27 พ.ย. 2022 เวลา 08:44 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เรียนรู้เศรษฐศาสตร์มหภาคจากเรื่องสมมุติ (25 เมษายน 2016)
เมื่อก่อน ตอนที่ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาคให้คนที่ไม่รู้เศรษฐศาสตร์ฟัง ผมพบปัญหาอย่างมากในการทำให้คนที่มานั่งฟังบรรยายเข้าใจ ผมเลยลองนั่งแต่งนิทานขึ้นมาเรื่องหนึ่งแล้วสอนเศรษฐศาสตร์ผ่านนิทานเรื่องนี้ พบว่าหลายคนเข้าใจดีขึ้น และเมื่อลองใช้หลายครั้งเข้าก็ได้รับเสียงตอบรับว่าเข้าใจง่ายดี ก็เลยขอเอามาลงให้เพื่อนๆ ที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์แต่สนใจเศรษฐกิจได้ลองอ่านดู แล้วลองวิจารณ์ดูนะครับว่าเป็นยังไงบ้าง จะได้นำไปปรับปรุงครับ
รู้จัก “เศรษฐกิจ” จากกรณีตัวอย่าง โรบินสัน ครูโซ
เศรษฐกิจของเกาะเมื่อมีประชากร = 1 คน
ตัวอย่างกรณีของ โรบินสัน ครูโซ ที่มีเรื่องเล่าว่าไปติดเกาะอยู่คนเดียว สมมุติว่าในวันแรกโรบินสัน ครูโซ มีแต่มือเปล่า แล้วลงมือจับปลาโดยใช้มือเปล่า และใช้เวลา 8 ชั่วโมงทำการจับปลาได้ปลา 8 ตัว กรณีนี้การมองแบบเศรษฐศาสตร์ก็ตอบว่าจำนวนปัจจัยแรงงาน L ของโรบินสัน ครูโซ เท่ากับ 8 man-hour และจำนวนปัจจัยทุน (capital) K = 0 ส่วน output ของ production function ที่มีปัจจัยการผลิต L=8, K=0 หรือ Q = f(K,L) [บางครั้งเขียนเป็น Y = f(K,L)] = f(0,8) ของโรบินสัน ครูโซ คือ ปลา 8 ตัว
เนื่องจากโรบินสันอยู่คนเดียวและไม่ได้เอาปลาไปขายให้ใคร income ของโรบินสันก็คือปลา 8 ตัว และ output ที่ได้ก็คือ value added หรือ value ที่โรบินสัน create ขึ้นมา ซึ่งคนทั่วไปรู้จักกันในชื่อว่า Gross Domestic Product หรือ GDP และ Output ทั้งหมดก็คือผลตอบแทนแรงงาน (labor income) ของเกาะนี้ซึ่งมีโรบินสัน ครูโซ อยู่คนเดียวคือ ปลา 8 ตัว โดยทั้ง 8 ตัวนั้นถ้าถูก consume หมด ก็จะไม่มี saving แต่ถ้ากินไม่หมดก็ save เป็น inventory ไว้กินในวันต่อไป เศรษฐกิจของโรบินสันในวันนี้จึงสรุปได้ดังนี้
Supply = Q = f(0,8) = ปลา 8 ตัว
Demand = consumption = ปลา 8 ตัว
Income
labor income = ปลา 8 ตัว
Saving = income – consumption
= ปลา 8 ตัวที่ผลิตได้ – ปลา 8 ตัวที่บริโภค
= 0
วันต่อมาโรบินสัน ครูโซ ใช้เวลา 6 ชั่วโมง จับปลา 6 ตัว และอีก 2 ชั่วโมง ทำหอก 2 อัน วันนี้ input ยังมีเฉพาะ L จำนวน 8 man-hour โดยที่ K=0 เหมือนเดิม แต่ output ของ โรบินสันวันนี้ consume ได้น้อยลงคือแค่ปลา 6 ตัว ส่วนหอก 2 อันกินไม่ได้ ก็เลยกลายเป็น saving แต่ save เป็น physical capital จึงเรียกว่า investment อย่างไรก็ตามทั้งหมดถือเป็น value added ที่กลายเป็น labor income ของโรบินสัน เศรษฐกิจของโรบินสันในวันนี้จึงสรุปได้ดังนี้
