24 พ.ย. 2022 เวลา 03:14 • ปรัชญา
“จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น จิตทุกชนิดไม่ใช่ตัวเรา”
“ … หลงมี 2 กลุ่มใหญ่
หลงไปคิดกับหลงไปเพ่ง
หลงไปเพ่งก็ไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานต่างๆ ตั้งแต่อารมณ์บัญญัติ เช่น เพ่งคำว่าพุทโธ เพ่งรูป เพ่งลมหายใจ เพ่งนาม เช่น เพ่งความว่าง
เพ่งก็เพ่งหลายแบบ หลงก็มีหลายแบบ มีหลงไปทางทวารทั้ง 6 หลงไปทางตา หลงไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี่หลงไปแบบเดี่ยว
หลงทางใจ อันนี้วิจิตรพิสดาร หลงได้เยอะแยะหลายแบบ หลงทางใจ
เช่น หลงไปในความสุข หลงไปในความทุกข์
หลงไปในความไม่สุขไม่ทุกข์
หลงไปกับปีติที่เกิดขึ้น หลงกับความสุขที่เกิดขึ้น
หลงกับความสงบที่เกิดขึ้น นี่ก็หลงทั้งนั้น
หลงกับความว่าง หลงกับการเพ่งเข้าไปที่ตัวผู้รู้
หลงกับการเพ่งความไม่มีอะไรเลย ไม่มีทั้งความว่าง ไม่มีทั้งตัวรู้ นี่ก็หลง
ฉะนั้นหลงนี่มีเยอะแยะเลย
ส่วนหลงคิดก็มีมากมาย หลงคิดไปอดีต หลงคิดไปอนาคต มีไหมหลงคิดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็หลงคิดอดีต หลงคิดอนาคต
ส่วนปัจจุบันก็ขาดสติแล้วก็หลงนั่นล่ะ
ร่างกายมีอยู่ไม่รู้ว่าร่างกายมีอยู่ ก็เรียกว่าหลง
ความสุขทุกข์มีอยู่ไม่รู้ว่ามีอยู่ ก็เรียกว่าหลง
กุศลอกุศลมีอยู่ไม่รู้ว่ามีอยู่ ก็เรียกว่าหลง
ถ้าละเอียดขึ้นไปจะเห็นจิตมันทำงานสืบเนื่องกันตลอดเวลา พอไม่เห็นตรงนี้เขาเรียกหลงเหมือนกัน อันนั้นละเอียดมากๆ เลย
เวลาฝึก ฝึกทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตที่มันหลง หลงไปคิดหรือหลงไปเพ่งอะไรก็ได้ รู้ว่ามันหลงไป รู้ว่ามันเคลื่อนไป
อย่าไปบังคับว่าไม่ให้เคลื่อน ถ้าบังคับแล้วจะแน่น มันเคลื่อนแล้วรู้ๆ ไป แล้วต่อไปไม่นาน เราจะได้จิตรู้ขึ้นมา
เมื่อได้จิตรู้แล้วเราก็เดินปัญญา
ถ้าจะเดินปัญญาด้วยการดูกาย
เราก็เห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน
ร่างกายมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
แสดงความไม่เที่ยง
ร่างกายมันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
ร่างกายมันเป็นแค่วัตถุ
มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกอยู่ตลอดเวลา
เช่น หายใจเข้า หายใจออก กินอาหารแล้วก็ขับถ่าย ดื่มน้ำแล้วปัสสาวะ หรือเป็นเหงื่อซึมออกมาอะไรอย่างนี้ นี่ธาตุมันไหล ร่างกายเป็นแค่วัตถุธาตุ ไม่ใช่คน สัตว์ เรา เขา นี่เรียกว่าเห็นอนัตตา
หรือถ้าเราดูจิตดูใจ ก็อย่างที่หลวงพ่อเล่าเมื่อกี้
เราเห็นว่าจิตดวงหนึ่งกับจิตอีกดวงหนึ่งมันคนละดวงกัน
อันนี้เห็นละเอียด
ถ้าหยาบๆ ขึ้นมา
เราก็จะเห็นว่าจิตสุขเกิดแล้วก็ดับ
จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ
จิตดีเกิดแล้วก็ดับ
จิตชั่ว ชั่วก็มีเยอะ จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลงอะไรอย่างนี้เกิดแล้วดับทั้งหมดเลย จิตอิจฉา จิตอิจฉาพยาบาท อะไรต่ออะไรสารพัดจะเกิด
เราก็คอยรู้ไป จิตอิจฉาก็อยู่ชั่วคราว เดี๋ยวก็ดับ ไม่มีใครอิจฉาได้ตลอดเวลา
หรือจิตเศร้า บางคนอกหัก โอ๊ย โลกมืดมนไปหมด เศร้ามาก คิดว่าความเศร้าจะเที่ยงหรือ สุดท้ายมันก็ไม่เที่ยง ถึงเราไม่ไปทำอะไรมัน ทุกข์ที่มีอยู่มันก็ไม่เที่ยง ถึงอย่างไรมันก็ต้องผ่านไป
แต่ถ้าเรารอให้ความทุกข์ผ่านไปตามธรรมชาติ เราจะไม่ได้ปัญญาขึ้นมา
สมมติเราอกหัก เราก็ทุกข์ๆ เราทำอะไรไม่ได้ ไปไหว้พระสวดมนต์ ไปรดน้ำมนต์ ไปโน่นไปนี่อะไรเรื่อยๆ ที่จริงไม่ต้องทำเลย อยู่ไปเรื่อยๆ มันก็หายเองล่ะ
