25 พ.ย. 2022 เวลา 04:42 • ข่าวรอบโลก
"จำนวนการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลาง และผู้ซื้อนิรนามที่หายไป"
ภาพรวมในปีนี้เป็นปีที่ธนาคารกลางต่าง ๆ ให้ความสนใจกับการกักตุนทองคำสูงที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามยูเครนที่รัสเซียได้ทำการบุกยูเครนตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนเรื่องราวบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน และดูเหมือนว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นอย่างทวีคูณ โดยนักวิเคราะห์หลายกลุ่มต่างให้ความเห็นว่า สงครามในครั้งนี้จะกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ รวมถึงได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และที่สำคัญยังมีการแบ่งฝ่ายของประเทศมหาอำนาจที่หนุนหลังให้กับรัสเซียและยูเครน
ซึ่งจีนก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้การสนับสนุนรัสเซีย เนื่องจากมีผลประโยชน์หลายอย่างร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นแกนนำของการรวมขั้วอำนาจใหม่ที่ชื่อว่า “BRICS” โดยการร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อหวังจะโค่นอำนาจของสหรัฐฯ และสกุลเงินดอลลาร์ลง ล่าสุด มีการวิเคราะห์ว่า จีนได้ย่องซื้อทองคำกักตุน หลังรัสเซียต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรจากชาติตะวัน โดยส่งผลกระทบมากมายต่อเศรษฐกิจรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นการถูกตัดออกจากระบบ Swift หรือการระงับการถอนเงินทุนสำรองในรูปแบบของดอลลาร์
1
ผลกระทบเหล่านี้ทำให้จีนแทบนั่งไม่ติด และต้องหาทางรอด โดยการสำรองทองคำถือเป็นวิธีเตรียมตัวที่ดี และต้องเร่งลดการพึ่งพาดอลลาร์ หากปลายทางจีนอาจต้องเจอการคว่ำบาตรเช่นเดียวกับรัสเซีย ดังคำพูดของ Emin Yurumazu นักเศรษฐศาสตร์จากตุรกี กล่าวว่า “เมื่อทรัพย์สินในต่างประเทศของรัสเซียถูกแช่แข็งหลังจากสงครามยูเครนทำให้ประเทศที่ต่อต้านตะวันตกต่างกระตือรือร้นที่จะสะสมทองคำไว้ในมือ”
จากการเปิดเผยของสภาทองคำโลก (World Gold Council) ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำสุทธิจำนวน 399.3 ตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 65) โดยมีอัตราเร่งในช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 4 เท่า โดยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีนี้อยู่ที่ 86 ตัน และ 87 ตัน ตามลำดับ ถือเป็นการเข้าซื้ออย่างก้าวกระโดดที่น่าจับตามอง
โดยธนาคารกลางของตุรกี อุซเบกิสถาน และอินเดีย ได้เข้าซื้อทองคำจำนวน 31.2 ตัน 26.1 ตัน และ 17.5 ตัน ตามลำดับ รวมเป็น 74.8 ตัน จึงเกิดคำถามที่น่าสนใจว่า “ทองคำอีกกว่า 300 ตัน ประเทศใด คือ ผู้เข้าซื้อ” และยิ่งไปกว่านั้น คือ ข้อมูลในส่วนนี้ไม่มีการเปิดเผยที่ชัดเจน จึงทำให้เกิดข้อสงสัยที่ว่า ผู้ซื้อนิรนามนี้อาจเป็นธนาคารกลางของจีน
เหตุผลสนับสนุนว่า “จีน คือ ผู้ซื้อทองคำนิรนาม“
1. พฤติกรรมการซื้อทองคำคล้ายกับจีนในอดีต
ประเด็นแรก การเข้าซื้อทองคำอย่างเงียบ ๆ คล้ายกับพฤติกรรมของจีน เนื่องจากจีนไม่เคยเปิดเผยข้อมูลการซื้อทองคำตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปี 2015 ที่มีการออกมาประกาศว่า จีนได้ถือครองทองคำอยู่เกือบ 600 ตัน ทำให้ ณ ตอนนั้นทั่วโลกเกิดการประหลาดใจเป็นอย่างมาก มิหนำซ้ำรายงานนี้ไม่มีการลงรายละเอียดกิจกรรมใด ๆ และหลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานเกี่ยวกับการถือครองทองคำของจีนอีกเลย
โดยมีการคาดการณ์ว่า จีนอาจมีการซื้อทองคำจากธนาคารกลางรัสเซียไปแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันรัสเซียได้ถือครองทองคำมากกว่า 2,000 ตัน โดยรัสเซียเก็บสะสมทองคำเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก่อนจะทำการบุกยูเครน ทำให้ถือครองทองคำเป็นอันดับที่ 5 ของโลก
2. จีนมีการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจำนวนมหาศาล
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าติดตาม คือ จีนได้ทำการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ออกเป็นจำนวนมาก โดยการเทขายในครั้งนี้มีนัยสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากในช่วงที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) ในปี 2008 ทำให้ความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง และส่งผลต่อสินทรัพย์อื่น ๆ ธนาคารกลางทั่วโลกจึงจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยง และขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ออกไป รวมไปพยายามสำรองทองคำเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับประเทศ
ย้อนกลับมาในปัจจุบัน จีนได้ขายพันธบัตรสหรัฐฯ ไปถึง 120,000 ล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับทองคำประมาณ 2,200 ตัน โดยข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยหลังจากการเกิด สงครามยูเครน ได้ไม่นาน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เกิดการคว่ำบาตรรัสเซีย บ่งชี้ว่า จีนอาจมีการประเมินความเสี่ยงไว้แล้วว่า ตนเองต้องได้รับผลกระทบจากการที่หนุนหลังรัสเซียอย่างแน่นอน จึงต้องกระจายความเสี่ยงออกไป และเน้นไปถือการถือสินทรัพย์ที่ทั่วโลกให้การยอมรับอย่างทองคำ
3. การนำเข้าทองคำของจีนจากรัสเซียสูงขึ้น
และประเด็นสุดท้าย คือ จีนมีการนำเข้าทองคำจากรัสเซียสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยข้อมูลจากศุลกากรจีน ระบุว่า การนำเข้าทองคำของจีนจากรัสเซียพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าแปดเท่าในเดือนนี้ และประมาณ 50 เท่าจากระดับเดียวกันของปีที่แล้ว
อ่านเพิ่มเติมที่ : https://traderbobo.com/china-secretly-buys-gold-russia-faces-sanctions/
โฆษณา