Supply = Q=f(0,8) = ปลา 6 ตัว + หอก 2 อัน
Demand = consumption + investment = ปลา 6 ตัว + หอก 2 อัน
Income
labor income = ปลา 6 ตัว + หอก 2 อัน
Saving = income – consumption
= (ปลา 6 ตัว + หอก 2 อัน) – ปลา 6 ตัว
= หอก 2 อัน
จะเห็นได้ว่า saving = investment
วันที่สาม โรบินสันใช้เวลา 6 ชั่วโมง จับปลาเหมือนเดิมแต่วันนี้เนื่องจากมีหอกด้วยจึงจับปลาได้ 8 ตัว โดยหอกหักไป 1 อัน (depreciation = 1, K = 1) โรบินสันจึงใช้เวลาที่เหลืออีก 2 ชั่วโมงทำหอกเพิ่มอีก 2 อัน วันนี้ production function ของโรบินสันจึงเท่ากับ Q = f (1,8) =ปลา 8 ตัว + หอก 2 อัน วันนี้ โรบินสันจึงมี value added เพิ่มขึ้น แต่ value added ที่เพิ่มขึ้นนี้จะไม่ใช่ labor income อย่างเดียวแล้ว แต่เป็น capital income ด้วย กล่าวคือ labor income ประกอบด้วยปลา 6 ตัวและหอก 2 อัน
ส่วน capital income ประกอบด้วยปลาที่เพิ่มขึ้นมาอีก 2 ตัว (เนื่องจากพอมีหอกแล้วจับปลาเพิ่มได้ 2 ตัวแม้จะใช้เวลาเท่าเดิม) ดังนั้นหากมีใครมายืมหอกนี้ไป โรบินสันจะยอมก็ต่อเมื่อจ่ายค่ายืมหอก 1 อันเท่ากับปลา 2 ตัว (เรียกว่าดอกเบี้ย) ในวันนี้ wealth ของโรบินสันเพิ่มขึ้นโดยมีหอกเป็น capital อยู่ 3 อันจาก 2 อันเมื่อวานและ 2 อันใหม่ในวันนี้ แต่หักไป 1 อัน เศรษฐกิจของโรบินสันในวันนี้จะเป็นดังนี้
Supply = Q=f(1,8) = ปลา 8 ตัว + หอก 2 อัน
Demand = consumption + investment = ปลา 8 ตัว + หอก 2 อัน
Income
labor income = ปลา 6 ตัว + หอก 2 อัน
Capital income = ปลา 2 ตัว
Gross saving = income – consumption
= (ปลา 6 ตัวจาก labor + ปลา 2 ตัวจาก capital + หอก 2 อัน จาก labor) – ปลา 8 ตัวที่บริโภค = หอก 2 อัน
Net saving (Net investment) = Gross saving – Depreciation
= หอก 2 อัน – หัก 1 อัน
= หอก 1 อัน
Capital accumulation (wealth) = หอก 2 อันเดิม – หอก 1 อันเดิมที่หักไป + หอก 2 อันใหม่
= หอก 3 อัน
แต่ถ้าสมมุติว่าโรบินสันพอใจกับจำนวนปลาที่จับได้ 8 ตัวต่อวันโดยใช้แรงงาน 6 ชั่วโมง ร่วมกับหอก 1 อัน จึงตัดสินใจทำงานเพิ่มอีกเพียง 1 ชั่วโมงเพื่อทำหอกเพิ่มอีกเพียง 1 อัน ชดเชยหอกที่หักไป 1 อันพอดี กรณีนี้จำนวนหอกของโรบินสันจะมีเท่าเดิมไม่เพิ่มขึ้น ไม่ลดลง และโรบินสันจะมีเวลาว่างวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อใช้ในการพักผ่อน (leisure) เศรษฐกิจของโรบินสันจะมีขนาดคงที่เท่านี้ไปทุกวัน ตัวเลขเศรษฐกิจของโรบินสันจะเป็นดังนี้
Supply = Q=f(1,7) = ปลา 8 ตัว + หอก 1 อัน
Demand = consumption + investment = ปลา 8 ตัว + หอก 1 อัน
Income
labor income = ปลา 6 ตัว + หอก 1 อัน
Capital income = ปลา 2 ตัว
Gross saving = income – consumption = หอก 1 อัน
Net saving (Net investment) = Gross saving – Depreciation
= หอก 1 อัน – หัก 1 อัน = 0
Capital accumulation (wealth) = หอก 2 อันเดิม – หอก 1 อันเดิมที่หักไป + หอก 1 อันใหม่
= หอก 2 อัน
อย่างไรก็ตาม การที่โรบินสันมีเวลาว่าง 1 ชั่วโมงนี้ ในทางเศรษฐศาสตร์อาจคิดได้ว่า โรบินสันได้ใช้แรงงานของตัวเอง 1 ชั่วโมง ผลิตเวลาว่างสำหรับการพักผ่อน และนำการพักผ่อนนั้นมาบริโภค ในกรณีเช่นนี้ จะอธิบายเศรษฐกิจของโรบินสันได้ดังนี้
Supply = Q=f1(1,7)+f2(0,1) = ปลา 8 ตัว + หอก 1 อัน + เวลาว่าง 1 ชั่วโมง
โดย f1 ผลิตปลาและหอก ส่วน f2 ผลิตเวลาว่างสำหรับการพักผ่อน
Demand = consumption + investment = (ปลา 8 ตัว +พักผ่อน 1 ชม.) + หอก 1 อัน
Income
labor income = (ปลา 6 ตัว +พักผ่อน 1 ชม.) + หอก 1 อัน
Capital income = ปลา 2 ตัว
Gross saving = income – consumption
= (ปลา 8 ตัว + หอก 1 อัน + เวลาว่าง 1 ชม.) – (ปลา 8 ตัว + พักผ่อน 1 ชม.)
การแบ่งรายได้ระหว่าง labor กับ capital ตามตัวอย่างนี้นั้น เราสมมุติขึ้นมาว่าโรบินสันเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งปัจจัยแรงงานและปัจจัยทุน แต่ในโลกความเป็นจริง โรบินสันอาจใช้วิธีการยืมปัจจัยทุนมาจากคนอื่น ในกรณีนี้โรบินสันต้องจากค่าเช่าปัจจัยทุนที่เรียกว่าดอกเบี้ยให้กับเจ้าของทุน ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้น ถ้าเจ้าของทุนคิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับปลา 2 ตัวต่อวัน โรบินสันก็จะไม่ได้ปลา 2 ตัวนี้เป็นของตัวเองเพราะต้องจ่ายคืนให้เจ้าของทุนเป็นค่าเช่าหอก
ถ้าเป็นแบบนี้โรบินสินก็ไม่มีแรงจูงในที่จะยืมปัจจัยทุนมาใช้ เพราะใช้แล้วไม่ได้ส่วนเพิ่ม แต่ถ้าเจ้าของทุนคิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับปลา 1 ตัวต่อวัน ปลาที่โรบินสันจับเพิ่มได้ 2 ตัวจากการใช้หอก ก็จะถูกส่งให้เจ้าของหอกเพียง 1 ตัว เหลือปลาไว้กินเพิ่มอีก 1 ตัว ในกรณีนี้โรบินสันจะมีแรงจูงใจในการกู้หอกมาใช้งาน และเนื่องจากผลตอบแทนทุนเหลือเพียง 1 ตัว ไม่ใช่ 2 ตัว
