25 พ.ย. 2022 เวลา 12:26 • ประวัติศาสตร์
ถนนพระรามที่ 6 เป็นถนนสำคัญสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร แยกจากถนนจรัสเมือง แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนพระรามที่ 1 ที่ทางแยกพงษ์พระราม บริเวณใกล้วัดชำนิหัตถการ(วัดสามง่าม) ข้ามคลองมหานาคเข้าสู่พื้นที่แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี ตัดกับถนนเพชรบุรี(ทางแยกอุรุพงษ์) และทางรถไฟสายตะวันออก เข้าสู่แขวงทุ่งพญาไท ตัดกับถนนศรีอยุธยา(ทางแยกศรีอยุธยา) ถนนราชวิถี(ทางแยกตึกชัย) ข้ามคลองสามเสน
และเริ่มเลียบคลองประปาในพื้นที่แขวงพญาไท เขตพญาไท ตัดกับถนนนครไชยศรี(ทางแยกโรงกรองน้ำ) ตัดกับซอยพระรามที่ 6 ซอย 34 และซอยพระรามที่ 6 ซอย 37(ทางแยกพิบูลวัฒนา) ตัดกับถนนประดิพัทธ์ (ทางแยกประดิพัทธ์) จากนั้นไปทางทิศตะวันตก ตัดกับถนนกำแพงเพชร ทางรถไฟสายเหนือ และถนนเทอดดำริ เข้าสู่พื้นที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต จนถึงถนนเตชะวณิช(ทางแยกวัดสะพานสูง)
ถนนพระรามที่ 6 เดิมชื่อ"ถนนประทัดทอง" สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คำว่า"ประทัดทอง" นั้นจากชื่อเครื่องลายครามที่มีภาพต้นประทัดทอง ภายหลังเรียกเพี้ยนเป็นบรรทัดทอง ครั้นมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อถนนประทัดทองตลอดทั้งสายเป็น"ถนนพระรามที่ 6" เพราะเป็นถนนที่โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงเป็นเส้นทางไปโรงกรองน้ำประปาสามเสน และต่อไปยังสะพานพระราม 6
สถานที่สำคัญบนถนนสายนี้ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ โรงพยาบาลสงฆ์ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
โรงงานผลิตน้ำสามเสน และพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ประปาไทย การประปานครหลวง กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานถนนพระรามที่ 6 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สำนักงบประมาณ และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย
โฆษณา