องเผชิญ โดย ในการหารือครั้งนี้ ที่ประชุม APEC ได้มีการพูดคุยถึงความท้ายทายหลัก ๆ ที่ต้องเผชิญ 2 เรื่อง คือ
1) การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และ นำความเปลี่ยนแปลงเข้ามาสู่ประเทศอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2020 GDP ทั่วโลกลดลง 3.4% ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวแต่อัตราการเติบโตก็ยังคงฟื้นตัวช้ากว่าตอนที่จะเกิดการแพร่ระบาด
ในส่วนของกลุ่มประเทศ APEC มีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีกว่าประเทศอื่น ๆ
โดยในปี 2020 เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ APEC หดตัว 1.8% ก่อนที่จะฟื้นตัวเป็นเติบโต 5.8% ในปี 2021 และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2021 เศรษฐกิจจะขายตัวที่ 4.2% ในปี 2022 และ 3.8% ในปี 2023
นอกจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะทำให้เศรษฐกิจหดตัวแล้วยังก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศสมาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงเป็นพิเศษกับวิกฤติในหลายกรณี เช่น การเข้าถึงวัคซีน รวมถึงทางเลือกทางการเงินและการเข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินที่มีจำกัด
การลดลงของการค้าระหว่างประเทศได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการค้า
โดยจากการศึกษาผลงานทางวิชาการกว่า 32 ชิ้น ในเรื่องความเหลื่อมล้ำภายหลังเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น โรคระบาด เศรษฐกิจถดถอย หรือ วิกฤติทางการเงิน แสดงให้เห็นว่า
โรคระบาดก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในประเทศกลุ่มสมาชิก APEC มากขึ้น
เนื่องจากมีการสูญเสียแรงงานและรายได้จำนวนมากในกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย
และในระยะกลาง ราคาอาหารที่สูงขึ้น ไปจนถึงการหยุดชะงักในการเข้าถึงการศึกษาอาจทำให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น
2) ความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจและต่อการดำรงชีวิต
การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันได้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และ สมดุลทางธรรมชาติ อันได้แก่ แหล่งทรัพยากร ที่ดิน และระบบนิเวศ
เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ เมื่อต้องเผชิญกับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมในอนาคต เช่น ภัยธรรมชาติ หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น การพุ่งสูงขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นแรงจูงใจสำคัญให้ภาครัฐออกนโยบายที่รองรับการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่ไม่ได้สำคัญแค่กับภูมิภาค APEC เท่านั้น
แต่ภูมิภาคและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน
จากรายงาน The Sixth Assessment Report ที่เผยแพร่ในปี 2021 โดย the Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC 2021) พบว่า ภูมิภาคเอเชีย เผชิญกับการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวมากกว่าในช่วงปี 1850–1990
ซึ่งหมายความว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่น คลื่นความร้อน ไฟป่าอย่างรุนแรง เหตุการณ์สภาพอากาศและฝนตกหนักจะมีบ่อยและรุนแรงขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ของเอเชียในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
และจากข้อมูลของ The Emergency Event Database พบว่า นับตั้งแต่มีการก่อตั้ง APEC ในปี 1989
ภูมิภาค APEC ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติไปกว่า 36% จากภัยธรรมชาติทั้งหมดทั่วโลก
และมีตัวเลขความสูญเสียเฉลี่ยปีละ 111,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ภูมิภาค APEC ยังมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างปี 1990-2018
 
โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของภูมิภาคเพิ่มขึ้นจาก 16.5 เป็น 27.8 gigatonnes และ เติบโตเฉลี่ยปีละ 1.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจจำนวนมาก
โดย World Bank ได้ประเมินผลกระทบการเติบโตของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับเศรษฐกิจ APEC ว่า ภูมิภาค APEC นี้จะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ 7.3% ของ GDP ภายใต้สถานการณ์พื้นฐานภายในปี 2100
โดยประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม มีแนวโน้มที่จะประสบกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุด
ซึ่งสาเหตุหลักมาจากน้ำท่วมชายฝั่ง และแต่ละประเทศอาจสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 20% ของ GDP ภายในปี 2100
ในขณะที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา อาจจะสูญเสียน้อยกว่า 5% ของ GDP ภายในปี 2100
ขณะนี้ กลุ่มเศรษฐกิจ APEC กำลังดำเนินการปฏิรูปนโยบายเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ รวมถึงลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซ
ส่งเสริมการอนุรักษ์ทะเลและป่าไม้ นโยบายการวางแผนการปรับตัว และช่วยเหลือชุมชนปรับตัวเข้ากับรูปแบบสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
โฆษณา