ปลา 1 ตัวที่โรบินสันไม่ต้องจ่ายเป็นผลตอบแทนทุนจึงถูกเรียกว่ากำไร การบันทึกรายได้จากการจับปลาของโรบินสันจะเป็นดังนี้
Labor income = ปลา 6 ตัว ตกเป็นของโรบินสัน
Capital income = ปลา 1 ตัว ตกเป็นของเจ้าของหอก (เจ้าของปัจจัยทุน)
ส่วนเหลือหลังจ่ายค่ายืมหอก (Profit) = ปลา 1 ตัว ตกเป็นของโรบินสัน
ในโลกความเป็นจริง นอกจากมีโอกาสที่โรบินสันไม่ได้เป็นเจ้าของทุนแล้ว ยังมีโอกาสที่โรบินสันจะไม่ได้เป็นคนทำงานเอง แต่ไปจ้างคนอื่นมาทำแทน แล้วให้ค่าแรงคนงานซึ่งอาจจ้างเป็นรายวัน หรือให้ค่าจ้างเป็นสัดส่วนของปลาทั้งหมดที่จับได้ เช่นถ้าให้ค่าจ้างเป็นรายวันเท่ากับ 4 ตัวต่อวัน การแบ่งรายได้จะเป็นดังนี้
Labor income = ปลา 4 ตัว ตกเป็นของแรงงาน
Capital income = ปลา 1 ตัว ตกเป็นของเจ้าของหอก (เจ้าของปัจจัยทุน)
ส่วนเหลือหลังจ่ายค่ายืมหอก (Profit) = ปลา 1 ตัว ตกเป็นของโรบินสัน
ส่วนเหลือหลังจ่ายค่าจ้างแรงงาน (Profit) = ปลา 2 ตัว ตกเป็นของโรบินสัน
ในกรณีนี้ โรบินสัน จะมีรายได้ในฐานะเจ้าของกิจการเท่ากับปลา 3 ตัว ซึ่งอาจถือเป็นรายได้จากการบริหารจัดการกิจการของโรบินสัน และจะเห็นว่าถ้าโรบินสันกดค่าจ้างแรงงานให้ต่ำลงมากเท่าไร โรบินสันก็จะเหลือกำไรมากขึ้น ซึ่งในสังคมที่มีแรงงานว่างงานมาก นายจ้างจะได้เปรียบ เพราะสามารถกดค่าแรงทำให้กำไรตัวเองมากขึ้น และจะเป็นเช่นเดียวกันกับฝั่ง capital ถ้าเจ้าของกิจการสามารถกู้เงินได้ดอกเบี้ยถูกมากขึ้น กำไรก็จะมากขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นในสังคมที่มีปัจจัยทุน (เงินในระบบธนาคาร) ล้นเหลือมากกว่าคนต้องการกู้
ขอกลับไปสมมุติว่าทั้งเกาะมีประชากร 1 คนคือโรบินสันคนเดียว หอกเป็นของโรบินสันเองไม่ได้ยืมใครมา คนจับปลาก็คือโรบินสันเองไม่ได้จ้างใครมา แต่ขอสมมุติต่อว่ามีเจ้าพ่อปรากฎตัวขึ้นมาและเรียกเก็บค่าคุ้มครองจากโรบินสันเป็นปลา 2 ตัว ปรากฎการณ์นี้ทำให้รายได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนทันทีคือ labor income, capital income และ government income หรือ tax ในกรณีนี้ หากโรบินสันยังจับปลาได้ 8 ตัวและทำหอก 1 อันโดยใช้จำนวนชั่วโมง 7 ชม. เศรษฐกิจของโรบินสันที่ถูกเก็บภาษีจะเป็นดังนี้
Supply = Q=f(1,7) = ปลา 8 ตัว + หอก 1 อัน
Gross Income = ปลา 8 ตัว + หอก 1 อัน
Net Robinson’s income = Gross income – tax
= (ปลา 8 ตัว + หอก 1 อัน) – ปลา 2 ตัว
= ปลา 6 ตัว
ซึ่งทำให้โรบินสันมีปลาบริโภคน้อยลงเหลือ 6 ตัว
เนื่องจากภาษีดังกล่าวนี้ เรียกเก็บบน value added จึงถูกเรียกว่า Value Added Tax หรือ VAT