ปีสองปีก็หายถ้าอกหักครั้งแรก ถ้าอกหักครั้งที่ยี่สิบ ชั่วโมงเดียวก็หายแล้ว นี่หายไป เห็นความทุกข์เกิดดับ อันนี้ไม่เรียกว่าเห็นเกิดดับหรอก ไม่ได้ปัญญา
จะได้ปัญญาจิตต้องตั้งมั่น
เห็นเลยความทุกข์มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วมันก็ดับ
เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับ
เดี๋ยวก็ทุกข์มาก เดี๋ยวก็ทุกข์น้อย เดี๋ยวก็หายไป
เดี๋ยวก็กลับมาทุกข์อีก
ต่อไปก็จะเห็นเลย มันทุกข์ขึ้นมาตอนไหน ตอนคิดนั่นล่ะ ถ้าไม่คิดไม่ทุกข์หรอกทางใจ
จะห้ามใจไม่ให้คิด ห้ามไม่ได้อีก ใจมันจะคิด ห้ามมันไม่ได้อีก เพราะมันเป็นอนัตตา สั่งมันไม่ได้ แต่เราเรียนรู้มันไป
เห็นจิต จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตสุขเกิดแล้ว
ดูไปเรื่อยๆ ต่อไปความรู้รวบยอดจะเกิดขึ้น
มันจะรู้ว่าจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น
จิตทุกชนิดไม่ใช่ตัวเรา
พอจิตไม่ใช่เราแล้ว ขันธ์ 5 มันก็ไม่เป็นเรา
ขันธ์ 5 มันปรากฏขึ้นมาเพราะว่าจิตมันไปรู้เข้า
โลกทั้งโลกก็ไม่มีความหมายอะไร ไม่มีตัวเรา
มันเป็นโลกของเรา เพราะจิตมันไปสำคัญมั่นหมาย
ประเทศของเรา บ้านของเรา รถยนต์ของเรา
ลูกของเรา เมียของเรา
มันเกิดจากจิตเข้าไปสำคัญมั่นหมายทั้งหมด
ฉะนั้นเราค่อยๆ ฝึก ฝึกไป ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ
วิธีทำในรูปแบบก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้
ต่อไปสันตติจะขาด จิตผู้รู้จะเกิดขึ้น สันตติก็จะขาด
แล้วถัดจากนั้นเราจะทำวิปัสสนาได้จริงๆ
คือเราจะเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วดับๆ
ไม่ต้องมานั่งคิดว่าเกิดแล้วดับจริงหรือเปล่า
แล้วก็ไม่ต้องไปรอว่าอะไรจะเกิดอะไรจะดับ
ยากไหม ถ้าไม่เคยได้ยินไม่เคยได้ฟัง ยากโคตรๆ เลย ยากมากที่เราจะแสวงหาทางนี้ด้วยตัวเราเอง แต่อาศัยพระพุทธเจ้าสอนไว้ อาศัยครูบาอาจารย์ปฏิบัตินำร่องมา
ที่บางคนภาวนาได้เร็ว เพราะจิตมีสมาธิที่ถูกต้องมากพอ จิตจะเป็นผู้รู้ ไม่ใช่สมาธิชนิดสงบซื่อบื้ออยู่ ไม่ใช่สมาธิชนิดเห็นนิมิตโน้นนิมิตนี้ฟุ้งซ่าน ยังใช้ไม่ได้
ฝึกจนจิตเป็นผู้รู้แล้วดูสภาวะไป สันตติมันจะขาด
สันตติขาดแล้ว นั่นล่ะทำวิปัสสนาอยู่
ทำไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งจิตมันก็สรุปรวบยอด
ความรู้รวบยอดเกิดในขณะของอริยมรรค
เกิดเอง ไม่มีใครสั่งให้มรรคผลเกิดได้หรอก
มันเกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญานั้นสมบูรณ์แล้ว
ปัญญาที่สมบูรณ์คือปัญญาที่มันเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปนั่นล่ะ สภาวะที่เห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะคือสภาวะที่มีปัญญา
เราจะเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดดับได้ จิตต้องตั้งมั่น ทรงสัมมาสมาธิ ที่หลวงพ่อเรียกว่าเป็นจิตผู้รู้นั่นล่ะ คือจิตที่ทรงสมาธิอยู่
จิตเราจะทรงสมาธิได้เข้มแข็ง ถ้าศีลของเราดี แต่ถ้าศีลเราด่างพร้อย สมาธิจะอ่อนยวบยาบเลย สมาธิไม่มีกำลังล่ะก็จิตก็ไม่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้หรอก มันเดินปัญญาไม่ได้จริงหรอก
วันนี้เทศน์ให้ฟังฉลองฤดูหนาว เทศน์เสียละเอียดเลย ละเอียดไหม ละเอียดสิ เพราะเรื่องจิตดวงหนึ่งเล็กนิดเดียว ละเอียดมากเลย …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 ตุลาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา