27 พ.ย. 2022 เวลา 07:51 • ธุรกิจ
เมื่อหลักการ ESG เชื่อมโยงกับ SDG มุ่งสู่การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน
Cr. iStock by Getty Images, Photo by arthon meekodong
องค์กรธุรกิจหลายแห่ง ที่เริ่มศึกษา หรือนำแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนไปใช้ มักจะได้ยิน หรือคุ้นเคยกับคำว่า ESG (Environmental-Social-Governance หรือประเด็นในมิติสิ่งแวดล้อม-สังคม-การกำกับดูแล) และ SDG (Sustainable Development Goal หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ) อยู่บ่อย ๆ อาจเกิดความสับสนได้ว่าจำเป็นต้องยึดถือหลักการทั้ง 2 ข้อนี้ไปพร้อม ๆ กัน หรือว่าเลือกทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้หรือไม่
บางคนอาจมองว่าทำแค่ ESG อย่างเดียว ยังไม่พออีกหรือ แล้ว SDG มันเชื่อมโยงกับ ESG อย่างไร หลักการแต่ละอย่างมีบทบาทที่รองรับการประยุกต์ใช้แตกต่างกันอย่างไร Future Perfect มีคำตอบมาเปิดมุมคิดให้กับทุกคนครับ
Cr. iStock by Getty Images, Photo by patpitchaya
ก่อนอื่นเราต้องตระหนักก่อนว่า โลกธุรกิจในยุคปัจจุบัน มีการขับเคลื่อนในระบบทุนนิยมที่มีโฟกัสเปลี่ยนไปจากในสมัยอดีต ที่องค์กรธุรกิจมุ่งเน้นการสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ หรือเรียกว่าแนวคิด "Shareholder Capitalism"
องค์กรธุรกิจโดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ เริ่มหันมาสนใจกับการสร้างคุณค่าในระยะยาว (Long-term Value Creation) เพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ลักษณะเช่นนี้คือการเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวคิดทุนนิยมที่มุ่งเน้นผู้มีส่วนได้เสีย หรือ "Stakeholder Capitalism" นั่นเอง ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่ Professor Klaus Schwab ผู้ก่อตั้ง World Economic Forum ให้ทัศนะถึงทุนนิยมในรูปแบบใหม่ด้วยความยั่งยืน
แนวคิด Stakeholder Capitalism นี้จะทำให้องค์กรธุรกิจให้ความสนใจกับความคาดหวังในการเติบโตทางธุรกิจ (Business Interest) ไปพร้อม ๆ กับความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม (Stakeholder Interest) และจุดสมดุลตรงกลางก็คือ แนวทางสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนนั่นเอง
ขอยกตัวอย่างให้ชัดเจนมากขึ้น สิ่งที่องค์กรคาดหวังด้านการเติบโตทางธุรกิจ เช่น มีฐานลูกค้าที่เติบโตขึ้น มีผลกำไรมากขึ้น มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง และลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด เป็นต้น
ในขณะที่ความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้เสีย อาจมีได้หลากหลายมิติ เช่น การมีงานทำ ได้รับการจ้างงานที่ดี มีสุขอนามัยที่ดี มีความปลอดภัยและสวัสดิภาพ มีความเป็นอยู่ที่ดี มีชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์น้ำ ไปจนถึงการเป็นองค์กรที่โปร่งใส ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น
ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ที่กล่าวมานี้ล่ะครับ ถ้าองค์กรธุรกิจ ไม่ได้ดำเนินงานอย่างที่ผู้มีส่วนได้เสียคาดหวัง นี่จะถือเป็นความเสี่ยงสำคัญของธุรกิจที่จะเกิดความไม่ยืนยืน ซึ่งถ้าแยกเป็นองค์ประกอบใหญ่ ๆ ก็จะมีทั้งหมด 3 มิติหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล หรือนั่นก็คือ.. ESG (Environmental-Social-Governance) นั่นเอง
กล่าวโดยสรุปก็คือ ESG เป็นแนวคิดของการบริหารจัดการความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการสร้าง "คุณค่า" ขององค์กร หรือจากธุรกิจทั้งหมดที่องค์กรดำเนินการอยู่
ดังนั้น องค์กรธุรกิจที่จะเติบโตในยุคของ Stakeholder Capitalism ต้องมุ่งเน้นไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ การเข้าถึงตลาดใหม่ การใช้กระบวนการใหม่ หรือแม้กระทั่งโมเดลธุรกิจใหม่ ที่ไม่เหมือนเดิมจากในอดีต เพื่อตอบสนองความคาดหวังในการดำเนินธุรกิจ กับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียไปพร้อม ๆ กัน
Cr. iStock by Getty Images, Photo by ‘I going to make a greatest artwork as I can, by my head, my hand and by my mind.’