ภาษีที่เป็นปลา 2 ตัวนี้ ถ้าเจ้าพ่อนำไปบริโภค ฝั่ง demand ก็จะอธิบายได้ว่า
Demand = private consumption + private investment + government consumption
= ปลา 6 ตัว + หอก 1 อัน + ปลา 2 ตัว
= C + I + G
แต่หากเจ้าพ่อนำปลาไปบริโภคเพียง 1 ตัว ที่เหลือนำไปให้ลูกน้องของตัวเองบริโภคเพื่อลดเวลาการหาของกินของเขาลง 1 ชั่วโมง แล้วเอาเวลา 1 ชั่วโมงของลูกน้องคนนั้นมาทำแคร่พักให้กับเจ้าพ่อได้แคร่ 1 หลัง อย่างนี้ถือว่าเจ้าพ่อเปลี่ยนการบริโภคปลา 1 ตัวมาเป็นแคร่ 1 หลัง
Demand = p-consumption + p-investment + g-consumption + g-investment
= ปลา 6 ตัว + หอก 1 อัน + ปลา 1 ตัว + แคร่ 1 หลัง
= Cp + Ip + Cg + Ig
ถ้ามีคนมาอยู่เพิ่ม GDP ของเกาะนี้ก็จะเพิ่มตามจำนวนคนด้วยโดยการ aggregate value added ของแต่ละคนจนกลายเป็น gross value added หรือ GDP ของเกาะ และเจ้าพ่อ (รัฐบาล) ก็จะรวยขึ้นตามจำนวนคนที่เข้ามาอาศัย เช่น เข้ามาเพิ่มเป็น 2 คน เจ้าพ่อจะเก็บภาษีได้ปลา 4 ตัว ถ้า 10 คนก็ได้ 20 ตัว และถ้า 20 คน ก็ได้ 40 ตัว ซึ่ง far above demand for consumption ของเจ้าพ่อมาก
เพราะถ้าสมมุติให้เจ้าพ่อกินเท่ากับคนอื่นคือ 6 ตัวก็อิ่ม ที่เหลืออีก 34 ตัว เจ้าพ่อก็เอาไปจ้างคนได้อีกประมาณ 6 คน (มาจากเกาะอื่น) มาสร้าง capital ให้กับตัวเองทำให้ตัวเองมีที่อยู่ที่หรูหรากว่าลูกเกาะ เวลาไปไหนมาไหน สามารถใช้คนมาแบกแคร่ได้ ไม่ต้องเดินเองเป็นต้น และหากมีคนเหลือ (ต้องเลือกคนที่กล้ามใหญ่) ก็ส่งคนเหล่านี้ไปช่วยเก็บค่าคุ้มครอง (ภาษี) จากชาวเกาะได้
อย่างไรก็ตาม หากได้เจ้าพ่อที่มีคุณธรรม เจ้าพ่ออาจแบ่งบางส่วนกลับมาช่วยเหลือชาวเกาะในรูปแบบต่างๆ เช่น จ้างหมอมาคอยรักษาชาวเกาะโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือคิดถูก จ้างครูมาสอนให้ชาวเกาะจับปลาเก่งขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่จะเป็นประโยชน์กับเจ้าพ่อในระยะยาว เพราะหากคนป่วย จับปลาไม่ได้ก็ไม่มีปลามาเสียภาษีให้เจ้าพ่อ เมื่อเจ้าพ่อรายได้ลด ก็ต้องลดการจ้างคน เจ้าพ่อจึงมี incentive หรือแรงจูงใจที่จะดูแลรักษาชาวเกาะให้มีสุขภาพแข็งแรง
และหากชาวเกาะมีความรู้ดีขึ้น จับปลาเก่งขึ้น เจ้าพ่อก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้นเป็นสัดส่วนกับปลาที่จับได้มากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เจ้าพ่อมีรายได้มากขึ้นไปอีก การที่ชาวเกาะมีความรู้มากขึ้นทำให้จับปลาเก่งขึ้นแม้ว่าใช้จำนวนชั่วโมงและจำนวนหอกในการจับปลาเท่าเดิมนี้ ถือว่ามีเทคโนโลยีในการผลิตดีขึ้น production function จะเปลี่ยนเป็น Q = A.f(K,L) หรือบางครั้งเขียนเป็น Y = A.f(K,L) โดย A คือระดับของเทคโนโลยีการผลิต
