26 พ.ย. 2022 เวลา 08:28 • ท่องเที่ยว
“Train to เมืองกาญจน์” นั่งรถไฟไปกาญจนบุรี บนเส้นทางรถไฟสายมรณะ
นั่งรถไฟไปตามเส้นทางต่างๆ .. ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกการเดินทางท่องเที่ยวที่สุดแสนจะคลาสสิก ด้วยเหตุที่ ในระหว่างทางเราสามารถชื่นชมทิวทัศน์รอบๆตัว
อย่างเส้นทางรถไฟที่มุ่งหน้าไปที่ “กาญจนบุรี” ก็ถือว่าเป็นอีกเส้นทางที่มีบรรยากาศดี มีไฮไลต์สวยๆ ชวนชมมากมาย
เส้นทางรถไฟไปกาญจนบุรี มีจุดเริ่มต้นที่ “สถานีกรุงเทพ” หรือ “หัวลำโพง” ในช่วงเช้า .. หลังจากหนึ่งชั่วโมงผ่านไป สถานีแรกที่นักท่องเที่ยวจะได้แวะคือ “สถานีนครปฐม”
เรามีเวลาราว 40 นาทีในการแวะเข้าไปสักการะ “องค์พระปฐมเจดีย์” ที่อยู่ใกล้ๆ ได้ แต่ต้องดูว่าจะไปไกลแค่ไหน เพราะต้องเผื่อเวลาที่จะเดินกลับมาที่สถานัรถไฟด้วย เพื่อเดินทางต่อ
บริเวณใกล้ๆ “สถานีนครปฐม” ถือเป็นย่านอาหารกินที่มีให้เลิอกมากมาย ทั้งอาหารว่างเบาๆ เช่น ขนมครก ปาท่องโก๋ ขนมจีบ ข้าวหลาม ผลไม้สด
หมูสะเต๊ะเจ้าดัง
หรือจะชิมอาหารเลื่องชื่อของนครปฐมเป็นอาหารเช้า ก็มีหลายเมนูเด่นๆ อย่าง ข้าวหมูแดง ข้าวเหนียวหมูย่าง โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ จะทานที่นี่ หรือจะซื้อไว้เป็นเสบียงตอนนั่งรถไฟก็เป็นไอเดียที่ดี
รถไฟแล่นต่อไป มุ่งหน้าไปยังกาญจนบุรี .. นั่งเพลินๆ ดูทิวทัศน์ที่ผ่านเข้ามาในสายตา ราว 1 ชั่วโมงต่อมา ก็จะมาถึง “สถานีสะพานแควใหญ่” ที่อยู่ติดกับ “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายมรณะ
“เส้นทางรถไฟสายมรณะ” .. เป็นเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผ่านกาญจนบุรี ข้ามแม่น้ำแควใหญ่ ผ่านเข้าไปทางด่านเจดีย์สามองค์ และมีปลายทางอยู่ที่เมืองตาน-พยูซะยะ พม่า
ในการสร้างทางรถไฟสายนี้ เพื่อให้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านพม่า .. เมื่อเริ่มแรกใช้แรงงานกรรมกรที่รับจ้างด้วยความสมัครใจ แต่เนื่องจากต้องเผชิญกับความยากลำบาก โรคระบาด ทำให้กรรมกรต้องเสียชีวิตในการก่อสร้างนับหมื่นคน และพากันละทิ้งงานจำนวนมาก
Cr. www. Thailand - Burmese railway center
เมื่อเกิดปัญหาคนไม่พอเพียง กองทัพญี่ปุ่นจึงระดมแรงงานจากเชลยศึกที่เป็นชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ ดัตท์ และอเมริกัน ประมาณ 60,000 คน ทำการก่อสร้างต่อไป จนทางแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2486 รวมระยะเวลาการก่อสร้างเพียง 10 เดือนเท่านั้น
แต่ .. ในระหว่างการสร้างทางรถไฟสายนี้ ญี่ปุ่นต้องสังเวยชีวิตของบรรดาเชลยศึก ของฝ่ายพันธมิตรกว่า 12,599 ราย นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่ามีแรงงานที่เป็นพลเรือนเสียชีวิตราวๆ 80,000 คน นับๆดูแล้วเกือบแสน ด้วยความทารุณของสงคราม โรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงการขาดแคลนอาหาร ทำให้แรงงานเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อ “เส้นทางรถไฟสายมรณะ”
เมื่อทางรถไฟเสร็จ ญี่ปุ่นไม่มีแม้แต่โอกาสได้ใช้เส้นทางสายนี้ ด้วยเหตุว่าต้องยอมจำนนต่อสงครามที่พ่ายแพ้ เพราะระเบิดปรมาณูของฝ่ายพันธมิตรได้ทำลายเมือง ฮิโรชิมา และ นางาซากิ อย่างย่อยยับ จึงต้องยอมเซ็นสัญญาสงบศึก ในวันที่ 11 สิงหาคม 2488
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง การรถไฟแห่งประ เทศไทย ได้ขอซื้อเส้นทางรถไฟสายนี้จากพันธมิตรเป็นจำนวนเงินถึง 50 ล้านบาท .. ส่วนที่ถูกระเบิดพังเสียหายภายในช่วงสงคราม รัฐบาลญี่ปุ่นได้ซ่อมแซมสะพานให้ใหม่เพื่อเป็นการใช้หนี้สงคราม
ปัจจุบัน ทางรถไฟสายมรณะเส้นนี้ไปสุดปลายทางอยู่ที่บ้านท่าเสา หรือ สถานีน้ำตก
“สะพานข้ามแม่น้ำแคว” .. ในปัจจุบันกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของกาญจนบุรี ในทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวแวะมาถ่ายรูปเป็นจำนวนมาก หากเดินทางมาในรถไฟนำเที่ยวขบวนพิเศษ ก็จะแวะจอดให้ลงไปถ่ายรูปวิวสวยๆ บริเวณสะพาน ก่อนจะขึ้นรถไปข้ามแม่น้ำแควใหญ่ไปอีกฝั่งเพื่อเดินทางต่อ
.. นั่งรถไฟต่อมาเรื่อยๆ อีกสักครู่ ก็จะมาถึงอีกช่วงที่เป็นไฮไลต์ของเส้นทางรถไฟสายนี้ นั่นคือ “ถ้ำกระแซ”
“เส้นทางรถไฟช่วงที่สวยที่สุด” เป็นคอมเม้นท์ของใครหลายๆคนที่เคยนั่งรถไฟสายนี้มาแล้ว ..