คำถามถัดมาก็คือ.. เมื่อองค์กรมุ่งเน้นเรื่อง ESG ถือว่าแค่นี้พอแล้วหรือยัง?
คำตอบคือ ยังครับ
เพราะว่าสิ่งที่องค์กรธุรกิจลงทุน เพื่อดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องลงทุนทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อนำไปสู่การสร้างคุณค่าในระยะยาว (Long-term Value Creation) ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ทำอย่างไรเราจึงจะทราบได้ว่า สิ่งที่องค์กรธุรกิจดำเนินการ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อม ๆ กับการปิดความเสี่ยงตามมิติ ESG สุดท้ายแล้วจะทำให้เกิดผลกระทบได้จริงในระยะยาวกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม อย่างครอบคลุม และสมดุล
นี่จึงเป็นที่มาว่า เหตุใดเราจึงต้องนำเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งเข้ามาใช้ร่วมกัน นั่นก็คือ SDG หรือ Sustainable Development Goal แปลเป็นไทยก็คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์กรสหประชาชาตินั่นเอง
SDG กล่าวถึงเป้าหมาย 17 ข้อ ที่ถือเป็นปัญหาในระดับสากล เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารเป้าหมายในระดับนานาชาติที่ทุกประเทศเข้าใจตรงกัน โดยมีการตั้งเป้าหมายในแต่ละข้อให้ทั่วโลกสามารถบรรลุได้พร้อมกันภายในปี 2030 ทั้งนี้ SDG ถือเป็นเป้าหมายระยะยาวที่มีการตั้งขึ้นมา และจะนำไปสู่การบริหารจัดการผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งที่ทุกภาคส่วนได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
ESG และ SDG จะทำงานสอดประสานกันคือ ESG เป็นการวางแผนงานในปัจจุบัน เพื่อบริหารความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ของความยั่งยืน โดยบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ (Input) นำมาเข้าสู่กระบวนการดำเนินงาน (Process/Activity) เพื่อให้ออกมาเป็นผลลัพธ์ (Output) ที่ต้องการในปัจจุบัน
แต่มันยังไม่ได้จบแค่นั้น ผลลัพธ์ที่องค์กรสร้างขึ้นนั้น จะส่งผลที่ตามมา (Outcome) กับผู้คนและสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบข้าง และจะทำให้เกิดผลกระทบ (Impact) ต่อไปในระยะยาว ด้วย ซึ่งตรงนี้จะต้องพึ่ง SDG เป็นเหมือนกับแผนที่นำทาง ให้เห็นภาพฉายอนาคต หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป เพื่อให้เราบริหารจัดการผลกระทบปลายทางให้เป็นอย่างที่เราคาดหวังได้มากที่สุด
หลักการสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ผลกระทบมีทั้งเชิงบวก (Positive Impact) และเชิงลบ (Negative Impact) สิ่งที่องค์กรดำเนินการให้เกิดผลลัพธ์ขึ้นมานั้น ถึงแม้ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่เรามองว่าดี แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะสามารถสร้างผลกระทบในทางบวกเพียงอย่างเดียวเสมอไป
ประเด็นพิจารณาเรื่องผลกระทบนั้น ยังมีทั้งในแง่ของผลกระทบทั้งที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจให้เกิด รวมถึงลักษณะของการเกิดผลกระทบที่เป็นทางตรง หรือจากการกระทบชิ่งทางอ้อมได้ด้วยเช่นกัน
การจัดการผลกระทบที่ดีจากการพิจารณา SDG นั้น จะช่วยให้เราสามารถกลับมาวางแผนในปัจจุบันได้ว่า เราควรจะต้องปรับเปลี่ยนแผนของเราอย่างไร เพื่อให้สุดท้ายแล้วที่ปลายทาง จะนำไปสู่ผลกระทบในทางบวกให้มากที่สุด และลดผลกระทบในทางลบให้เหลือน้อยที่สุด ในภาพรวมนั่นเอง
Cr. Picture from Facebook: UN Sustainable Development Goals
ขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจมากขึ้นดังนี้ครับ
สมมติว่าบริษัทแห่งหนึ่ง ทำธุรกิจด้านอาหารแปรรูป โดยมีวัตถุดิบมาจากผลผลิตทางการเกษตร องค์กรนี้มุ่งเน้นหลักการ ESG โดยมองถึงความคาดหวังของเกษตรกรที่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะซัพพลายเออร์กลุ่มหนึ่งที่สำคัญ
มุมมองของเกษตรกร มีความคาดหวังในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงทำให้ผลผลิตของเกษตรกรนั้นมีคุณภาพที่ดีด้วย เพื่อให้บริษัทแห่งนั้นสามารถรับซื้อได้ในราคาที่สูงขึ้น ตัวเกษตรกรเองก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น