ตอนต่อไป จะพูดถึงกรณีเกาะมีคนมากขึ้นและเริ่มค้าขายกับเกาะอื่นครับ
ต่อจากเมื่อวานนะครับ แต่คราวนี้ขยายจำนวนประชากรให้มากขึ้น ถ้าเข้าใจส่วนนี้ได้ ก็จะเข้าใจเศรษฐกิจของประเทศได้ไม่ยาก
เศรษฐกิจของเกาะเมื่อมีประชากรมากขึ้น
ต่อมาสมมุติว่ามีผู้หญิง 1 คน ชื่อเจนนี่ลอยคอมาติดเกาะ ทำให้จำนวนประชากรในเกาะเพิ่มเป็น 2 คน และถ้าสมมุติว่าทั้งสองคนได้รู้จักกัน และโรบินสันได้สอนให้เจนนี่จับปลาและทำหอกเป็นจนกระทั่งเจนนี่มีความสามารถในการจับปลาดีขึ้นแต่ต่ำกว่าโรบินสัน คือใช้เวลา 6 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ได้ปลา 6 ตัว แต่ใช้เวลาในการทำหอกได้เท่ากัน คือ 1 ชั่วโมงได้หอก 1 อัน จะได้ว่า production function ของเจนนี่คือ
QJ = fJ(1,7) = ปลา 6 ตัว + หอก 1 อัน
และสมมุติให้โรบินสันและเจนนี่ใช้ชั่วโมงในการจับปลาเท่ากัน ทำหอกเท่ากัน คือ จับปลา 6 ชั่วโมง ทำหอก 1 ชั่วโมง เพื่อให้มีเวลาพักผ่อนวันละ 1 ชั่วโมง ก็จะได้ว่าเศรษฐกิจของทั้งเกาะคือ
Q = QR + QJ = fR(1,7) + fJ(1,7) = (ปลา 8 ตัว + หอก 1 อัน) + (ปลา 6 ตัว + หอก 1 อัน)
= ปลา 10 ตัว + หอก 2 อัน
แต่ทั้งสองคนจะต้องเสียค่าคุ้มครองให้เจ้าพ่อคนละ 2 ตัว ดังนั้น รายได้จะถูกแบ่งเป็นดังนี้
รายได้สุทธิของโรบินสัน = ปลา 8 ตัว + หอก 1 อัน – เสียภาษีให้รัฐบาลเป็นปลา 2 ตัว
= ปลา 6 ตัว + หอก 1 อัน
รายได้สุทธิของเจนนี่ = ปลา 6 ตัว + หอก 1 อัน – เสียภาษีให้รัฐบาลเป็นปลา 2 ตัว
= ปลา 4 ตัว + หอก 1 อัน
รายได้ของรัฐบาล = ปลาที่ได้จากการเก็บภาษีโรบินสัน + ปลาที่ได้จากการเก็บภาษีเจนนี่
= 2 + 2 = 4 ตัว
สมมุติต่อมาทั้งสองคนรักกันและแต่งงานกัน เมื่อมาอยู่ด้วยกันรายได้ของทั้งสองคนจะถูกนำมารวมกันและแบ่งกันบริโภคอย่างเท่าเทียม ทำให้รายได้สุทธิเฉลี่ยต่อหัวของประชากรทั้งสองคนคือ
รายได้สุทธิเฉลี่ยต่อหัว=(ปลา 6 ตัวของโรบินสัน+ปลา 4 ตัวของเจนนี่+หอก 1 อันของโรบินสัน+หอก 1 อันของเจนนี่)/(จำนวนประชากร (2 คน) )
= ปลา 5 ตัว + หอก 1 อัน
ซึ่งหมายความว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของเจนนี่จะดีขึ้น เพราะได้ปลามาบริโภคเพิ่มขึ้น 1 ตัว แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของโรบินสันจะแย่ลงเพราะต้องบริโภคปลาลดลง 1 ตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่โรบินสันต้องแลกเพื่อดึงให้เจนนี่มาอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ จะนิยมนำรายได้ก่อนที่จะเสียภาษีให้กับรัฐบาลมารวมด้วย ซึ่งในกรณีนี้ จะรายงานเป็นรายได้เฉลี่ยต่อหัว ไม่ใช่รายได้สุทธิเฉลี่ยต่อหัว