เส้นทางคดโค้งไปตามภูเขา ความยาวกว่า 400 เมตร อีกฝั่งเป็นแม่น้ำแควน้อย
ทำให้เวลาที่รถไฟวิ่งผ่านเส้นทางช่วงนี้ ทิวทัศน์ที่สวยงามราวภาพฝัน ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้คว้ากล้องออกมาบันทึกความทรงจำ
สถานีรถไฟ ใกล้ถ้ำกระแช
เก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก
“ถ้ำกระแซ” .. เป็นถ้ำขนาดเล็กเคยเป็นที่พักอาศัยของเชลยศึกเมื่อครั้งมาสร้างทางรถไฟสายมรณะ
ซึ่งปัจจุบันนี้เปิดให้เข้าชมได้โดยสามารถเข้าไปสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ภายใน
เดินไปตามรางรถไฟ .. ในใจก็มโนนึกถึงช่วงเวลาที่เหล่าเชลยศึกของญี่ปุ่นต้องมาทำงานสร้างทางรถไฟส่ยนี้
จากถ้ำกระแช รถไฟยังวิ่งตรงต่อไปจนถึงจุดสุดท้ายที่ “สถานีน้ำตก” โดยในจุดนี้อยู่ใกล้กับ “น้ำตกไทรโยคน้อย” สามารถใช้บริการรถสองแถวให้ไปส่งที่น้ำตกได้
“น้ำตกไทรโยคน้อย” .. เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงมายาวนาน ตัวน้ำตกอยู่ติดกับถนน รถไฟนำเที่ยวขบวนพิเศษจะจอดให้เล่นน้ำบริเวณน้ำตกประมาณ 3 ชั่วโมง ก่อนจะออกเดินทางกลับจากสถานีน้ำตกในช่วงบ่าย
“น้ำตกไทรโยคน้อย” .. เกิดจากหน้าผาหินปูนที่พังทลายลงมา จนเกิดโขดหินปูนลดหลั่นกันอยู่ตรงบริเวณเชิงเขา มีต้นกำเนิดเป็นน้ำผุดจากภูเขาแล้วไหลมาตามลำธารเล็กๆ ไหลตกลงที่ผาหินปูนที่มีความสูง ประมาณ 15 ม. แล้วแผ่กระจายไปตามพื้นเขาลาดเอียง รอบข้างร่มรื่นไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์
รถจักรไอน้ำ ซี 56 หมายเลข 702 ผลิตในประเทศญี่ปุ่น นำมาใช้ปี พ.ศ. 2489-2519 เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายมรณะ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมอบให้ จ.กาญจนบุรี ไว้ ณ น้ำตกไทรโยคน้อย เพื่อเป็นอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์และส่งเสริมการท่องเที่ยว
รถไฟขบวนพิเศษนี้ จะเดินทางกลับในช่วงเย็นวันเดียวกัน รถไฟจะจอด แวะชมสุสานทหารสัมพันธมิตร และเดินทางกลับเข้าไปถึงสถานีกรุงเทพในช่วงค่ำ
ความพิเศษของรถไฟนำเที่ยวขบวนพิเศษแบบนี้คือ เป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่สามารถแวะเที่ยวได้สะดวก ระหว่างทางมีจุดแวะ (โดยเฉพาะในเส้นทางน้ำตก จ.กาญจนบุรี) บนขบวนรถจะมีเจ้าหน้าที่แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว จุดแวะพัก และเมนูอร่อยของท้องถิ่น รวมถึงนัดแนะเวลาตามตารางการเดินรถไฟ
รถไฟนำเที่ยวขบวนพิเศษน้ำตกไทรโยคน้อย ให้บริการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเป็นขบวนเช้าไปเย็นกลับ ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าบริการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Call Center การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690
ขอบคุณเนื้อความบางส่วนจาก https://mgronline.com/travel/detail/9630000092542
โฆษณา