บริษัทจึงได้จัดทำแผนงาน/โครงการร่วมกับกลุ่มเกษตรกร เพื่อช่วยเกษตรกรปรับปรุงผลิตภาพและคุณภาพ โดยได้ใช้เทคโนโลยี โนว์ฮาว และทรัพยากรอื่น ๆ ทำให้เกิดเป็นกระบวนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างบริษัทและกลุ่มเกษตรกร จนทำให้มีผลผลิตที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามที่บริษัทตั้งเป้าไว้ในแต่ละปี และบริษัทก็ให้คำมั่นว่าจะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
ผลที่ตามมาในนั้น แน่นอนว่าสิ่งที่บริษัทจะคาดการณ์ได้ในเบื้องต้นก็คือ กลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในเครือข่ายของบริษัทนั้น จะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น และสามารถต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตในปัจจุบันได้ดีขึ้น ในขณะที่บริษัทเองก็จะมีความมั่นคงด้านแหล่งวัตถุดิบ (Supply Source) มากขึ้น และมีต้นทุนที่ต่ำลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้มีผลกำไรมากขึ้นอย่างยั่งยืน
แต่ถ้ามองไปถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวนั้น มีได้ทั้งเชิงบวกและลบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผลกระทบทางลบนั้น บ่อยครั้งไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ และบางทีเป็นผลกระทบทางอ้อม
ผลกระทบในเชิงบวกนั่นก็คือ เมื่อเกษตรกรกลุ่มนั้นมีรายได้มากขึ้น มีการขยายผลการทำเกษตรไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ก็จะส่งผลต่อเรื่องระดับรายได้ของประชากรในภาพรวมของประเทศที่เพิ่มขึ้น ประเทศมี GDP สูงขึ้น เศรษฐกิจเติบโตได้ดีขึ้น
แต่ในทางกลับกัน ผลกระทบในชิงลบก็อาจเกิดขึ้นตามมาด้วย เช่น
ถ้าเกษตรกรมีการใช้สารเคมีที่เป็นโทษต่อร่างกายเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ก็อาจส่งผลต่อการรั่วไหลของสารเคมีที่เจือปนลงไปในแหล่งน้ำ ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวต่อคนที่บริโภคน้ำจากแหล่งน้ำนั้น
ถ้าเกษตรกรมีการขยายพื้นที่ทางการเกษตรออกไป แน่นอนว่าอาจต้องใช้น้ำมากขึ้น หากในภาพใหญ่ของประเทศมีการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดีพอ ก็อาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ หรือส่งผลต่อความยั่งยืนในการใช้น้ำ
และนอกจากนี้ หากมีการถางพื้นที่ป่าไม้ เพื่อนำมาใช้ในการเกษตร ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ลดพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ ส่งผลเสียให้ช่วยเร่งไปสู่ภาวะโลกร้อนได้เร็วขึ้น
จากที่กล่าวมานั้น เราจะเห็นได้ว่า หากเราทราบถึงผลกระทบที่ปลายทาง จะทำให้เราสามารถนำมาพิจารณาเป็นแนวทางสำหรับการบริหารจัดการในปัจจุบัน ให้มีความสมดุลมากที่สุด เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้ว จะเกิดผลกระทบในทางบวกได้ดีที่สุดในทุกด้าน และลดผลกระทบทางลบให้เหลือน้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้และเหมาะสมที่สุด
สรุปแล้ว ESG กับ SDG ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเลือก แต่ต้องใช้คู่กัน เพื่อให้กลมกล่อมที่สุด เหมือนที่เราทานมะม่วงกับน้ำปลาหวาน หรือทานโดนัทกับกาแฟ นั่นล่ะครับ
3 มุมคิดที่ Future Perfect ขอฝากไว้
1) ESG เน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กรใน 3 มิติเพื่อมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
2) SDG เน้นการนำมาพิจารณาผลกระทบหรือเป้าหมายในระยะยาว 17 ข้อ ภายในปี 2030 จากมุมมองในระดับสากล เพื่อนำมาช่วยวางแผนร่วมกับแนวคิด ESG
3) ผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ มีทั้งเชิงบวกหรือเชิงลบ เกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และเกิดขึ้นได้ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม
ผู้อ่านท่านใดที่ยังไม่ได้กดติดตามเพจ Future Perfect สามารถกดติดตามได้เลยครับ และทุกท่านสามารถ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ Future Perfect ได้ผ่านการแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันเรื่องราวกันได้ที่ด้านล่างนี้ครับ
#FuturePerfect #อนาคตกำหนดได้
References
1. Gregory, N. and Hornberger, K. (2020), ”The difference between ESG and impact investing and why it matters”, IFC, https://ifc-org.medium.com/the-difference-between-esg-and-impactinvesting-and-why-it-matters-8bf459b3ccb6
โฆษณา