รายได้เฉลี่ยต่อหัว=(ปลา 8 ตัวของโรบินสัน+ปลา 6 ตัวของเจนนี่+หอก 1 อันของโรบินสัน+หอก 1 อันของเจนนี่)/(จำนวนประชากร (2 คน))
= ปลา 7 ตัว + หอก 1 อัน
ต่อมา สมมุติว่าทั้งสองคนมีลูกด้วยกัน 1 คน ถ้าเจ้าพ่อยังไม่เรียกค่าคุ้มครองจากเด็ก รายได้สุทธิเฉลี่ยต่อหัวประชากร จะกลายเป็น
รายได้สุทธิเฉลี่ยต่อหัว=(ปลา 6 ตัวของโรบินสัน+ปลา 4 ตัวของเจนนี่+หอก 1 อันของโรบินสัน+หอก 1 อันของเจนนี่)/(จำนวนประชากร (3 คน))
= ปลา 3.33 ตัว + หอก 0.67 อัน
จะเห็นได้ว่า ทั้งโรบินสันและเจนนี่จะต้องสละปลาของตัวเองแบ่งให้ลูกกิน ทำให้แต่ละคนกินปลาได้น้อยลง ชีวิตความเป็นอยู่ก็จะลำบากขึ้น ส่วนหอกนั้น ตามตัวอย่างนี้ แม้จำนวนหอกต่อคนจะลดลงแต่ก็ไม่กระทบกับโรบินสันและเจนนี่เนื่องจากลูกยังใช้หอกไม่เป็น ทั้งสองคนจึงยังคงมีหอกใช้คนละอันเหมือนเดิม
แต่ถ้าสมมุติว่ารายได้ที่เป็นปัจจัยทุนไม่ใช่หอก แต่เป็นที่อยู่อาศัย เช่น ที่พักขนาด 12 ตร.ม. เดิมแบ่งกัน 2 คน ๆ ละ 6 ตร.ม. แต่พอมีลูก พื้นที่พักจะลดลงเหลือคนละ 4 ตร.ม. อยู่กับแออัดมากขึ้น หากนำตัวเลขการเติบโตของประชากรมาคำนวน จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงของขนาดเศรษฐกิจและจำนวนประชากรจะสัมพันธ์กันดังนี้
เดิม
จำนวนประชากร = 2
รายได้สุทธิรวม = ปลา 10 + หอก 2
รายได้สุทธิต่อหัว = ปลา 5 + หอก 1
ผลผลิตรวม (หรือรายได้รวม) = ปลา 14 + หอก 2
ผลผลิตต่อหัว (หรือรายได้ต่อหัว) = ปลาย 7 + หอก 1
ใหม่
จำนวนประชากร = 3
รายได้สุทธิรวม = ปลา 10 + หอก 2
รายได้สุทธิต่อหัว = ปลา 3.33 + หอก 0.67
ผลผลิตรวม = ปลา 14 + หอก 2
ผลผลิตต่อหัว = ปลา 4.67 + หอก 0.67
ซึ่งหมายความว่า สังคมใดที่ประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สังคมนั้นจะต้องมีผลผลิตรวม (GDP) เพิ่มขึ้นให้ไม่น้อยไปกว่าอัตราการเติบโตของประชากร ไม่เช่นนั้น รายได้เฉลี่ยต่อหัวจะลดลงซึ่งหมายถึงประชากรแต่ละคนจะจนลง ลำบากขึ้น
สำหรับเศรษฐกิจในภาพรวมจะอธิบายด้วย supply และ demand ได้ดังนี้
Supply = ปลา 14 ตัว + หอก 2 อัน
Demand = Cp + Ip + Cg
= ปลา 10 ตัว + หอก 2 อัน + ปลา 4 ตัว
เศรษฐกิจของเกาะเมื่อติดต่อค้าขายกับเกาะอื่น
