27 พ.ย. 2022 เวลา 07:58 • ธุรกิจ
จับตาประมูลวงโคจรดาวเทียม เพื่อชาติ หรือเอื้อใคร?
จัดตาดู..ประมูลวงโครจรดาวเทียม เพื่อชาติ หรือ เอื้อใคร?
ใกล้เข้ามาทุกที สำหรับการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) สังคมไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจับตาดูการประมูลครั้งใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในวันที่ 8 ม.ค. 66 อย่างใกล้ชิด หลังจากเคยล่มไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 64 อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเพียงธุรกิจเชิงพาณิชย์ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ “ความลับ” “ความมั่นคงของชาติ” และ “ประโยชน์สาธารณะ”
หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะตำรวจ ทหาร หน่วยงานความมั่นคง จำเป็นต้องใช้งานดาวเทียมทั้งแบบBroadcastและBroadbandอย่างมาก และยังสำคัญกับการวางนโยบายต่างๆ ให้ตรงความต้องการที่แท้จริงของไทย สำคัญถึงขนาดที่ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ แจ้งไปยัง กสทช. ขอขยายเพดานความจุดาวเทียมจากผู้ชนะการประมูล 2% เพื่อให้รัฐบาลก้าวสู่ Digital Government ทั้งระบบ สำคัญขนาดนี้ จึงไม่ควรเกิดเหตุการณ์ทุนผูกขาดอย่างต่อเนื่อง ให้ต้องมาตั้งคำถามกัน
เมื่อปี 34 บ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ของทักษิณ ชินวัตร ได้สัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคมไปบริหารจัดการ 30 ปี แต่ทักษิณขายหุ้นให้กลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ช่วงต้นปี 49 ชินฯ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น บ.อินทัช โฮลดิ้ง และมีการตั้งบริษัทใหม่มาดำเนินกิจการดาวเทียมโดยเฉพาะคือ บ.ไทยคม ซึ่งล่าสุดมีผู้ถือรายใหม่ คือ GULF ที่เข้าซื้อกิจการใน บ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นบ.แม่ของไทยคม ด้วยสัดส่วนหุ้น 42.25% แต่ผู้ถือหุ้นรองลงมายังคงเป็นกลุ่มสิงเทล ของสิงคโปร์ ที่ถือหุ้นในอินทัชฯ ด้วยสัดส่วน 21.21%
เพราะฉะนั้นต่อให้สัญญาหมด ระบบสัมปทานเปลี่ยนผ่านสู่ใบอนุญาต แต่ทุกอย่างยัง (อาจ) เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ซ้ำรอยเดิม แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติ จากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน ด้วยมติเห็นชอบให้บ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT) เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของดาวเทียมไทยคมหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 30 ก.ค.64 ก็ตาม
โดยการประมูลครั้งแรกที่สุดท้ายล่มนั้น มีผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตฯ เพียงรายเดียว คือ บ. ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด ซึ่งไทยคมถือหุ้น 100% ก่อนหน้านี้ บ. มิวสเปซ และ NT ยื่นข้อเสนอแต่ก็ถอย ก่อนที่กสทช.เปิดประมูลอีกครั้งและมีกำหนดคุณสมบัติเฉพาะว่าต้องมีประสบการณ์ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในไทยก็มีอยู่เพียงรายเดียว และปรับลดราคาประมูลตั้งต้นลงอย่างมาก โดย 5 Package นี้ราคาเริ่มต้นสูงสุด คือ 397 ล้าน ต่ำสุดคือ 8 ล้าน ซึ่งจะประมูลวันที่ 8 ม.ค.66 ถ้ามีหลายรายและขยายเป็น 29 ม.ค. 66 หากมีรายเดียว
การปรับเปลี่ยนดังกล่าวสมเหตุสมผลหรือไม่? คือคำถามที่ควรมีคำตอบ เพราะผลประโยชน์จากการประมูลสามารถสร้างกำไรได้อย่างมหาศาล เมื่อเทียบกับราคาประมูลที่ถูกกดจนต่ำ เฉลี่ยกับเวลาของใบอนุญาต 20 ปีแล้ว ก็จ่ายให้ประเทศเพียงปีละไม่เท่าไหร่ ไทยคมประกาศทิศทางปีหน้าแล้วด้วยว่าจะมีทั้งดาวเทียมสำรวจตลาดคาร์บอนเครดิต และเปิดรับพันธมิตรดาวเทียมวงโคจรต่ำต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจในไทย โดยลงนามกับโกลบอลสตาร์จากสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างสถานีภาคพื้นดินแล้ว
หรือนี่เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนเพื่อเอื้อต่อการผูกขาดทรัพยากรของกลุ่มทุนเดิมในชื่อใหม่ ที่ถ้าผูกขาดดาวเทียมได้ ก็แทบจะผูกขาดการสื่อสาร โทรคมนาคม และกำความมั่นคงทางข่าวสารของชาติได้ เพื่อชาติ หรือเอื้อใคร? คือความจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องจับตาดู
เรียบเรียงโดย Bodin
27 Nov 22
โฆษณา