ต่อมามีคนจากเกาะอื่นล่องเรือมาเจอเกาะที่โรบินสันอาศัยอยู่ จึงขอเข้ามาติดต่อขอแลกปลาที่โรบินสันจับได้กับของที่ติดมากับเรือ ในที่นี้สมมุติว่าเป็นผลไม้ โดยตกลงกันว่าจะนำผลไม้น้ำหนัก 1 กก.มาแลกกับปลา 1 ตัว กรณีนี้เศรษฐกิจของเกาะโรบินสันจะต้องบันทึกว่ามีการส่งออกปลา 1 ตัวและนำเข้าผลไม้ 1 กก. โดยโรบินสันและภรรยาสละปลา 1 ตัวเพื่อแลกกับผลไม้ 1 กก.นำมาบริโภค ทำให้ตัวเลขด้าน supply และ demand ของเกาะเป็นดังนี้
Supply = A.f(K,L) + M (Import)
= ปลา 14 ตัว + หอก 2 อัน + ผลไม้ 1 กก
Demand = Cp + Ip + Cg + X (Export)
= (ปลา 9 ตัว + ผลไม้ 1 กก.) + หอก 2 อัน + ปลา 4 ตัว + ปลา 1 ตัว
ซึ่งถ้าเจ้าพ่ออยากบริโภคผลไม้ด้วย เจ้าพ่อก็จะเก็บค่าปากเรือหรือภาษีนำเข้า และถ้าเจ้าพ่อกลัวว่าปลาบนเกาะจะไม่พอกิน เจ้าพ่อก็จะเก็บภาษีส่งออก
สรุปเศรษฐกิจมหภาคในภาพรวม
จากคำอธิบายทั้งหมดข้างต้น เราสามารถเขียนสมการอธิบายเศรษฐกิจมหภาคได้ในรูป supply (output), demand (expenditure) และ รายได้ (income) ที่ครบถ้วนดังนี้
M + A.f(K,L) = Cp + Ip + Cg + Ig + X + Inventory change
= ผลตอบแทนปัจจัยแรงงาน + ผลตอบแทนปัจจัยทุน + กำไร + ภาษี
หรือ M + GDP = Cp + Ip + Cg + Ig + X + Δinv = YL + YK + กำไร + YG
แต่นิยมเขียนอยู่ในรูป GDP = C + I + G + X – M = YH + YB + YG + YF
โดยในฝั่งรายได้นั้น YL + YK + กำไร จะถูกนำมาแบ่งให้กับคน 3 กลุ่มคือ ครัวเรือน (H) ธุรกิจ (B) และ คนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจกับประเทศไทย (F)
การเขียนในรูปนี้ทำให้มักเข้าใจผิดกัน 2 ประการคือ
1.เข้าใจผิดว่า GDP คือ C + I + G + X – M ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ เพราะ GDP คือ A.f(K,L)
2.เข้าใจผิดว่าด้าน expenditure ไม่มีเรื่องของ inventory เข้ามาเกี่ยวข้อง
ในเรื่องของการเก็บภาษีนั้น รัฐบาลมีการเก็บภาษีจากผลผลิตของประชาชนในหลายรูปแบบ และบางครั้งทับซ้อนกันได้แก่
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เก็บจากมูลค่าเพิ่มซึ่งประกอบด้วยผลตอบแทนแรงงาน YL และผลตอบแทนทุน YK ในขณะที่ยังไม่โดนหักภาษี
ภาษีนิติบุคคล หักจากกำไรของกิจการ
ภาษีบุคคลธรรมดา หักจาก YL ที่รัฐบาลเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากกิจการไปแล้ว
ภาษีนำเข้าและส่งออก ซึ่งถือว่าหักจากผลผลิตที่ได้มาครั้งแรก (มูลค่าเพิ่มครั้งแรก)
ภาษีสรรพสามิต หากสินค้าหรือบริการอยู่ในกลุ่มที่รัฐบาลเห็นว่า 1.ฟุ่มเฟือย 2.บาป เช่น น้ำหอม เหล้า เป็นต้น
จบความรู้เศรษฐศาสตร์มหภาคเบื้องต้นแต่เพียงเท่านี้ครับ
โฆษณา